posttoday

เอกชนบักโกรกรัฐไม่ยื่นมือช่วยแก้วิกฤต

29 มิถุนายน 2555

ยิ่งนานวันยิ่งอาการสาหัสสำหรับผู้ประกอบการไทย ไม่ว่ารายเล็ก รายใหญ่

โดย...เกียรติศักดิ์ ผิวเกลี้ยง

ยิ่งนานวันยิ่งอาการสาหัสสำหรับผู้ประกอบการไทย ไม่ว่ารายเล็ก รายใหญ่

ปลายปีที่ผ่านมาเจอพิษน้ำท่วมทำเสียหายหนัก ทั้งทรัพย์สิน เครื่องจักร การผลิตเป็นอัมพาต ทำรายได้หายกำไรหด บางรายกลับมาเดินหน้าผลิตใหม่ได้ บางรายยังไม่หายบาดเจ็บ

มาถึงเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา ยังเจอพิษนโยบายค่าแรง 300 บาท ที่นำร่อง 7 จังหวัด ทำให้ต้นทุนผู้ประกอบการบานเบอะมากขึ้นไปอีก เพราะการเพิ่มค่าแรงครั้งนี้เป็นการเพิ่มขึ้นถึง 40% จากราคาค่าจ้างเดิม

ยังไม่รวมกับต้นทุนด้านอื่น โดยเฉพาะราคาน้ำมันที่ปรับตัวขึ้นมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปีซึ่งเป็นต้นทุนที่สำคัญอีกตัวหนึ่งของการผลิต แต่ยังโชคดีที่ในช่วงเดือนที่ผ่านมา ราคาน้ำมันทรงตัวและเริ่มลดลงอย่างต่อเนื่อง

และล่าสุดพิษเศรษฐกิจยูโรที่ยังแก้ไม่ตกเอาไม่อยู่ ก็พ่นพิษผู้ประกอบการไทยด้านการส่งออกให้อาการหนักขึ้นไปอีก

กระทรวงพาณิชย์ประเมินว่า วิกฤตยุโรปเริ่มส่งผลกระทบรุนแรงกับผู้ประกอบการ เครื่องนุ่งห่ม และอิเล็กทรอนิกส์ 2,100 ราย ซึ่งที่จะเป็นปัญหาตามมาคือ แรงงานตกงาน เพราะเมื่อผู้ประกอบการผลิตสินค้าขายไม่ได้ก็ต้องลดต้นทุน สิ่งแรกหนีไม่พ้นคือการลดพนักงาน ซึ่งเป็นต้นทุนสูงอันดับต้นๆ ของกระบวนการผลิต

ยิ่งเมื่อดูตัวเลขมูลค่าการส่งออกในช่วง 5 เดือนที่ผ่านมา ขยายตัวติดลบเสียเป็นส่วนใหญ่ ทำให้เป้าที่ตั้งไว้จะโตได้ 15% เหลือแค่ 89% เท่านั้น

การส่งออกที่ลดฮวบลงมากขนาดนั้น ย่อมส่งผลกระทบกับผู้ประกอบการมากกว่า 2,100 ราย และแรงงานที่จะตกงานตามมาคงมีอีกจำนวนมาก เป็นเรื่องที่เลี่ยงได้ยาก

มรสุมของผู้ประกอบการที่ก่อตัวรุนแรงขึ้น ไม่ใช่เป็นเรื่องที่ไม่มีใครคาดการณ์มาก่อน

ตั้งแต่หลังน้ำท่วมใหญ่ ราคาน้ำมันแพงและนโยบายขึ้นค่าแรง 300 บาทของรัฐบาล ทางสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ได้พยายามชี้แจงปัญหาผลกระทบที่ผู้ประกอบการทั้งเล็กและใหญ่จะได้รับผลกระทบล้มหายตายจากเนื่องจากผลกระทบที่เข้ามาอย่างต่อเนื่อง

โดยเฉพาะค่าแรง 300 บาท ที่รัฐบาลชูหาเสียงก่อนการเลือกตั้ง เป็นปัญหาสำคัญทำให้ผู้ประกอบการล้มทั้งยืน เพราะเป็นการขึ้นแบบก้าวกระโดดชั่วข้ามคืน หารายได้เพิ่มอย่างไรก็ไม่ทัน

