posttoday

กระตุ้นแรงซื้อในประเทศทางรอดของอาเซียน

29 พฤษภาคม 2555

บางประเทศโดยเฉพาะกลุ่มอาเซียนนั้น นับว่ามีความยืดหยุ่นต่อวิกฤตการณ์ยุโรปสูงมาก

โดย...นันทิยา วรเพชรายุทธ

“บางประเทศโดยเฉพาะกลุ่มอาเซียนนั้น นับว่ามีความยืดหยุ่นต่อวิกฤตการณ์ยุโรปสูงมาก เพราะประเทศเหล่านี้มีศักยภาพสูงในการจัดการกับนโยบายในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นด้านการเงินหรือการคลัง ซึ่งถือเป็นประเด็นที่สำคัญมาก” ศรี มุลยานี กรรมการผู้จัดการของธนาคารโลก หรือเวิลด์แบงก์ และอดีตผู้ว่าการธนาคารกลางอินโดนีเซีย กล่าวกับบลูมเบิร์ก

นับเป็นคำยืนยันจากผู้บริหารธนาคารโลกที่ให้เครดิตเป็นอย่างดีว่า ประเทศในสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน มีภูมิต้านทานจากปัญหาหนี้ในกลุ่มยูโรโซนได้ดีกว่าภูมิภาคอื่นๆ เช่นเดียวกับที่ มหาเธร์ โมฮัมหมัด อดีตนายกรัฐมนตรีของมาเลเซีย ระบุในทิศทางเดียวกันว่า อาเซียนจะเจอผลกระทบน้อยกว่าภูมิภาคอื่นๆ

การมีภาษีที่ดีกว่านั้นไม่ใช่เพราะภาคการส่งออก การท่องเที่ยว หรือภาคการผลิตที่เป็นหัวใจหลักของหลายประเทศในแถบนี้ไม่ได้รับผลกระทบ หากแต่เป็นเพราะอาเซียนยังคงมีศักยภาพสูงที่จะ “กระตุ้นเศรษฐกิจและการบริโภคภายใน” ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญที่จะช่วยชดเชยได้เป็นอย่างดี

การกระตุ้นให้เกิดการบริโภคภายในประเทศ คือหัวใจสำคัญที่บรรดาผู้เชี่ยวชาญมองว่าเป็นทางออกเพียงหนึ่งเดียวสำหรับอาเซียนและเอเชียตะวันออกโดยรวม เพื่อให้รอดพ้นหรือชดเชยความเสียหายจากผลกระทบในยุโรป

กระตุ้นแรงซื้อในประเทศทางรอดของอาเซียน

เพราะภาคการส่งออกที่เป็นปัจจัยขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้มาโดยตลอดจะได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม กระทบทั้งสินค้าที่ส่งออกไปยุโรปโดยตรง และกระทบในแง่ของการส่งออกวัตถุดิบหรือชิ้นส่วนไปยังประเทศต่างๆ เพื่อผลิตเป็นสินค้าและส่งออกไปยังทั่วโลกอีกทอดหนึ่ง ท่ามกลางการบริโภคทั่วโลกที่มีแนวโน้มลดลง เนื่องจากผู้บริโภคไม่มั่นใจในสถานการณ์ของกลุ่มประเทศยูโรโซน เช่น อินโดนีเซีย ที่พลาดเป้าการเติบโตทางเศรษฐกิจในไตรมาสแรกของปี 2555 นี้ โดยโตได้ 6.3% จากเป้าหมายที่วางไว้ 6.5%

อย่างไรก็ตาม บทเรียนทางเศรษฐกิจที่เจ็บปวดจากวิกฤตการณ์ภาคการเงินเอเชีย หรือวิกฤตการณ์ต้มยำกุ้ง ระหว่างปี 2540-2541 ได้ส่งผลให้กลุ่มประเทศในอาเซียนเรียนรู้การรักษาวินัยทางการคลัง และเฝ้าระวังความเสี่ยงของภาคเอกชนได้ดีขึ้น จนทำให้อาเซียนและภูมิภาคเอเชียตะวันออกมีสถานะการเงินการคลังที่แข็งแกร่งพอจะออกมาตรการกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศที่จำเป็นในช่วงนี้

ในขณะที่ระดับหนี้สาธารณะต่อจีดีพีโดยเฉลี่ยของกลุ่มประเทศยูโรโซนอยู่ที่ราว 80% ของจีดีพีในปี 2554 ระดับหนี้ต่อจีดีพีในอาเซียนของปีเดียวกันกลับต่ำกว่ากันมาก อาทิ อินโดนีเซีย 24.5% ไทย 40.5% ฟิลิปปินส์ 49.4% มาเลเซีย 53.5% และเวียดนาม 57.3% มีเพียงสิงคโปร์เท่านั้นที่มีหนี้ต่อจีดีพีทะลุ 118.2%

