posttoday

อุบไต๋พื้นที่ "แก้มลิง" ยิ่งปิดยิ่งโดนด่าว่า "ใจดำ"

07 มิถุนายน 2555

พลันที่ ปลอดประสพ สุรัสวดี รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย

โดย...จตุพล สันตะกิจ

พลันที่ ปลอดประสพ สุรัสวดี รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) เสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติงบ 614.13 ล้านบาท ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่รับน้ำนองระยะเร่งด่วน

พร้อมกันนั้น กบอ.รายงาน ครม.ว่า ได้กำหนดพื้นที่รับน้ำนองใน 11 จังหวัด ระบุจำนวนพื้นที่รับน้ำนอง หรือ “แก้มลิง” ชัดเจนว่ามีจำนวน 2,147,450 ล้านไร่ ปริมาณน้ำที่รับน้ำได้คิดเป็น 5,112 ล้านลูกบาศก์เมตร

แบ่งเป็น 1.พื้นที่รับน้ำนองลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนบน 6 จังหวัด คือ อุตรดิตถ์ สุโขทัย พิษณุโลก พิจิตร นครสวรรค์ อุทัยธานี

และ 2.พื้นที่รับน้ำนองลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง 5 จังหวัด คือ ชัยนาท ลพบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา

จำนวนพื้นที่รับน้ำนองที่กำหนดเป็นตัวเลขชัดเจน ตั้งแต่หลักล้านถึงหลักหน่วย เท่ากับตอกย้ำว่า พื้นที่รับน้ำนองได้ถูก “ขีดเส้น” เรียบร้อยแล้วจาก “ส่วนกลาง” ว่าพื้นที่จุดใดบ้างสมควรเป็นพื้นที่รับน้ำ และมีชาวบ้านได้รับผลกระทบเท่าไหร่

กระบวนการที่เหลือ คือ ให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กลไกของกระทรวงมหาดไทยและจังหวัด ลงพื้นที่ทำความเข้าใจกับชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ

ส่วนจะมีชาวบ้านลุกขึ้นคัดค้านมากน้อยเพียงใด ต้องขึ้นอยู่กับฝีปากฝีมือในการเจรจาโน้มน้าวใจชาวบ้านให้ยอมรับ

แต่กระนั้น ประกาศิตที่ปลอดประสพสั่งให้ทุกคน “ปิดปาก” ไม่ให้พูดว่าพื้นที่ใดเป็นพื้นที่รับน้ำนอง เพราะกลัวว่าหากพูดไปส่งเดชจะทำให้ราคาที่ดินชาวบ้านตก ทำให้ชาวบ้านเสียหาย

ทว่า ความกลัวที่ว่านั้นมีแต่จะชักนำไปสู่ความขัดแย้งที่รุนแรงมากขึ้นก็ได้

เพราะกระบวนการ “สั่งปิด” พื้นที่รับน้ำนองเช่นนี้ ไม่ต่างกับการ “ปิดประตูตีแมว”

ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจะ “ถูกกัน” ออกจากพื้นที่การรับรู้ข่าวสารของอย่างสิ้นเชิงในสังคม การเจรจาแกมบังคับให้ “สมยอม” นำผืนดินที่ใช้ทำมาหากินมาแต่ปู่ย่าตายาย 5 ไร่บ้าง 10 ไร่บ้าง อยู่ในสถานะเป็นพื้นที่รับน้ำ เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

ขณะที่การให้ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน หรือ อบต. ลงไปชี้แจงกับชาวบ้านว่า ที่ดินของเขาถูกกำหนดเป็นพื้นที่รับน้ำนั้น ก็ใช่ว่าชาวบ้านจะยอมรับและทำใจได้ เพราะแม้แต่คนที่ลงไปชี้แจงไม่ว่าจะระดับไหน หรือมีตำแหน่งใหญ่ที่สุดในจังหวัดอย่างผู้ว่าฯ ก็ตาม

