posttoday

"โกดังข้าวรัฐ" จับตรงไหนก็ "เป็นเงินเป็นทอง"

24 กรกฎาคม 2555

เป็นที่น่ายินดีเมื่อผลสำรวจของศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า โครงการรับจำนำสินค้าเกษตรของรัฐบาล

โดย...จตุพล สันตะกิจ

เป็นที่น่ายินดีเมื่อผลสำรวจของศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า โครงการรับจำนำสินค้าเกษตรของรัฐบาล โดยเฉพาะการจำนำข้าวที่ทำให้ชาวนามีรายได้เพิ่มขึ้น มีเงินออมเพิ่มขึ้นและหนี้ลดลง

แต่ก็ต้องยอมรับว่า โครงการนี้ทำให้รัฐบาลต้องแบกสต๊อกข้าวในมือ 17 ล้านตันข้าวเปลือก หรือคิดเป็นมากกว่า 10 ล้านตันข้าวสาร และต้องใช้เงินกู้หมุนเวียนจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ร่วม 2.7 แสนล้านบาท

และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอีกเมื่อข้าวเปลือกนาปีฤดูกาลใหม่ออกสู่ตลาดตั้งแต่เดือน พ.ย.นี้

อย่างไรก็ตาม วันนี้ท่าทีของฝ่ายนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงพาณิชย์ต่างเก็บงำปริมาณข้าวสารที่เก็บไว้ในสต๊อกรัฐบาล โดยอ้างว่า เพื่อไม่ต้องการให้พ่อค้าข้าวรู้ข้อมูลและใช้ต่อรองการกดราคาซื้อข้าวจากสต๊อกข้าวรัฐ

เหมือนกับที่ ยรรยง พวงราช ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ที่ระบุว่า “ข้อมูลหลายส่วนเปิดเผยไม่ได้ อย่างเรื่องโกดังเป็นความลับทางการค้า รัฐบาลต้องดูแลการตลาดข้าวอย่างรัดกุมไม่ให้การระบายมีผลกระทบ เข้าใจว่าเอกชนต้องการรู้ข้อมูล เวลาประมูลจะได้เจาะจงจะเอาโกดังไหน เพื่อให้ได้ข้าวดี ราคาดี ตอนนี้อยู่ที่ความอึดของผู้ส่งออก ต้องไปเพิ่มราคามา ถ้าเอกชนไม่ซื้อ ก็ไม่เป็นไร”

เอาเข้าจริงคำพูดของยรรยงไม่ศักดิ์สิทธิ์ เพราะมีการแอบระบายข้าวในสต๊อกของรัฐบาลออกมาแล้วจำนวนหนึ่ง โดยไม่มีการระบุปริมาณและไม่เปิดเผยราคา หรือเรียกง่ายๆ ว่าเป็นการระบายข้าว “ทางลับ”

และเป็นวิธีการเดียวกับสมัยที่ พรทิวา นาคาศัย รมว.พาณิชย์ ในสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้สั่งระบายข้าวสารหลายล้านตันโดยวิธีลับ และเรื่องดังกล่าวอยู่ระหว่างการไต่สวนของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพราะมีผู้ร้องว่า วิธีการระบายข้าวโดยวิธีลับเปิดช่องให้มีการทุจริตได้ง่าย

วันนี้วงการค้าข้าวต่างรู้กันดีว่า มีบริษัทที่มีสายสัมพันธ์กับคนในรัฐบาลหลายเจ้า ซื้อข้าวจากสต๊อกรัฐบาลโดยวิธีลับและได้ข้าวไปแล้วนับล้านตัน

แต่ “ไม่มี” การระบุว่า รัฐบาลได้มีการขายข้าวให้ บริษัท สยามอินดิก้า บริษัท สิงห์โตทองไรซ์ คอร์ปอเรชั่น บริษัท นครหลวงค้าข้าว และบริษัท ข้าวไชยพร หรือไม่

