posttoday

มะกันคัมแบ็กอาเซียน รุกคืบสมรภูมิการค้า

11 กรกฎาคม 2555

สหรัฐกำลังเพิ่มการลงทุนอย่างมาก รวมไปถึงการทูต เศรษฐกิจ ยุทธศาสตร์ และอีกหลายด้าน ในภูมิภาคแห่งนี้

โดย...นันทิยา วรเพชรายุทธ

“สหรัฐกำลังเพิ่มการลงทุนอย่างมาก รวมไปถึงการทูต เศรษฐกิจ ยุทธศาสตร์ และอีกหลายด้าน ในภูมิภาคแห่งนี้ และหัวใจหลักแห่งยุทธศาสตร์ของเรา หรือองค์ประกอบที่รวมทุกอย่างเข้าไว้ด้วยกันก็คือ การสนับสนุนประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน”

คำกล่าวข้างต้นมาจากถ้อยแถลงตอนหนึ่งที่ ฮิลลารี คลินตัน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ กล่าวถึงภูมิภาคเอเชีย ระหว่างที่กำลังเยือนประเทศมองโกเลีย เมื่อวันที่ 9 ก.ค. โดยเป็นส่วนหนึ่งของการเดินทางเยือนเอเชียหลายประเทศครั้งใหญ่ที่รวมถึงเวียดนาม ลาว และกัมพูชา ซึ่งประเทศหลังนี้กำลังจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดด้านการเมืองและความมั่นคงในเอเชีย-แปซิฟิก (เออาร์เอฟ) ซึ่งมีมหาอำนาจอย่างสหรัฐเข้าร่วมด้วย

สิ่งที่ฮิลลารีพูดนั้นแทบไม่ต้องตีความอะไรอีกให้ยุ่งยาก สหรัฐไม่ได้มุ่งหวังที่จะพาทหารกลับมายังถิ่นอำนาจเก่าในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพียงอย่างเดียว ตามที่เคยประกาศไว้ก่อนหน้านี้เท่านั้น แต่ยังพร้อมทุ่มเม็ดเงินลงทุนมหาศาลทั้งในเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตราบใดที่ประเทศเหล่านี้พร้อมอ้าแขนต้อนรับระบบ “ตลาดเสรี” อย่างเต็มที่ และไปด้วยกันกับระบอบประชาธิปไตย

มะกันคัมแบ็กอาเซียน รุกคืบสมรภูมิการค้า

 

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาจากสภาพเศรษฐกิจสหรัฐพื้นฐานในเวลานี้แล้วอาจจะพบว่า ประชาธิปไตย “อาจไม่ใช่เงื่อนไขจำเป็นที่สุด” ของสหรัฐ ต่อการเลือกเข้ามาลงทุนในภูมิภาคแห่งนี้

เพราะการเข้ามาค้าขายและลงทุนกับเอเชียนั้น กำลังกลายเป็นความจำเป็นของสหรัฐเข้าไปทุกที

เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าสถานะทางการคลังของรัฐบาลสหรัฐนั้นเข้าขั้นวิกฤตไม่ได้แพ้ฝั่งยุโรปแม้แต่น้อย ปัญหาหนี้สาธารณะและงบประมาณขาดดุลจะกลายเป็นระเบิดลูกใหญ่ในอนาคตอันใกล้อย่างแน่นอน จากระดับหนี้สาธารณะที่ทะลุไปกว่า 100% ของจีดีพีประเทศ งบประมาณขาดดุลที่พุ่งถึง 1.2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 38.1 ล้านล้านบาท) และอัตราการว่างงานที่ลดลงมาได้อยู่แค่ 8.2%

ทว่า ปัญหาเศรษฐกิจสำคัญอีกด้านที่หลายฝ่ายอาจยังไม่ทันได้ตระหนักก็คือ ภาคเอกชนของสหรัฐกำลังจนลง

ภาคเอกชนซึ่งเป็นผู้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจสหรัฐทั้งประเทศมาตลอด ยังไม่สามารถฟื้นตัวได้อย่างถาวรเต็มที่นับตั้งแต่เกิดวิกฤตการณ์ภาคการเงินในสหรัฐเมื่อปี 2551

เอส แอนด์ พี แคปปิตอล ไอคิว ซึ่งเป็นบริษัทวิจัยในเครือของสแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ ได้คาดการณ์ว่า กลุ่มบริษัทใหญ่ 500 อันดับ ซึ่งจดทะเบียนในตลาดเอส แอนด์ พี 500 นั้น กำลังจะมีรายได้ลดลงราว 1% ในช่วงไตรมาส 2 ของปีนี้ ซึ่งจะเป็นการเติบโตที่ชะงักงันลงครั้งแรกนับตั้งแต่ทำรายได้เพิ่มขึ้นติดต่อกันมา 10 ไตรมาส นับตั้งแต่ไตรมาสสุดท้ายของปี 2552

วินเซนต์ เดลิเซิล นักวิเคราะห์ของบริษัทหลักทรัพย์ สโกเทีย แคปปิตอล เปิดเผยกับหนังสือพิมพ์ เดอะ โกลบ แอนด์ เมล ว่า สิ่งสำคัญที่สุด 2 สิ่งที่ต้องจับตามองในไตรมาส 2 นี้ก็คือ มีบริษัทที่พลาดเป้าผลประกอบการมากแค่ไหน และมีบริษัทไหนที่ก้าวข้ามผู้แพ้เหล่านี้ไปบ้าง เพราะผลลัพธ์ที่ได้จะบ่งชี้ให้เห็นถึงแนวโน้มของอนาคตที่กำลังจะเกิดขึ้น