เพราะคนที่ลงไปเจรจาเองก็ใช่ว่าจะพูดได้ “เต็มปาก” เพราะจะบอกให้ลูกบ้านยอมรับกับสิ่งที่เกิดขึ้นได้อย่างไร ยิ่งเป็นพวกมีตำแหน่งใหญ่โต มีกินมีใช้ไม่มีวันหมด ยิ่งไม่มีวันรู้ซึ้งถึง “หัวอก” คนจมน้ำจริงๆ ว่ารู้สึกอย่างไร หากว่าที่ดินของตัวเองไม่ถูกกำหนดเป็นพื้นที่รับน้ำนองเหมือนกับชาวบ้าน

ที่สำคัญการอาศัยกลไกเหล่านี้ ย่อมไม่มีน้ำหนักพอที่จะทำให้ชาวบ้านมั่นใจและสบายใจกับความมั่นคงในอนาคต อีกทั้งการชี้แจงปากเปล่าไม่อาจ “เคลียร์” คำถามที่คาใจชาวบ้านได้ เช่น อะไรเป็นมาตรฐานหรือเกณฑ์ตัดสินว่าที่ดินแห่งนั้นแห่งนี้สมควรเป็นพื้นที่รับน้ำ

เมื่อคำตอบไม่ชัด การก่อหวอดปลุก “ม็อบปิดถนน” เช่นในหลายกรณีที่ผ่านๆ มา จึงเป็นทางออกเดียวที่ชาวบ้านตัดสินใจนำมาใช้เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมจากรัฐบาล และให้สังคมได้รับรู้ถึงความเดือดร้อนของพวกเขา

 

แม้ว่า “ความกลัว” ของชาวบ้านที่มีที่ดินในโซนพื้นที่แก้มลิงจะเป็นความกลัวที่มาจินตนาการที่วาดขึ้นเองก็ตาม

อุบไต๋พื้นที่ "แก้มลิง" ยิ่งปิดยิ่งโดนด่าว่า "ใจดำ"

 

แต่ก็ไม่แตกต่างกับจินตนาการอันสวยหรูของ “ฝ่ายคิด-ฝ่ายวางแผน” ที่บอกว่าจะมีการลงทุนโครงการต่างๆ ในพื้นที่รับน้ำที่ทำให้ชาวบ้านมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

ในขณะที่ฤดูน้ำหลากปี 2555 ที่กระชั้นเข้ามาทุกที พื้นที่ “โซนสีแดง” ที่ถูกหมายตาให้เป็นด่านแรกในการรับน้ำนอง ก่อนน้ำบุกเข้ากรุงและพื้นที่เศรษฐกิจหลัก คือ พื้นที่รับน้ำนองลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง 5 จังหวัด

แต่นาทีนี้ ปลอดประสพ กลับไม่ยอมปริปากแม้แต่คำเดียวว่า พื้นที่จุดใดบ้างเป็นพื้นที่รับน้ำนอง ไม่ต่างกัน “คนใจดำ” ที่ไม่อนาทรร้อนใจกับความเป็นอยู่ของชาวบ้านนับแสนคนที่เป็นเจ้าของที่ดินในพื้นที่เสี่ยงจมน้ำโดยไม่รู้ตัว

แน่นอนรัฐบาลเตรียม “ยาหอม” หว่านใส่ชาวบ้านว่าจะได้รับการเยียวยาจากรัฐอย่างเต็มที่ เพราะแผนงานการกำหนดพื้นที่รับน้ำนอง 1 ใน 8 แผนยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.) มีการเตรียมงบไว้ 6 หมื่นล้านบาท เพื่อลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่รับน้ำนอง

นั่นคือ พื้นที่ 2 ล้านไร่ จะได้รับการเยียวยาทั้งทางตรงและทางอ้อมเฉลี่ย 3 หมื่นบาทต่อไร่

