posttoday

จับตา "ราคาอาหาร" ส่อวิกฤตภัยแล้ง-เก็งกำไร ดันราคาพุ่ง

18 กรกฎาคม 2555

ตรงตามความเห็นของนักวิเคราะห์และผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่ทั่วโลก สำหรับรายงานการคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ

โดย...นงลักษณ์ อัจนปัญญา

ตรงตามความเห็นของนักวิเคราะห์และผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่ทั่วโลก สำหรับรายงานการคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เมื่อ 23 วันก่อนหน้าที่ออกมาเตือนอย่างชัดเจนและตรงไปตรงมา เศรษฐกิจโลกยังคงต้องเผชิญหน้ากับปัจจัยเสี่ยงหลักๆ 2 ประการต่อไปอีกหลายปี

ประการแรก ย่อมหนีไม่พ้นวิกฤตหนี้ยุโรปที่จนแล้วจนรอดก็ยังแก้กันไม่ตก ขณะที่ประการต่อมา คือ ปัญหาด้านงบประมาณของสหรัฐซึ่งขาดดุลยับจนหนี้พอกพูน

และยังไม่นับรวมข้อเท็จจริงที่ว่า สองปัจจัยข้างต้นยังอาจจะดิ่งเหวเลวร้ายลงได้ทุกเมื่อ โดยมีสาเหตุสืบเนื่องมาจากปมขัดแย้งเรื่องผลประโยชน์ทางการเมืองเป็นหลักใหญ่

อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าเสียดายว่าในขณะที่ทั่วโลกกำลังตื่นตัวเตรียมพร้อมรับมืออย่างสุดความสามารถ “อาหาร” หรือ “ราคาอาหาร” กลับเป็นปัจจัยเสี่ยงที่หลายฝ่ายมองข้าม

เรียกได้ว่าสถานการณ์อาหารในปัจจุบันมีแนวโน้มก่อตัวเป็นวิกฤตรุนแรง และอาจเลวร้ายซ้ำรอยวิกฤตเมื่อปี 2551 ที่หนักหน่วงถึงขั้นที่ประชาชนในหลายประเทศลุกฮือขึ้นมาประท้วงล้มล้างระบบการปกครอง หรือผู้นำประเทศกันเลยทีเดียว

ทั้งนี้ สาเหตุแรกที่ทำให้ราคาอาหารมีแนวโน้มพุ่งสุงขึ้นอย่างแน่นอนก็คือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ทำให้เกิดภัยแล้งและภัยน้ำบริเวณพื้นที่เพาะปลูกที่สำคัญๆ โดยมีเหยื่อรายล่าสุดทางตะวันตกตอนกลางของสหรัฐ หรือแถบมิดเวสต์ ซึ่งเป็นแหล่งเพาะปลูกข้าวโพดถั่วเหลือง และข้าวสาลีเพื่อส่งออกรายใหญ่ที่สุดของโลก

ผู้เชี่ยวชาญด้านอาหารต่างออกมาระบุชัดว่า ภัยแล้งที่เกิดขึ้นในสหรัฐในขณะนี้ อาจส่งผลให้เกิดการขาดแคลนจนดันราคาธัญญาหารเหล่านี้ให้สูงขึ้น สอดคล้องกับที่องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (เอฟเอโอ) ได้ออกโรงเตือนแล้วว่า ดัชนีราคาอาหารมีแววว่าจะปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น จากปัญหาเรื่องผลผลิตที่ไม่เป็นไปตามเป้า

ทว่า สาเหตุจากภัยธรรมชาติเพียงอย่างเดียวย่อมไม่กระเทือนต่อราคาอาหารในตลาดโลกแน่นอน

หรือพูดให้เข้าใจง่ายขึ้นก็คือว่า ผลผลิตที่หายไปอาจทำให้ราคาอาหารปรับตัวขึ้นบ้าง แต่ก็ไม่ใช่เหตุผลที่จะทำให้แพงชนิดกระเป๋าฉีก เพราะพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติ ไม่ใช่พื้นที่เพียงแห่งเดียวของโลกที่ผลิตสินค้าป้อนเข้าสู่ตลาด

จับตา "ราคาอาหาร" ส่อวิกฤตภัยแล้ง-เก็งกำไร ดันราคาพุ่ง

หลักฐานยืนยันก็คือรายงานของเอฟเอโอที่ระบุชัดว่า ยอดเก็บเกี่ยวผลผลิตในพื้นที่เพาะปลูกต่างๆ ทั่วโลกยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี และคาดการณ์กันว่าผลผลิตเฉพาะธัญพืชในปีนี้จะสูงถึง 2,400 ล้านตัน ซึ่งสูงขึ้นกว่าปี 2554 ถึง 2% จนเป็นสถิติเก็บเกี่ยวใหม่ของโลก

ขณะเดียวกันปริมาณการสำรองอาหารในคลังของแต่ละประเทศก็อยู่ในระดับที่เพียงพอต่อจำนวนประชากร

คำถามที่ตามมาก็คือ แล้วสาเหตุที่จะทำให้ราคาอาหารแพงเข้าขั้นวิกฤตคืออะไร?

