posttoday

กลุ่มทุนมะกันเดินหน้า ทะลวงขุดทองอาเซียน

13 กรกฎาคม 2555

แม้จะเดินทางมาร่วมประชุมว่าด้วยเรื่องการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (เออาร์เอฟ)

โดย...นันทิยา วรเพชรายุทธ

แม้จะเดินทางมาร่วมประชุมว่าด้วยเรื่องการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (เออาร์เอฟ) ที่ทั่วโลกต้องจับตาท่าทียุทธศาสตร์ความมั่นคงระหว่าง 2 มหาอำนาจ สหรัฐ-จีน ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) อย่างไม่กะพริบตา ทว่าสิ่งหนึ่งที่รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ ฮิลลารี คลินตัน ไม่ลืมที่จะหอบหิ้วกันมาด้วยก็คือ “กองทัพนักธุรกิจอเมริกัน”

ภายหลังจากการหารือด้านความมั่นคงอันร้อนระอุที่กรุงพนมเปญแล้ว ฮิลลารี จะนำคณะนักธุรกิจเข้าร่วมการประชุมสภาธุรกิจสหรัฐ-อาเซียน ครั้งใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยจัดขึ้น เป็นการเดินเกมรุกต่อเนื่องหลังจากที่ไปกรุยทางใน “เวียดนาม” และ “ลาว” มาแล้วก่อนหน้านี้ พร้อมด้วยการส่ง โรเบิร์ต ฮอร์แมตส์ ปลัดกระทรวงต่างประเทศฝ่ายกิจการเศรษฐกิจ และ ฟรานซิสโก ซานเชส ปลัดกระทรวงพาณิชย์ฝ่ายการค้าระหว่างประเทศ เดินทางไปเยือนพม่า เพื่อมองช่องทางการลงทุนใหม่ๆ ในแดนสนธยาที่ยังอุดมสมบูรณ์

ไม่ต้องรอแถลงการณ์จากปากสหรัฐ ก็พอรู้ได้แล้วว่าสหรัฐคาดหวังกับโอกาสการลงทุนในอาเซียนครั้งนี้มากเพียงใด โดยเฉพาะประเทศที่แทบไม่มีสัมพันธ์ทางการค้าและการลงทุนในระดับที่มากนักอย่าง “พม่า” และ “ลาว”

เจ้าหน้าที่ระดับสูงด้านการค้าและเศรษฐกิจของสหรัฐทั้งสองคน ได้เดินทางเข้าไปยังพม่าเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา เพื่อสนับสนุนรัฐบาลพม่าให้เดินหน้าส่งเสริมเศรษฐกิจและการลงทุน โดยได้ไปดูลู่ทางทั้งในกรุงเนย์ปิดอว์ และนครย่างกุ้ง ก่อนที่จะนำไปสู่การเคลื่อนไหวสำคัญ 3 เรื่องตามมาก็คือ

กลุ่มทุนมะกันเดินหน้า ทะลวงขุดทองอาเซียน

 

1.การส่ง เดเร็ก มิตเชลเอกอัครราชทูตสหรัฐคนแรกไปประจำยังพม่า ในวันที่ 11 ก.ค.

2.การประกาศยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรด้านการลงทุนกับพม่า ในวันที่ 12 ก.ค.

3.การประชุมสภาธุรกิจสหรัฐ-อาเซียน ในวันที่ 13 ก.ค.

แม้พม่าจะเต็มไปด้วยโอกาสในการลงทุนแทบจะทุกด้าน ตั้งแต่ท่าเรือไปจนถึงยาสระผม ซึ่งบริษัท โคคา-โคลา ก็เพิ่งประกาศจะกลับเข้าไปลงทุนในพม่าอีกครั้งในรอบเกือบ 60 ปี รวมถึงบริษัท เจนเนอรัล อิเล็กทริก ที่สนใจเข้าไปลงทุนด้านไฟฟ้าและด้านสุขภาพ ทว่าบรรดานักสังเกตการณ์และผู้เชี่ยวชาญตามสื่อหลายสำนักต่างระบุตรงกันว่า ธุรกิจอเมริกันที่คาดว่าจะเข้ามาเก็บเกี่ยวประโยชน์ในสหรัฐเบื้องต้นมากที่สุดก็คือ ธุรกิจน้ำมันและพลังงาน