ทว่า สิงคโปร์ก็เป็นประเทศเดียวในอาเซียนที่สามารถคุมงบประมาณให้เกินดุลได้ 0.3% ในปี 2554 ขณะที่อินโดนีเซียขาดดุล 1.2% ฟิลิปปินส์ 2.2% เวียดนาม 2.3% และไทย 2.9% ซึ่งทั้งหมดนี้ทำให้อาเซียนยังมีศักยภาพพอที่จะกระตุ้นให้เกิดการบริโภคภายในได้

อย่างไรก็ตาม การกระตุ้นให้เกิดการบริโภคภายในอาเซียนก็มีข้อพึงระวังเช่นกันว่า ต้องกระตุ้นให้ถูกจุดและถูกวิธี เพื่อไม่ให้กลายเป็นภาวะเงินเฟ้อพุ่งสูง เกิดสถานการณ์ข้าวของแพงเป็นภาระซ้ำเติมประชาชน เช่นที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ทั้งที่ราคาน้ำมันโลกไม่ได้อยู่ในระดับสูงเหมือนในช่วงต้นปี และรัฐบาลก็ยังไม่ได้ประกาศลอยตัวก๊าซที่เป็นต้นทุนหลักของภาคการขนส่งแต่อย่างใด

จีน นับเป็นตัวอย่างสำคัญของการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างหนัก ภายหลังเกิดวิกฤตการณ์ภาคการเงินในสหรัฐเมื่อปี 2551 จนต้องประสบภาวะเงินเฟ้ออย่างรุนแรงในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา และโดยเฉพาะปัญหาฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์ เนื่องจากเงินกระตุ้นของภาครัฐและการปล่อยกู้สินเชื่อส่วนใหญ่ถูกนำไปลงกับโครงการก่อสร้างต่างๆ ทั่วประเทศ

ขณะที่มาเลเซียนั้น นับเป็นตัวอย่างที่ดีของการกระตุ้นให้เกิดการลงทุนในประเทศ ทั้งการลงทุนของภาครัฐและเอกชน โดยเฉพาะโครงการลงทุนในภาคน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้ตัวเลขอุปสงค์ในประเทศขยับตัวขึ้นเป็น 9.6% ในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ และช่วยชดเชยความสูญเสียจากภาคการส่งออกได้บางส่วน ทำให้เศรษฐกิจมาเลเซียขยายตัวได้ 4.7% ท่ามกลางดัชนีราคาผู้บริโภคในระดับปานกลางที่ 2.3% โดยส่วนหนึ่งที่เงินเฟ้อมาเลเซียอยู่ในระดับต่ำนั้นเป็นเพราะการอุดหนุนราคาพลังงานของภาครัฐ

การกระตุ้นให้เกิดการบริโภคภายในประเทศโดยที่ไม่ทำให้เงินเฟ้อพุ่งสูงอาจดูได้จากอินโดนีเซีย ซึ่งการบริโภคและการลงทุนภายในประเทศกำลังมีสัดส่วนขยายตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันคิดเป็นสัดส่วนถึง 87% ของการเติบโตทางเศรษฐกิจในประเทศ การขยายการลงทุนยังช่วยเพิ่มอัตราการจ้างงานในประเทศอีก 3.1% ล้านอัตรา ตั้งแต่เดือน ส.ค. 2554-ก.พ. 2555 ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างความเชื่อมั่นให้คนในประเทศ และนำไปสู่การจับจ่ายใช้สอยตามมา โดยอินโดนีเซียนั้นก็เป็นอีกประเทศหนึ่งที่มีการอุดหนุนราคาพลังงานเช่นเดียวกัน

หากสามารถสร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภคมากขึ้น ไปพร้อมกับควบคุมราคาสินค้าและบริการ ไม่ให้ถีบตัวขึ้นสูงโดยปราศจากเหตุผลรองรับที่เพียงพอ การบริโภคภายในก็จะเป็นปัจจัยสำคัญของการเติบโตทางเศรษฐกิจในอาเซียน ซึ่งช่วยชดเชยผลกระทบจากภาคการส่งออก ภาคการผลิต และภาคการท่องเที่ยว อันเกิดจากวิกฤตการณ์หนี้ของกลุ่มประเทศยูโรโซนที่กำลังจะมาถึงในเร็วๆ นี้

แม้อาจจะช่วยได้ไม่หมด แต่ผ่อนหนักเป็นเบาได้ก็ยังดี...