posttoday

ลงดาบเศรษฐกิจด้านมืดอิทธพลจีนที่ต้องระวัง

29 มิถุนายน 2555

สิ่งหนึ่งที่ต้องยอมรับเมื่อได้เหลียวมองเศรษฐกิจโลกในปัจจุบันคือ จีนได้ผงาดขึ้นมาเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอย่างแท้จริงแล้วในวันนี้

โดย...ณัฐสุดา จิตตปาลพงศ์

สิ่งหนึ่งที่ต้องยอมรับเมื่อได้เหลียวมองเศรษฐกิจโลกในปัจจุบันคือ จีนได้ผงาดขึ้นมาเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอย่างแท้จริงแล้วในวันนี้

เพราะต้องไม่ลืมว่า ท่ามกลางการเผชิญมรสุมเศรษฐกิจของบรรดาชาติตะวันตก โดยเฉพาะอย่างยิ่งสหรัฐและยุโรปในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจแดนมังกรกลับเติบโตอย่างแข็งแกร่ง โดยมีอัตราการเติบโตที่สูงเกินระดับ 8% มาโดยตลอด

จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่บรรดานักวิเคราะห์จะพร้อมใจกันยกให้จีนจ่อแซงหน้าสหรัฐ ก้าวขึ้นเป็นเศรษฐกิจขนาดใหญ่อันดับหนึ่งของโลกภายในช่วงเวลา 5 ปีข้างหน้านี้ โดยผลการศึกษาล่าสุดของสำนักวิจัยพิวของสหรัฐ ซึ่งระบุว่า ประชาชนส่วนใหญ่จาก 20 ประเทศทั่วโลก มองว่า จีนคืออำนาจทางเศรษฐกิจโลก ในปัจจุบันก็สามารถตอกย้ำสิ่งนี้ได้เป็นอย่างดี

แม้การเป็นมหาอำนาจของจีนจะเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจที่กำลังรุมเร้ายุโรปและสหรัฐอย่างหนักในปัจจุบัน เนื่องจากนานาประเทศต่างคาดหวังให้จีนสวมบทพระเอกขี่ม้าขาวเพื่อช่วยกอบกู้เศรษฐกิจโลกอีกครั้งดังเช่นเมื่อครั้งเกิดวิกฤตเศรษฐกิจสหรัฐเมื่อปี 2551

ทว่า อำนาจที่เพิ่มมากขึ้นนั้นประกอบกับการเป็นที่พึ่งของเศรษฐกิจทั่วโลก ซึ่งต่างหวังพึ่งพาพลังผู้บริโภคอันมหาศาลจากแดนมังกร ก็หมายความว่า จีนย่อมไม่เกรงกลัว ไม่ยอมใคร และพร้อมที่จะใช้อำนาจทางเศรษฐกิจอย่างชาญฉลาดเป็นเครื่องมือตอบโต้ชาติปรปักษ์ในทันทีเช่นกัน

เพราะนับตั้งแต่ประธานาธิบดี หูจิ่นเทาขึ้นนั่งเก้าอี้ผู้นำประเทศเมื่อปี 2545 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เศรษฐกิจจีนขยายตัวอย่างรวดเร็วนั้น จีนก็ได้ปรับเปลี่ยนนโยบาย โดยจากเดิมที่เคย “โลว์ โปรไฟล์” ก็หันมามีบทบาทในเวทีโลกมากขึ้นด้วยการใช้อำนาจทางเศรษฐกิจในการแผ่ขยายอำนาจ


“เราจะตอบโต้ทุกประเทศที่มารุกล้ำความมั่นคงหรือผลประโยชน์ของชาติ” นายทหารระดับสูงคนหนึ่งของจีนเคยประกาศระหว่างให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวซินหัว

หรือถ้าจะพูดให้เข้าใจง่ายก็คือ จีนกำลังขีดเส้นแดงล้อมรอบผลประโยชน์ของประเทศและหากต่างชาติล้ำเส้นเข้ามาก็จะถูกตอบโต้ด้านทหารหรือด้วยกลวิธีโหดร้ายอื่นๆ ในทันที

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดก็คือ การแผ่ขยายอิทธิพลของจีนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แข่งกับสหรัฐ ที่เพิ่งตัดสินใจปรับเปลี่ยนกลยุทธ์มายังภูมิภาคอาเซียนหลังห่างหายไปนานถึงกว่าทศวรรษ

จีน คือ คู่ค้าสำคัญของภูมิภาคอาเซียนถึงขนาดที่สภาส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศของจีน (ซีซีพีไอที) เคยออกมาฟันธงว่า ใน 3 ปีข้างหน้านี้ มูลค่าการค้าระหว่างจีนกับอาเซียนจะพุ่งทะลุ 3.49 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 1.047 ล้านล้านบาท) หรือสูงที่สุดในบรรดาคู่ค้าทั้งหมดของจีน

ขณะเดียวกัน บรรดาประเทศในอาเซียนก็ต้องหวังพึ่งพลังผู้บริโภคมหาศาลของจีนเช่นกัน ในฐานะตลาดส่งออกรายใหญ่ ซึ่งถือเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญ

ดังนั้น หากจีนคิดจะ “ลงดาบ” ชาติใดที่แสดงท่าทีไม่เป็นมิตรกับแดนมังกรก็ย่อมสามารถทำได้ไม่ยาก

ลงดาบเศรษฐกิจด้านมืดอิทธพลจีนที่ต้องระวัง

 

ยกตัวอย่างเช่น ประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งที่ผ่านมางัดข้อกับจีนในประเด็นข้อพิพาททะเลจีนใต้จนนำไปสู่เหตุตึงเครียดหลายต่อหลายครั้ง ก็ต้องเจ็บตัวอย่างหนักหลังจีนตัดสินใจสั่งระงับการนำเข้ากล้วย ซึ่งถือเป็นสินค้าส่งออกหลักจากฟิลิปปินส์

ต้องไม่ลืมว่า แม้จีนจะไม่ใช่ผู้นำเข้ากล้วยรายใหญ่สุดจากฟิลิปปินส์ ทว่าจำนวนประชากรที่กำลังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของจีนก็ได้ส่งผลให้แดนมังกรกลายเป็นตลาดส่งออกที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งเลยทีเดียว โดยทางการฟิลิปปินส์คาดว่า ปริมาณนำเข้ากล้วยของจีนจะขยายตัวเกือบเท่าตัวภายในปีนี้


“เราคือผู้ที่ได้รับความเสียหาย” สตีเฟนแอนทีก จากสมาคมผู้ส่งออกกล้วยฟิลิปปินส์ กล่าว โดยย้ำว่าประชาชนมากถึง 2 แสนคนจะได้รับผลกระทบอย่างหนักหากจีนยังคงระงับการนำเข้ากล้วยหอมจากฟิลิปปินส์

เท่านั้นยังไม่พอ จีนยังสั่งให้บริษัทท่องเที่ยวพาชาวจีนไปท่องเที่ยวในฟิลิปปินส์น้อยลงซึ่งแน่นอนว่าส่งผลกระทบอย่างหนักต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวของประเทศ


“สิ่งที่พวกเขาทำนั้นไม่ถูกต้องเลย เพราะพวกเขากำลังกล่าวหาว่าชาวฟิลิปปินส์ไม่ชอบคนจีน” ประธานาธิบดี เบนิญโญ อาควิโน ของฟิลิปปินส์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลฟิลิปปินส์ก็ยังไม่เคยออกโรงโจมตีจีนโดยตรง ซึ่งหลายฝ่ายมองว่า เป็นเครื่องพิสูจน์ว่าจีนยังคงเป็นที่เกรงกลัวในภูมิภาคอาเซียน

ด้าน เวียดนาม เอง ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งประเทศที่กำลังขัดแย้งกับจีนในประเด็นข้อพิพาททะเลจีนใต้ ก็เคยตกเป็นเหยื่อของอิทธิพลจีนมาเช่นกัน

ในปัจจุบันนั้น เวียดนามกำลังถูกกดดันจากจีนให้ยกเลิกข้อตกลงสำรวจน้ำมันร่วมกับอินเดีย ซึ่งหลายฝ่ายมองว่าเวียดนามอาจไม่มีทางเลือกมากนัก เนื่องจากหากไม่ยอมอ่อนข้อให้จีนต่อกรณีข้อพิพาทในทะเลจีนใต้ เวียดนามก็อาจต้องเผชิญกับบทลงโทษทางเศรษฐกิจดังเช่นที่ฟิลิปปินส์ต้องเผชิญ


“ต้องลุ้นกันต่อไปว่า หากชาติอื่นๆ เริ่มขัดใจจีน ถ่านหินของอินโดนีเซีย ไม้ของมาเลเซียรวมทั้งสินค้าส่งออกหลักของชาติอาเซียนอื่นๆ จะตกเป็นเหยื่อรายถัดไปต่อจากกล้วยของฟิลิปปินส์หรือไม่” หนังสือพิมพ์จาการ์ตาโกลบของอินโดนีเซีย ระบุ

เรียกได้ว่า ชาติอาเซียนชาติใดที่คิดจะท้าทายอำนาจของจีนก็เสี่ยงถูกจีนสั่งสอนในทันที


“จีนปฏิเสธมาโดยตลอดว่า ไม่เคยนำเรื่องการเมืองมาปะปนกับเรื่องเศรษฐกิจ แต่การกระทำที่ผ่านมาของจีนก็บ่งชี้อย่างชัดเจนว่าจีนใช้อิทธิพลทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการค้าเพื่อลงโทษประเทศที่ขัดแย้งด้วย” แอนดริว ฮิกเกนส์นักเขียนของวอชิงตัน โพสต์ กล่าว

ความเห็นดังกล่าวสอดคล้องกับความเห็นของนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยเกิร์ตติงเงินของเยอรมนี ซึ่งระบุว่า นโยบายต่างประเทศของจีนเกี่ยวข้องโดยตรงกับการค้า

หรือถ้าจะพูดให้เข้าใจง่ายก็คือ“จีนกำลังใช้การค้าเป็นเครื่องมือด้านนโยบายต่างประเทศ”


ยิ่งไปกว่านั้นก็คือ ไม่เพียงแต่จีนจะใช้อำนาจและอิทธิพลทางเศรษฐกิจข่มชาติขนาดเล็กในอาเซียนแล้ว แต่ยังกล้าเบ่งกล้ามอวดศักดากับชาติมหาอำนาจอื่นๆ ที่ขัดใจและรุกล้ำผลประโยชน์จีนอีกด้วย

ไล่เรียงตั้งแต่ ญี่ปุ่น ซึ่งเมื่อปี 2553 ถูกแดนมังกรลงดาบด้วยการระงับการส่งออกแร่ธาตุหายาก (แรร์ เอิร์ธ) ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตสินค้าเทคโนโลยีไฮเทคต่างๆ ที่บรรดาชาติอุตสาหกรรมทั่วโลกต่างพึ่งพาไปยังญี่ปุ่น เพื่อเป็นการตอบโต้ญี่ปุ่นที่จับกุมชาวประมงจีนหลังเกิดเหตุข้อพิพาทเกาะเตียวหยู ซึ่งเป็นเกาะที่ทั้งสองประเทศอ้างกรรมสิทธิ์เหนือ

เช่นเดียวกับการจำกัดการส่งออกแร่หายากไปยังสหรัฐและหลายชาติยุโรปของจีน ซึ่งแม้รัฐบาลแดนมังกรจะอ้างเหตุผลด้านสิ่งแวดล้อม เนื่องจากอุตสาหกรรมแร่ธาตุหายากนั้นสร้างมลภาวะให้กับสิ่งแวดล้อม ทว่าทุกฝ่ายก็ทราบดีว่าจีนต้องการกั๊กแร่ธาตุหายากเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับอุตสาหกรรมภายในประเทศนั่นเอง

ความเคลื่อนไหวดังกล่าวของจีน ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อหลายประเทศจนบีบบังคับให้สหรัฐ ญี่ปุ่น และยุโรป ตัดสินใจผนึกกำลังร่วมฟ้องจีนต่อองค์การการค้าโลก (ดับเบิลยูทีโอ) ในที่สุด

หรือถ้าจะพูดให้เข้าใจง่ายก็คือ จีน ซึ่งเป็นผู้ผลิตแร่หายากรายใหญ่สุดของโลก โดยผลิตกว่า 97% ของปริมาณแร่หายากทั้งหมด ยอมใช้ “วิธีที่ไม่สะอาด” เพื่อรักษาผลประโยชน์ส่วนตัว

หรือจะเป็นนอร์เวย์ ซึ่งเมื่อปลายปี 2553 อุตสาหกรรมปลาแซลมอนของประเทศได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการที่จีนสั่งเบรกนำเข้าปลาอย่างกะทันหัน หลังคณะกรรมการรางวัลโนเบล ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกปีที่ประเทศนอร์เวย์ ตัดสินใจมอบรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพให้ หลิวเสี่ยวปัว นักเคลื่อนไหวสิทธิมนุษยชน ซึ่งต่อต้านรัฐบาลจีน ขณะที่ยอดนำเข้าปลาแซลมอนจากชาติอื่นของจีนกลับพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว

นอกจากนี้ จากข้อมูลการศึกษาของมหาวิทยาลัยเกิร์ตติงเงินของเยอรมนี ซึ่งทำการศึกษาปริมาณการค้าระหว่างจีนกับประเทศคู่ค้าสำคัญระหว่างปี 2534-2551 พบว่า ยอดส่งออกสินค้าไปยังจีนของประเทศที่เคยให้การต้อนรับองค์ดาไล ลามะ ผู้นำแห่งจิตวิญญาณของทิเบต และศัตรูหมายเลขหนึ่งของจีน ซึ่งถูกจีนกล่าวหาว่าพยายามปลุกระดมให้เกิดการแยกทิเบตออกจากจีนนั้น ดิ่งลงถึง 8.1-16.9% เลยทีเดียว

ดังนั้น เห็นได้ชัดว่าอำนาจทางเศรษฐกิจอันมหาศาลของจีนส่งผลให้ประเทศใดก็ตาม ไม่ว่าจะมีขนาดเล็กหรือใหญ่ ที่คิดจะท้าทายจีน ในที่สุดก็จะต้องพ่ายแพ้อยู่ดี

ซึ่งสิ่งที่น่ากังวลมากที่สุดก็คือ... จีนตระหนักดีแล้วว่ามีอำนาจมากเพียงใด และจีนก็ใช้อำนาจเป็นเสียด้วย!