posttoday

ของเก่าเขย่า "มาร์ค" ชิงจังหวะก่อนซักฟอก

25 กรกฎาคม 2555

มหากาพย์ยาวนานกว่าทศวรรษกับประเด็น “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” หนีทหาร ที่ถูกขุดขึ้นมาเป็นประเด็นการเมืองหลายระลอกกำลังงวดเข้าสู่ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่ออีกครั้ง

โดย...ธนพล บางยี่ขัน

มหากาพย์ยาวนานกว่าทศวรรษกับประเด็น “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” หนีทหาร ที่ถูกขุดขึ้นมาเป็นประเด็นการเมืองหลายระลอกกำลังงวดเข้าสู่ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่ออีกครั้ง

ทั้งที่ประเด็น “หนีทหาร” ได้เป็นคดีความในศาลยุติธรรม หลังจาก “อภิสิทธิ์” ตัดสินใจฟ้องหมิ่นประมาท “จตุพร พรหมพันธุ์” แกนนำเสื้อแดง เมื่อปี 2553

คำตัดสินของศาลชั้นต้นซึ่งไม่รู้จะออกมาเมื่อไร เพราะอยู่ระหว่างการไต่สวนพยาน ได้เป็นที่จับจ้องของสองฝ่าย เพราะข้อกล่าวหา “หนีทหาร” เป็นอาวุธที่ฝ่ายเพื่อไทยเสื้อแดง ได้ใช้โจมตีหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์มาโดยตลอด จนกลายเป็นแผ่นเสียงตกร่อง

ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า คดีนี้เป็นคดีหมิ่นประมาท โดย อภิสิทธิ์ ได้ยื่นฟ้อง จตุพร ในความผิดฐานหมิ่นประมาท กรณีเมื่อวันที่ 29 ม.ค.-15 ก.พ. 2553 จำเลยปราศรัยต่อกลุ่มคนเสื้อแดงและประชาชนที่รับชมสถานีโทรทัศน์ช่องพีเพิล แชนแนล กล่าวหาว่าโจทก์ (อภิสิทธิ์) เป็นนายกรัฐมนตรีที่สั่งฆ่าประชาชนและหลบเลี่ยงการเกณฑ์ทหาร

ผลที่จะออกมาจึงไม่เกี่ยวข้องกับโทษทางอาญากับเหตุการณ์ที่ผ่านมากว่า 10 ปีแล้ว แต่จะส่งผลกระทบไปถึง “ความสง่างาม” ในการทำหน้าที่ทางการเมืองของทั้งสองฝ่าย

เท้าความไปถึงที่มาที่ไปมีต้นกำหนดมาตั้งแต่ปี 2542 เมื่อ “กมล บันไดเพชร” เมื่อครั้งเป็นรองโฆษกพรรคความหวังใหม่ ได้เปิดประเด็นหนีทหารของ “อภิสิทธิ์”

จากนั้นเรื่องเงียบหายไปนาน จนกลายมาเป็นประเด็นในเวทีเสื้อแดงช่วงขับไล่รัฐบาลอภิสิทธิ์ โดยแกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ได้หยิบประเด็นนี้มารุกขย้ำ “อภิสิทธิ์” ช่วงเป็นนายกรัฐมนตรี จนที่สุด “จตุพร” หยิบมาอภิปรายไม่ไว้วางใจขณะเป็นฝ่ายค้าน เมื่อวันที่ 19 มี.ค. 2552 ครั้งนั้น “อภิสิทธิ์” นำทะเบียนรายชื่อการผ่อนผันเพื่อไปเรียนต่อปริญญาโทและสำเนา สด.9 ฉบับแรก มาแสดงในที่ประชุม

“กมล” ได้ตามมากระทุ้งอีกครั้งเมื่อต้นปี 2552 โดยเรียกร้องให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รมว.กลาโหม ถอดยศและเรียกเงินเดือนคืน แต่ได้รับการแจ้งกลับมาว่า ไม่สามารถถอดยศได้ เพราะเงื่อนไขการถอดยศนั้นต้องทำความผิดหรือรับโทษตามระเบียบกระทรวงกลาโหมก่อน

ของเก่าเขย่า "มาร์ค" ชิงจังหวะก่อนซักฟอก

หลังอภิสิทธิ์ตัดสินใจฟ้องร้อง จตุพร สุดท้ายมาเป็นประเด็นตอบโต้อีกรอบ เมื่อพรรคเพื่อไทยกลับมาเป็นรัฐบาลได้ 1 ปี

เที่ยวนี้ตัวละครเก่า “กมล” เรื่อยไปถึงระดับโฆษกพรรคเพื่อไทยและ พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รมว.กลาโหม ออกมาโจมตีผู้นำฝ่ายค้านอย่างเป็นระบบ โดยพยายามจุดประเด็นเรื่องการใช้เอกสารปลอม และยื่นเรื่องให้ผู้ตรวจการแผ่นดินตรวจสอบ อภิสิทธิ์

กมล ได้เรียกร้องให้ “ศิริโชค โสภา” คนใกล้ชิดที่ออกมาชี้แจงช่วย อภิสิทธิ์ แสดงเอกสารผ่อนผันการเข้ารับราชการทหารตัวจริง สด.41 เลขที่ 4892/29 ของ “อภิสิทธิ์” พร้อมท้าว่าจะกราบงามๆ หากหามาได้จริง

