posttoday

พฤษภารำลึก...แต่รัฐบาลระทึก

15 พฤษภาคม 2555

ไม่จำเป็นต้องรอคำทำนายจากเด็กชายปลาบู่ หรือโหรการเมืองระดับตัวพ่อสำนักไหน

โดย...ธรรมสถิตย์ ผลแก้ว

ไม่จำเป็นต้องรอคำทำนายจากเด็กชายปลาบู่ หรือโหรการเมืองระดับตัวพ่อสำนักไหน ในการออกมาพยากรณ์ความเคลื่อนไหวการเมืองช่วงเดือน พ.ค.นี้ ว่าจะมีผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่พี่น้องประชาชน เป็นไปในลักษณะออกหัวหรือก้อย

เพราะที่เห็นและเป็นอยู่มีเสียงฆ้องแจ้งเตือนผ่านแกนนำมวลชนให้ประชาชนเตรียมตัวรับมือตั้งแต่เนิ่นๆ อาจไม่ได้รับสะดวกเส้นทางจราจร การทำมาค้าขาย หรือแม้แต่ไม่รับประกันความปลอดภัยหากรัฐบาลดูแลไม่ทั่วถึง เนื่องจากจะมีการชุมนุมทั้งริมถนนไปจนถึงใจกลางสี่แยกราชประสงค์อันเป็นเส้นเลือดใหญ่ทางเศรษฐกิจของกรุงเทพมหานคร (กทม.) ด้วยเหตุผล “ร่วมรำลึกเรียกร้องสิทธิเสรีภาพตามระบอบประชาธิปไตย จนเป็นเหตุให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต”

หลายเครือข่ายนัดหมายรำลึกเดือน พ.ค.ตรงกันโดยบังเอิญ แต่แท้ที่จริงแล้วเหมือนร่วมกันเซตอย่างตั้งใจ เริ่มจาก อดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 ประกาศจัดงานรำลึกครบ 20 ปีพฤษภา ตั้งแต่วันที่ 17-20 พ.ค. ที่สวนสันติพร อนุสรณ์สถานพฤษภาประชาธรรม

ส่องกล้องดูกิจกรรม จากที่คึกคักในช่วงแรกหลังเหตุการณ์จบลงใหม่ๆ เคยเรียกร้องทวงสิทธิผู้บาดเจ็บ คนตาย และสูญหาย แต่เมื่อระยะล่วงเลย จึงลดโทนเป็นการสร้างชุดความคิดให้ประชาชนตระหนักในสิทธิและเสรีภาพตามระบอบประชาธิปไตย เจียระไนแบบผิวๆ ไม่สร้างความระทึกถึงขนาดรัฐบาลต้องติดตามเฝ้าระวังการเคลื่อนไหว แต่หากดูกิจกรรมที่เตรียมจัดขึ้นสอดรับแนวทางรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นการเชิญแกนนำหลายสี ทั้ง สุริยะใส กตะศิลา แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) จตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) นักวิชาการอย่างปริญญา เทวานฤมิตรกุล อดีตเลขาธิการสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) มาพบปะฉายภาพสร้างความปรองดองตามแนวนโยบายรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ที่ต้องการให้ทุกสีทุกกลุ่มไหลรวมเป็นปึกแผ่น ขณะเดียวกันเตรียมชงข้อเสนอรัฐบาลให้ประกาศถนนราชดำเนินเป็นเขตปลอดกระสุน มุ่งสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศสู่สายตาชาวโลกให้รับรู้ว่าไทยไม่รุนแรง ก็ดูจะตรงตามความต้องการรัฐบาลเพื่อไทยอีกเช่นกัน

พฤษภารำลึก...แต่รัฐบาลระทึก

เฉพาะอย่างยิ่งกับบทบาทใหม่ของแกนนำเครือข่ายพฤษภา 35 ออกมาสนับสนุน จตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำเสื้อแดงให้เป็นรัฐมนตรี

