posttoday

พิสูจน์น้ำยาปราบ ‘นอมินี’ อย่าแค่ ‘ผักชีโรยหน้า’

23 กรกฎาคม 2555

ไม่มีอะไรใน “กอไผ่” ไม่มีใบสั่งของใครแน่นอน เมื่อ ยรรยง พวงราช ปลัดกระทรวงพาณิชย์

โดย จตุพล สันตะกิจ

ไม่มีอะไรใน “กอไผ่” ไม่มีใบสั่งของใครแน่นอน เมื่อ ยรรยง พวงราช ปลัดกระทรวงพาณิชย์ สั่งกรมพัฒนาธุรกิจการค้าออกแนวปฏิบัติการตรวจสอบผู้ประกอบการต่างด้าวที่แฝงตัวทำธุรกิจในไทยโดยใช้ตัวแทน หรือ “นอมินี” และให้มีผลบังคับใช้ในเดือน ส.ค.นี้ พร้อมทั้งจะออกสุ่มตรวจบริษัทที่มีนักลงทุนต่างด้าวถือหุ้นที่มีประมาณมากกว่า 3.2 หมื่นราย

โดยบริษัทที่มีต่างด้าวถือหุ้นดังกล่าวมี 5,000 ราย ที่มีสัดส่วนการถือหุ้นเกิน 50% แต่ได้ขออนุญาตอย่างถูกต้องแล้ว ส่วนที่เหลืออีก 2.7 หมื่นราย ที่มีต่างด้าวถือหุ้นสัดส่วนไม่เกิน 49% เป็นกลุ่มเสี่ยงต้องเข้าตรวจสอบอย่างเข้มงวด

ขณะที่การตั้งแท่นออกข้อปฏิบัติในการตรวจสอบนอมินีรอบนี้ กระทรวงพาณิชย์ให้เหตุผลว่า ไม่ต้องการให้นักลงทุนจากประเทศที่ 3 หรือประเทศนอกอาเซียน ใช้อาศัยไทยเป็นฐานในการตั้งบริษัทนอมินี เพื่อแสวงหาประโยชน์ในอาเซียนหลังเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซี ในปี 2558 หรืออีกประมาณ 2 ปีครึ่งนับจากนี้

“อาจมีการตั้งบริษัทลอย เมื่อมีปัญหาก็ไม่สามารถเอาผิดได้ หรือมีการปิดบริษัทหนี หรือเข้ามาแสวงหากำไร โดยการจ้างคนในประเทศอาเซียนถือหุ้นแทน หรือถือหุ้นไขว้ 3 ชั้น พฤติกรรมนี้เป็นพวกเข้าทางประตูหลัง ซึ่งมีผลกระทบต่อไทยและประเทศอาเซียน”

เป็นคำให้สัมภาษณ์ของยรรยง ที่ถูกต้องและไม่มีใครปฏิเสธตรรกะนี้ได้

เพราะหากนักลงทุนต่างชาติมาตั้งบริษัทนอมินีในไทยแล้ววิ่งไปลงทุนในกลุ่มอาเซียน โดยเฉพาะเมื่อเปิดเออีซี พรมแดนประเทศสมาชิก 10 ประเทศหายไป การเคลื่อนย้ายสินค้า ทุน และแรงงานอย่างเสรี แล้วสร้างความเสียหายให้บางประเทศ ก็อาจนำไปสู่ข้อพิพาททางการค้าได้

ยกตัวอย่างเช่น หากห้างโมเดิร์นเทรดรายใหญ่ของไทยรายหนึ่ง บอกใบ้ได้ว่าเป็นประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาราชการ เข้าไปลงทุนธุรกิจค้าปลีกในอาเซียน ซึ่งแม้ประเทศนั้นจะมีนโยบายกีดกันเข้มงวดกับการเปิดรับทุนค้าปลีกข้ามชาติ แต่หากถูกเจาะเข้าทางประตูหลังแล้วทำให้ธุรกิจค้าปลีกดั้งเดิมเสียหายพังพาบเหมือนในไทย

ก็หนีไม่พ้นที่จะกลายเป็นข้อพิพาทระหว่างชาติอาเซียนด้วยกัน และนำไปสู่การใช้มาตรการกีดกันการค้าที่ไม่มีภาษีได้ ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อการเปิดเออีซีเลย

หรือบริษัทฝรั่งอย่างสหรัฐหรือยุโรปจะเข้าไปทำธุรกิจป่าไม้ในพม่า หากจะทำให้แลดูไม่น่าเกลียดนัก ก็ตั้งบริษัทนอมินีในไทยแล้วไปลงทุนในพม่า ได้ทั้งประโยชน์และไม่เสียหน้าหลังจากที่ “แซงก์ชัน” พม่ามายาวนาน

