posttoday

ตบแต่งดอกเบี้ย ลงทุนความเสี่ยงสูง ช่องโหว่การเงินที่โลกต้องเร่งอุด

05 กรกฎาคม 2555

วิกฤตการณ์ภาคการเงินในสหรัฐเมื่อปี 2551 หรือวิกฤตซับไพรม์ ที่นำไปสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย

โดย...นันทิยา วรเพชรายุทธ

วิกฤตการณ์ภาคการเงินในสหรัฐเมื่อปี 2551 หรือวิกฤตซับไพรม์ ที่นำไปสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย รัฐบาลอเมริกันต้องนำเงินภาษีประชาชนจำนวนมหาศาลไปอุ้มวอลสตรีต ขณะที่เศรษฐกิจทั่วโลกก็โดนหางเลขไปด้วย จนต้องมีการอัดฉีดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจกันในหลักล้านล้านเหรียญสหรัฐนั้น อาจนับได้ว่าเป็น “วิกฤตศรัทธา” ครั้งเลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์โลกยุคใหม่ต่อระบบการเงินการธนาคารของโลก เมื่อธนาคารระดับยักษ์ใหญ่ทั้งหลายต่างมุ่งทำกำไรโดยไม่ได้อยู่บนพื้นฐานของหลักธรรมาภิบาล

จากเหตุการณ์ในครั้งนั้นผ่านมา 4 ปี ความน่าเชื่อถือของภาคธนาคารต้องถูกสั่นคลอนลงอีกครั้ง จากกรณีที่ บาร์เคลย์ส ธนาคารขนาดใหญ่ที่สุดอันดับ 3 ในอังกฤษ ถูกจับได้ว่ามีการปลอมแปลงรายงานการกำหนดอัตราดอกเบี้ยกู้ยืมระหว่างธนาคาร (ไลบอร์) ระหว่างปี 2548-2552 ซึ่งการสอบสวนยังพบด้วยว่า ยังมีอีกหลายธนาคารที่เข้าข่ายปั้นดอกเบี้ยไลบอร์เหมือนกัน และกำลังเป็นข่าวใหญ่ที่สุดในโลกการเงินฝั่งยุโรปและสหรัฐในขณะนี้

นอกจากเรื่องนี้จะแสดงให้เห็นความผิดซ้ำแล้วซ้ำเล่า ซึ่งบ่อนทำลายความเชื่อมั่นของคนส่วนใหญ่แล้ว ก็ยังแสดงให้เห็นจุดอ่อนที่สำคัญด้วยว่า เศรษฐกิจโลกยังมีความเสี่ยงใหญ่อยู่เสมอในภาคการธนาคาร ทั้งจากการมุ่งทำกำไรโดยไม่อยู่บนพื้นฐานของหลักธรรมาภิบาล เช่น ในกรณีของบาร์เคลย์สในฝั่งอังกฤษ และจากการมุ่งทำกำไรโดยไม่คำนึงถึงความเสี่ยง เช่น ในกรณีของ เจพีมอร์แกน ในฝั่งสหรัฐ

ที่สำคัญนั้น ภาครัฐแทบไม่เคยประสบความสำเร็จในการควบคุมภาคธนาคารให้อยู่ในระเบียบหลักเกณฑ์ได้อย่างแท้จริงเสียที

ในกรณีของบาร์เคลย์สนั้นมีการสอบสวนพบว่า เจ้าหน้าที่บางรายได้ร่วมกันกำหนดและตบแต่งตัวเลขดอกเบี้ยไลบอร์ให้ต่ำกว่าความเป็นจริง เพื่อให้ต้นทุนการกู้ยืมระหว่างธนาคารถูกลง ในช่วงปลายปี 2551 ซึ่งเป็นช่วงเดียวกันกับที่เกิดวิกฤตการณ์ในภาคการเงินฝั่งตะวันตก ที่ทำให้ต้นทุนการกู้ยืมระหว่างธนาคารพุ่งสูงขึ้นมาก จนธนาคารส่วนใหญ่ต่างไร้ทางออกในการทางเพิ่มทุน

