posttoday

เดิมพันป้องกันน้ำท่วม 'เอาไม่อยู่' รัฐบาลปู 'อายุสั้น'

05 กรกฎาคม 2555

ออกอาการปรี๊ดแตกกลางวงคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี หยิบยกการลงทุนระบบป้องกันน้ำท่วมและอุทกภัย

โดย...จตุพล สันตะกิจ

ออกอาการปรี๊ดแตกกลางวงคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี หยิบยกการลงทุนระบบป้องกันน้ำท่วมและอุทกภัย ที่ได้รับรายงานว่าล่าช้ากว่าแผนมาก

ทั้งๆ ที่รัฐบาลอนุมัติโครงการและจัดสรรงบลงทุนน้ำไปทั้งหมดแล้ว

“ถ้ายังล่าช้ากันอย่างนี้ คงต้องไปนั่งสั่งการที่ตึกแดง (สำนักงานนโยบายและบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ หรือ สบอช.) เอง” ยิ่งลักษณ์ ระบุ และสั่งเรียกประชุมรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องช่วงเย็นทันที ใช้เวลาประชุม 2 ชั่วโมงครึ่ง

การลงทุนระบบป้องกันน้ำท่วมได้รับการจัดสรรงบกลางปี 2555 เป็นวงเงิน 1.2 แสนล้านบาท และได้รับการจัดสรรเงินจาก พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินลงทุนระบบน้ำ 3.5 แสนล้านบาท ที่จัดสรรเงินแล้ว 4 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็นเงินกว่า 1.6 แสนล้านบาท

ทั้งนี้ การลงทุนระบบป้องกันน้ำท่วมปี 2555 แบ่งเป็น 3 โซน ได้แก่ โซนต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ กำหนดพื้นที่โครงการชัดเจน มีกำหนดเวลาเสร็จสรรพว่าการลงทุนโซนต้นน้ำต้องเสร็จในเดือน มิ.ย. โซนกลางน้ำแล้วเสร็จเดือน ก.ค. และโซนปลายน้ำต้องแล้วเสร็จภายในสิ้นเดือน ส.ค.นี้

“ระบบป้องกันน้ำท่วมต้องแล้วเสร็จก่อนน้ำมา” เป็นคำพูดที่ยิ่งลักษณ์ย้ำในที่ประชุม ครม.อย่างต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 6-7 สัปดาห์ พร้อมทั้งกำชับให้ผู้ว่าราชการจังหวัด หัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้องต้องรายงานข้อมูลความคืบหน้าผ่านเว็บไซต์ www.pmocfiood.com ทุกระยะ

แต่คำสั่งการของผู้นำประเทศแทบไม่ต่างกับการ “สั่งน้ำมูก” ฝ่ายปฏิบัติแทบไม่มีใครแอ็กชันตามความปรารถนาของนายกฯ แม้แต่การทัวร์ลุ่มน้ำ 2 ครั้ง 2 คราที่ยิ่งลักษณ์ลงทุนคลุกพื้นที่ด้วยตัวเอง

แต่ไม่สามารถกระตุ้นการลงทุนระบบป้องน้ำท่วมอย่างที่หวังไว้

นั่นเป็นที่มาของอาการ “ปรอทแตก” กระทั่งนายกฯ สั่งเรียกประชุมเรื่องน้ำวันพฤหัสบดีของทุกสัปดาห์เร่งรัดเรื่องนี้

เดิมพันป้องกันน้ำท่วม 'เอาไม่อยู่' รัฐบาลปู 'อายุสั้น'

 

อย่าลืมว่า วันนี้นายกฯ ยิ่งลักษณ์ กุมบังเหียนรัฐบาลมาเกือบ 1 ปีเต็มแล้ว แม้เป็นการทำงานตามบทที่มีผู้กำกับบทอยู่เบื้องหลังก็ตาม แต่ต้องถือว่านายกฯ ยิ่งลักษณ์ เริ่มชินกับการใช้ “อำนาจ” มีความมั่นใจและ “กล้าตัดสินใจ” ตามความคิดความเห็นของตัวเองมากขึ้น