สิ่งเหล่านี้เป็นข้อมูลที่ไม่เปิดเผยให้สาธารณชนได้รับทราบว่า ใครได้ข้าวไปบ้าง และทุกอย่างถูกเก็บงำในชั้น “ความลับ” แม้แต่บริษัท แสงทองค้าข้าว (1968) ของตระกูล “อัศวินวิจิตร” ที่มีคำสั่งซื้อข้าวจำนวนหนึ่งและวิ่งหาข้าวส่งลูกค้าอยู่ แต่ก็รู้ว่าได้ข้าวไปส่งลูกค้าหรือไม่ เพราะบริษัท แสงทองค้าข้าวฯ ถือว่าห่างไกล “ขุมข่าย” นักการเมืองในรัฐบาล

นั่นเป็นเพราะวิธีการระบายข้าวทางลับเป็น การเรียก “พ่อค้า” มาคุยและขายข้าวแบบลับๆ นั่นเอง

แตกต่างกับการประมูลซื้อข้าวแบบที่มีการทำทีโออาร์ให้ผู้สนใจเข้าร่วมประมูล มีการเสนอราคากันตอนเช้าและเปิดซองราคาตอนบ่าย ทำให้พอจะรู้ว่ามีใครเข้าร่วมประมูลบ้าง

ส่วนใครจะชนะประมูลก็พอ “อนุมาน” ได้ว่าอยู่ในกลุ่มผู้ร่วมประมูลนั่นเอง หรือการเปิดประมูลในตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าแห่งประเทศไทย หรือเอเฟต ที่รู้ว่าบริษัทใดประมูลข้าวได้ไปและราคาเท่าไหร่

“การระบายแบบข้าวที่มีมูลค่าเป็นหมื่นๆ ล้านบาทโดยวิธีลับไม่เปิดเผยราคาและเปิดเผยว่า เจ้าใดได้ข้าวไปบ้างจะไม่ให้คนไทยเจ้าของภาษีได้ทราบเลย เป็นไปได้อย่างไร อีกทั้งเป็นการเปิดช่องให้มีการเรียกเงินใต้โต๊ะ ซึ่งเท่าที่ทราบมีการจ่ายใต้โต๊ะตันละ 500-1,000 บาทต่อตัน” แหล่งข่าววงการค้าข้าวเปิดเผย

สำหรับข้ออ้างที่นำไปสู่การเปิดระบายข้าวลับๆ นั้น มีวิธีการเป็นขั้นเป็นตอน เริ่มจากกระทรวงพาณิชย์ โดยกรมการค้าต่างประเทศเปิดประมูลข้าวสารในสต๊อกของรัฐ แต่มีเงื่อนไขที่ไม่จูงใจให้พ่อค้าเข้าร่วมประมูลเท่าไหร่

ได้แก่ แจ้งว่าจะมีการประมูลก่อนวันประมูลเพียง 3 วัน ทำให้ผู้ร่วมประมูลไม่มีเวลาพอที่จะไปตรวจเช็กสต๊อก ต้องประมูลยกโกดังไม่ว่าข้าวในโกดังจะมีคุณภาพเป็นอย่างไร

ต้องวางเงินค้ำประกัน ต้องยืนราคาประมูล 20 วัน นับแต่วันที่เสนอราคา และเมื่อเป็นเช่นนี้ก็ทำให้ผู้ร่วมประมูลน้อย หรือเสนอราคาประมูลซื้อในราคาต่ำ

เมื่อราคาขายข้าวไม่เป็นที่ “พอใจ” ของกระทรวงพาณิชย์ จึงเป็นเหตุให้ต้องเรียก “พ่อค้า” มาเจรจาซื้อขายข้าวกันแบบลับๆ

