posttoday

ประกันภัยไซส์เล็กใกล้สูญพันธุ์

26 กรกฎาคม 2555

ถึงเวลาที่บริษัทประกันภัยขนาดเล็กจะถูกตรวจสอบอย่างเข้มงวด

โดย...วารุณี อินวันนา

ถึงเวลาที่บริษัทประกันภัยขนาดเล็กจะถูกตรวจสอบอย่างเข้มงวด เพราะสภาพคล่องทางการเงินของแต่ละแห่งร่อยหรอจากการจ่ายค่าสินไหมทดแทนน้ำท่วมใหญ่ ถูกเกณฑ์การดำรงเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (RBC) การแปลงสภาพเป็นบริษัทมหาชนในปี 2556 การเปิดเสรีประชาคมอาเซียน (AEC) โอกาสถูกสั่งปิดตายสูง

การพุ่งเป้าไปที่บริษัทประกันภัยขนาดเล็ก เพราะมีความเสียเปรียบด้านเงินกองทุนที่เล็ก ต้นทุนการเงินสูง และยังเป็นบริษัทที่เจ็บหนักจากน้ำท่วมใหญ่ที่ผ่านมา เพราะรับประกันลูกค้ารายย่อยๆ ซึ่งส่วนใหญ่รับความเสี่ยงไว้เอง

นอกจากจะถูกสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) จับตาดูอย่างใกล้ชิดแล้ว ผ่านเกณฑ์การดำรงเงินกองทุนตามประเภทความเสี่ยงที่กำหนดให้ต้องดำรงเงินกองทุนให้อยู่ที่ 125% ตลอดเวลาจากที่เกณฑ์ คปภ.กำหนดไว้ 100% และจะต้องจัดการแปลงสภาพบริษัทเป็นมหาชนให้เสร็จสิ้นภายในปี 2556

การเปิดเออีซีในปี 2558 หรือในอีก 3 ปีข้างหน้า บีบให้ทุกบริษัทต้องเร่งจัดระเบียบฐานะการเงิน กำลังคน และเทคโนโลยี ของตัวเองให้เข้มแข็งและพร้อมที่จะสู้กับบริษัทประกันภัยต่างชาติที่จะไหลบ่าเข้ามาแย่งชิงลูกค้าที่อยู่อย่างจำกัดในไทย บริษัทที่จะอยู่รอดได้ต้องมีทุนหนา อย่างบริษัทที่มีธนาคารพาณิชย์ถือหุ้น และบริษัทที่มีต่างชาติถือหุ้นใหญ่

การช่วยเหลือกันและกันเข้าทำนองสุภาษิตไทย เอาหูไปนา เอาตาไปไร่ จะไม่หลงเหลืออีกต่อไป ณ วันนี้ บริษัทประกันภัย ถูกคู่แข่งขัน ซึ่งมีสถานะเป็นคู่ค้า ทำหน้าที่ตรวจสอบด้วย หากพบสิ่งที่ไม่ชอบมาพากล เรื่องถึง คปภ.แน่ เพราะคู่แข่ง โดยเฉพาะบริษัทขนาดใหญ่ไม่ต้องการเสียเวลา เข้ามาแก้ปัญหาที่ตัวเองไม่ได้ก่อขึ้น และต้องการตัดทิ้งบริษัทที่ไร้ความเป็นมืออาชีพออกจากวงการ

กรณีประกันภัยมีปัญหาเรื่องทุน อาทิ บริษัท ลิเบอร์ตี้ประกันภัย บริษัท วิคเตอรี ประกันภัย (ประเทศไทย) เมื่อปี 2554 บริษัท เอ.พี.เอฟ. อินเตอร์เนชั่นแนล อินชัวรันส์ เมื่อปี 2553 บริษัท สัมพันธ์ประกันภัย เมื่อปี 2552 และบริษัท พาณิชย์การประกันภัย ในปี 2548 โดยการเข้าไปรับลูกค้าของ 5 บริษัทประกันภัยที่ถูกสั่งปิดไปก่อนหน้านี้ตามคำสั่งของ คปภ. ซึ่งผู้บริหารบริษัทขนาดใหญ่ย้ำตลอดเวลาว่า ไม่ต้องการช่วยคนทำผิด และจะไม่ยอมให้เกิดซ้ำรอย จึงต้องคอยตรวจเช็กกันละเอียดยิบ

รวมถึงกรณีบริษัท ส่งเสริมประกันภัย ที่คนใน คปภ.บอกว่า เรื่องปูดขึ้นเมื่อมีผู้ได้รับบาดเจ็บจากรถมีการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน บริษัทคู่แข่งขันทำการตรวจสอบรายชื่อลูกค้า พ.ร.บ.ในระบบ แต่ไม่พบเลขที่กรมธรรม์ดังกล่าว จึงแจ้งเข้ามาที่ คปภ.ให้ทำการตรวจสอบ จึงพบว่าเป็นการขายโดยที่ไม่ได้ลงบัญชี และไม่มีการส่งข้อมูลเข้าระบบกลางที่ตกลงกันไว้ คปภ.จึงสั่งให้บริษัทเรียกคืนกรมธรรม์ที่แจกจ่ายให้ตัวแทน นายหน้า ที่ยังไม่ขายคืนทั้งหมด แตกต่างจาก 5 รายแรกที่ถูกสั่งปิดตาย เกิดจากเงินกองทุนติดลบและแก้ปัญหาเงินกองทุนไม่ได้