เพราะอย่าลืมว่า วันที่ 18 พ.ค. ได้ฤกษ์จตุพรขึ้นสู่ศาลรัฐธรรมนูญรับฟังคำพิพากษาพ้นสภาพความเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือไม่ หากผลพ้นสภาพ ตำแหน่งฝ่ายบริหารเปิดทางรออยู่ตามที่อดีตนายกฯ ทักษิณให้สัญญาไว้ จะขอเคลียร์หนี้บุญคุณแกนนำรายนี้ อีกทั้งการเคลื่อนไหวของแกนนำพฤษภา 35 ลีลาใหม่ ก็ขยับตัวก่อนจัดงาน นปช.รำลึก 20 ปี สี่แยกราชประสงค์ไม่กี่วัน โดยเฉพาะกับการแถลงชัดเจน จะเว้นวรรคงดจัดงานพฤษภา 35 ในวันที่ 19 พ.ค. เพื่อเปิดทางให้ นปช. ได้จัดงานรำลึกครบ 2 ปี การชุมนุมแยกราชประสงค์อย่างเต็มที่

ย่อมตอกย้ำถึงความเชื่อมโยงระหว่างแกนนำเครือข่ายญาติวีรชนพฤษภา 35 บางส่วนหลอมเป็นเนื้อเดียวกับกลุ่มคนเสื้อแดง ทำให้การสตาร์ตจัดงานรำลึก 20 ปี ตั้งแต่วันที่ 17 พ.ค. ไม่ต่างกับกิจกรรมโหมโรงทดสอบความพร้อมมวลชนให้ตื่นตัวก่อนถึงงานรำลึกใหญ่ 2 ปี สี่แยกราชประสงค์ที่กำลังตามมา

เมื่อการโหมโรงผ่านเครือข่ายญาติวีรชนพฤษภา 35 ได้ที่ วาระจัดหนักจึงตามมากับการจัดงานรำลึกคนเสื้อแดงครบ 2 ปี สี่แยกราชประสงค์ ที่บรรดาศิษย์เก่าผู้ปลุกระดมราชประสงค์ นัดหมายมารวมตัวกัน

แม้แต่กลุ่มคนหลากสี นำโดย นพ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ เครือข่ายภาคประชาชน ก็จะจัดงานรำลึก 2 ปี ที่บริเวณลานสวนลุมพินีฝั่งตรงข้ามโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ด้วยจุดประสงค์นำเสนอความจริงอีกด้าน ใครกันแน่ที่เผาเมือง

อย่างไรก็ตาม ศูนย์กลางการจัดงานสำคัญคงอยู่ที่ นปช.ยึดหัวหาดแยกราชประสงค์ ซึ่งไม่ใช่แค่การทำพิธีรำลึกเรียกร้องสิทธิเสรีภาพการชุมนุม แต่เป็นการใช้โอกาสครบ 2 ปีปลุกเร้าข้อเรียกร้องทางการเมืองอื่นตามมาด้วย พิจารณาจากคำแถลงของธิดา ถาวรเศรษฐ์ ประธาน นปช. “การจัดงาน 2 ปีที่จะถึง นอกจากเรียกร้องสิทธิเยียวยาเป็นตัวเงินแล้วต้องเยียวยาในเรื่องการกอบกู้ชื่อเสียงและเกียรติภูมิของผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุมด้วย จะเน้นทำความจริงให้ปรากฏโดยเร็วที่สุดและนำคนผิดมาลงโทษด้วย

แปลกันตามตรง ต้องการใช้จังหวะนี้ฟอกพฤติกรรมมวลชนช่วงการชุมนุม 2 ปี ไม่ได้ทำอะไรผิด เช่นเดียวกับการเปิดเวทีให้ โรเบิร์ต อัมสเตอร์ดัม ทนายความส่วนตัวของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯปราศรัยถึงความคืบหน้าคดีฟ้องรัฐบาลอภิสิทธิ์สังหารประชาชนขึ้นสู่ศาลอาญาระหว่างประเทศ นั่นหมายความว่า ยังมีความต้องการเอาคนผิดจากรัฐบาลอภิสิทธิ์มาลงโทษ ซึ่งสวนกับนโยบายปรองดองรัฐบาลยิ่งลักษณ์ที่ต้องการให้ลืมๆ เหตุการณ์ในอดีต และเข้าสู่โหมดการนิรโทษกรรม ไม่เพียงเท่านั้น อีกโอกาสของแกนนำ นปช. ที่จัดงานครั้งนี้ คือการนำกรณีอากงเสียชีวิตออกมาเรียกร้องให้ดำเนินการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ทั้งที่รัฐบาลเพื่อไทยประกาศจุดยืนไม่ขอแก้ไขมาตรา 112 หลายต่อหลายครั้งแล้ว การใช้งานรำลึกครั้งนี้จึงไม่ต่างกับการทวงการบ้านรัฐบาลที่ยากจะตอบโจทย์กลุ่มคนเสื้อแดงได้ทั้งหมด

กรณีการเสียชีวิตของอากงและมีการปลุกระดมแห่ศพจุดชนวนเรียกร้องแก้ไขมาตรา 112 ขึ้นมาอีกรอบ แม้จะสร้างความฮึกเหิมให้กับคณะที่ต้องการแก้ไขกฎหมายมาตรานี้ แต่ในทางตรงกันข้ามก็มีกลุ่มที่คัดค้านออกมาประณามการแห่ศพ

ขณะเดียวกันประเด็นร้อนที่เกือบปะทุเป็นความรุนแรง เมื่อกลุ่มเสื้อแดงพากันขับไล่ “ตั๊ก บงกช” เพราะไม่พอใจที่ตั๊กแสดงความเห็นต่อกรณีอากง สะท้อนให้เห็นว่า อารมณ์คุกรุ่นของเสื้อแดงก็อาจอยู่เหนือการควบคุม แม้จะอ้างว่าเคลื่อนไหวภายใต้สิทธิเสรีภาพตามระบอบประชาธิปไตย

อย่าได้แปลกใจภายหลังกรณีล้อมรถตั๊ก บงกช ผู้ที่กำหนดนโยบายบ้านเมือง อย่างยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกฯ ออกมาให้สัมภาษณ์ทำนองปกป้องคนเสื้อแดงที่ล้อมรถดาราสาว ด้วยคำพูด “ขอยืนยันว่าไม่ได้ไปสร้างความแตกแยกให้ใคร เป็นการไปส่งเสริมในเรื่องประชาธิปไตย ต่อต้านยาเสพติด และเรื่องสิ่งแวดล้อม ไม่ได้กระด้างกระเดื่องต่อรัฐ หรือไม่ได้ทำผิดกฎหมาย อยากให้มองในแง่ดีบ้าง”

ในสถานการณ์ที่กลุ่มคนเสื้อแดงแตกหน่อ แตกความคิดเป็นหลายแนวทาง โดยเฉพาะอย่างกรณีกลุ่มแดงก้าวหน้าแก้ไข 112 ที่ต้องจับตาผ่านกรณีวอร์มอัพล้อมรถดาราสาว มะรุมมะตุ้มกลุ่มคัดค้านมาตรา 211 ผสมกับกลุ่มที่ต้องการนำเสนอความจริงเหตุการณ์พฤษภาก็ยังดำรงอยู่ มีการออกมาต่อต้านการนิรโทษกรรม ต่อต้านพฤติกรรมความรุนแรงจากการกระทำของคนเสื้อแดงในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา การรำลึกด้วยการใช้โอกาสอ้างถึงวาระต่างๆ จึงไม่มีวันจูนความคิดให้ตรงกัน

เมื่อเป็นเช่นนี้ ยิ่งนำไปสู่ความยากลำบากต่อรัฐบาลเองในการควบคุมสถานการณ์การชุมนุมเรียกร้องทั้งที่กำลังจะมาถึง