อย่างไรก็ตาม เมื่อเป็นเช่นนี้ก็สมควรตั้งคำถามเช่นกันว่า เหตุใดกระทรวงพาณิชย์จึงออก “ลูกฮึด” ออกเกณฑ์ปฏิบัติในการตรวจสอบพิรุธเอาผิดบริษัทที่มีพฤติกรรมเป็นนอมินีในช่วงนี้ ทั้งๆ ที่ปัจจุบันกระทรวงพาณิชย์ถือกฎหมายนี้อยู่ในมือ รู้พฤติกรรมและมีหลักเกณฑ์ตรวจสอบพฤติกรรมบริษัทนอมินีที่ชัดเจนอยู่แล้ว อีกทั้งยังมีอำนาจจัดการขั้นเด็ดขาดกับบริษัทที่มีพฤติกรรมเป็นนอมินีได้ และมีอำนาจจับกุมเอาผิดคนไทยที่ทำตัวเป็นนอมินี โดยมีโทษจำคุกสูงสุดไม่เกิน 5 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ

เช่น บริษัทที่มีต่างชาติถือหุ้นไม่ถึง 49% แต่มีพฤติกรรมชวนให้สงสัย คือ เป็นบริษัทไทย แต่มีกรรมการผู้จัดการเป็นคนต่างชาติ แต่ตรงนี้ก็มองได้สองมุมเช่นกันว่า กรรมการผู้จัดการต่างชาติมีความเป็นมืออาชีพมากกว่า จึงให้คนต่างชาติมาบริหาร หรือไม่ก็เป็นเพราะเมื่อบริษัทนั้นเป็นของต่างชาติ และไม่ไว้ใจให้คนไทยบริหารก็เป็นได้

พิสูจน์น้ำยาปราบ ‘นอมินี’ อย่าแค่ ‘ผักชีโรยหน้า’

 

หรือกรณีการเซ็นเช็คหรือการเบิกจ่ายเงินในบริษัท บางบริษัทต้องมีคนต่างชาติหรือผู้ได้รับมอบอำนาจนักลงทุนต่างชาติสามารถเซ็นอนุมัติเช็ครับจ่ายเงินได้เพียงลำพัง แต่หากคนจากผู้ถือหุ้นฝ่ายไทยจะเซ็นเบิกรับจ่ายเงินเองบ้างจะทำไม่ได้ และจะทำได้ก็ต้องมีหุ้นส่วนต่างชาติร่วมเซ็นชื่อด้วยเท่านั้น

เช่นเดียวกับพฤติกรรมที่ว่าบริษัทนั้นมีคนไทยถือหุ้น 51% ต่างชาติ 49% แต่ให้เสียงกรรมการต่างชาติ 1 คน มีสิทธิในการโหวต 10 เสียง แต่กรรมการคนอื่นมีสิทธิโหวตได้เพียง 1 เสียง อย่างนี้แม้ว่าจะมีคนไทยเป็นกรรมการ 9 คน ก็ยังแพ้เสียงโหวตของกรรมการที่เป็นคนต่างชาติเพียงคนเดียว และการจ่ายเงินปันผลให้ผู้ถือหุ้นต่างชาติมากผิดปกติ เป็นต้น

นอกจากนี้ ที่ผ่านมากระทรวงพาณิชย์มีประสบการณ์ในการตรวจสอบบริษัทกุหลาบแก้ว และค่ายโทรศัพท์มือถือดีแทค ที่มีพฤติกรรมเป็นนอมินี โดยเฉพาะการตรวจสอบเส้นทางเงินของคนไทยที่เป็นนอมินี และการได้มาซึ่งทรัพย์สิน แต่ทว่าเรื่องนี้ก็สาวไปไม่สุด เพราะสุดท้ายเรื่องก็ไปคาอยู่กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ

ขณะที่ สมชาย สกุลสุรรัตน์ อดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ให้มุมมองว่า การที่กระทรวงพาณิชย์เร่งทำหลักเกณฑ์ตรวจสอบบริษัทนอมินี เพราะบีบจากชาติสมาชิกอาเซียนให้ทำ เพราะเป็นที่ทราบกันว่าไทยเป็นประเทศที่นักลงทุนต่างชาติใช้เป็นฐานในการตั้งบริษัทนอมินีง่ายที่สุด

“ผมมองว่าที่กระทรวงพาณิชย์ออกมาทำตรงนี้ เพราะอาจถูกบีบให้ทำ เพราะในชาติอาเซียนเขาต่างรู้ดีว่าไทยเป็นประเทศที่มีบริษัทนอมินีมากที่สุดและทำได้ง่าย เพราะเจ้าหน้าที่ทำเป็นไม่รู้ไม่เห็น อาเซียนเขากลับเห็นตรงนี้ จึงบีบให้เราต้องเร่งทำ ไม่เช่นนั้นบริษัทนอมินีในไทยจะสร้างความเสียหายให้เขา” สมชาย ระบุ

สมชาย ยังย้ำว่า ขณะนี้ถึงเวลาแล้วที่ไทยต้องมีการรื้อกฎหมายประกอบธุรกิจคนต่างด้าวกันใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับเหตุการณ์ปัจจุบัน ซึ่งในช่วงที่ตนเป็นสมาชิก สนช.ก็พยายามผลักดันเรื่องนี้ แต่สุดท้ายเรื่องก็ตกไป ก็อยากให้มีการผลักดันเรื่องนี้ต่อไป