พร้อม “คำมั่น” ที่ว่าชาวบ้านในพื้นที่รับน้ำนอง จะทำนาได้อย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง เมื่อน้ำเข้ามาในพื้นที่จะเก็บน้ำไว้ไม่เกิน 34 เดือน โดยมีระบบสูบน้ำออกจากพื้นที่ และกรณีที่ชาวบ้านยุติการเพาะปลูก เพราะมีการนำพื้นที่ไปใช้ในการ “ตัดยอดน้ำ” ชาวบ้านจะได้รับการเยียวยาตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้

แต่เมื่อไปพลิกเปิดเอกสารคำของบลงทุนโครงสร้างพื้นฐานพื้นที่น้ำนอง ปรากฏตัวเลขที่ทำให้ “ฉุกคิด” ว่า การลงทุนในพื้นที่รับน้ำนองชาวบ้านได้ประโยชน์จริงหรือไม่

เพราะการจัดหาอุปกรณ์ไม่ระบุสเปก แต่กำหนดราคา “แพงโอเวอร์”

ตัวอย่างเช่น การจัดซื้อเครื่องสูบน้ำ 20 รายการ 105.79 ล้านบาท หรือตกเครื่องละ 5 ล้านบาทกว่าๆ จัดหาเครื่องผลักดันน้ำ 7 รายการ 64 ล้านบาท หรือตกตัวละ 9 ล้านบาทกว่าๆ และจัดหาอุปกรณ์ตรวจวัด 2 รายการ 120.25 ล้านบาท

ขณะเดียวกัน กบอ.ได้รายงาน ครม.ว่า จัดเตรียม “แผนเผชิญเหตุ” ในพื้นที่รับน้ำ หากเกิดน้ำหลากมาก ซึ่งจะทราบล่วงหน้า 7 วัน มีการประเมินว่าจะมีค่าใช้จ่ายในการนี้ 720 ล้านบาท เพื่อทำทางน้ำเข้าออกและสะพานชั่วคราว

แต่ในเมื่อวันนี้ชาวบ้านเขายังไม่รู้ตัวเลยว่าที่ดินและที่อยู่อาศัยของตัวเองเป็นพื้นที่รับน้ำ ก็ไม่รู้ว่าอย่างนี้ชาวบ้านจะเตรียมตัวและซักซ้อมแผนเผชิญเหตุกันอย่างไร และมีหนทางจัดการกับวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างไรได้บ้าง

การสั่ง “เปิด” พื้นที่รับน้ำให้ประชาชนในสังคมและชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบโดยตรงได้รับรู้

จึงเป็นทางเลือกที่ปลอดประสพและรัฐบาลเร่งดำเนินการเปิดเผยพื้นที่โดยเร่งด่วนที่สุด

เพราะการเปิดเผยข้อมูลเหล่านี้ จะนำไปสู่กระบวนร่วมคิด ร่วมบริหารจัดการพื้นที่ระหว่างภาครัฐ ชาวบ้าน และภาคีที่เกี่ยวข้อง นั่นเท่ากับเป็นการ “ลดชนวน” ความขัดแย้งระหว่างภาครัฐและชาวบ้านได้ในระดับหนึ่ง

ขณะเดียวกันชาวบ้านในพื้นที่เสี่ยงรับน้ำนองจะได้มีเวลาเตรียมตัวรับมือกับสถานการณ์ได้ล่วงหน้า และรู้ว่าพวกเขามีสิทธิที่จะได้รับการเยียวยาจากการ “เสียสละ” อย่างไรบ้าง

อีกทั้งยังเป็นโอกาสอันดีที่ภาครัฐจะได้ “ขน” ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการเป็นพื้นที่รับน้ำนอง ไปดูงาน “บางบาลโมเดล” ที่คนในรัฐบาลคุยนักคุยหนาว่า เป็นโมเดลจัดการน้ำในพื้นที่รับน้ำนองที่ดีที่สุดขณะนี้ ว่าจะดีจริงๆ ในสายตาชาวบ้านหรือไม่ และจะทำให้ชาวบ้านมีความเป็นอยู่ดีขึ้นอย่างไร