ทาง ส.อ.ท.ได้ทำหนังสือถึงรัฐบาลให้ชะลอการขึ้นค่าแรงในจังหวัดที่ไม่ถึง 300 บาท อีก 70 จังหวัด ไปเป็นปี 2558 หลังผู้ประกอบการเอสเอ็มอีแบกรับภาระไม่ไหว มีผลกระทบต่อภาคการผลิตในต่างจังหวัดอย่างมาก

เอกชนบักโกรกรัฐไม่ยื่นมือช่วยแก้วิกฤต

 

เพราะการเพิ่มขึ้นนำร่อง 7 จังหวัด ผู้ประกอบการก็เริ่มชักหน้าไม่ถึงหลังแล้ว

แต่รัฐบาลไม่เห็นด้วย เพราะไม่เชื่อว่าการขึ้นค่าแรงจะทำให้ผู้ประกอบการล้มหายตายจาก อยู่ไม่ได้ อย่างที่ผู้ประกอบการให้ข้อมูล เพราะส่วนหนึ่งไม่ต้องการเสียหาย พูดแล้วทำไม่ได้จริง

แม้แต่วันนี้ รัฐบาลเห็นวิกฤตผู้ประกอบการไทยก่อตัวรุนแรงขึ้นทุกวัน กิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง ก็ยังยืนยันและนอนยันว่าไม่เลื่อนการขึ้นค่าแรงเด็ดขาด

กิตติรัตน์ มองสวนทางสุดโต่งว่า การส่งออกของไทยยังไม่ได้รับผลกระทบรุนแรง และเชื่อว่าการส่งออกของไทยยังขยายตัวได้ 15% ตามเป้าเดิม แม้ว่าหลายฝ่ายทำใจประเมินว่าโตไม่ถึง 10% แม้แต่กระทรวงการคลังที่กิตติรัตน์นั่งเป็นเจ้ากระทรวง ยังประเมินว่าการส่งออกทำได้อย่างเก่ง 12.8%

การที่รัฐบาลยอมหักไม่ยอมงอ ทำให้ผู้ประกอบการได้แต่ทำใจช่วยเหลือปรับตัวเอง ในส่วนของผู้ประกอบการที่เป็นนักลงทุนต่างประเทศก็พบว่ามีการขอย้ายฐานการผลิตไปประเทศเพื่อนบ้านอย่างต่อเนื่อง เพราะค่าแรงต่ำกว่าและการเมืองมีเสถียรภาพมากกว่าไทย

ดังนั้น ค่าแรง 300 บาท จึงเป็นพิษไข้ที่ผู้ประกอบการต้องหาทางรักษาเอง เพราะรัฐบาลยืนยันเด็ดเดี่ยวเดินหน้าไม่มีถอย ต่อไปก็ต้องมารอดูว่าเมื่อมีการใช้ค่าแรง 300 บาทผู้ประกอบการจะฝ่ามรสุมนี้ไปได้อย่างไร

ก่อนหน้านี้ ผู้ประกอบการพยายามยกกรณีที่รัฐบาลขึ้นเงินเดือนข้าราชการ 1.5 หมื่นบาท จากปี 2555 เป็นปี 2557 เพราะถังแตกเงินไม่พอจ่ายยังทำได้ และทำไมขอเลื่อนขึ้นค่าแรง 300 บาท รัฐบาลถึงไม่เห็นใจบ้าง แต่รัฐบาลก็ยังเมิน ไม่ยอมใจอ่อน

นอกจากไม่ช่วยลดต้นทุนค่าแรงผู้ประกอบการแล้ว รัฐบาลก็ไม่มีมาตรการอื่นมาช่วยต่อลมหายใจผู้ประกอบการที่เจอพายุจากยูโรโซนที่มากขึ้นทุกวันอีกด้วย

ผู้ประกอบการเสนอให้มีการตั้งกองทุนช่วยเหลือสภาพคล่องที่ชงผ่านรัฐบาล แต่กิตติรัตน์ที่เป็นหัวเรือเศรษฐกิจของรัฐบาล กลับยังไม่มีท่าทีตอบรับในเรื่องนี้ ทำให้ผู้ประกอบการหมดหวังไปอีกทางหนึ่ง

