posttoday

ขาดดุลแฝด อันตรายที่กำลังจะมา

30 กรกฎาคม 2555

เศรษฐกิจไทยในปี 2554 ใน 3 ไตรมาสแรกนั้น ขยายตัวสูงมากและดูมีแนวโน้มสดใส แม้เศรษฐกิจสหรัฐที่เกิดฟองสบู่แตกยังฟื้นตัวเต็มที่

โดย...ชลลดา อิงศรีสว่าง

เศรษฐกิจไทยในปี 2554 ใน 3 ไตรมาสแรกนั้น ขยายตัวสูงมากและดูมีแนวโน้มสดใส แม้เศรษฐกิจสหรัฐที่เกิดฟองสบู่แตกยังฟื้นตัวเต็มที่

แต่ทันทีที่น้ำท่วมครั้งประวัติศาสตร์ในหลายจังหวัดลุ่มน้ำเจ้าพระยา ก็ทำให้อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยหดตัวรุนแรงจนขยายตัวติดลบ และเหล่านักเศรษฐศาสตร์ทั้งหลายก็เห็นตรงกันว่า ในปีนี้เศรษฐกิจจะดีขึ้น เพราะประชาชนจะใช้เงินซ่อมแซมบ้าน และกำลังซื้อจะกลับมาอย่างรวดเร็ว

ในไตรมาสแรกก็ดูท่าว่าจะดี แต่เริ่มไตรมาส 2 ทุกคนก็เตือนว่าไทยจะเจอความเสี่ยงผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจยุโรป ที่เกิดจากปัญหาหนี้เสียของประเทศกรีซ และเริ่มลุกลามไปประเทศอื่นในสหภาพยุโรป

และแล้วคำเตือนก็เป็นจริง เมื่อกระทรวงพาณิชย์รายงานการส่งออกในครึ่งแรกของปีนี้ ใน 6 เดือนตั้งแต่ ม.ค.-มิ.ย. 2555 การส่งออกลดลง 2% ที่มูลค่า 112,264 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนการนำเข้าเพิ่มขึ้น 10% ที่มูลค่า 122,604 ล้านเหรียญสหรัฐ

ส่งผลให้ช่วง 6 เดือนแรก ไทยขาดดุลการค้า 10,340 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 3.2 แสนล้านบาท

ขาดดุลแฝด อันตรายที่กำลังจะมา

ส่วนเงินทุนไหลเข้าจากการท่องเที่ยว หรือการที่นักลงทุนทางตรงขนเงินเข้ามาลงทุนในปีนี้ ก็ดูเหมือนจะไม่ฟู่ฟ่าเหมือนปีที่ผ่านมาจากวิกฤตยุโรป ทำให้ดุลการชำระเงินของไทยไม่สวย ตัวเลขล่าสุดที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รายงานออกมาในเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา ติดลบ 2,774 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 5 เดือนแรกของปีนี้ ดุลชำระเงินติดลบ 1,094 ล้านเหรียญสหรัฐ

นอกจากนี้ นักลงทุนไทยรายใหญ่อย่างกลุ่มปูนซิเมนต์ไทย กลุ่ม ปตท. และกลุ่มซีพี กลุ่มสหพัฒน์ ก็นำเงินออกไปลงทุนต่างประเทศต่อเนื่อง 5 ปี ประมาณ 1 แสนล้านบาท

ดังนั้น ดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยจึงดูไม่งามตามไปด้วย โดย 5 เดือนแรกของปีนี้ ดุลบัญชีเดินสะพัดติดลบ 3 เดือนซ้อน

ในเดือน ม.ค. ไทยมีดุลบัญชีเดินสะพัดเป็นบวก 981 ล้านเหรียญสหรัฐ เดือน ก.พ. ติดลบ 1,092 ล้านเหรียญสหรัฐ เดือน มี.ค. ติดลบ 1,522 ล้านเหรียญสหรัฐ เดือน เม.ย. ติดลบ 1,516 ล้านเหรียญสหรัฐ และเดือน พ.ค. ติดลบ 1,540 ล้านเหรียญสหรัฐ

การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดนั้น เป็นสัญญาณว่าประเทศเราใช้เงินมากกว่าหาได้ รายได้จากภาคการค้าและบริการต่างประเทศลดลงมาก และเมื่อผนวกกับการขาดดุลงบประมาณของรัฐบาล ที่ขาดดุลสะสมอยู่ประมาณ 3 แสนล้านบาท ก็เป็นสัญญาณที่ไม่ดีว่าไทยหาได้ไม่พอใช้จ่าย

เงินส่วนที่ใช้เกินก็จะเป็นการกู้เงินมาใช้ ซึ่งจะทำให้สัดส่วนหนี้สาธารณะสูงขึ้นในที่สุด

ปรากฏการณ์ดังกล่าวนี้ นักวิชาการเรียกว่าการขาดดุลแฝด ซึ่งเป็นเรื่องที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในช่วงก่อนเกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง ซึ่งเป็นการแสดงว่าประเทศหย่อนยานทางด้านวินัยการคลัง

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจธนาคารไทยพาณิชย์ ระบุว่า การส่งออกในครึ่งปีหลังมีความเสี่ยงหลักจากวิกฤตเศรษฐกิจยุโรป โดยเฉพาะในไตรมาส 3 เนื่องจากมีปัจจัยเสี่ยง เช่น การที่กรีซจะต้องผ่านการตรวจสอบโดยกลุ่มเจ้าหนี้ Troika (ECB, IMF, European Commission) เพื่อที่จะได้รับเงินช่วยเหลือครั้งต่อไปในเดือน ส.ค. และการที่ต้นทุนการกู้ยืมของสเปนและอิตาลีพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว จนอาจทำให้ทั้งสองประเทศต้องขอรับความช่วยเหลือทางการเงินเพิ่มเติม ซึ่งจะเป็นเหตุให้การสั่งซื้อสินค้าเปลี่ยนแปลง และทำให้อัตราแลกเปลี่ยนผันผวน

ดังนั้น ผู้ส่งออกควรติดตามสถานการณ์ในยุโรปอย่างใกล้ชิด ต้องหาทางออกสำหรับสินค้าเกษตรที่ส่งออกลดลงอย่างต่อเนื่อง

ดังนั้น ค่อนข้างชัดเจนว่าดุลการชำระเงิน และดุลบัญชีเดินสะพัดในปีนี้ ดูอาการน่าเป็นห่วง เพราะวิกฤตเศรษฐกิจในยุโรปทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวจากกลุ่มยุโรปลดลง รายได้จากการท่องเที่ยวก็ไม่มากนัก

ส่วนการไหลเข้าของเงินทุนก็ยึดเป็นสรณะไม่ได้ เพราะเงินลงทุนทางตรงก็ไม่ได้เพิ่มขึ้นมากมาย แต่เงินที่ไหลบ่าเข้ามาไปลงทุนตลาดพันธบัตรของไทย ที่ให้ผลตอบแทนดีและความเสี่ยงต่ำกว่าพันธบัตรประเทศอื่น และไหลเข้ามาในตลาดหุ้น ทำให้เงินมาพักตรงนี้ แต่จะไหลออกเมื่อไหร่ก็ได้

ส่วนการขาดดุลงบประมาณก็จะยังคงสูงต่อไป หากรัฐบาลยังคงชูนโยบายประชานิยมมัดใจประชาชนต่อไป โดยไม่ดูหน้าตักของตัวเองว่ามีเงินเท่าไหร่

หน่วยงานเศรษฐกิจระดับโลกอย่างกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ก็ยังเตือนว่า รัฐบาลไทยต้องรักษาวินัยทางการคลังให้มีความแข็งแกร่ง โดยเฉพาะการรักษาระดับหนี้สาธารณะให้อยู่ต่ำกว่าระดับ 45% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) เพื่อรองรับวิกฤตยุโรปและโลก

สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการอิสระ กล่าวว่า วิกฤตหนี้ในสหภาพยุโรปจะยิ่งมีความรุนแรงมากขึ้นในอีก 5-6 เดือนต่อจากนี้ ดังนั้นประเทศไทยจึงต้องมีนโยบายการเงินและการคลัง รวมถึงงบประมาณที่จะใช้ในการดูแลเศรษฐกิจหากเกิดปัญหาขึ้นในช่วงปลายปีนี้

