posttoday

ลดหนี้ล่ม-ฟื้นเศรษฐกิจเหลวยุโรปนับวันรอยกธงขาว

25 กรกฎาคม 2555

หลังผ่านพ้นการประชุมสุดยอดผู้นำยุโรปเมื่อปลายเดือน มิ.ย. ทั่วทั้งโลกต่างก็โล่งใจว่าวิกฤตการณ์หนี้ยุโรปได้บรรเทาเบาบางลงแล้ว

โดย...นันทิยา วรเพชรายุทธ

หลังผ่านพ้นการประชุมสุดยอดผู้นำยุโรปเมื่อปลายเดือน มิ.ย. ทั่วทั้งโลกต่างก็โล่งใจว่าวิกฤตการณ์หนี้ยุโรปได้บรรเทาเบาบางลงแล้ว หลังจากที่ประชุมยอมประนีประนอมครั้งใหญ่ ไฟเขียวให้ใช้เงินจากกองทุนยุโรปอัดฉีดเข้าช่วยภาคธนาคารในสเปนได้โดยตรง พร้อมทั้งคลอดแผนกระตุ้นเศรษฐกิจในยุโรปอีก 1.2 แสนล้านยูโร (เกือบ 5 ล้านล้านบาท)

ทว่า ผ่านมายังไม่ทันครบ 1 เดือนเต็ม ปัญหายุโรปก็กลับมาปะทุในอีหรอบเดิม ราวกับไม่เคยมีความพยายามแก้ไขร่วมกันมาก่อน ทำให้นักวิเคราะห์หลายฝ่ายเริ่มเห็นบทสรุปของมหากาพย์เรื่องนี้ไปในทิศทางเดียวกัน

“ยุโรปกำลังพ่ายแพ้”

การแพ้ของยุโรปนั้นครอบคลุมแทบจะทุกด้าน โดยเฉพาะแนวรบ 2 ด้านหลักๆ คือ 1.ความพยายามแก้ปัญหาหนี้สาธารณะที่เป็นปัญหาดั้งเดิมด้วยนโยบายรัดเข็มขัด และ 2.การต่อสู้กับภาวะเศรษฐกิจถดถอยในปัจจุบัน ซึ่งเป็นผลกระทบมาจากการดำเนินมาตรการรัดเข็มขัดอย่างเข้มงวด

วิกฤตการณ์หนี้สาธารณะซึ่งเริ่มต้นจากกรีซเมื่อเกือบ 3 ปีก่อน ได้ลุกลามไปสู่ประเทศอื่นๆ ตามความกังวลก่อนหน้านี้เรียบร้อยแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการกระทบโดยตรง เช่น สเปนและไซปรัส ที่ต้องขอเงินกู้เป็นรายล่าสุด หรือกระทบทางอ้อมผ่านเงินสกุลยูโรและสภาพเศรษฐกิจที่ซบเซาลง

แม้ว่า กรีซ ไอร์แลนด์ และโปรตุเกส จะได้รับเงินช่วยเหลือจากสหภาพยุโรป (อียู) และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ทว่าก็เป็นความช่วยเหลือที่อยู่ภายใต้เงื่อนไขให้รัดเข็มขัดรายจ่ายและลดการขาดดุลงบประมาณอย่างเข้มงวด ทำให้รัฐบาลเหล่านี้ต้องขึ้นภาษีและลดสวัสดิการต่างๆ ภายในประเทศ นำไปสู่อัตราการว่างงานที่พุ่งสูง และทำให้หลายประเทศเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยในปัจจุบัน

ลดหนี้ล่ม-ฟื้นเศรษฐกิจเหลวยุโรปนับวันรอยกธงขาว

สถานการณ์ที่ย่ำแย่ในกรีซยังทำให้ประเทศต้องเสี่ยงต่อการไม่ได้รับเงินกู้รอบใหม่ 3.15 หมื่นล้านยูโร จากสหภาพยุโรป (อียู) และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ก่อนเดือน ก.ย. หากพิจารณาพบว่ากรีซยังลดรายจ่ายในปีงบประมาณหน้าได้ไม่มากเพียงพอ

ความล้มเหลวของยุโรปที่หลายฝ่ายยังเห็นพ้องต้องกันด้วยก็คือ ยุโรปไม่ได้ดำเนินมาตรการอื่นๆ ควบคู่ไปกับการรัดเข็มขัดที่มากเพียงพอ โดยเฉพาะธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ที่ถูกวิจารณ์ว่าเอาแต่นั่งทับกองเงิน โดยไม่สามารถเอาเงินที่มีมาใช้แก้ปัญหาได้