โดยมีเงื่อนไขที่จูงใจกว่า เช่น ไม่ต้องเหมาซื้อข้าวทั้งโกดัง และมีสิทธิเลือกซื้อข้าวคุณภาพดีๆ ผู้ซื้อไม่ต้องวางเงินค้ำประกัน เงื่อนไขที่จูงใจเหล่านี้ ทำให้พ่อค้าหลายรายต้อง “วิ่ง” กันอย่างสุดฝีมือ หากไม่มี “เส้นสาย” พอ

"โกดังข้าวรัฐ" จับตรงไหนก็ "เป็นเงินเป็นทอง"

เช่นเดียวกับโครงการรับจำนำข้าวในรัฐบาลเพื่อไทยที่กระทรวงพาณิชย์ปรับเปลี่ยนวิธีการคัดเลือกผู้ตรวจสอบคุณภาพข้าว หรือ “เซอร์เวเยอร์” โดยให้ผู้ที่เสนอราคาต่ำที่สุด เป็นผู้ตรวจสอบคุณภาพข้าวในโกดัง เหมือนเป็นแนวคิดที่ดี แต่ก็มีจุดอ่อนในตัว

ผู้ประกอบการโรงสีข้าวรายหนึ่งเปรียบเทียบว่า

“...การจ้าง “เซอร์เวเยอร์” เหมือนกับเราจ้าง “ยาม” มาเฝ้าของในบ้าน เช่น เมื่อก่อนเราจ้างยามเดือนละ 2 หมื่นบาท และบอกว่า ต้องมีหน้าที่อย่างนั้นอย่างนี้ หากไม่ทำตามหรือปล่อยให้ของหายก็เลิกจ้างและแจ้งตำรวจจับได้ แต่ถ้าเราจ้าง 5,000 บาท ให้เขามาเฝ้าของให้เรา ก็เหมือนกับบอกเขากลายๆ ว่า ให้เขาไปหากินทางอื่นแทน”

นั่นหมายความว่า การจ้างเซอร์เวเยอร์ในราคาต่ำ “อาจ” จูงใจให้เซอร์เวเยอร์แสวงหาประโยชน์จากข้าวในสต๊อกรัฐบาลได้ เช่น การรายงานคุณภาพข้าวที่ “ต่ำ” หรือ “สูง” เกินความเป็นจริง แลกกับเงินทอนในอัตรา 50-100 บาทต่อกระสอบ หรือ 100 กิโลกรัม

แต่ก็มั่นใจว่า กระทรวงพาณิชย์และองค์การคลังสินค้า (อคส.) ไม่ยอมให้เกิดขึ้นแน่ เพราะรู้ดีว่าวิธีการนี้มีความเสี่ยงที่จะเกิดกรณีอย่างนี้ได้

นอกจากนี้ หากจับประเด็นที่ นิพนธ์ วงษ์ตระหง่าน นายกกิตติมศักดิ์สมาคมโรงสีข้าวไทย ออกมาระบุว่า มีการแอบระบายข้าวในสต๊อกรัฐให้เอกชนและโรงสีบางรายในราคาต่ำกว่าราคาตลาด บ้างก็นำไปส่งออก บ้างก็นำข้าวที่ได้มานี้ส่งเข้าโกดังตามสัญญาที่ต้องส่งมอบข้าวในโครงการรับจำนำของรัฐบาล

ยกตัวอย่างเช่น หากโรงสีแห่งหนึ่งรับจำนำข้าวในโครงการจำนำ 1,000 กิโลกรัม ตามสัญญาจะต้องส่งมอบข้าวสาร 450 กิโลกรัม ส่งมอบปลายข้าวอีก 171 กิโลกรัม เข้าโกดังรัฐบาล

แต่ถ้าโรงสีแห่งนั้น สามารถซื้อข้าวจากสต๊อกของรัฐแบบลับๆ ได้ในราคา 16 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งเป็นราคาข้าวสารที่บวกกับเงินใต้โต๊ะ 0.5-1 บาทต่อกิโลกรัม เท่ากับว่า โรงสีมีต้นทุนในการซื้อข้าวในสต๊อก 9,936 บาท หรือตกประมาณ 1 หมื่นบาท