การพิเคราะห์จากมุมมองของสมชายและเหตุผลกระทรวงพาณิชย์แล้ว เป็นสิ่งที่ดีที่กระทรวงพาณิชย์จะออกมาจับงานนี้อย่างจริงจัง ไม่ใช่เป็นประเภทผักชีโรยหน้า เพราะในวันที่ 26 ก.ค.นี้ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จะประชุมเวิร์กช็อปเพื่อรองรับการเปิดเออีซี

แน่นอนว่าตรงนี้จะเป็นโปรเจกต์ที่กระทรวงพาณิชย์เสนอต่อนายกฯ และถือเป็นการแสดงสไลด์ที่น่าจะทำให้นายกฯ ถูกอกถูกใจ แถมยังได้ “ลูกโชว์” ว่ากระทรวงพาณิชย์ปกป้องผลประโยชน์คนไทย ไม่ให้บริษัทนอมินีเข้ามายึดแผ่นดินไทยทำกินกระทั่งเหยียบหัวคนไทยเจ้าของแผ่นดิน

เช่น บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์หลายแห่งมีพฤติกรรมนอมินีชัดเจน โดย ศรีราชา เจริญพานิช ผู้ตรวจการแผ่นดิน ระบุว่า ปัจจุบันที่ดินในแหล่งท่องเที่ยวชายทะเลหลักๆ เช่น ภูเก็ต พัทยา เกาะล้าน มีชาวต่างชาติมาถือครองลักษณะนอมินีแล้วไม่น้อยกว่า 90% กรณีบริษัทนอมินีต่างชาติกว้านซื้อที่ดินผืนใหญ่เพื่อปลูกข้าว

กระทั่งในธุรกิจขนส่งและโลจิสติกส์ บอกได้เลยว่าเจ้าใหญ่ที่ผูกขาดการส่งสินค้าทางเรือและทางอากาศวันนี้ คือ บริษัทยี่ห้อต่างชาติทั้งสิ้น ทั้ง FedEx, DHL และ UPS ที่กินรวบในธุรกิจขนส่ง ส่งผลให้ผู้ประกอบการชิปปิงรายกลาง รายเล็กคนไทยแทบไม่มีที่ยืน แต่หากถึงปี 2558 เมื่อไหร่ต่างชาติจะถือหุ้นได้ 70% วันนั้นคงดูไม่จืด

“ผมทำธุรกิจชิปปิงมา 40 ปี เป็นลูกจ้าง 20 ปี และเปิดบริษัทเป็นของตัวเอง 20 ปี และเพิ่งปิดบริษัทเมื่อไม่นานนี้ แต่ยังรับงานเล็กๆ น้อยๆ อยู่ เราสู้เจ้าใหญ่อย่าง FedEx และ DHL ไม่ได้ เขามีต้นทุนถูกกว่า เขาคิดราคาแค่ 800 บาทต่อใบ เพื่อได้คำสั่งวันละเป็นพันๆ ใบ ส่วนเราต้นทุนเป็นพันแลกกับการที่ลูกค้าได้ของเร็ว” ผู้บริหารบริษัทชิปปิงรายหนึ่งระบุ

ผู้บริหารรายนี้ระบุว่า การทำงานกับกรมศุลกากรยอมรับว่าเหนื่อย แต่สิ่งที่เลี่ยงไม่ได้ คือ ต้องมีการจ่ายใต้โต๊ะ หากต้องการออกของได้เร็ว ซึ่งหากเป็นบริษัทรายกลางหรือรายเล็กจะจ่ายค่าน้ำร้อนน้ำชา 100-150 บาทต่อใบส่งสินค้า แต่หากเป็นบริษัทใหญ่เขาเหมาจ่ายเป็นรายเดือน

พฤติกรรมตรงนี้เป็นตัวอย่างที่สะท้อนให้เห็นว่า บริษัทนอมินีหรือมีพฤติกรรมนอมินีที่มีทุนหนา ยังได้สิทธิพิเศษหากจะวิ่งเต้นในธุรกิจใดธุรกิจหนึ่ง นอกเหนือจากการทำการค้าหรือธุรกิจในระบบปกติ

ดังนั้น จึงต้องดูพฤติกรรมกระทรวงพาณิชย์กันต่อว่า จะเอาจริงเอาจังมากน้อยขนาดไหน

เพราะทุกวันนี้ประเทศไทยเรามีบริษัทที่มีพฤติกรรมเป็นนอมินีทั้งรายใหญ่ รายกลาง และรายเล็กนับหมื่นนับพันบริษัท แต่ต้องเรียกได้ว่ากระทรวงพาณิชย์แทบไม่มีน้ำยาเข้าไปไล่บี้ตรวจสอบบริษัทเหล่านี้ได้ หากจะเข้าไปตรวจสอบก็เพราะมี “ใบสั่งทางการเมือง” ดั่งหลายกรณีที่ผ่านมา

อย่างนี้ต้องพิสูจน์กันต่อว่า “กึ๋น” ของผู้บริหารกระทรวงพาณิชย์จะทำงานได้สมราคากับตำแหน่ง “เสนาบดี” กระทรวงหรือไม่