ปัจจุบันไทยจะมีอัตราส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีไม่สูงมาก อยู่ที่ 42% แต่หากปัญหาหนี้ในสหภาพยุโรปลุกลามและรุนแรงขึ้น จะกระทบต่อเศรษฐกิจโลกให้ตกต่ำและมีผลให้จีดีพีไทยติดลบ จนทำให้หนี้สาธารณะของไทยพุ่งขึ้นเป็น 60-70%

นั่นคือความเป็นห่วงเรื่องวินัยการคลังของรัฐบาล ซึ่งอาจจะสร้างปัญหาให้กับเศรษฐกิจไทยในอนาคต ที่สร้างขาดดุลแฝดที่ยาวนานต่อเนื่องหลายปี ที่จะไม่เป็นผลดีต่อประเทศในระยะยาว

อย่างไรก็ดี ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวว่า การขาดดุลแฝดของไทยจะไม่นำไปสู่ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจเหมือนในอดีต เนื่องจากประเทศไทยได้ปรับระบบค่าเงินใหม่เป็นการลอยตัวโดยมีการบริหารจัดการ ไม่ได้กำหนดอัตราแลกเปลี่ยนคงที่ ทำให้โอกาสที่ไทยจะถูกโจมตีค่าเงินน้อยลง

นอกจากนี้ ไทยมีทุนสำรองทางการระหว่างประเทศสูง ณ วันที่ 20 ก.ค.ปีนี้ ทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ที่ระดับ 1.750 แสนล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 5.548 ล้านล้านบาท

สาเหตุที่ทุนสำรองฯ เพิ่มขึ้น เป็นผลจากการที่ ธปท.เข้ามาดูแลการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทไม่ให้ผันผวนมากเกินไป เพื่อไม่ให้กระทบต่อภาคการค้าระหว่างประเทศ ด้วยการเข้าซื้อเงินเหรียญสหรัฐในตลาดทันที (Spot) เข้าเก็บในทุนสำรองฯ ฉะนั้นทุนสำรองฯ จึงเป็นเงินที่จะต้องเก็บสะสมไว้เพื่อรองรับความเสี่ยงของเศรษฐกิจ หากเกิดเงินไหลออก

ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวว่า หลังมีกระแสข่าวการลดอันดับความน่าเชื่อถือของเยอรมนี เนเธอร์แลนด์ และลักเซมเบิร์ก และไอเอ็มเอฟ อาจไม่จัดสรรเงินช่วยเหลือเพิ่มเติมให้กรีซ ก็ไม่ได้สร้างความประหลาดใจมากนัก ซึ่งทาง ธปท.ยังไม่เปลี่ยนมุมมองภาพรวมเศรษฐกิจกลุ่มประเทศยุโรป พร้อมคาดว่าเศรษฐกิจกลุ่มยูโรโซนจะชะลอตัวลง และกรีซยังเป็นสมาชิก

ส่วนกรณีสภาพคล่องในประเทศไทยเริ่มตึงตัว โดยธนาคารพาณิชย์เริ่มแข่งขันระดมเงินฝากมากขึ้นนั้น ถ้าดูยอดการฝากเงินกับ ธปท. ณ สิ้นวัน จะเห็นว่าธนาคารพาณิชย์ยังนำเงินมาฝากไว้กับ ธปท. เฉลี่ยวันละ 4-5 แสนล้านบาท สะท้อนว่าสภาพคล่องในระบบยังมีเพียงพอ เศรษฐกิจไทยยังไม่มีปัญหา

จากการเปลี่ยนแปลงของระบบการเงินการคลังของไทย ทำให้ความกังวลเรื่องการขาดดุลแฝดจะทำให้เศรษฐกิจพังได้ อาจจะลดความรุนแรงลง แต่เรื่องนี้ยังคงต้องระวัง

ประเทศใดที่มีหนี้สาธารณะมาก ประเทศนั้นก็ไม่แคล้วเสียเอกราชทางการเงิน