posttoday

อาเซียนเจิดสวนวิกฤตเศรษฐกิจโลกโอกาศนี้ต้องทำให้ยั่งยืน

16 กรกฎาคม 2555

เคยมีหลายฝ่ายกล่าวไว้ว่า “ประเทศไทย” เป็นหนึ่งในประเทศที่โชคดีที่สุดประเทศหนึ่ง เพราะนอกจากจะอุดมสมบูรณ์ในน้ำมีปลาในนามีข้าวแล้ว

โดย...นันทิยา วรเพชรายุทธ

เคยมีหลายฝ่ายกล่าวไว้ว่า “ประเทศไทย” เป็นหนึ่งในประเทศที่โชคดีที่สุดประเทศหนึ่ง เพราะนอกจากจะอุดมสมบูรณ์ในน้ำมีปลาในนามีข้าวแล้ว การก่อร่างสร้างชาติในแบบฉบับเศรษฐกิจยุคใหม่เมื่อกว่า 30 ปีก่อน หรือหลังยุคของสงครามเย็น ยังเป็นไปอย่างฉลุยไร้คู่แข่งในภูมิภาคเดียวกัน เนื่องจากหลายประเทศยังคงบอบช้ำจากสงคราม และอีกหลายประเทศก็เพิ่งได้รับเอกราชจากเจ้าอาณานิคม หรือเพิ่งก่อตั้งเป็นรัฐประเทศกันมา สดๆ ร้อนๆ

ยุคสมัยของความโชคดีดังกล่าว อาจจะกำลังกลับมาให้เห็นอีกครั้งใน “สมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” หรืออาเซียนทั้ง 10 ประเทศ เพราะบรรดาเสาเศรษฐกิจสำคัญของโลกในวันนี้ ต่างก็อยู่ในอาการง่อยเปลี้ยเพลียแรงด้วยกันทั้งสิ้น

วิกฤตหนี้สินใน “ยุโรป” ยังคงเป็นมหากาพย์เรื่องยาวที่ไม่มีทางเห็นบทสรุปแบบแฮบปี้เอนดิงกันง่ายๆ ขณะที่ “สหรัฐ” ก็ยังแทบเอาตัวเองไม่รอด จนเริ่มมีการคาดการณ์กันหนาหูในระยะหลังว่า อาจต้องจบลงด้วยการงัดมาตรการผ่อนปรนเชิงปริมาณ (คิวอี) ครั้งที่ 3 ออกมาใช้ในช่วงครึ่งปีหลังนี้ ส่วนทางด้าน “จีน” ก็ส่งสัญญาณชัดเจนว่าจะไม่ขี่ม้าขาวช่วยกอบกู้โลกครั้งใหญ่เหมือนเมื่อ 4 ปีก่อนอีก เพราะบทพระเอกงวดที่แล้ว เล่นเอาจีนมาต้องมาตามแก้ปัญหาฟองสบู่กับบรรดาหนี้สินของรัฐบาลท้องถิ่นจนถึงวันนี้

อาเซียนจึงกลายเป็นดาวพระศุกร์ที่เปล่งประกายเจิดจรัสที่สุดในวันนี้ มีทั้งทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ในพม่า มีสินค้าเกษตรให้ทั้งกินทั้งเก็งกำไรในไทย และมีตลาดชนชั้นกลางที่กำลังเติบโต เฉพาะในอินโดนีเซียเพียงประเทศเดียวก็เกือบ 300 ล้านคน

อาเซียนเจิดสวนวิกฤตเศรษฐกิจโลกโอกาศนี้ต้องทำให้ยั่งยืน

ทว่าท่ามกลางความฮอตในเวลานี้ อาเซียนควรต้องเร่งไตร่ตรองไปพร้อมกันด้วยว่า โอกาสที่กำลังเข้ามานั้นมาจากความพร้อมโดยพื้นฐานอย่างแท้จริงของภูมิภาคแห่งนี้ หรือเป็นเพียงแค่ “จังหวะส้มหล่น” เพียงช่วงสั้นๆ ที่พร้อมจะหายไปได้ทันทีหากเสาเศรษฐกิจสำคัญๆ ของโลกต่างฟื้นไข้

รอยเตอร์สได้รายงานตัวเลขของศูนย์ข้อมูลด้านกองทุนลิปเปอร์ ว่า การลงทุนของต่างชาติในบรรดากองทุนของอาเซียนนั้น ได้เพิ่มขึ้นสูงสุดทุบสถิติในปีนี้ สินทรัพย์ที่บริหารโดยกองทุนรวมและกองทุนอีทีเอฟจากต่างประเทศ ซึ่งเน้นการลงทุนภายในตลาดอาเซียนนั้น มีปริมาณเพิ่มขึ้นถึงกว่า 2.6 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 8.06 แสนล้านบาท) ในเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา โดย 4 ใน 5 ส่วนนั้นเป็นสินทรัพย์ที่อยู่ในกองทุนบริหารเชิงรุก โดยที่เหลืออยู่ในสัดส่วนของกองทุนระยะสั้น

