posttoday

จับตาปารีสเหยื่อวิกฤตหนี้รายต่อไป

09 กรกฎาคม 2555

นอกเหนือไปจากการที่ทั่วโลกต้องจับตาดูความเคลื่อนไหวของ 5 ประเทศในยูโรโซน ซึ่งประกอบไปด้วย กรีซ ไอร์แลนด์ โปรตุเกส สเปน ไซปรัส และรายล่าสุดคือ อิตาลี

โดย...พันธสิทธิ เจริญพาณิชย์พันธ์

นอกเหนือไปจากการที่ทั่วโลกต้องจับตาดูความเคลื่อนไหวของ 5 ประเทศในยูโรโซน ซึ่งประกอบไปด้วย กรีซ ไอร์แลนด์ โปรตุเกส สเปน ไซปรัส และรายล่าสุดคือ อิตาลี ที่ต้องดิ้นรนต่อสู้กับวิกฤตหนี้สาธารณะให้ต้องลุ้นอย่างใจหายใจคว่ำว่าจะมีชะตากรรมเป็นเช่นไรแล้ว

อีกหนึ่งสมาชิกยูโรโซนที่ไม่อาจละสายตาจากไปได้นับจากนี้ และมีแนวโน้มว่าจะเป็นเหยื่อรายต่อไปของวิกฤตหนี้ยูโรโซน คือ ดินแดนเมืองน้ำหอมที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของภูมิภาค เป็นรองแค่ประเทศเยอรมนี อย่าง “ฝรั่งเศส”

สาเหตุประการแรก มาจากการควบคุมดูแลปริมาณหนี้สาธารณะและการขาดดุลงบประมาณของประเทศภายใต้การนำของรัฐบาลจากพรรคสังคมนิยมของ ฟรองซัวส์ ออลลองด์ ที่เน้นนโยบายการกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นหลักนั้น เริ่มส่อเค้าให้เห็นแล้วว่า ไม่สามารถทำให้เป็นจริงได้ แถมไม่เป็นไปตามเป้าหมายและแผนที่วางไว้ทั้งหมด

เพราะการเร่งยกเลิกและปรับเปลี่ยนนโยบายจากรัฐบาลชุดก่อนของ นิโกลาส์ ซาร์โกซี อย่างรวดเร็วจากการประหยัดรายจ่าย และเปลี่ยนหันมาใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นการเติบโต ได้ส่งผลข้างเคียงให้ปริมาณหนี้ของภาครัฐสูงขึ้นอย่างรวดเร็วเป็นเงาตามตัวขึ้นมา

ล่าสุด ข้อมูลจากคณะกรรมการตรวจสอบบัญชีอิสระของทางการฝรั่งเศสออกมาชี้ว่า การขาดดุลของงบประมาณของประเทศในปีนี้จะพุ่งเกินเป้าหมายที่วางไว้ที่ 4.5% ขึ้นมาอยู่ที่ 5.2%

ฉะนั้น การที่ไม่สามารถผลักให้ยอดการขาดดุลงบประมาณลดลงได้ทันในปีนี้ ได้ส่งผลไปยังเป้าหมายการตัดลดการขาดดุลงบประมาณไปปีต่อๆ ไปให้คลาดเคลื่อนไปจากเป้าหมายเดิมที่วางไว้มากขึ้นกว่าเดิม โดยเฉพาะแผนการจัดทำการขาดดุลให้ลดลงมาอยู่ที่ 3% ในปี 2556 และลดลงมาเหลือ 0% ในปี 2560

รูปการณ์ดังกล่าวนับว่าไม่ใช่ผลดีต่อฝรั่งเศสสักนิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมุมมองความเชื่อมั่นของนักลงทุน เพราะฝรั่งเศสอาจจะต้องแบกรับกับต้นทุนการกู้ยืมเงินจากตลาดพันธบัตรที่พุ่งสูงขึ้น เหมือนเช่นที่กรีซและอิตาลีประสบอยู่ในปัจจุบัน