ตบแต่งดอกเบี้ย ลงทุนความเสี่ยงสูง ช่องโหว่การเงินที่โลกต้องเร่งอุด

จากรายงานของบาร์เคลย์ล ระบุว่า เจอร์รี เดล มิสซิเออร์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ (ซีโอโอ) ในขณะนั้น ได้สั่งให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายให้ข้อมูลดอกเบี้ยไลบอร์ กดอัตราดอกเบี้ยลงให้ต่ำกว่าความเป็นจริงในช่วงปลายเดือน ต.ค. 2551 ซึ่งเป็นที่คาดว่ามีอีกหลายธนาคารที่ใช้วิธีเดียวกัน โดยกำลังมีการสอบสวนกรณีเดียวกันนี้ในอีก 16 ธนาคารทั้งในอังกฤษ ยุโรป สหรัฐ แคนาดา ญี่ปุ่น และสิงคโปร์

เพราะหากยังจำกันได้ ช่วงวิกฤตการณ์ทางการเงินหลังการล่มสลายของเลห์แมน บราเธอร์ส วาณิชธนกิจอันดับ 4 ของโลกในขณะนั้น ได้นำไปสู่ความวุ่นวายของธนาคารพาณิชย์ทั่วโลกครั้งใหญ่ เนื่องจากการขาดทุนในซับไพรม์ และความเสี่ยงนี่เองที่ทำให้ต้นทุนการกู้ยืมระหว่างธนาคารพุ่งสูงขึ้น หลายธนาคารไม่สามารถเพิ่มทุนตามวิธีปกติได้ จนต้องก้มหน้าขอรับเงิน (ภาษี) ช่วยเหลือจากรัฐบาล โดยเฉพาะธนาคารในฝั่งสหรัฐและอังกฤษ

วอลสตรีต เจอร์นัล เคยรายงานผลการศึกษาไว้เมื่อปี 2551 ว่า ธนาคารต่างๆ อาจรายงานดอกเบี้ยไลบอร์ในช่วงนั้นต่ำกว่าเป็นจริง ทั้งเพื่อประโยชน์ในการกู้ยืมที่ถูกลง ทว่าในครั้งนั้น บ็อบ ไดมอนด์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ของบาร์เคลย์ส ได้ปฏิเสธว่าไม่มีมูลความจริง

ก่อนที่อีก 4 ปีให้หลัง ไดมอนด์จะต้องยอมจ่ายค่าปรับ 450 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 1.39 หมื่นล้านบาท) พร้อมลาออกเพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อสิ่งที่เคยเป็นข่าวเมื่อ 4 ปีก่อน

ปัญหาในกรณีของบาร์เคลย์สนั้น ไม่ได้อยู่ที่เพียงการขาดความโปร่งใสในการทำธุรกิจ ซึ่งยังไม่ทราบว่าเกิดจากเทรดเดอร์เพียงไม่กี่คน หรือมาจากการสั่งการของฝ่ายบริหารระดับสูงเท่านั้น แต่ประเด็นสำคัญและเป็นจุดอ่อนที่สุดในภาคการธนาคารที่ทำให้เศรษฐกิจโลกเสี่ยงไปด้วยก็คือ ภาครัฐไม่สามารถกำกับดูแลหรือมีบทลงโทษที่จริงจังต่อภาคธนาคารมากเพียงพอ

การปรับเป็นเงิน 450 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 1.39 หมื่นล้านบาท) โดยคณะกรรมการกำกับดูแลกิจการทางการเงิน (เอสเอสเอ) นั้น เทียบไม่ได้เลยกับผลกำไรที่ธนาคารขนาดใหญ่สามารถทำได้ในแต่ละไตรมาส และยังไม่เป็นที่ชัดเจนด้วยว่า จะมีการสั่งดำเนินคดีอาญากับเทรดเดอร์และผู้ที่เกี่ยวข้องด้วยหรือไม่ เนื่องจากต้องเป็นการพิจารณาของอีกหน่วยงาน หรือสำนักงานเรื่องการฉ้อโกงร้ายแรง (เอสเอฟโอ) ซึ่งมีหน้าที่ประเมินการสั่งฟ้องคดีอาญาในอังกฤษ และถึงแม้จะสั่งฟ้องก็ไม่แน่ว่าอาจสาวไปได้ไม่มากนัก