ประกันภัยไซส์เล็กใกล้สูญพันธุ์

อย่างไรก็ตาม ปัญหาเงินกองทุนติดลบของทั้ง 5 บริษัท ล้วนเกิดจากการทุจริต และไม่ตรงไปตรงมาในการทำธุรกิจทั้งสิ้น ทำให้ คปภ.ได้บทเรียน จึงรีบสั่งบริษัท ส่งเสริมประกันภัย หยุดรับประกันภัยเป็นการชั่วคราว

นอกจากนี้ ยังมีบริษัทที่เข้าข่ายเอาตัวไม่รอดในเร็วๆ นี้มีอีก 5-6 ราย โดยมีพฤติกรรมการแข่งขันตัดราคาเบี้ยประกัน จ่ายค่านายหน้าสูงกว่าที่กฎหมายกำหนด บางรายจ่ายกัน 30-50% และมีการขายกรมธรรม์แบบขายขาด หรือในวงการใช้คำว่า ขายหัว ซึ่งบริษัทประกันภัยจะออกกรมธรรม์ แล้วขายให้กับบริษัทนายหน้า หรือตัวแทน โดยปรับบทบาทตัวเองเป็นนายหน้ากินค่านายหน้าแทน หรือรับฉบับละ 10%

หากลูกค้าไม่เรียกร้องค่าสินไหมทดแทน นายหน้า และ ตัวแทนก็รับเบี้ยเข้ากระเป๋า 90% แต่ถ้าเกิดอุบัติเหตุก็จะส่งลูกค้ารายนั้นให้บริษัทย้อนหลัง การบันทึกบัญชีจึงจะเกิดขึ้นอย่างถูกต้อง ซึ่งลูกค้ายังได้รับการดูแล แต่รัฐบาลเสียประโยชน์จากการสูญเสียภาษีรายได้ที่ควรจะได้รับ

ขณะที่บริษัทประกันภัยขนาดเล็กอื่นๆ ตกอยู่ในสถานะน่าเป็นห่วง เรื่องความสามารถในการบริหารความเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้น เพราะมีความเสียเปรียบเรื่องต้นทุนการดำเนินงานที่สูง 30-40% เมื่อเทียบกับบริษัทขนาดใหญ่ที่มีต้นทุนอยู่ที่ 10% หลายบริษัทยังไม่คิดถึงอันตรายที่จะมากับการแข่งขัน ยังตัดราคาค่านายหน้า ค่าเบี้ยประกันภัย เพื่อให้ได้เงินสดเข้าบริษัท

โอกาสในการควบรวมกิจการเพื่อความอยู่รอดเป็นไปได้ยาก เพราะต่างไม่ไว้ใจซึ่งกันและกัน เข้าทำนองคำพังเพย ไก่เห็นตีนงู งูเห็นนมไก่ และการขายกิจการของต่างชาติเป็นไปได้ยากเช่นกัน เพราะส่วนใหญ่ต่างชาติต้องการบริษัทที่มีขนาดเบี้ยประกัน 1,000 ล้านบาทขึ้นไป และต้องมีฐานลูกค้าที่ไม่ซ้ำกับคู่แข่งขัน บัญชีต้องใสสะอาด และมีช่องทางการขายที่แข็งแกร่ง

แม้ว่า คปภ.จะปลดล็อกให้ต่างชาติถือหุ้นตรงได้ถึง 49% โดยไม่ต้องขออำนาจ รมว.คลัง อนุมัติในปีนี้ แต่ถึงวันนี้ยังไม่เห็นสัญญาณใดๆ ที่จะนำไปสู่การควบรวมกิจการอย่างสมัครใจของบริษัทขนาดเล็กด้วยกัน ถ้าจะเกิดน่าจะมาจากการบังคับของทางการมากกว่า

ในอดีตที่ผ่านมา การควบรวมกิจการที่เกิดขึ้น เป็นกรณีที่มีผู้ถือหุ้นกลุ่มเดียวกัน หรือเกี่ยวดองกันในทางเครือญาติ คือ บริษัท เมืองไทยประกันภัย กับบริษัท ภัทรประกันภัย ของตระกูลล่ำซำ และบริษัท นวกิจประกันภัย กับบริษัท สากลประกันภัย ของตระกูลหวั่งหลี

การแข่งขันเพื่อดันตัวเองขึ้นไปอยู่แถวหน้า จะทำให้บริษัทที่ปรับตัวช้าเสียเปรียบ และตกขบวน เพราะเค้กมีเพียงก้อนเดียว ทุกคนต่างต้องการช่วงชิงให้ได้เค้กที่มีชิ้นใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ย่อมต้องทุ่มสุดตัวก่อนที่จะเปิดเออีซี

ผู้ที่ถือเค้กก้อนใหญ่สุดมี 10 บริษัท โดยมีเบี้ยรวมกันสูงถึง 8.08 หมื่นล้านบาท จากเบี้ยรับรวมในปี 2554 ที่มีทั้งหมด 1.40 แสนล้านบาท อีก 5.92 หมื่นล้านบาท เป็นของ 57 บริษัท เฉลี่ยแล้วมีเบี้ยรายละ 1,038 ล้านบาทเท่านั้น

คำถามที่เกิดขึ้น คือ บริษัทที่รั้งท้ายจะเอาตัวรอดหรือไม่อย่างไร ในเมื่อหาความได้เปรียบในการแข่งขันยาก หรือจะยอมแพ้ปล่อยให้ คปภ.สั่งเพิกถอนใบอนุญาต หรือสั่งปิดตาย โดยไร้ความผิด ขณะที่กลุ่มพิสมัยเล่นนอกกติกา มีสิทธิถูกสั่งปิดตายกันเป็นเบือ เพื่อสังเวย AEC