แน่นอนว่า ยากที่ “ศิริโชค” จะหา สด.41 ดังกล่าวตัวจริงมาแสดงได้ เมื่อเอกสารดังกล่าวอายุเกิน 10 ปี

กระนั้น เอกสารที่ “ศิริโชค” นำมาแสดงต่อสื่อมวลชนก่อนหน้านี้เป็น สด.20 ที่เป็นบัญชีรายชื่อนักเรียนที่ขอผ่อนผันการไปศึกษาต่อต่างประเทศ ที่ “อภิสิทธิ์” อยู่ในบัญชีลำดับที่ 3 ขอผ่อนผันไปศึกษาต่อที่สหราชอาณาจักร ปี 2530-2532 พร้อมระบุว่าเอกสารนี้แสดงให้เห็นชัดว่าระบุถึงต้นเรื่องที่เป็น สด.41 เลขที่ 4892/29 แทน

ทว่า “กมล” พยายามหยิบยกเนื้อหาในผลสอบสวนข้อเท็จจริงของจเรทหารบก 2542 ระบุว่า 1.อภิสิทธิ์ ไม่ได้เข้ารับการตรวจเลือก เป็นบุคคลหนีทหาร

2.ใช้หลักฐานเท็จสมัครเข้าโรงเรียนนายร้อย จปร. และ 3.ใช้เอกสาร สด.9 เท็จ จนได้รับการแต่งตั้งเป็นนายทหารสัญญาบัตร

แต่กลับถูก “ศิริโชค” หักล้างว่า ผลสอบดังกล่าวอ้างอิงถึงแค่เอกสารจากโรงเรียนนายร้อย จปร.เท่านั้น ทั้งที่มีการระบุว่าจะต้องตรวจสอบข้อมูลจากกรมสารบรรณทหารบก (สบ.ทบ.) และกรมกำลังพลทหารบก (กพ.ทบ.) แต่พบว่าไม่สามารถนำเอกสารจากแหล่งดังกล่าวมาประกอบการพิจารณาได้

นอกจากนี้ การสอบปากคำพยานเป็นเพียงแค่การตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่เสมียนธุรการ และแม้จะมีการตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่ระดับสูง แต่ก็เป็นเจ้าหน้าที่ซึ่งไม่เกี่ยวข้องโดยตรง เพราะส่วนใหญ่คนที่เกี่ยวข้องเกษียณอายุราชการไปแล้ว ดังนั้นเอกสารดังกล่าวจึงถือว่าไม่สมบูรณ์ ไม่สามารถนำมาอ้างอิงได้

ศิริโชค โต้กลับด้วยประเด็น พ.อ.สมโชค ไกรศิริ หนึ่งในคณะกรรมการสอบสวน ยอมรับกลางศาลระหว่างการซักค้านว่า ไม่ทราบว่า ก.พ.เป็นผู้ดูแลทำหนังสือผ่อนผันการไปศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษของ “อภิสิทธิ์” และไม่ต้องมารับการตรวจเลือกฯ ถ้าเป็นกรณีแบบนี้จริง ยอมรับว่าไม่ใช่การหนีทหาร

ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. แม้ไม่อยากแสดงท่าทีต่อเรื่องนี้เท่าไร เพราะผู้บังคับบัญชาวันนี้เป็นรัฐบาลพรรคเพื่อไทย แต่ก็แย้มว่า การสอบสวนเสร็จสิ้นตั้งแต่ปี 2542 แล้ว โดยสรุปว่าข้อกล่าวหาเรื่องการหนีทหารของอภิสิทธิ์ไม่มีมูล

การเร่งขย่ม “อภิสิทธิ์” ในช่วงนี้จึงไม่อาจมองเป็นอื่นได้ นอกจากเปิดเกมโต้กลับหวัง “ดิสเครดิต” ทางการเมือง

เพราะเป็นช่วงที่ “อภิสิทธิ์” ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านกำลังชักธงรบ เปิดฉากตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลอย่างหนัก

ไม่ว่าจะเป็นประกาศนำทัพคัดค้านร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ยังไม่มีความชัดเจน ว่าจะผลักดันเดินหน้าต่อหรือถอยไปตั้งหลักกันใหม่ ไปจนถึง พ.ร.บ.ปรองดองฯ ที่สุ่มเสี่ยงต่อการปลุกกระแสความขัดแย้งให้เกิดขึ้นในสังคมอีกรอบ

โดยเฉพาะ “ศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ” ซึ่งจะถึงคิวที่พรรคประชาธิปัตย์จะซักฟอกนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในสมัยประชุมสภาที่จะถึงนี้เริ่มเดือน ส.ค.

ผลจากการ “รีรัน” ปมหนีทหารได้ผลระดับหนึ่ง เมื่อฝ่ายค้านตกเป็นฝ่ายตั้งรับ ขณะที่พรรคเพื่อไทยยึดพื้นที่ข่าวถล่ม อภิสิทธิ์ ได้ร่วมสัปดาห์

จนขนาด สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล นักวิชาการฝ่ายแดงด้วยกัน ยังบ่นในเฟซบุ๊กว่า พรรคเพื่อไทยหยิบประเด็นนี้มาถล่มใส่อภิสิทธิ์ ไม่สมศักดิ์ศรี แต่ถ้าหยิบเรื่องเคยยิงใครตายแล้วปิดบังความจริง ยังน่าเล่นกว่าเยอะ