อีซีบีถูกโจมตีอย่างหนักว่าไม่ได้ดำเนินมาตรการทางการเงินที่มากพอเพื่อแก้วิกฤตการณ์หนี้ยุโรป แม้ว่าที่ผ่านมาจะมีการลดอัตราดอกเบี้ย 0.75% ทว่าสิ่งที่ตลาดและทั่วโลกคาดหวังจากอีซีบี คือ มาตรการเชิงรุกขนาดใหญ่ด้วยการช่วยซื้อพันธบัตรของประเทศในยุโรป หรือคิวอี ซึ่งจะตอบโจทย์ให้ประเทศเสี่ยงอย่างสเปนหรืออิตาลีได้ทันที แต่จนถึงปัจจุบันอีซีบียังคงไม่ตอบรับแนวทางนี้ เพราะสุ่มเสี่ยงผิดข้อบัญญัติของยุโรปที่ห้ามอีซีบีเข้าช่วยเรื่องเงินกู้ของประเทศสมาชิกโดยตรง

อีกความล้มเหลวสำคัญซึ่งนับเป็นผลพวงมาจากมาตรการลดหนี้ทั่วยุโรปก็คือ ภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซาไปทั่วทั้งยุโรป ทั้งที่ในความเป็นจริงเศรษฐกิจยุโรปก็ยังไม่ได้แข็งแรงดีจากผลกระทบของวิกฤตการณ์ภาคการเงินเมื่อปี 2551 และวิกฤตการณ์เศรษฐกิจโลกเมื่อปี 2552 เสียด้วยซ้ำ

จากปัจจุบันที่มี 6 ใน 17 ประเทศกลุ่มยูโรโซน เข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยไปแล้วนั้น เป็นที่คาดกันว่ายุโรปทั้งภูมิภาคอาจต้องเข้าสู่ภาวะถดถอยภายในอีกครึ่งปีหลังนี้ ท่ามกลางแนวโน้มปัญหาการว่างงานที่จะทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้น

อัตราการว่างงานล่าสุดของกลุ่มยูโรโซน 17 ประเทศ เมื่อเดือน พ.ค.ที่ผ่านมานั้น ได้ทำสถิติสูงสุดอยู่ที่ 11.1% นำโดยสเปน ซึ่งมีอัตราว่างงานพุ่งทุบสถิติอีกครั้งที่ 24.6% โดยเฉพาะในกลุ่มคนหนุ่มสาว

ขณะเดียวกัน สถานการณ์ของสเปนนั้นก็มีทีท่าว่าจะรุนแรงกว่าที่หลายฝ่ายเคยคาดการณ์กันเอาไว้

จากที่เคยมีการเปิดเผยกันว่า สเปนมีปัญหาเฉพาะในภาคธนาคาร จนนำไปสู่การตกลงให้ใช้กองทุนหลักของยุโรปทั้งสองกองทุนเข้าปล่อยกู้ภาคธนาคารในสเปนได้โดยตรงนั้น ล่าสุด สถานการณ์กลับเลวร้ายลงเมื่อรัฐบาลท้องถิ่นในสเปนตกอยู่ในภาวะชอร์ตสุดขีด แคว้นวาเลนเซียเริ่มปริปากขอความช่วยเหลือทางการเงินจากรัฐบาลกรุงมาดริด เมื่อวันศุกร์ที่ 20 ก.ค. ท่ามกลางต้นทุนการกู้ยืมในตลาดพันธบัตรที่ดอกเบี้ยพุ่งสูงแตะระดับ 7% อีกครั้ง ประชาชนต่างเดินหน้าประท้วงแผนรัดเข็มขัดและขึ้นภาษี และฉุดให้ตลาดหุ้นร่วงลงหนักถึง 5.8% จนได้ชื่อว่าเป็นวัน “แบล็ก ฟรายเดย์” ของสเปน

สถานการณ์ดังกล่าวยังทวีความรุนแรงอย่างต่อเนื่องในต้นสัปดาห์นี้ เมื่อมีการเปิดเผยตัวเลขจีดีพีในไตรมาส 2 ว่า หดตัวลง 0.4% จากไตรมาสที่ผ่านมา ซึ่งธนาคารกลางสเปนยังส่งสัญญาณร้ายด้วยว่า เศรษฐกิจสเปนจะไม่กลับไปเติบโตอีกครั้งจนกว่าจะถึงปี 2557 ซึ่งหมายความว่าชาวสเปนอาจต้องจมอยู่กับภาวะเศรษฐกิจที่ย่ำแย่และการตกงานพุ่งสูงไปตลอด 2 ปีนี้

สถานการณ์ตลอดช่วงหลายวันที่ผ่านมากำลังทำให้ทั่วโลกไม่อาจกลัวเป็นอย่างอื่นไปได้ว่า “รัฐบาลสเปน” อาจต้องขอความช่วยเหลือทางการเงินเพื่อแก้ “หนี้สาธารณะ” ในที่สุด

หากเป็นเช่นนั้นจริงก็จะถือเป็นวิกฤตครั้งใหญ่ของโลก และสะท้อนว่ายุโรปอาจไม่ได้เรียนรู้บทเรียนต่างๆ ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมามากเพียงพอ