posttoday

"ปรองดอง" หมากหลายชั้นแผนซ่อนกล"เพื่อไทย"

29 พฤษภาคม 2555

ลับ ลวง พราง จริงๆ สำหรับ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้าพรรคมาตุภูมิ ไม่มีใครคาดคิดว่าจะหาญกล้าเสนอร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติ

โดย...ไพบูลย์ กระจ่างวุฒิชัย

ลับ ลวง พราง จริงๆ สำหรับ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้าพรรคมาตุภูมิ ไม่มีใครคาดคิดว่าจะหาญกล้าเสนอร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติ เข้าสู่สภาผู้แทนราษฎร ความเซอร์ไพรส์ครั้งนี้สร้างความตกใจให้กับประเทศอย่างมาก

แม้ พล.อ.สนธิ ผู้ล้มอำนาจ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จะยืดอกชี้แจงหนักแน่นว่า งานนี้ไม่ได้รับจ๊อบนายใหญ่แห่งพรรคเพื่อไทย แต่ในทางปฏิบัติแล้วเป็นไปไม่ได้เลยที่จะปราศจากการสนับสนุนจากพรรคเสียงข้างมากในสภา

“ผมไม่ต้องการได้อะไร แค่ต้องการเห็นบ้านเมืองมีความสงบ และรักกันเท่านั้นเอง ทุกอย่างผมมีหมดแล้ว ณ วันนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกียรติภูมิและศักดิ์ศรีที่มีมากกว่าไปรับจ๊อบใดๆ” คำชี้แจงจากอดีตประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.)

ทันทีที่สงครามปรองดองเปิดฉากขึ้น กระแสต่อต้านก็ตามมาเป็นเงาตามตัว โดยเฉพาะกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ซึ่งประกาศตัวแล้วว่า วันที่ 30 พ.ค.นี้ จะคิกออฟต่อต้านการนิรโทษกรรม พ.ต.ท.ทักษิณ ในทุกรูปแบบ ทำให้กลุ่มแนวร่วมเสื้อเหลืองที่เคยแตกคอกันก่อนหน้านี้ กำลังกลับมารวมกันเฉพาะกิจเพื่อล้มระบอบทักษิณอีกครั้ง

รอบนี้ถือว่าเป็นงานหนักของพรรคเพื่อไทย เป็นครั้งแรกของรัฐบาลที่จะมีม็อบการเมืองออกมาท้องถนน หลังจากเข้าสู่อำนาจรัฐมาเกือบ 1 ปี

เมื่อสถานการณ์เริ่มแสดงความล่อแหลมออกมา ทำให้พรรคเพื่อไทยต้องวางกำแพงและเป้าหลอกป้องกันความผิดพลาดเอาไว้หลายชั้นอย่างซับซ้อน เพื่อรับมือกับแรงปะทะทุกด้านในวันที่ 30 พ.ค.

ฝ่ายบริหาร “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” นายกรัฐมนตรี ซึ่งถูกมองว่าเป็นจุดอ่อนทางการเมือง แต่ตอนนี้กำลังจะทำให้ตัวเองเป็นจุดแข็งผ่านการแสดงบทบาทลอยตัวจากเรื่องนี้ด้วยการบอกว่า “เป็นเรื่องสภารัฐบาลไม่เกี่ยว” เท่ากับสร้างภาพลักษณ์ว่ารัฐบาลน้องสาว พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่ได้ทำอะไรที่มีลักษณะผลประโยชน์ทับซ้อนในทางตรง

ขณะที่ฝ่ายนิติบัญญัติพรรคเพื่อไทยเล่นบทบู๊สวนทางกับบทนางเอกของยิ่งลักษณ์สิ้นเชิง เนื่องจากได้ส่งร่าง พ.ร.บ.ปรองดองอีก 2 ฉบับส่งเข้ามาประกบกับร่าง พ.ร.บ.ปรองดองเวอร์ชันบิ๊กบัง ไม่ว่าจะเป็นของ นิยม วรปัญญา สส.บัญชีรายชื่อ และ สามารถ แก้วมีชัย สส.เชียงราย รวมไปถึงของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.)

เนื้อหาของทั้ง 3 ฉบับ หลักการและสาระสำคัญไม่ได้มีความแตกต่างกันมากนัก โดยได้สร้างเครื่องมือนิรโทษกรรมครอบคลุมช่วงเวลาทางการเมืองระหว่างปี 2548-2554 เสื้อทุกสี และ พ.ต.ท.ทักษิณ ได้ประโยชน์อย่างเท่าเทียมเหมือนกับไม่เคยมีใครฝากรอยเท้าเอาไว้

"ปรองดอง" หมากหลายชั้นแผนซ่อนกล"เพื่อไทย"

ครั้นจะมีแตกต่างไปบ้างก็ตรงที่ร่างกฎหมายฉบับคนเสื้อแดง เพราะมีบทบัญญัติคุ้มครองทุกกรณี ยกเว้นการกระทำของรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์เกี่ยวกับเหตุการณ์สลายการชุมนุม แต่การเสนอลักษณะนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการแก้ปัญหาภายในพรรคเพื่อไทยเองมากกว่าหลังจากมวลชนเสื้อแดงเริ่มแสดงความไม่พอใจที่จะปล่อยให้คนสั่งสลายม็อบลอยนวล

ร่าง พ.ร.บ.ปรองดองทุกฉบับ ตามขั้นตอนแล้ววันที่ 30 พ.ค. พรรคเพื่อไทยจะขอให้ที่ประชุมสภามีมติเสียงข้างมาก เพื่อให้เลื่อนร่าง พ.ร.บ.มาพิจารณาก่อน ซึ่งตามข้อบังคับการประชุมสภาบัญญัติว่า “เมื่อที่ประชุมสภามีความเห็นให้เลื่อนเรื่องใดขึ้นมาก่อน แล้วสภาจะสามารถพิจารณาเรื่องนั้นได้ในการประชุมครั้งถัดไป”

หมายความว่า พรรคเพื่อไทยจะเริ่มพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ปรองดองวาระที่ 1 เพื่อรับหลักการในวันที่ 31 พ.ค.