ที่สำคัญนายกฯ ยิ่งลักษณ์ เจ้าของวาทะ “เอาอยู่” คงไม่ต้องการให้เหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ปลายปี 2554 ย้อนกลับมาเป็นประวัติศาสตร์ซ้ำรอยแน่

แม้วาทะดังกล่าวจะมีที่มาที่ไป

“ที่นายกฯ ยิ่งลักษณ์ พูดว่าเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งที่แล้วเอาอยู่ ไม่ใช่ว่านายกฯ ไม่รู้ข้อมูล แต่ถ้าบอกว่าเอาไม่อยู่สิ คนได้แห่หนีออกจากเมืองกันหมด เกิดความโกลาหลยกใหญ่ นายกฯ รู้แต่พูดไม่ได้ เพราะพายุมันมาถี่ขนาดนั้น แถมน้ำยังเก็บไว้เต็มเขื่อน” แหล่งข่าวที่ทำงานใกล้ชิดนายกฯ ระบุ

หากน้ำท่วมเกิดซ้ำอีก คงไม่ใช่แค่เรื่องความเสื่อมศรัทธาของ “มวลชน” ที่มีต่อนายกฯ และรัฐบาลเท่านั้น แต่ยังหมายถึงเสถียรภาพของรัฐบาลเพื่อไทยด้วย

หากมองในแง่เศรษฐกิจบ้าง หัวเรือใหญ่อย่าง กิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกฯ และ รมว.คลัง ยืนยันเพียงคำเดียวว่า ปีนี้น้ำต้องไม่ท่วม และไม่มีคำอื่นจะบอกกับนักลงทุน ถ้าบอกว่าน้ำอาจท่วม แล้วนักลงทุนจะเชื่อมั่นได้อย่างไร และต้องทำให้นักลงทุนเห็นด้วยว่าเราได้ทำแล้ว เช่น การลงทุนสร้างเขื่อนกั้นนิคมอุตสาหกรรม 6 แห่ง

“ถ้าครั้งนี้น้ำท่วมอีก คงไม่มีใครให้อภัย” กิตติรัตน์ ย้ำถึงความรับผิดชอบทางการเมือง

แต่นั่นยังไม่เท่ากับความรับผิดชอบทางกฎหมายต่อรัฐสภาและศาลรัฐธรรมนูญ เพราะรัฐบาลให้เหตุผลในการออก พ.ร.ก.กู้เงิน 3.5 แสนล้านบาท พ่วง พ.ร.ก.โอนหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ 1.14 ล้านล้านบาท ให้แบงก์ชาติว่า เป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องทำวันนี้ ไม่ให้เกิดความเสียหายซ้ำรอยน้ำท่วมที่ครั้งนั้นสร้างมูลค่าความเสียหายสูงถึง 1.42 ล้านล้านบาท

หากรัฐบาล “เอาไม่อยู่” นั่นหมายว่าอายุรัฐบาลต้องสั้นลงอย่างไม่ต้องสงสัย

ในขณะที่วันวาน ปลอดประสพ สุรัสวดี รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และประธานคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) แถลงผลการหารือเรื่องน้ำกับนายกฯ แล้ว ได้ข้อสรุปว่า การลงทุนเร่งด่วน 4 หมื่นล้านบาท โดยเฉพาะการลงทุนป้องกันพื้นที่สำคัญและพื้นที่เศรษฐกิจจะแล้วเสร็จภายใน 7-15 วัน

เช่น การสร้างฝายต้นน้ำ 2,000 แห่ง การจัดหาพื้นที่รับน้ำ 2.1 ล้านไร่ ที่ทำเสร็จแล้ว การพร่องน้ำจากเขื่อนภูมิพลและสิริกิติ์ 5,000 ล้านลูกบาศก์เมตร การซ่อมประตูระบายน้ำหลักที่เสียหาย สร้างแนวคันดินริมแม่น้ำเจ้าพระยา และเร่งระดมผู้รับเหมา 120 ราย เร่งเสริมความสูงของถนนปิดล้อมพื้นที่สำคัญระยะทาง 500 กิโลเมตร

“รมช.ชัชชาติ (สุทธิพันธุ์ รมช.คมนาคม) รับปากว่า การเสริมถนนปิดล้อมพื้นที่สำคัญจะแล้วเสร็จใน 15 วัน” ปลอดประสพ กล่าว พร้อมยืนยันว่า โครงการป้องกันน้ำท่วมระยะเร่งด่วนภาพรวมเสร็จแล้ว 70-80% ปีนี้น้ำไม่ท่วมแน่

ปลอดประสพ ระบุว่า งานที่ต้องถือว่าล่าช้ามาก และนายกฯ ต้องการเร่งรัด คือ การปลูกหญ้าแฝก ขุดลอกคูคลองในกรุงเทพฯ แก้ปัญหาบุกรุกลำคลอง และขุดลอกคูคลองแหล่งน้ำสาธารณะ

โดยเฉพาะการขุดลอกคูคลองในกรุงเทพฯ ปลอดประสพถึงกับระบุว่า “คนที่ขึ้นรูปอยู่บนป้ายไม่เห็นลงมาขุดสักที แต่ถ้าขุดก็เอางบคืนมา”

เรียกว่าฟาดงวงฟาดงาไม่เลือกหน้าตามประสาคน “ต่างพรรค”

แต่หากจะว่ากันถึงเนื้อในจริงๆ ที่ว่าเหตุใดงานก่อสร้างระบบป้องกันน้ำท่วมและการขุดลอกต่างๆ ไม่คืบหน้า ส่วนหนึ่งมาจากกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างก็ว่าได้ เพราะเดิมการประมูลจัดซื้อจัดจ้างอยู่ “ส่วนกลาง” แต่รัฐบาลเกรงว่าจะไม่ทันการณ์จึงให้จังหวัด โดย “ผู้ว่าราชการจังหวัด” รับผิดชอบในการประมูลจัดซื้อจัดจ้าง และรับผิดชอบหากไม่โปร่งใส

กลับกลายเป็นว่า โครงการและเงินที่ลงไปกลับไม่ก่อร่างสร้างเป็นฝาย เป็นเขื่อน เป็นคู และเป็นคันกั้นน้ำ ถูกอ้างถึงความไม่พร้อมสารพัด เช่นอ้างว่า คนไม่พร้อมบ้าง ซึ่งนายกฯ ก็ช่วยแก้ปัญหาให้โดยขอความร่วมมือจากกองทัพให้ส่ง “ทหาร” เข้าไปลงแรง

และว่ากันว่าเหตุที่โครงการล่าช้าอีกสาเหตุหนึ่งเป็น เพราะผู้ว่าฯ และเครือข่ายผู้รับเหมาแต่ละจังหวัดตกลงกันไม่ได้ว่า โครงการนั้นโครงการนี้จะเป็นของใคร

หลายโครงการในความรับผิดชอบของจังหวัด จึง “คาราคาซัง” จนถึงบัดนี้

นอกจากนี้ การที่ปลอดประสพเพิ่งได้รับมอบ “ดาบอาญาสิทธิ์” ในการจัดการลงทุนป้องกันน้ำท่วมเบ็ดเสร็จ

ได้แก่ 1.ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการบริหารโครงการและการจ่ายเงินกู้เพื่อการวางระบบบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศฉบับใหม่ที่ให้อำนาจ “กบอ.” ประมูลจัดซื้อจัดจ้างโครงการลงทุนน้ำด้วย “วิธีพิเศษ” ได้

และ 2.ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยแห่งชาติฉบับใหม่ ที่กำหนดให้ กบอ.มีอำนาจเสนอโครงการลงทุนระบบน้ำต่อ ครม. ไม่ว่าโครงการนั้นจะอยู่ในแผนลงทุนน้ำเดิมหรือไม่ก็ตาม และไม่จำเป็นต้องเสนอคณะกรรมการนโยบายน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ (กนอช.) กรองซ้ำ

แม้นั่นอาจเท่ากับทำให้แผนงานและโครงการที่คณะกรรมการคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.) ใช้เวลาคิดนานกว่า 2 เดือน อาจต้อง “ขึ้นหิ้ง” ก็ได้ หากมีผู้เสนอโครงการลงทุนที่ดีกว่า

การรับมือน้ำหลากปีนี้ จะเป็นเดิมพันใหญ่ยิ่งของรัฐบาลเพื่อไทย