หรือแม้แต่ก่อนหน้าที่ผ่านมา ทาง ส.อ.ท.เสนอให้รัฐจัดหาแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ วงเงินประมาณ 12 หมื่นล้านบาท แม้ว่ารัฐบาลจะให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกซอฟต์โลน 3 แสนล้านบาท มาช่วยภาคธุรกิจต่างๆ แต่การเบิกจ่ายเงินเพิ่มได้แค่ 3 หมื่นล้านบาท เพราะการอนุมัติสินเชื่อของสถาบันการเงินมีความล่าช้า ทำให้ผู้ประกอบการที่ต้องการเงินมาเป็นน้ำเลี้ยงต่อชีวิตช้าไปด้วย

การขอให้รัฐบาลมีการส่งเสริมการลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านที่มีศักยภาพ ด้วยการช่วยจัดทำการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการและหาแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ ก็ดูเป็นข้อเสนอที่รัฐบาลยังไม่ได้เดินหน้าช่วยเหลือผู้ประกอบการ

ขณะที่ขอเรียกร้องให้มีมาตรการเยียวยาเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบ โดยลดการส่งค่าประกันสังคมจาก 5% เหลือ 3% ก็ยังเป็นข้อเสนอที่ได้รับความสนใจ

หรือข้อเสนอให้มีการลดภาษีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากค่าแรงและพิษยูโรโซน นอกจากไม่ได้แล้ว อาจจะต้องเสียภาษีเพิ่มมากขึ้น

เพราะล่าสุดกรมสรรพากรออกมาเข้มผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่จะเสียภาษีต่ำ จะต้องเป็นผู้มีทุนจดทะเบียนไม่เกิน 5 ล้านบาท และมีรายได้ไม่เกิน 30 ล้านบาท หากมีรายได้เกินต้องเสียภาษีในอัตราผู้ประกอบการรายใหญ่ทันที

ทั้งหมดถือเป็นวิบากกรรมของผู้ประกอบการไทยที่เจอผลกระทบรุมเร้ามาพร้อมกัน ลำพังผลกระทบค่าแรง 300 บาท แต่ไม่มีวิกฤตยูโรโซนมาซ้ำเติมก็ยังพอทน

หรือว่าเมื่อมีวิกฤตยูโรโซนและรัฐบาลยอมถอยขึ้นค่าแรง 300 บาท เป็นการเรียกขวัญกำลังใจผู้ประกอบการ ก็ยังน่าจะทำให้ผู้ประกอบการส่วนใหญ่เดินหน้าฝ่าวิกฤตต่างๆ ไปได้

แต่เมื่อค่าแรงก็ต้องเพิ่ม วิกฤตยูโรโซนก็กระทบรุนแรงมากขึ้น ขณะที่รัฐบาลก็ยังเชื่องช้า ท่องมนต์ติดปากทุกเรื่องยังไม่กระทบส่งออกไม่กระทบผู้ประกอบการ ทำให้ผู้ประกอบการเหมือนยืนอยู่ปากเหว

ยิ่งรัฐบาลส่งสัญญาณผิดๆ ยืนยันการส่งออกที่ตกเกินจริงผิดเพี้ยน ยิ่งทำให้การแก้ปัญหาลำบากและหลงทางอย่างที่เป็นอยู่ จนเห็นตัวเลขผู้ประกอบการส่งออกที่เริ่มไปไม่รอดเพิ่มมากขึ้นทุกวัน

ถึงวันนี้รัฐบาลเห็นตัวเลขผู้ที่ได้รับผลกระทบจากค่าแรงและพิษยูโรโซน แต่หากรัฐบาลยังย่ำอยู่กับที่อย่างนี้ อีกไม่นานก็จะเห็นผู้ประกอบการมีปัญหาเป็นหลักหมื่นหลักแสน จนเอาไม่อยู่ในที่สุดตั้งแต่น้ำยังไม่ท่วมรอบใหม่ด้วยซ้ำ m