เพราะนอกจากพม่าจะได้ชื่อว่าเป็นแหล่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติขุมใหญ่ในอาเซียน โดยมีลูกค้าชั้นนำอย่างไทย สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย จีน และอินเดีย ท่ามกลางแนวโน้มราคาที่มีแต่จะแพงขึ้นแล้ว แนวโน้มที่ทำให้เชื่อได้ว่ามหาอำนาจรายใหม่จะเข้ามาขุดก๊าซเพิ่มขึ้นอีกนั้น ยังมาจากเสียงสะท้อนความกังวลของบรรดาฝ่ายค้านและกลุ่มจับตาสิทธิมนุษยชนในพม่า

ผู้นำฝ่ายค้าน อองซานซูจี เพิ่งออกโรงเตือนบรรดาบริษัทต่างชาติมาหมาดๆ ว่า อย่าเพิ่งโดดสุ่มสี่สุ่มห้าเข้าลงทุนในอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ เพราะยังติดหล่มอุปสรรคสำคัญในเรื่องความน่าเชื่อถือและความโปร่งใสอยู่

ขณะที่ อาร์วินด์ กาเนซัน จากกลุ่มจับตาสิทธิมนุษยชน ฮิวแมน ไรต์ วอตช์ ได้กล่าวกับเอพี ว่า หากสหรัฐปล่อยให้บรรดาบริษัทน้ำมันเข้าเจรจาธุรกิจกับรัฐบาลพม่าได้ ก็เท่ากับว่าสหรัฐยอมแพ้ต่อแรงกดดันของธุรกิจน้ำมันยักษ์ใหญ่ในประเทศ ซึ่งยังจะบ่อนทำลายความพยายามของซูจี และฝ่ายอื่นๆ ที่เรียกร้องให้มีการลงทุนอย่างรับผิดชอบและโปร่งใสในพม่าด้วย

ปัจจุบันพม่าเปิดสัมปทานแหล่งก๊าซบนบก 49 แห่ง และแหล่งก๊าซนอกชายฝั่ง 26 แห่ง กับบริษัทพลังงานต่างชาติหลายสิบแห่ง ตั้งแต่ไทย สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย เวียดนาม จีน อินเดีย ออสเตรเลีย อังกฤษ แคนาดา เกาหลีใต้ และรัสเซีย โดยเพิ่งจะทำรายได้จากการส่งออกก๊าซธรรมชาติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในปีงบประมาณที่แล้ว ที่ 3,563 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 1.13 แสนล้านบาท) ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าประมาณ 640 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 2 หมื่นล้านบาท)

หนึ่งในแหล่งก๊าซส่งออกใหญ่สุด คือ แหล่งยะดะนาในทะเลอันดามัน นอกชายฝั่งเมาะตะมะนั้น อาจยังไม่ได้เป็นที่รับรู้ในวงกว้างว่า มี 2 บริษัทใหญ่จากโลกตะวันตกเป็นผู้ดำเนินโครงการขุดเจาะหลักๆ คือ โททาลจากฝรั่งเศส และเชฟรอนจากสหรัฐ ซึ่งดำเนินการมานานกว่า 10 ปีก่อนแล้ว

สหรัฐเองนั้นรู้ดีว่าถูกจับจ้องในเรื่องนี้อยู่ จึงได้ประกาศคลายความกังวลของทุกฝ่ายด้วยการออกกฎให้การลงทุนเกิน 5 แสนเหรียญสหรัฐในพม่า ต้องสำแดงรายละเอียดการลงทุนกับรัฐบาลสหรัฐ เช่น การได้มาซึ่งที่ดิน การจัดการด้านสิ่งแวดล้อม และการจ่ายเงินให้กับรัฐบาลพม่า ขณะที่การลงทุนใดๆ ก็ตามกับบริษัท เมียนมาร์ ออยล์ แอนด์ ก๊าซ เอนเตอร์ไพรส์ (เอ็มโอจีอี) ซึ่งเป็นบริษัทพลังงานของพม่าที่ควบคุมภาคธุรกิจดังกล่าวอยู่ทั้งหมดนั้น จะต้องรายงานต่อทางกระทรวงต่างประเทศสหรัฐเช่นกัน