อัลโค อิงก์ บริษัทผู้ผลิตอะลูมิเนียมรายใหญ่ที่สุดอันดับ 3 ของโลกจากเมืองลุงแซม เริ่มต้นการเข้าสู่ไตรมาส 2 ของปีนี้ ด้วยราคาหุ้นที่ดิ่งลงมาอยู่ที่หุ้นละ 6 เซนต์ จาก 32 เซนต์ ในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ขณะที่ยอดขายก็ร่วงลงมาอยู่ที่ 5,960 ล้านเหรียญสหรัฐ(ราว 1.89 แสนล้านบาท) จาก 6,590 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 2.09 แสนล้านบาท) ซึ่งแม้จะเป็นตัวเลขที่ดีกว่าที่มีการคาดการณ์ไว้เล็กน้อย ทว่าผลกำไรปีต่อปีของไตรมาสนี้ก็คาดว่าจะออกมาได้ย่ำแย่ที่สุดในรอบเกือบ 3 ปี

แม้วิกฤตการณ์เศรษฐกิจสหรัฐจะทยอยฟื้นตัวดีขึ้น จนช่วยให้อัตราการว่างงานทยอยลดลงมาอยู่ที่ 8.2% จากที่เคยพุ่งทุบสถิติสูงสุดในรอบ 26 ปี ที่ 10.2% เมื่อช่วงปลายปี 2552 ทว่าสหรัฐก็ต้องเผชิญวิบากกรรมซ้ำจากวิกฤตการณ์หนี้สินในฝั่งยุโรป ซึ่งทำให้เขตเศรษฐกิจใหญ่สุดอันดับ 2 ในโลกอย่างจีน ดิ่งวูบลงไปด้วย

บรรดาบริษัทชั้นนำหลายแห่งในสหรัฐต่างทยอยส่งจดหมายเตือนนักลงทุนผู้ถือหุ้นกันแล้วว่า ผลประกอบการของบริษัทในไตรมาส 2 นี้ อาจย่ำแย่เกินกว่าที่เคยมีการคาดการณ์กันไว้ โดยข้อมูลของเอส แอนด์ พี แคปปิตอล ไอคิว พบว่า ในบรรดาบริษัท 103 แห่งที่มีการทบทวนผลประกอบการของบริษัทนั้น มีบริษัทที่ให้แนวโน้มด้านลบไว้ถึง 63 แห่ง ท่ามกลางแนวโน้มว่าอาจต้องใช้เวลานานถึงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้กว่าที่บริษัทส่วนใหญ่จะกลับมาทำกำไรกันได้ดีอีกครั้ง

ทว่า ทวีปยุโรปซึ่งเป็นคู่ค้าสำคัญของสหรัฐก็ไม่สามารถฝากความหวังใดๆ ได้ในปีนี้ เช่นเดียวกับจีนที่ไม่อาจขี่ม้าขาวช่วยกอบกู้โลกเมื่อ 4 ปีก่อนได้อีกต่อไป หลังดัชนีสำคัญๆ ทางเศรษฐกิจเริ่มแผ่วตัวลงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะดัชนีในภาคการผลิต

ภูมิภาคอาเซียนซึ่งมีประชากรรวมกันเกือบ 600 ล้านคน ท่ามกลางการขยายตัวขึ้นอย่างรวดเร็วของกลุ่มชนชั้นกลาง จึงเป็นหนึ่งในเป้าหมายสำคัญทั้งทางด้านยุทธศาสตร์และเศรษฐกิจที่สหรัฐไม่อาจเพิกเฉยได้อีกต่อไป

จากการประเมินของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เมื่อเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา ระบุไว้ว่า 5 ประเทศเศรษฐกิจใหญ่ในอาเซียน ได้แก่ อินโดนีเซีย ไทย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และเวียดนามนั้น เมื่อรวมกับ 2 เขตเศรษฐกิจใหญ่แห่งเอเชีย คือ จีนและอินเดียแล้ว จะมีขนาดเศรษฐกิจแซงหน้าทั่วโลกในอีก 2 ปีข้างหน้า และเศรษฐกิจอาเซียนทั้ง 5 ประเทศนี้จะขยายตัวได้ 6.2% ในปีหน้า เมื่อเทียบกับสหรัฐ ที่ขยายตัวได้ 2.4% กลุ่มประเทศยูโรโซน 0.9% และญี่ปุ่น 1.7%

จึงไม่น่าแปลกใจที่จะได้เห็นการเคลื่อนไหวสำคัญๆ ของสหรัฐมากขึ้นในช่วงหลังมานี้ อาทิ การเดินทางเยือนลาวครั้งแรกในรอบ 57 ปี การเข้าไปประชุมเออาร์เอฟพร้อมร่วมประชุมสภาธุรกิจอาเซียน-สหรัฐ ครั้งใหญ่ที่สุดที่เคยจัดขึ้น การเจรจาข้อตกลงการค้ากับเวียดนาม และการเดินหน้าถกข้อตกลงการค้าเสรีข้ามทวีปแปซิฟิก (ทีพีพี) กับ 11 ประเทศทั่วโลก ซึ่งรวมถึง 4 ชาติอาเซียนอย่างสิงคโปร์ บรูไน มาเลเซีย และเวียดนาม ท่ามกลางโอกาสทั้งทางด้านยุทธศาสตร์และเศรษฐกิจที่เปิดกว้างขึ้นกว่าเดิม หลังสัมพันธ์ระหว่างอาเซียนและจีน ซึ่งเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดอันดับ 1 ในอาเซียนเริ่มมีปัญหาอันสืบเนื่องมาจากข้อพิพาทหมู่เกาะในทะเลจีนใต้

งานนี้ ได้ทั้งขึ้นทั้งล่อง...