แม้ตัวเลขการลงทุนดังกล่าวจะเริ่มปรับลดลงในไตรมาส 2 ตามทิศทางของดัชนีเอ็มเอสซีไอ ตลาดหุ้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งปรับตัวลงไป 5.6% ตามผลพวงของภาวะเศรษฐกิจโลก ทว่าตัวเลขดังกล่าวก็ยังถือว่าอยู่ในระดับสูงขึ้นกว่า 3 เท่า เมื่อเทียบกับช่วงที่ตลาดมีมูลค่าต่ำสุดหลังวิกฤตการณ์ทางการเงินในสหรัฐเมื่อปี 2551 และยังดีกว่าเมื่อเทียบกับกองทุนที่เน้นการลงทุนในตลาดจีนและอินเดีย ซึ่งมีเม็ดเงินลงทุนลดลงเกือบ 30% เมื่อเทียบกับช่วงก่อนเกิดวิกฤตในปี 2551

ราเจช รันกนธาน ผู้จัดการกองทุนดอริค แคปปิตอล ในฮ่องกง ซึ่งได้ลงทุนในตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มานานกว่า 10 ปี ได้เปิดเผยกับรอยเตอร์ส ว่าปัจจุบันกำลังเกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้างขึ้น โดยนักลงทุนมีความเข้าใจในตลาดกันมากขึ้น นักลงทุนเริ่มมองว่าจีนและอินเดียเป็นตลาดที่เสี่ยง ซึ่งในทางกลับกันอินโดนีเซียกับประเทศไทย กำลังเป็นแหล่งพักการลงทุนที่ปลอดภัย

การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนั้น มีให้เห็นตั้งแต่การขยายตัวของผู้บริโภคชนชั้นกลางในกรุงมะนิลาไปจนถึงกรุงพนมเปญ ซึ่งช่วยให้เศรษฐกิจของภูมิภาคอาเซียนขยายตัวรวมกันถึง 2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 62 ล้านบาท) ทำให้ช่วยลดการพึ่งพาการส่งออกไปยังสหรัฐและยุโรปได้มาก มีการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานและมีการ บริหารจัดการด้านคลังได้ดีขึ้น และยังสามารถเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน กับจีนได้มากขึ้นด้วย

เฟรดเดอริก นิวมานน์ หัวหน้าฝ่ายวิจัยร่วมด้านเศรษฐกิจเอเชียของธนาคารเอชเอสบีซี ถึงกับมองว่าเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังเปล่งแสงเป็นดาวฤกษ์ หลังจากที่ต้องเป็นกลุ่มดาวเคราะห์ภายใต้แสงเจิดจรัสของจีนมาเกือบ 10 ปี

อย่างไรก็ตาม อาเซียนที่กำลังเนื้อหอมทั้งด้านการค้าการลงทุน และด้านยุทธศาสตร์ที่สำคัญแห่งทะเลจีนใต้ ก็ต้องไม่ลืมทบทวนตัวเองให้ดีว่าโอกาสที่มาถึงครั้งนี้มีความยั่งยืนเพียงพอ ที่จะสร้างการเติบโตให้อาเซียนต่อไปในระยะยาวได้อย่างถาวรหรือไม่

ปัญหาที่หลายฝ่ายล้วนเห็นตรงกันก็คือ อาเซียนต้องมีการปฏิรูปสำคัญๆ ในอีกหลายด้าน โดยเฉพาะด้านโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับการลงทุน และการปฏิรูปกฎหมายด้านการลงทุนสร้างความเชื่อมั่นให้กับต่างประเทศ เพื่อไม่ให้อาเซียนเป็นได้แค่เพียงตลาดเก็งกำไรระยะสั้น และพร้อมถอนทุนกลับทันทีที่เสาเศรษฐกิจโลกอื่นๆ เริ่มฟื้นตัวดีขึ้น

ช่องว่างทางเศรษฐกิจภายใน 10 ประเทศอาเซียน ซึ่งเป็นความท้าทายสำคัญของการรวมกลุ่มเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ในอีก 3 ปีข้างหน้านี้ ยังถือเป็นปัญหาสำคัญของการเป็นภูมิภาคแห่งโอกาสร่วมกันด้วย

แม้พม่าจะเป็นดาวเด่นดวงใหม่ของอาเซียน ซึ่งล่าสุดเพิ่งเซ็นสัญญาซื้อขายอุปกรณ์การแพทย์ล็อตใหญ่ไปกับเจเนอรัล อีเลคทริค (จีอี) ของสหรัฐ และคาดว่าจะมีข้อตกลงการค้ากับหลายบริษัทตามมาอีกเป็นขบวน ทว่า พม่าก็ยังขาดระบบธนาคารหรือตลาดการเงินซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการลงทุนกับประเทศนี้ รวมไปถึงสาธารณูปโภคพื้นฐานที่ครอบคลุม และกฎหมายการลงทุนที่ยังไม่คลอด

ทางด้านลาวและกัมพูชานั้น ก็ยังมีระดับเศรษฐกิจที่ต่างจากสิงคโปร์หรือมาเลเซียอยู่มาก ส่วนเวียดนามก็ยังคงแก้ไม่ตกกับปัญหาเงินเฟ้อการขาดดุลงบประมาณ และหนี้ของรัฐวิสาหกิจ ซึ่งทำให้ความร้อนแรงของเวียดนามในช่วงไม่กี่ปีมานี้ต้องถูกลดดีกรีลง ขณะที่ในภาพรวมของอาเซียนนั้น ก็ยังมีความหลากหลายของบริษัทเอกชนที่มีประสิทธิภาพและมีขนาดใหญ่ น้อยกว่าจีนและอินเดีย

ทว่า หากตระหนักถึงความท้าทายที่อยู่ตรงหน้า และเร่งอุดช่องว่างให้ทันท่วงที โอกาสนี้อาจไปได้ไกลพร้อมๆ กัน...