แม้จะดูเป็นมาตรการเพื่อป้องกันการงุบงิบเจรจา ซึ่งเป็นความกังวลของภาคประชาชนในพม่า ทว่าในอีกด้านหนึ่งมาตรการเหล่านี้สะท้อนได้เป็นอย่างดีว่า สหรัฐได้ปูทางทุกอย่างสู่การลงทุนในพม่าไว้พร้อมหมดแล้ว ตั้งแต่สถานทูต การระงับการคว่ำบาตร ไปจนถึงการหาทางลงเรื่องสิทธิมนุษยชน และความโปร่งใสในการเข้าไปทำธุรกิจในพม่า

ในส่วนของ “ลาว” นั้น ฮิลลารี ถือเป็นตัวแทนเจ้าหน้าที่ระดับสูงคนแรกของสหรัฐที่เข้าไปกระชับสัมพันธ์กับลาวเป็นครั้งแรกในรอบ 57 ปี หลังจากที่ผ่านความเป็นอริกันมาในช่วงสงครามเวียดนาม และฮิลลารีก็ได้ไปดูผลงานในสมัยสงครามครั้งนั้น ทั้งผลกระทบจากฝนเหลือง ระเบิดคลัสเตอร์บอมบ์ และโครงการขาเทียมช่วยเหลือเหยื่อพิการ ตามศูนย์ฟื้นฟูเหยื่อจากสงครามที่กรุงเวียงจันทน์ ระหว่างการเยือนลาว เพื่อสร้างความไว้ใจว่าก่อนจะจับมือกันในครั้งนี้ สหรัฐต้องยอมรับอดีตที่เคยทำกับลาวเอาไว้เสียก่อน

อย่างไรก็ตาม อดีตที่เลวร้ายอาจไม่ใช่อุปสรรคต่ออนาคต เพราะการไปเยือนของสหรัฐในครั้งนี้ มาจากการปรับเปลี่ยนท่าทีในระยะหลังของลาว ที่เริ่มผ่อนปรนท่าทีไปสู่การเปิดตลาดเสรีกับตะวันตกมากขึ้น หลังจากที่ต้องพึ่งพิงเวียดนามมาตลอดหลายสิบปี และหันไปพึ่งพิงจีนเป็นหลักในช่วงหลายปีหลังมานี้

แม้การค้าทวิภาคีระหว่างลาว-สหรัฐ จะยังอยู่ในระดับที่น้อยมากเพียง 71 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2553 ทว่าการเปิดรับตะวันตกมากขึ้นในจังหวะนี้ก็เป็นโอกาสอันดีที่จะปูทางไปสู่การพัฒนาความสัมพันธ์ระยะยาวครอบคลุมทั้งอินโดจีน และลาวก็มีแนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระดับสูงกว่า 7% จากเป้าหมายการเป็นแบตเตอรี่แห่งเอเชีย ทำให้การไปเยือนของฮิลลารีในครั้งนี้ ไม่พลาดที่จะนำตัวแทนคณะนักธุรกิจจากบริษัทชั้นนำ อาทิ โคคา-โคลา จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน เชฟรอน และเจนเนอรัล อิเล็กทริก ไปปูทางความสัมพันธ์กันไว้ด้วย

แม้อาจจะยังเป็นแค่การเริ่มต้น ทว่าก็เป็นก้าวแรกที่ดูจะมั่นคง และอาจทำให้กลุ่มธุรกิจหน้าเดิมในภูมิภาคแห่งนี้ต้องสั่นสะท้านกับการแข่งขันที่ต้องไม่กะพริบตา