จับตาปารีสเหยื่อวิกฤตหนี้รายต่อไป

สาเหตุประการที่สอง ซึ่งเป็นเหตุผลที่สืบต่อเนื่องมาจากประการแรก คือ การที่รัฐบาลฝรั่งเศสเริ่มตระหนักว่านโยบายกระตุ้นการเติบโตได้ส่งผลให้เป้าหมายการลดหนี้ของภาครัฐคลาดเคลื่อนออกไป ทำให้ฝรั่งเศสอาจหันมามุ่งหารายได้เข้าภาครัฐ เพื่อชดเชยรายจ่ายที่สูญเสียจากแผนการกระตุ้นไป เพื่อให้เป็นไปตามคำเสนอแนะของคณะกรรมการตรวจสอบบัญชีอิสระของทางการฝรั่งเศส ที่ระบุว่ารัฐบาลจะต้องหารายได้มาชดเชยให้มากขึ้น หากยังหวังที่จะทำให้เป้าหมายลดการขาดดุลงบประมาณเกิดขึ้นได้จริงในปีนี้ โดยรัฐบาลจะต้องหารายได้ให้ได้อย่างน้อยราว 6,000 ล้าน1 หมื่นล้านยูโร (ราว 2.46–4.1 แสนล้านบาท) และอีก 3.3 หมื่นล้านยูโร (ราว 1.353 ล้านล้านบาท) ในปีหน้า

ทั้งนี้ ด้วยความที่รัฐบาลปัจจุบันเป็นรัฐบาลที่มีแนวคิดไปทางสังคมนิยม ดังนั้นเป้าหมายของผู้ที่ต้องแบกรับการเพิ่มรายได้จากภาษีภาครัฐ จึงมุ่งเน้นไปที่กลุ่มคนรวยและผู้ประกอบการธุรกิจขนาดใหญ่ที่อยู่ในประเทศมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันรัฐบาลมีแผนการเตรียมรีดภาษีของคนกลุ่มนี้ให้ได้ตามเป้าที่ 7,200 ล้านยูโร (ราว 2.95 แสนล้านบาท) ซึ่งในมาตรการเหล่านี้ประกอบไปด้วย การจัดเก็บภาษีผู้ที่มีรายได้เกิน 1 ล้านยูโร ที่ 75% การเพิ่มภาษีเงินปันผลของบริษัทขึ้นไปที่ 3% การเพิ่มภาษีเคลื่อนย้ายธุรกรรมการเงินจาก 0.1% ไปที่ 0.2%

อย่างไรก็ตาม ผลสะท้อนจากการดำเนินนโยบายการรีดภาษีจากเหล่าคนรวยและผู้ประกอบการธุรกิจรายใหญ่เป็นหลักของพรรคสังคมนิยมนี้ จะส่งผลเสียต่อสถานการณ์ของฝรั่งเศสให้ยิ่งย่ำแย่ลงไปมากกว่าเดิม เนื่องจากเหล่านักธุรกิจมหาเศรษฐีอาจตัดสินใจเลี่ยงปัญหาภาษีหฤโหดของรัฐบาลด้วยการหอบเงินทุนหนีออกไปไว้ยังต่างประเทศที่มีนโยบายทางภาษีที่ต่ำกว่าแทน

อีกทั้งยังมีเงื่อนไขทางด้านข้อบังคับด้านการเคลื่อนย้ายแรงงานและทุนอย่างเสรีที่มีอยู่ของสหภาพยุโรป (อียู) ที่อาจกลายเป็นปัจจัยหนึ่งที่เร่งเร้าให้นักธุรกิจฝรั่งเศสย้ายหนีไปลงทุนในต่างประเทศได้ง่ายขึ้นกว่าเดิมยิ่งขึ้นอีกด้วย

ดังนั้นแล้วการดำเนินนโยบายการขูดรีดภาษีจากกลุ่มคนรวยและนักธุรกิจจึงเป็นเหมือนดาบสองคม ที่อาจทำให้ในที่สุดแล้วนักธุรกิจในประเทศหอบเงินหนีไปยังต่างประเทศมากขึ้นเพื่อหลบเลี่ยงภาษี และอาจทำให้บรรษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ของฝรั่งเศสเกิดความลังเลในการส่งรายได้กลับเข้าสำนักงานใหญ่ที่อยู่ในประเทศมากขึ้น ซึ่งจะกระทบกับรายได้จากภาษีโดยตรง

ไม่เพียงเท่านี้ มาตรการดังกล่าวยังเป็นอุปสรรคต่อการส่งเสริมให้เกิดการค้าการลงทุนและกิจกรรมทางเศรษฐกิจอื่นๆ ในฝรั่งเศสมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อแนวทางการมุ่งสร้างการเติบโตของรัฐบาลได้ในที่สุด เนื่องจากว่าหากไม่มีการลงทุนแล้ว ก็ย่อมจะไม่ก่อให้เกิดการจ้างงานสร้างรายได้ของประชาชนตามมา