ขณะที่ข้าวสารจำนวนนี้ จะไหลกลับเข้าไปในโกดังอีกรอบ แทนข้าวที่โรงสีต้องส่งมอบตามสัญญา

แน่นอนว่า ไม่มีใครรู้ว่าคุณภาพข้าวเป็นอย่างไรและข้าวถูกเวียนเข้าเวียนออกโกดังกี่รอบ บางกรณีก็ไม่มีการขนข้าวออกจากโกดังด้วยซ้ำ สุดท้ายก็กลายเป็นข้าวที่เสื่อมคุณภาพ ที่ไม่มีใครอยากเข้าประมูลซื้อข้าวหรือเสนอราคาซื้อต่ำๆ

ส่วนข้าวเปลือกที่โรงสีเก็บไว้ก็จะนำสีแปรสภาพเป็นข้าวสารและขาย

แม้จะขายในราคาตลาดที่ราคาได้ 1.2 หมื่นบาท ก็เรียกว่าได้กำไรอย่างน้อย 2,000 บาท และคนที่จะมาตามจับก็แทบไม่มี เพราะว่ากันว่าโรงสีที่เข้าร่วมโครงการรับจำนำต้องวางเงินก่อน 5 แสนบาท หากมีข้าวเปลือกเข้าร่วมโครงการเป็นมูลค่า 4.5 แสนบาท ก็จะคืนเงินให้ 5 หมื่นบาท แต่หากมีข้าวเปลือกเข้าโครงการมีมูลค่ามากกว่า 5 แสนบาท จากนี้ไปก็ต้องจ่ายค่า “กินเปล่า” ที่ 50-100 บาทต่อตัน

ประกอบกับการมีหลักฐานที่ “ตอกย้ำ” ความไม่ชอบมาพากลในการระบายข้าวจากสต๊อก อคส. ที่ “ใบส่งสินค้า” ปรากฏชื่อกรมการค้าต่างประเทศเป็น “ลูกค้า”

ทั้งๆ ที่เป็นหน่วยงานรัฐ ชี้ให้เห็นว่า หากกรมการค้าต่างประเทศส่งมอบข้าวให้ลูกค้าที่ไม่เปิดเผยปริมาณและราคา ก็เปิดโอกาสให้มีการ “ชักหัวคิว” กลางทาง ก่อนที่เงินจะถูกส่งมอบกลับไปให้ อคส. และ ธ.ก.ส. เพื่อหมุนเวียนซื้อข้าว จึงไม่แปลกใจที่วันนี้ ธ.ก.ส. ออกมาระบุว่า ยังไม่ได้เงินจากโครงการรับจำนำข้าวแม้แต่บาทเดียว ต้องกระทุ้งให้รัฐบาลเร่งระบายข้าว

ขณะที่แรงจูงใจที่ทำให้ยังไม่มีการส่งเงินกลับให้ ธ.ก.ส.นั้น อาจเป็นเพราะกลัวว่าคนจะรู้ว่าระบายข้าวในสต๊อกขาดทุนกันกี่บาท ซึ่งนั่นถือเป็นการเสีย “รังวัด” ทางการเมือง

แต่ที่สำคัญกว่า คือ ความเสี่ยงต่อการถูกตรวจสอบจาก ป.ป.ช.

เหล่านี้เป็นปมที่ 2 บิ๊กกระทรวงพาณิชย์และรัฐบาลจะต้องเข้าไปตรวจสอบ

ไม่เช่นนั้นก็จะถูกข้อครหาเรื่อยๆ ไปว่า หยิบจับตรงไหนก็เป็นเงินเป็นทองไปหมด

โปรดหยุดต้นตอเหตุกังขา ก่อนไฟทุจริตลามทุ่ง