“พูดกันให้ชัด ตัวการสำคัญที่จะทำให้วิกฤตอาหารหวนกลับมาอีกระลอกก็คือการเก็งกำไรเกินพอดีของนักลงทุนในตลาดอนุพันธ์”

คำกล่าวของ โฮเซ กราเซียโน ดา ซิลวาผู้อำนวยการเอฟเอโอ ดูจะเป็นคำตอบที่กระชับและตรงประเด็นมากที่สุด เพราะการซื้อขายในลักษณะดังกล่าว อาศัยการฉกฉวยประโยชน์จากข่าวร้ายต่างๆ

พูดให้เข้าใจง่ายก็คือว่า การซื้อขายในตลาดอนุพันธ์เป็นการซื้อขายล่วงหน้าด้วยการคาดการณ์ราคาสินค้าตัวหนึ่งๆ ว่าจะมีราคาขายอยู่ในระดับนี้ในอนาคต โดยอาศัยข้อมูลจากสถานการณ์ในปัจจุบันเป็นตัวกำหนด

ยกตัวอย่างเช่น ถ้าในปัจจุบันเกิดภัยแล้งฝนตก น้ำท่วม ค่าเงินล่วง ผลผลิตย่อมออกสู่ตลาดได้น้อย ผู้ขายก็ต้องขายในราคาที่สูงขึ้นมาหน่อย เพราะเชื่อมั่นว่าสินค้าของตัวเองต้องขายได้แน่นอน

เรียกได้ว่าการซื้อขายในลักษณะดังกล่าว เป็นการรับประกันในรูปแบบหนึ่งของทั้งผู้ซื้อและผู้ขายว่า ผู้ผลิตขายของได้แน่ ส่วนผู้ซื้อก็มีของถึงมือชัวร์

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ไม่อาจปฏิเสธได้ก็คือ กลไกดังกล่าวได้กลายเป็นช่องทางให้นักลงทุนเข้ามาเก็งกำไรแสวงหากอบโกยผลประโยชน์เข้ากระเป๋าด้วยเช่นกัน โดยมีผลลัพธ์อย่างการปั่นราคาให้สินค้าในตลาดแพงเกินความเป็นจริง ขาดความแน่นอนและควบคุมไม่ได้

ท้ายที่สุด ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อก็คือประชาชนคนธรรมดา โดยเฉพาะในประเทศที่พึ่งพาอาหารด้วยการนำเข้าเป็นหลัก เนื่องจากราคาอาหารที่แพงขึ้นจะจุดชนวนให้เกิดภาวะเงินเฟ้อภายในประเทศ

รายงานจากเอฟเอโอชี้ให้เห็นว่า ภาวะเงินเฟ้ออาหารในหลายประเทศปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นกว่าระดับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเรียบร้อยแล้วในขณะนี้ ซึ่งนับว่าเป็นอันตรายอย่างยิ่ง เพราะ 75% ของรายได้ของคนจนในแต่ละประเทศหมดไปกับค่าอาหาร

และหากคนจนไม่มีเงินพอซื้ออาหารความหิวโหยย่อมสั่งสมกลายเป็นความโกรธขึ้งจนกลายเป็นชนวนลุกฮือขึ้นต่อต้านรัฐบาลของตนเองในที่สุด

ยังไม่นับรวมอีกหนึ่งสาเหตุที่จะทำให้ราคาอาหารแพงขึ้นอย่างราคาน้ำมัน ที่ความต้องการในตลาดมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น ในขณะที่ปริมาณการผลิตเป็นไปอย่างจำกัด ส่งผลให้ในท้ายที่สุดต้นทุนการผลิตอาหารย่อมสูงขึ้นตามไปด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีเค้าลางวิกฤตที่เริ่มเห็นได้ชัดเจนขึ้น แต่น่าเสียดายว่าหลายๆ ประเทศในขณะนี้กลับมุ่งไปที่การเตรียมรับมือวิกฤตจากยุโรปและสหรัฐเป็นสำคัญ โดยหลงลืมประเด็นเรื่องราคาอาหาร

ปล่อยให้วิกฤตราคาอาหารเป็น “สึนามิเงียบ” (Silent Tsunami) ตามที่องค์การอาหารโลกแห่งสหประชาชาติ (ดับเบิลยูเอฟพี) ระบุไว้