จนท้ายที่สุดกำลังการซื้อและบริโภคก็จะหดหายลง นำไปสู่การหยุดชะงักของวงจรการขยายตัวและการเติบโตทางเศรษฐกิจในที่สุด

สาเหตุประการที่สาม และเป็นเหตุผลที่เชื่อมโยงต่อมาจาก 2 สาเหตุแรกที่กล่าวไปในข้างต้น คือ หากรัฐบาลไม่สามารถจัดเก็บภาษีเพื่อนำมาเพิ่มรายได้ตามที่มุ่งหวังไว้ รัฐบาลฝรั่งเศสก็อาจจะไม่เหลือทางเลือกอื่นใดนอกไปจากการก้มหน้ายอมรับชะตากรรมและกลืนน้ำลายของตัวเอง ด้วยการหันกลับมาปัดฝุ่นนโยบายตัดลดรายจ่าย หรือ “แผนรัดเข็มขัด” ของรัฐบาลชุดก่อนกลับขึ้นมาใช้อีกครั้ง

และในที่สุดผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นต่อฝรั่งเศสก็จะไม่ต่างไปจากสิ่งที่ประชาชนในกรีซ โปรตุเกส ไอร์แลนด์ หรืออิตาลี กำลังรู้สึกเจ็บปวดรวดร้าวจากแผนรัดเข็มขัดอยู่ในขณะนี้

สาเหตุประการสุดท้าย คือ ฝรั่งเศสอาจต้องเผชิญกับวิกฤตภาคธนาคารรายใหญ่ในประเทศ เหมือนกับที่ภาคธนาคารสเปนกำลังประสบอยู่ในขณะนี้ เนื่องจากแนวนโยบายของรัฐบาลปัจจุบันไม่ค่อยสอดคล้องและเอื้อต่อภาคธนาคารรายใหญ่ในประเทศมากนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการออกมาส่งสัญญาณของนายกรัฐมนตรีฝรั่งเศสที่ระบุชัดว่า ต้องการให้ธนาคารพาณิชย์แยกการดำเนินธุรกรรมทางการเงินปกติออกจากการเก็งกำไรซื้อขายเพื่อการลงทุน หรือที่เรียกกันในสหรัฐว่ากฎหมาย “โวลค์เกอร์ รูล”

ทั้งนี้ ข้อมูลจากนักวิเคราะห์ของธนาคารซิตี้แบงก์ ชี้ให้เห็นว่าการใช้กฎดังกล่าวมีแนวโน้มจะส่งผลให้บรรดาธนาคารทั้งหลายในฝรั่งเศสสูญผลกำไรโดยรวมมากถึง 500 ล้านยูโร (ราว 2.05 หมื่นล้านบาท)

นอกจากนี้ การแยกธนาคารพาณิชย์ออกจากกิจกรรมเพื่อการลงทุน จะส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อสาขาของธนาคารขนาดใหญ่ของฝรั่งเศสที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหุ้นวอลสตรีต ซึ่งก็ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าธนาคารสาขาเหล่านี้ทั้งในตลาดนิวยอร์กและตลาดลอนดอน จะสามารถมีชีวิตรอดหากปราศจากแม่ทัพใหญ่ในฝรั่งเศสได้หรือไม่

ยิ่งไปกว่านั้น กฎดังกล่าวยังเป็นเสมือนฝันร้ายของธนาคารในฝรั่งเศส เนื่องจากธนาคารเหล่านี้ยังถือครองหนี้เน่าทั้งในกรีซและสเปนอยู่หลายพันล้านยูโร อีกทั้งยังเป็นการเปิดโปงตัวเลขหนี้ที่มีอยู่เป็นจำนวนมากออกมา ซึ่งก็จะส่งผลให้ในที่สุดแล้วตลาดก็จะตื่นตระหนกต่อตัวเลขที่เผยตัวสู่สาธารณะ

เรียกได้ว่า ชั่วขณะนี้จึงเป็นเวลาสำคัญที่พรรคสังคมนิยมจะต้องตัดสินใจว่าจะเพิ่มภาษีเพื่อนำมาอุดช่องโหว่ของการขาดดุลงบประมาณที่มีอยู่หรือไม่ เพราะต้นทุนที่จะตามมานั้นย่อมส่งผลต่อความเจ็บปวดไม่ต่างไปจากการปล่อยให้ปริมาณหนี้เพิ่มสูงขึ้นเลย

ดังนั้น จึงเป็นเรื่องที่รัฐบาลฝรั่งเศสจะต้องขบคิดอย่างหนักเพื่อตอบโจทย์ปัญหาให้ได้ ก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไป