posttoday

กุนซือหูกระต่ายเสริมนโยบายเศรษฐกิจรัฐบาลปู

09 กรกฎาคม 2555

อย่าแปลกใจหากวันนี้ได้เห็นชื่อ พันศักดิ์ วิญญรัตน์ “กุนซือหูกระต่าย” ขึ้นรั้งตำแหน่งประธานที่ปรึกษานโยบายของนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

โดย...จตุพล สันตะกิจ

อย่าแปลกใจหากวันนี้ได้เห็นชื่อ พันศักดิ์ วิญญรัตน์ “กุนซือหูกระต่าย” ขึ้นรั้งตำแหน่งประธานที่ปรึกษานโยบายของนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เพราะเขาคนนี้เป็นกุนซือคนสำคัญที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เชื่อมืออย่างสูงยิ่ง

แม้แต่ตลอด 1 ปีที่ผ่านมา พันศักดิ์ อยู่หลังม่านการบริหารเศรษฐกิจรัฐบาลยิ่งลักษณ์มาตลอด โดยนั่งร่วมโต๊ะให้คำแนะนำกับทีมเศรษฐกิจเนืองๆ พร้อมๆ กับที่ปรึกษาอื่น เช่น นิพัทธ พุกกะณะสุต “หมอมิ้ง” พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช ภูมิธรรม เวชยชัย ที่ก้าวมาเป็นผู้อำนวยการพรรคเพื่อไทย และบัณฑูร สุภัควณิช สายส่งอินไซด์ข้อมูลเศรษฐกิจให้ “คนไกลบ้าน”

ทั้งนี้ พันศักดิ์เริ่มมีบทบาทจริงจังในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ เมื่อครั้งได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ (กยอ.) ที่มี “โกร่ง” วีรพงษ์ รามางกูร เป็นประธาน

แม้แต่ในช่วงตั้งไข่นโยบายพรรคเพื่อไทย พันศักดิ์ ยังคงทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจให้อดีตนายกฯ คนไกล ทั้งนั่งขบคิดหนทางขับเคลื่อนเศรษฐกิจในแบบที่ตนเองถนัด

นั่นคือการกระตุ้นกำลังซื้อในประเทศ โดยเฉพาะเพิ่มกำลังซื้อให้คนชนบทและภูมิภาค เช่น ชาวนาและแรงงาน ที่เรียกขานว่าทักษิโณมิกส์บ้าง นโยบายเศรษฐกิจคู่ขนานบ้าง แต่ที่คุ้นหูกันดีที่สุดคือ นโยบายประชานิยม

แม้นโยบายมีจุดอ่อนสำคัญคือ การซุกหนี้นอกงบประมาณก้อนโตไว้ใต้พรม เช่น ให้สถาบันการเงินของรัฐ อาทิ ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และเอสเอ็มอีแบงก์ ปล่อยสินเชื่อสนองนโยบายต่างๆ ของรัฐบาล ทั้งมีปัญหาความยั่งยืนของนโยบาย

แต่หลายๆ นโยบายก็มีจุดเด่น มีความแปลกและสดใหม่ในตัว เช่น แปลงสินทรัพย์เป็นทุน แปลง “กระดาษ” เป็นหลักทรัพย์ นโยบายกระตุ้นการสร้างสรรค์เรียนรู้ เช่น อุทยานการเรียนรู้ TK Park ศูนย์สร้างสรรค์ออกแบบ (TCDC) ทั้งหมดอยู่ภายใต้คอนเซปต์สร้างมูลค่า หรือ Value Creation ล้วนที่มาจากมันสมองของพันศักดิ์ทั้งสิ้น

“ซื้อง่าย ขายคล่อง เจ๊งน้อย ใช้ปัญญาผลิต” เป็นนิยามที่พันศักดิ์พูดถึงสินค้าเอสเอ็มอีที่มีศักยภาพบุกตลาดส่งออกเมื่อประมาณปี 2547

อีกนโยบายพันศักดิ์และอดีตนายกฯ ทักษิณ ริเริ่มผลักดันและเห็นผลเป็นรูปธรรมคือ นโยบายเปิดการเสรี (FTA)

กุนซือหูกระต่ายเสริมนโยบายเศรษฐกิจรัฐบาลปู

พร้อมชูภาพลักษณ์ “พ.ต.ท.ทักษิณ” เป็นผู้นำอาเซียน มีการริเริ่มการจัดตั้งกองทุนความริเริ่มเชียงใหม่ ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับกองทุนการเงินระหว่างประเทศของเอเชีย หรือกองทุนไอเอ็มเอฟเอเชีย ควบคู่กับการเป็นวีรบุรุษนำพาประเทศชาติพ้นสัญญาทาสไอเอ็มเอฟ ทั้งเป็นความหวังของคนรากหญ้ายามนั้น

คนใกล้ชิดหรือคนที่สัมผัสกับพันศักดิ์อย่างยาวนานจะพบว่า ไม่เพียงสไตล์การแต่งตัวแบบเสื้อสูทผูกหูกระต่ายเทานั้น แต่สิ่งที่อยู่ข้างกายพันศักดิ์ไม่ห่างนั่นคือ “คอมพิวเตอร์แล็ปท็อป” ที่เป็นประตูเข้าสู่ฐานข้อมูลต่างๆ ในโลกไซเบอร์และนั่นนำไปสู่การสร้างสรรค์ผลิตผลเชิงนโยบายใหม่ๆ

อย่างไรก็ตาม เป็นที่ทราบกันดีว่าเศรษฐกิจยุคทักษิณที่มีพันศักดิ์เป็นกุนซือเติบโตต่อเนื่อง 5-7% นั่นเพราะ “โชคบวกเฮง” คือ เศรษฐกิจโลกเติบโตในอัตราที่สูง ตัวเลขส่งออกขยายตัวเป็นเลข 2 หลักต่อเนื่อง ประกอบกับ “ฝีมือ” การอัดฉีดเงินเข้าระบบกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศอย่างไม่ขาดสาย

แม้ว่านโยบายประชานิยมของรัฐบาลทักษิณจะก่อหนี้สาธารณะของประเทศเพิ่มขึ้น แต่สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีไม่ “โป่งพอง” เพราะหนี้เพิ่มแต่รายได้ประชาชาติก็เพิ่มเช่นกัน

โดยก่อนปี 2540 หนี้สาธารณะต่อจีดีพีอยู่ที่ 32% แต่เมื่อรัฐบาลเข้าไปอุ้มสถาบันเงินหลังวิกฤตปี 2540 เพิ่มเป็น 45% และเพิ่มเป็น 57.11% ช่วงต้นรัฐบาลทักษิณปี 2544 และค่อยลดลงเหลือระดับ 41.29% ในปี 2549 ซึ่งมีการทำรัฐประหารเมื่อเดือน ก.ย.

แต่เมื่อการเมืองเข้าสู่ยุคขัดแย้งและเผชิญกับวิกฤตการเงินโลกปลายปี 2551 ถึง 2552 สัดส่วนหนี้สาธารณะไทยปี 2552-2554 อยู่ที่ระดับเฉลี่ย 44% และเมื่อรัฐบาลยิ่งลักษณ์จำเป็นต้องออก พ.ร.ก.กู้เงินฯ ลงทุนระบบน้ำ การกู้เงินถมนโยบายประชานิยมอื่นๆ เช่น จำนำข้าว และการขาดดุลงบประมาณต่อเนื่องมาแล้ว 6-7 ปี

ส่งผลให้สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีเพิ่มเป็น 48% และมีแนวโน้มแตะระดับ 60% หลัง กิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกฯ และ รมว.คลัง มีแผนออก พ.ร.บ.กู้เงิน 1.6-2 ล้านล้านบาท ลงทุนโครงการสร้างอนาคตประเทศ

ทว่า การกลับเข้ามาเป็นประธานที่ปรึกษานโยบายนายกฯ ของพันศักดิ์วันนี้ มีปัจจัยแตกต่างจากเมื่อหลายปีก่อน

ตั้งแต่เศรษฐกิจโลกที่ป่วยเรื้อรังตั้งแต่วิกฤตซับไพรม์ปี 2551 แม้แต่เศรษฐกิจดาวรุ่งอย่างจีนและอินเดียเริ่มส่งสัญญาณอ่อนแรงหลังเติบโตในอัตราตัวเลข 2 หลักต่อเนื่องมานานนับ 10 ปี

ขณะที่วิกฤตยูโรโซนที่ลุกลามรุนแรงกำลังเป็นภัยคุกคามครั้งใหญ่ต่อเศรษฐกิจทั่วโลก

“การประชุม Euro Summit เป็นก้าวสำคัญในการแก้ปัญหายุโรปในทิศทางที่ถูกต้อง แต่หากยังไม่มีความชัดเจนเรื่อง Fiscal Transfer เพื่อปิดจุดอ่อนระบบเงินตราสกุลเดียว จะกระทบต่อความเชื่อมั่นและพัฒนาเป็นวิกฤตความเชื่อมั่น” สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) วิเคราะห์

แต่ที่สำคัญกว่านั้น งานที่รอให้พันศักดิ์สะสางอยู่นั่นคือ นโยบายประชานิยมที่ย้อนกลับมาทำร้ายเสถียรภาพการเงินการคลังของรัฐบาล เช่น โครงการจำนำข้าว 1.5 หมื่นบาทต่อตัน และมีข้าวสารค้างสต๊อกอยู่ 10 ล้านตัน นโยบายค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาททั่วประเทศ ปรับเพิ่มค่าตอบแทนข้าราชการ 1.5 หมื่นบาทต่อเดือน โครงการพักหนี้ดี 3 ปี ชะลอเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล รัฐสูญเสียรายได้ 9,000 ล้านบาทต่อเดือน และมาตรการลดภาระค่าครองชีพให้ประชาชน

โดยเฉพาะการตั้งรับกับผลกระทบนโยบายค่าจ้างขั้นต่ำที่ปรับเพิ่มค่าจ้างจากอัตราเดิมอย่างน้อย 40% ภายใน 1 ปี แม้ทำให้ขีดความสามารถแข่งขันธุรกิจไทยเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด เพราะบีบให้ธุรกิจและแรงงานต้องรีดประสิทธิภาพการผลิตออกมาอย่างเต็มศักยภาพ

แต่นั่นส่งผลให้เอสเอ็มอีทยอยล้มตายใน 2-3 ปีจากนี้ เช่น หลายประเทศที่มีนโยบายขึ้นค่าจ้างแบบพรวดพราด อาทิ สิงคโปร์ มีเอสเอ็มอีปิดกิจการ 20-30% ขณะที่รัฐบาลสิงคโปร์มีนโยบายสนับสนุน “เงินให้เปล่า” กับบรรดาเอสเอ็มอีที่มีศักยภาพต่างจากไทยที่ใช้วิธีการปล่อย “ซอฟต์โลน” แต่กลับมีข้อจำกัดในเรื่องการเข้าถึงแหล่งเงินทุน

ดังนั้น แม้พันศักดิ์จะเป็นแกนหลักการขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาลยิ่งลักษณ์ และมีมือไม้ระดับแถวสองอย่าง กิตติรัตน์ และปลอดประสพ สุรัสวดี เข้ามาทำงาน รวมทั้งเหล่าบ้านเลขที่ 111 ที่คาดว่าจะเข้ามาเสริมทัพเศรษฐกิจในการปรับ ครม.ครั้งหน้า เช่น วราเทพ รัตนากร

กระทั่งการให้ ดร.โกร่ง เข้ามากำกับดูแลการขับเคลื่อนการลงทุนสร้างอนาคตประเทศครั้งใหญ่ของประเทศ และการก้าวเท้าเข้าไปมีบทบาทในแบงก์ชาติ

“เสถียรภาพของค่าเงินเรื่องสำคัญ แบงก์ชาติก็ทำได้ดีและทำสำเร็จแล้ว ตอนนี้อยากให้ค่อยๆ คิดเรื่องการลดขาดทุนสะสม เพราะฐานะแบงก์ชาติไม่ควรติดลบ การดำเนินการต้องยืดหยุ่นตามสถานการณ์” นั่นเป็นภารกิจแรกที่ วีรพงษ์ มอบนโยบายให้คนแบงก์ชาติเร่งรัดดำเนินการ

การได้ โอฬาร ไชยประวัติ ประธานผู้แทนการค้าไทย มาทำงานเบื้องหลังในการดูแลสินค้าเกษตร เช่น ข้าวเปลือก และยาง โดยมี คณิศ แสงสุพรรณ แห่งสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง เป็นทีมแบ็กอัพข้อมูลอีกชั้น

หรือการมีคนไกลที่ชอบคิด ชอบอ่านให้คำแนะนำนโยบายต่างๆ เช่น ที่ กิตติรัตน์ ระบุว่า

“ก็ปรึกษานายกฯ ทักษิณอยู่ว่า ท่านเห็นวิกฤตยุโรปเป็นอย่างไร มีอะไรที่ผมควรทราบและคิดต่อบ้าง ทุกคนก็รู้ว่านายกฯ ทักษิณมองกว้าง ชอบอ่าน ชอบคิด เราก็ถามนายกฯ ทักษิณ ถ้ามันดีกับงานและดีกับบ้านเมืองก็เป็นเรื่องดี”

นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในมือพันศักดิ์จะราบรื่นสมดั่งใจคิด

เพราะเศรษฐกิจไทยยามนี้นอกจากเผชิญมรสุมวิกฤตเศรษฐกิจโลกแล้ว ยังเผชิญกับภาวะสุ่มเสี่ยงที่เกิดความวุ่นวายการเมืองอีกระลอก พลันที่มีรัฐบาลและพรรคเพื่อไทยเร่งรัดผลักดันร่างกฎหมายแก้ไขรัฐธรรมนูญ และการเสนอร่างกฎหมายปรองดองเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา

เหล่านี้เป็นปัจจัยหรือประเด็นที่สุ่มเสี่ยงต่อการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจ ที่มีผลกระทบต่อเสถียรภาพของรัฐบาล

แน่นอน พันศักดิ์ ทีมเศรษฐกิจรัฐบาลและพรรคเพื่อไทยรับทราบดีอยู่แล้ว และต่างฝ่ายต่างรู้ดีว่าพันศักดิ์อยู่เบื้องหลัง การกุมทิศทางทีมเศรษฐกิจรัฐบาล

แต่การออกมายืน “แถวหน้า” ของพันศักดิ์ยามนี้ นับว่ามีนัยสำคัญอย่างมาก โดยเฉพาะการให้อำนาจปรึกษาแบบครอบจักรวาล จุดประสงค์ก็เพื่อเรียกความเชื่อมั่นจากนักธุรกิจและนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ

เพราะทีมเศรษฐกิจแถวสองของรัฐบาล และแม้แต่ตัว ยิ่งลักษณ์ ไม่อาจเป็นแม่เหล็กดึงดูดความเชื่อมั่นจากภาคธุรกิจได้ อ่อนทั้งประสบการณ์การเมืองและความเจนจัดในด้านเศรษฐกิจ

พันศักดิ์ จึงไม่ต่างกับ “กระดองปู” ที่เข้ามาเสริมภาพลักษณ์ให้ทีมเศรษฐกิจยิ่งลักษณ์ดูดีแข็งแรงขึ้น

แต่โจทย์เศรษฐกิจที่พันศักดิ์ต้องเข้าไปวันนี้ ไม่ได้หมูเหมือนเมื่อครั้งก่อน ที่นโยบายประชานิยมเป็นสินค้าสดใหม่ในตลาดการเมืองไทย