posttoday

เตือนเอเซียเลิกผิดซ้ำซากเร่งจัดการ "น้ำท่วม" ก่อนประวัติศาสตร์ซ้ำรอย

24 กรกฎาคม 2555

กลายเป็นประเด็นที่ชวนให้บรรดานักลงทุนและนักธุรกิจทั่วโลกต้องหันมาทำความเข้าใจกันอีกรอบ

โดย...นงลักษณ์ อัจนปัญญา

กลายเป็นประเด็นที่ชวนให้บรรดานักลงทุนและนักธุรกิจทั่วโลกต้องหันมาทำความเข้าใจกันอีกรอบ เมื่อรายงานฉบับล่าสุดประจำปี 2554 ของ สวิส รี บริษัทด้านประกันภัยชั้นนำของโลก ออกมาระบุว่า ปัจจัยเสี่ยงอันดับต้นๆ ของการดำเนินธุรกิจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกก็คือภัยพิบัติทางธรรมชาติ โดยเฉพาะภัยน้ำท่วมไม่เปลี่ยนแปลง

เพราะแม้จะเป็นเรื่องที่รับทราบกันทั่วหน้าเป็นอย่างดี เนื่องจากหลายบริษัทชั้นนำของโลกมีประสบการณ์โดยตรงมาแล้วกับเหตุอุทกภัยครั้งใหญ่ในรอบ 50 ปี ของประเทศไทยเมื่อปลายปีที่แล้ว

แต่ที่ชวนให้พิศวงก็คือ ทั้งๆ ที่รู้ว่าหลายพื้นที่ในภูมิภาคดังกล่าวเสี่ยงภัยน้ำท่วมแน่นอน โดยมีจีนนำมาเป็นอันดับหนึ่ง ตามด้วยประเทศบราซิล รัสเซีย อินเดีย และมาเลเซีย ขณะที่อินโดนีเซียติดอยู่ในอันดับ 7 ไทยอันดับ 9 และเวียดนามอันดับ 10 ตัวเลขการก่อสร้างโรงงาน อาคาร และนิคมอุตสาหกรรมบนพื้นที่น้ำท่วมถึงกับยังคงเดินหน้าเพิ่มแบบพุ่งพรวดไม่มีลด

ยืนยันได้จากผลการศึกษาของมหาวิทยาลัยเทกซัส เอแอนด์เอ็ม และมหาวิทยาลัยเยล ในสหรัฐ ที่ระบุว่า พื้นที่ราบลุ่มหรือแถบชายฝั่งของภูมิภาค ได้รับการปรับปรุงพัฒนาเปลี่ยนเป็นพื้นที่อุตสาหกรรมอย่างรวดเร็ว โดยมีการยกตัวอย่างของประเทศจีนที่มีการคาดการณ์กันว่า ด้วยอัตราความเร็วในการขยายพื้นที่เขตอุตสาหกรรมในปัจจุบัน ภายในปี 2573 พื้นที่ราบลุ่มของจีนจะมีอาณาเขตเป็นนิคมอุตสาหกรรมที่ใหญ่เทียบเท่าประเทศเนเธอร์แลนด์กับเบลเยียมรวมกัน!

เหตุผลสำคัญสำหรับสถานการณ์ข้างต้นสืบเนื่องมาจากความต้องการของรัฐบาลหรือผู้นำในเอเชียที่จะทำให้ประเทศหลุดพ้นจากภาวะยากจน ส่งผลให้เกิดการผลักดันตัวเองอย่างหนัก และทำให้ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมามีบรรดาโรงงานมากมายผุดขึ้นมาราวดอกเห็ด

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่น่าหวาดกลัวยิ่งกว่าก็คือ ความเร่งรีบดังกล่าวทำให้บริษัทส่วนใหญ่ต่างสร้างโรงงานบนพื้นที่แถบชายฝั่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่ราบลุ่มบริเวณดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำ ด้วยเห็นแก่ความสะดวกรวดเร็ว โดยปราศจากการอ้างอิงข้อมูลเชิงสถิติในเรื่องภัยพิบัติธรรมชาติอย่างน้ำท่วมหรือพายุ