เมื่อชาวบ้านได้เห็นตัวอย่างที่จับต้องได้ จะเกิดความสบายใจและเกิดการยอมรับ

อย่างไรก็ดี กรณีการสั่งปิดพื้นที่ทางน้ำผ่าน หรือ “ฟลัดเวย์” ก็ไม่ต่างกัน เพราะวันนี้รัฐบาลและ กบอ.ยังอุบไต๋ปิดปากเงียบ ปกปิดพื้นที่ฟลัดเวย์ไว้ให้อยู่ในชั้นความลับ ด้วยเกรงว่าจะมีความ “สับสน” และทำให้มีการเก็งกำไรที่ดินได้

เพราะแผนการสร้างฟลัดเวย์ที่ร่างไว้บนกระดาษ พร้อมวงเงินลงทุน 1.2 แสนล้านบาท ถือว่าเป็นการเปิดพื้นที่ “ทำเลทอง” พื้นที่ใหม่ 5 แสนไร่ แห่งใหม่ตั้งแต่ จ.นครสวรรค์ ถึงอ่าวไทย ตามที่ สุพจน์ โตวิจักษณ์ชัยกุล เลขาธิการสำนักนโยบายและบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ (สบอช.) ว่าไว้

สุพจน์ ระบุว่า เหตุที่ยังไม่เปิดเผยแนวฟลัดเวย์ เพราะอาจเปลี่ยนแปลงได้ หากมีข้อเสนอที่ดีกว่าจากเอกชนและประเทศต่างๆ ตามแผนการให้ต่างชาติและบริษัทเอกชนเสนอแผนงานจัดการน้ำ ซึ่งขณะนี้ได้ร่างทีโออาร์เสร็จแล้ว และรอให้ต่างชาติเสนอรายละเอียดโครงการเบื้องต้น (Conceptual Design) ในอีก 3-4 เดือนจากนี้

แต่หากถามคำถามกลับไปว่า เมื่อพื้นที่ตามแนวฟลัดเวย์เป็น “ทำเลทอง” จริงอย่างที่ว่า

การสั่งปิดพื้นที่ไว้นานๆ ในขณะที่มีคนเพียง “หยิบมือ” ที่รู้ว่าพื้นที่ใดถูกกำหนดเป็นฟลัดเวย์ เท่ากับมีข้อมูล “วงใน” ที่นำไปแสวงหาประโยชน์ได้ เพราะรู้ว่าพื้นที่ตรงไหนเป็นทางน้ำผ่าน พื้นที่ตรงไหนติดกับถนนไฮเวย์ 8 เลน

หากจำกันได้เมื่อครั้งมีการเลือกว่าสนามบินแห่งที่ 2 ของประเทศจะตั้งอยู่ที่ไหน มีนักการเมืองกว้านซื้อที่ดิน “หนองงูเห่า” ก่อนที่รัฐบาลเวนคืนที่ดินเพื่อสร้างสนามบิน ได้กำไรกันไป “อื้อซ่า”

วันที่น้ำเหนือใกล้จะหลากลงมาอยู่รอมร่อแล้ว ทางการยังปิดปากเงียบทั้งพื้นที่รับน้ำนอง ฟลัดเวย์ กินพื้นที่เกือบ 2.6 ล้านไร่ ตรงนี้ไม่อาจหยั่งทราบได้ว่าเป็น “ความหวังดี” ของปลอดประสพที่ไม่ต้องการเห็นความสับสนวุ่นวาย หรือการก่อหวอดประท้วงของชาวบ้าน

แต่ที่แน่ๆ “ดร.ปลอดประสพ” และคณะดูเหมือนว่าจะ “ไม่ดูดำดูดี” กับความรู้สึกคนกำลังจมน้ำเอาเสียเลย

ถ้าสถานการณ์ยังเป็นแบบนี้ รัฐบาลต้องทำใจรับกับปรากฏการณ์ก่นด่าจากประชาชนได้เลย