สำรวจขุมกำลังพรรคเพื่อไทยในเวทีนิติบัญญัติเพื่อบรรลุเป้าหมายการปลดปล่อย พ.ต.ท.ทักษิณ ให้เป็นอิสระ เรียกได้ว่าแทบจะมองหาจุดอ่อนไม่เห็น แถมยังสามารถควบคุมกลไกรัฐสภาเอาไว้ได้ทั้งหมด

พรรคเพื่อไทย คือ เสียงข้างมากของฝ่ายนิติบัญญัติ มีต้นทุนอยู่ในมือมากกว่า 300 เสียง แถมกำลังจะได้อีก 34 เสียงจากพรรคภูมิใจไทยมาร่วมลงขันอีกแรง เป็นเครื่องการันตีได้ว่าร่างกฎหมายปรองดองไม่ได้เป็นเรื่องเหลือบ่ากว่าแรง

การเข้ามามีส่วนร่วมของพรรคภูมิใจไทยถือว่ามีความน่าสนใจอย่างยิ่ง โดยเมื่อไม่นานมานี้เพิ่งได้ลงมติเห็นด้วยกับการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของคณะรัฐมนตรี มาเที่ยวนี้มาพร้อมกับร่าง พ.ร.บ.ปรองดองเพื่อเป็นทางเลือกที่ 4 ให้กับพรรคเพื่อไทย

เดิมร่างกฎหมายปรองดองของภูมิใจไทยได้ทำเอาไว้แล้วเมื่อสมัยรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์โดยร่วมกับพรรคชาติไทยพัฒนา โดยมีสาระสำคัญอยู่ที่การนิรโทษกรรมให้กับผู้ชุมนุมทางการเมืองทั้งเสื้อเหลืองและเสื้อแดง แต่ไม่ได้รับการสนับสนุน ความพยายามของพรรคภูมิใจไทยจึงเป็นหมันในช่วงนั้น

เมื่อได้รับแรงหนุนจากอดีตปรปักษ์อย่างภูมิใจไทย ย่อมทำให้พรรคเพื่อไทยมีเครื่องมือหลายตัวเพื่อบรรลุเป้าหมายพา พ.ต.ท.ทักษิณ กลับบ้านแบบเท่ๆ ให้เป็นจริงเร็วขึ้น

ความเข้มแข็งของพรรคเพื่อไทยในสภาสวนทางกลับความอ่อนแอในสภาของพรรคประชาธิปัตย์ โดยกำลังถูกโดดเดี่ยวจากพรรคการเมืองร่วมสภา และถึงจะมีกลุ่ม 40 สว.ช่วยอีกแรง เพื่อเป็นความหวังว่าสภาสูงจะมีมติคว่ำกฎหมายฉบับนี้ แต่เอาเข้าจริงวุฒิสภาก็เป็นของพรรคเพื่อไทยไปแล้วกว่าครึ่ง สะท้อนได้จากการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ทั้งพรรคประชาธิปัตย์และกลุ่ม 40 สว. จึงทำได้ดีที่สุดเพียงแค่อภิปรายชี้ข้อบกพร่องและปลุกกระแสต่อต้านจากภายนอก โดยที่ไม่สามารถไว้วางใจได้ว่าจะมีผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้หรือไม่

อย่างไรก็ตาม ถึงจะคุมเสียงในรัฐสภาได้เบ็ดเสร็จ แต่ไม่ได้หมายความว่าพรรคเพื่อไทยต้องเร่งแตกหักปิดเกมนี้ให้จบภายในสมัยประชุมสามัญนิติบัญญัติ อย่างน้อยหากอุณหภูมิการเมืองเพิ่มสูงขึ้นจนเสี่ยงต่อการกระเทือนถึงเสถียรภาพรัฐบาลภายหลังรับหลักการวาระที่ 1 ก็อาจเลือกใช้วิธีปิดสมัยประชุมทันทีที่ลงมติเห็นชอบกับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระที่ 3

ทั้งหมดนี้ช่วยให้ขั้นตอนของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ปรองดองได้มีเวลาหายใจมากขึ้น ประกอบกับมีเวลากลั่นกรองให้เนื้อหาของกฎหมายมีความสมบูรณ์และปราศจากข้อขัดแย้งมากที่สุดเท่าที่จะเป็นได้ เพื่อปั๊ม พ.ร.บ.ปรองดองออกมาและกลับมาตะลุมบอนในสภาอีกครั้งในสมัยประชุมสามัญทั่วไปในเดือน ส.ค.

ซึ่งจะดีกว่าขยายสมัยประชุมนิติบัญญัติออกไปเรื่อยๆ โดยไม่มีกำหนด

เพราะฉะนั้น ถ้าไม่มีอะไรผิดพลาดการปรองดองในแบบฉบับพรรคเพื่อไทย คงผ่านด่านนิติบัญญัติไปอย่างไม่ยากเย็น ที่เหลือลุ้นด่านต่อไปว่าจะได้รับความชอบธรรมในทางการเมืองหรือไม่เท่านั้น