หนังสือพิมพ์เดอะ เทเลกราฟ ในอังกฤษ ระบุว่า ความล้มเหลวด้านการกำกับดูแลภาคธนาคาร ถือเป็นส่วนสำคัญของกรณีฉาวในบาร์เคลย์ส ซึ่งภาครัฐนั้นขาดการตรวจสอบดูแลที่ดีพอ

ประเด็นหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นว่าการควบคุมดูแลภาคการเงินให้อยู่ในกฎระเบียบที่เข้มงวดขึ้น เป็นเรื่องที่ยากลำบากเพียงใดนั้น อาจต้องดูตัวอย่างในสหรัฐ ซึ่งถือเป็นกรณีตัวอย่างของความล้มเหลวมาแล้วเมื่อ 4 ปีก่อน ทว่ายังไม่สามารถดำเนินการล้อมกรอบวอลสตรีต ไม่ให้ลงทุนภายใต้ความเสี่ยงที่สูงเกินไปได้

ปัจจุบันสหรัฐมีการผ่านกฎหมายปฏิรูปการเงิน ดอดด์แฟรงก์ ซึ่งประธานาธิบดี บารัก โอบามา ได้ลงนามไปเมื่อปี 2553 ทว่ายังเป็นเพียงบทกฎหมายกว้างๆ ซึ่งยังขาดรายละเอียดที่จะนำไปปรับใช้จริงอยู่มาก โดยมีรายงานว่าในช่วง 2 ปีมานี้ มีการเขียนรายละเอียดไปได้เพียง 36% ของข้อกฎหมายราว 400 ข้อ

รายงานของสื่อหลายสำนักล้วนระบุตรงกันว่า ข้อกฎหมายที่ใช้ชื่อว่า “โวลค์เกอร์ รูล” ซึ่งจำกัดความเสี่ยงในการลงทุนของธนาคารและบริษัทการเงินต่างๆ ด้วยการห้ามธนาคารใช้เข้าไปเก็งกำไรซื้อขายหลักทรัพย์ให้ธนาคารเอง เพราะเกรงว่าอาจสร้างความเสียหายต่อระบบการเงินอย่างหนักหากขาดทุน จนรัฐบาลต้องเข้าไปอุ้มเป็นครั้งที่ 2 นั้น นับเป็นกฎที่มีการต่อสู้ล็อบบี้ไม่ให้ผ่านเป็นกฎหมายออกมามากที่สุด เพราะปัจจุบันธนาคารต่างๆ หันมาทำกำไรด้วยการเก็งกำไรความเสี่ยงสูงกันมากขึ้น แทนที่การหารายได้จากค่าธรรมเนียมหรือการฝากถอนตามปกติ

กรณีนี้เพิ่งเป็นข่าวให้เห็นเมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา กับธนาคารเจพีมอร์แกน ซึ่งเป็นธนาคารขนาดใหญ่ที่สุดในสหรัฐ ที่ประกาศการขาดทุนไปอย่างต่ำถึง 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 6 หมื่นล้านบาท) เนื่องจากเกิดความผิดพลาดในการลงทุนความเสี่ยงสูง

ทว่า แม้จะเกิดกรณีขาดทุนครั้งใหญ่ให้เห็นเป็นตัวอย่างแล้ว ก็ยังมีรายงานว่า ภาคธนาคารในสหรัฐยังคงเดินหน้าต่อต้านแผนโวลค์เกอร์อย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางการจับตาของทั่วโลกว่า สหรัฐจะเป็นตัวอย่างในการออกกฎควบคุมความเสี่ยงของภาคการเงินการธนาคารได้อย่างแท้จริงหรือไม่ ซึ่งหากสามารถทำได้จริง ก็จะถือเป็นการยกเครื่องภาคการเงินครั้งใหญ่ที่เป็นพลังให้ทั่วโลกทำตามได้ เช่น ที่สหภาพยุโรปกำลังจะพิจารณาเพิ่มความเข้มงวดในระบบการสอดส่องดูแลภาคการเงิน หลังมีกรณีของบาร์เคลย์ส

ทว่า หากไม่สามารถทำได้จริง ภาครัฐอาจพลาดโอกาสครั้งใหญ่ที่จะยกเครื่องตรวจสอบดูแลธรรมาภิบาลในการเงินให้มากขึ้น และเศรษฐกิจโลกไม่อาจหนีพ้นความเสี่ยงเดิมๆ ที่เคยเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า