posttoday

ระวังสินเชื่อตลาดเกิดใหม่ ต้นตอภัยเงียบที่ต้องจับตา

20 กรกฎาคม 2555

การปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งล่าสุดในจีนนั้น ได้สะท้อนให้เห็นความพยายามล่าสุดของรัฐบาล เพื่อช่วยให้การปล่อยสินเชื่อในประเทศเป็นไปได้ง่ายขึ้น

โดย...นันทิยา วรเพชรายุทธ

การปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งล่าสุดในจีนนั้น ได้สะท้อนให้เห็นความพยายามล่าสุดของรัฐบาล เพื่อช่วยให้การปล่อยสินเชื่อในประเทศเป็นไปได้ง่ายขึ้น และพร้อมรับมือกับภาวะเศรษฐกิจขาลงจากวิกฤตหนี้ยูโรโซน ซึ่งนับเป็นวิธีการเดียวกันกับเมื่อ 4 ปีก่อน หลังจากที่วาณิชธนกิจ เลห์แมน บราเธอร์ส ล้มละลายลง

ในครั้งนั้นไม่ได้มีเพียงจีนเท่านั้นที่เลือกใช้มาตรการลดดอกเบี้ยเพื่อเพิ่มเครดิตไลน์ในประเทศ แต่ยังเกิดขึ้นในหลายประเทศตลาดเกิดใหม่ ซึ่งนำไปสู่กำลังซื้อสินค้าเพิ่มขึ้นทั่วโลก ตั้งแต่ทองแดงจากชิลี รถยนต์เยอรมัน และอสังหาริมทรัพย์ในฮ่องกง และรีโอเดจาเนโร

ทว่า ความพยายามเพิ่มการเข้าถึงสินเชื่อเพื่อกระตุ้นแรงซื้อใน 4 ปีให้หลังครั้งนี้ อาจให้ผลลัพธ์ที่ต่างออกไป และโลกก็อาจจะไม่สามารถพึ่งพากลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ได้มากเหมือนกับที่ผ่านมาอีก

ไฟแนนเชียลไทมส์ ระบุว่า ข้อจำกัดที่ชัดเจนของกลุ่มตลาดเกิดใหม่ในเวลานี้ ล้วนประกอบไปด้วยหลายปัจจัย อาทิ ระดับของสินเชื่อที่สูงเกินไป ความกังวลต่อภาวะหนี้เสีย ความวิตกต่อการเกิดฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ และการขาดแหล่งลงทุนทำกำไรชั้นเยี่ยมในยามนี้ ซึ่งแม้ว่ารัฐบาลจะพร้อมอัดฉีดเงินกู้กระตุ้นเศรษฐกิจให้มากขึ้น ทว่าปัญหาเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นแทบจะทุกหัวระแหงทั่วโลกในวันนี้ ก็ทำให้นักลงทุนหาแหล่งลงทุนกำไรงามๆ ได้ยากเข้าไปทุกที

ระวังสินเชื่อตลาดเกิดใหม่ ต้นตอภัยเงียบที่ต้องจับตา

ในประเทศตุรกี บราซิล และรัสเซียนั้น มีรายงานว่าการขอสินเชื่อของภาคเอกชนได้ขยายตัวขึ้นไปมากกว่า 20% ของจีดีพีประเทศ ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมาจนถึงเดือน เม.ย. ส่วนในจีนมีการขยายตัวที่ราว 15% ของจีดีพี ระหว่างปี 2550–2554 และในโปแลนด์มีอัตราการขยายตัวจาก 32% ไปเป็น 49%

โดยปกติแล้วการขยายเครดิตไลน์ หรือการช่วยให้ภาคเอกชนเข้าถึงสินเชื่อเงินกู้ได้ง่ายขึ้นนั้น นับว่าเป็นความพยายามกระตุ้นเศรษฐกิจที่ดี เนื่องจากจะช่วยให้ประโยชน์ตกถึงมือธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของภาคประชาชนมากขึ้น และสินเชื่อก็ยังถือเป็นปัจจัยสำคัญในการเติบโตของสังคมชนชั้นกลาง ซึ่งเป็นภาคส่วนสำคัญในการพัฒนาทางเศรษฐกิจและการเมืองของกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่