พูดให้เข้าใจง่ายขึ้นก็คือว่า ต่อให้รู้ว่าภัยพิบัติทางธรรมชาติเช่นน้ำท่วมเป็นปัจจัยเสี่ยงหมายเลขหนึ่งของภาคอุตสาหกรรม แต่เอเชียแปซิฟิก กลับไม่มีทีท่าที่จะเรียนรู้จัดการปัญหาน้ำท่วมที่เกิดขึ้นอย่างจริงจัง แม้จะมีบทเรียนราคาแพงเช่นน้ำท่วมครั้งใหญ่ของไทยเมื่อช่วงปลายปีที่แล้วที่ทำเอาบริษัททั้งไทยและต่างชาติเสียหายหลายล้านล้านบาท

นับเฉพาะแค่ธุรกิจประกันภัยก็สูญไปกว่า 2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 6 แสนล้านบาท) ซึ่งถือว่ามากที่สุดในประวัติศาสตร์การประกันภัย โดยยังไม่นับรวมความเสียหายอีกหลายแสนล้านบาทจากการที่โรงงานต้องหยุดชะงักไม่สามารถดำเนินการผลิตได้นานกว่า 3 เดือน

เป็นความผิดซ้ำซากที่ อดัม สวิตเซอร์ นักวิทยาศาสตร์จากหอสังเกตการณ์ภาคพื้นดินในสิงคโปร์ลงความเห็น หลังจากที่ได้มีโอกาสลงพื้นที่ตรวจสอบท่าเรือและนิคมอุตสาหกรรมหลายแห่งในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ต้องตั้งคำถามว่า “ใครทำหน้าที่ประเมินความเสี่ยงให้กับเจ้าของสถานที่เหล่านี้ก่อนการปลูกสร้าง”

และแสดงให้เห็นถึงข้อเท็จจริงที่ว่า ถึงจะเผชิญหน้ากับอุทกภัยทุกปี แต่จนแล้วจนรอด แทบจะทุกประเทศในเอเชียแปซิฟิกซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในสถานะประเทศกำลังพัฒนาและเป็นตลาดเกิดใหม่ ล้วนปราศจากมาตรการบริหารจัดการ แก้ไข บรรเทาและฟื้นฟูอย่างเหมาะสมครบถ้วนรอบด้านเพียงพอและดีพอ

เตือนเอเซียเลิกผิดซ้ำซากเร่งจัดการ "น้ำท่วม" ก่อนประวัติศาสตร์ซ้ำรอย

จนเป็นความหวาดวิตกที่บรรดาบริษัทประกันภัยต้องพร้อมใจออกมาเตือนสติเอเชีย ว่า อย่าทำตัวให้เคยชินกับปัญหาน้ำท่วมจนเกินไปนัก เพราะการศึกษาทางด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกในปัจจุบันกำลังชี้ให้เห็นว่าแนวโน้มการเกิดน้ำท่วมนั้นจะรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเป็นผลลัพธ์ที่เกิดจากหลายๆ ปัจจัยรวมกัน ทั้งระดับน้ำทะเลและปริมาณน้ำฝนที่เพิ่มสูงขึ้น ตลอดจนความบ่อยในการเกิดพายุ

เรียกได้ว่าความเสียหายจากภัยน้ำท่วมอาจเทียบได้กับเหตุแผ่นดินไหวหรือพายุถล่ม และเนื่องจากปัญหาน้ำท่วมมีแนวโน้มเกิดขึ้นได้ในทุกประเทศในเอเชีย ความเสียหายที่เกิดจากน้ำท่วมในอนาคตข้างหน้าจึงอาจมีมูลค่ามหาศาลเกินกว่าที่บรรดาภาคอุตสาหกรรมต่างๆ จะคาดถึงได้

และท้ายที่สุด ปัญหาน้ำท่วมที่มีแนวโน้มกลายเป็นวงจรให้ธุรกิจต้องขาดทุนซ้ำซากจะทำให้นักลงทุนหรือบรรดาบริษัทข้ามชาติหันหน้าหนีออกจากภูมิภาคแห่งนี้ แม้จะมีการคาดการณ์หรือข้อมูลรับรองในเรื่องการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ก้าวหน้าสดใสมากแค่ไหนก็ตาม

อย่างไรก็ตาม ด้วยจำนวนประชากรมหาศาลที่คิดเป็นสัดส่วนเกือบครึ่งหนึ่งของประชากรทั่วโลก และการเติบโตอย่างต่อเนื่องในช่วงไม่กี่ปีให้หลัง ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจโลกที่อ่อนแอ ทำให้นักลงทุนจำนวนมากยังเลือกที่จะลงทุนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกต่อไปไม่เปลี่ยนแปลง

พร้อมกับที่ยอมรับว่า ภัยพิบัติทั้งน้ำท่วม พายุ หรือแผ่นดินไหว เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติของภูมิภาคแห่งนี้ที่จะเกิดขึ้นได้ และเกินกำลังความสามารถของมนุษย์จะไปห้ามปรามกะเกณฑ์ ป่วยการที่จะมัวแต่นั่งกลัว นั่งกังวล

แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า บรรดาบริษัทต่างชาติเหล่านี้จะหลับหูหลับตาเข้ามาลงทุนโดยเมินเฉยต่อข้อมูลเหล่านี้เสียทีเดียว โดยข้อมูลจากบริษัทประกันภัยหลายแห่ง ทั้งสวิส รี มิวนิก รี หรือกาย คาร์เพนเตอร์ ต่างระบุตรงกันว่า ภายหลังจากเหตุน้ำท่วมครั้งใหญ่ในไทยที่ผ่านมา บริษัทข้ามชาติส่วนใหญ่ต่างให้ความสำคัญกับมาตรการและแนวทางการบริหารจัดการน้ำ การชลประทาน การระบายน้ำ การป้องกันภัยพิบัติทางน้ำ และการฟื้นฟูของแต่ละประเทศในเอเชียเป็นสำคัญ

หลักฐานยืนยันก็คือ กรณีการเคลื่อนย้ายโรงงานหรือการเปลี่ยนแผนขยายโรงงานของบริษัทต่างชาติที่จากเดิมจะอยู่ในไทยต่อไป บางบริษัทก็หันไปลงทุนในประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงอย่างมาเลเซียแทน ทั้งๆ ที่อันดับความเสี่ยงภัยน้ำท่วมของมาเลเซียมีสูงกว่าไทย

สาเหตุหนึ่งเดียวย่อมหนีไม่พ้นประเด็นที่ว่ามาเลเซียมีระบบบริหารจัดการน้ำและการป้องกันภัยน้ำท่วมที่ดีกว่าประเทศไทย จนนักลงทุนต้องยอมรับและไว้วางใจ

ขณะที่ของประเทศไทย เจ้าของธุรกิจส่วนใหญ่ต่างหาทางขวนขวายจัดการร่วมด้วยช่วยตนเอง เช่น การสร้างคันดินและเขื่อนคอนกรีตกั้นน้ำ พร้อมๆ กับคิดแผนสำรอง อย่างการหาโรงงานแห่งที่สองในกรณีที่แห่งแรกไม่สามารถดำเนินการได้

ทั้งนี้ นักวิเคราะห์หลายสำนักระบุว่า กรณีดังกล่าวถือเป็นอีกหนึ่งบทเรียนตัวอย่างให้ทุกประเทศในภูมิภาคเอเชียแห่งนี้ได้เรียนรู้และตระหนักถึงแนวโน้มการลงทุนจากต่างชาติที่จะมีบทบาทต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศในอนาคตข้างหน้าต่อจากนี้ว่าสิ่งสำคัญไม่ได้อยู่ที่ปัจจัยดึงดูดทางความก้าวหน้าและความสมบูรณ์ของสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานแต่เพียงอย่างเดียว

แต่ต้องรวมถึงความชัดเจนและความพร้อมของมาตรการในการรับมือกับภัยพิบัติเป็นสำคัญด้วยเช่นกัน