ทว่า รูปแบบของการกระตุ้นเศรษฐกิจดังกล่าวในหลายประเทศกำลังพัฒนา กลับเกิดปัญหาต่างๆ มากมาย จนอาจเข้าข่ายเป็นการไม่คุ้มเสีย

ในประเทศบราซิลนั้น มีการพบว่างบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจได้หมดไปกับการบริโภคเป็นส่วนใหญ่ แทนที่จะนำไปลงทุนเพื่อวางพื้นฐานของประเทศให้แข็งแกร่ง เช่น ถนนและสะพาน ซึ่งถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นหัวใจหลักดึงดูดการลงทุนโดยตรงภายในประเทศ

ส่วนในจีนนั้น พบว่าเงินกู้กระตุ้นเศรษฐกิจจำนวนมากได้ถูกละลายไปกับโครงการที่ไร้ประสิทธิภาพ โดยมักตกอยู่ในมือของบริษัทที่มีสายสัมพันธ์อันดีกับเจ้าหน้าที่รัฐ มากกว่าจะกระจายไปถึงบรรดาธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมซึ่งจำเป็นต้องใช้เงินมาต่อลมหายใจทางการค้าอย่างแท้จริง

ธนาคารเพื่อการชำระเงินระหว่างประเทศ (บีไอเอส) ได้ออกโรงเตือนก่อนหน้านี้ว่า ภาวะหนี้จากค่าใช้จ่ายในการให้บริการ ทั้งในระดับครัวเรือนและบริษัทเอกชนในบราซิล ตุรกี จีน และอินเดียนั้น กำลังปรับตัวขึ้นไปแตะระดับสูงที่สุดนับตั้งแต่ช่วงปลายทศวรรษที่ 90 หรือในช่วงที่เกิดวิกฤตการณ์ภาคการเงินในเอเชียในช่วงปี 2540–2541

หลายครั้งการขยายตัวของสินเชื่อที่รวดเร็ว มักจะเชื่อมโยงกับการขาดมาตรการควบคุมที่ดีพอ รวมไปถึงการเก็งกำไรในภาคอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งนำไปสู่ปัญหาเศรษฐกิจใหญ่ระดับชาติตามมาทั้งปัญหาหนี้เน่า การลงทุนที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ และฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์

ปัญหาดังกล่าวได้สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนที่สุดในจีน ซึ่งมีการปล่อยสินเชื่อสูงถึงเกือบครึ่งหนึ่งของจีดีพีประเทศในปี 2552 และปี 2553 ซึ่งรัฐบาลจีนต้องพบกับหนี้มหาศาลของรัฐบาลท้องถิ่น ซึ่งเป็นผลพวงจากมาตรการอัดฉีดกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ 4 ล้านล้านหยวนเมื่อปี 2552 และยังนำไปสู่ภาวะฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ ที่ยังคงต้องควบคุมสถานการณ์อย่างใกล้ชิดจนถึงในปัจจุบัน

ทั้งนี้ ในยามที่เศรษฐกิจเฟื่องฟูดีอยู่นั้น ความไร้ประสิทธิภาพเหล่านี้มักจะเป็นสิ่งที่มักถูกมองข้ามไป ทว่าเมื่อกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ต้องประสบกับผลกระทบหนี้ยุโรป และการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่เชื่องช้าในสหรัฐ ปัญหาดังกล่าวจึงกลายเป็นภาพที่เห็นได้ชัดเจนมากขึ้น และเป็นเหตุผลสำคัญที่หลายประเทศเลือกที่จะไม่โหมเงินกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ในคราวเดียวเหมือนกับเมื่อ 3–4 ปีก่อนหน้าอีก

บทเรียนที่เคยทำและข้อจำกัดที่รั้งไว้ กำลังทำให้กลุ่มตลาดเกิดใหม่ไม่สามารถตั้งทีมฮีโร่ช่วยกอบกู้โลกได้อีกต่อไป และอาจถึงเวลาตัวใครตัวมัน...