posttoday

ระเบิดศึก จีน-มะกันบนแผ่นดินพม่าผลประโยชน์ที่ใครก็ยอมไม่ได้

27 เมษายน 2555

โดย...ธนพล ไชยภาษี

โดย...ธนพล ไชยภาษี

ราวกับเป็นการลงแขกตกรางวัลให้กับพม่าอย่างงดงาม หลังจากรัฐบาลเนย์ปิดอว์ดำเนินการปฏิรูปการเมืองอย่างเข้มข้นในช่วงปีที่ผ่านมานี้ โดยกลุ่มประเทศตะวันตก ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐ แคนาดา ยุโรป ออสเตรเลีย ต่างพาเหรดกันผ่อนคลาย หรือเลิกมาตรการคว่ำบาตร พร้อมกับฟื้นสายสัมพันธ์กับพม่าขึ้นรวดเร็วอย่างน่าใจหาย

แน่นอนว่า ไม่มีประเทศไหนที่ต้องการจะเป็นแม่สายบัวตกรถไฟขบวนสุดท้ายกับสารพัดโครงการด้านเศรษฐกิจใหม่ๆ ที่พม่าเปิดตัวต่อสายตาชาวโลก ไม่ว่าจะเป็นโครงการท่าเรือทวาย และนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ต่างๆ โดยรอบ ที่กำลังถูกคาดหมายให้เป็นถึงยุทธศาสตร์เศรษฐกิจแห่งใหม่ของเอเชีย ไปจนถึงทรัพยากรธรรมชาติล้ำค่าที่อัดแน่นอยู่ทั้งบนบกและในทะเล ตลอดพื้นที่ว่างที่รอการพัฒนาอีกมหาศาล

จึงไม่ใช่เรื่องแปลกนักที่โลกตะวันตกหรือแม้กระทั่งญี่ปุ่น หรือเกาหลีใต้ จะวิ่งเข้าหาพม่ากันเป็นพัลวัน โดยไม่สนใจว่าการปฏิรูปทางการเมืองของพม่านั้นแท้จริงแล้วเป็น “ของแท้” หรือ “ของลวง” เพราะแม้พม่าจะได้รัฐบาลพลเรือนชุดแรกในรอบหลายสิบปี แต่รัฐสภาพม่าก็ยังถูกควบคุมโดยคนจากกองทัพอยู่ดี ซึ่งข้อเท็จจริงนี้ คนทั่วๆ ไปก็รู้ดีอยู่แล้ว มีหรือที่ตะวันตกจะไม่รู้และอาจจะแสร้งไม่สนใจด้วยซ้ำ

สังเกตได้ที่ผ่านมา แทบจะไม่มีตะวันตกชาติใดกดดันพม่าให้แก้รัฐธรรมนูญอย่างจริงจัง เพื่อปลดล็อกอำนาจของกองทัพอย่างแท้จริง มีแต่ออกปากชื่นชมที่พม่าอย่างออกหน้าออกตาว่าพม่ามีรัฐธรรมนูญแล้วบ้าง มีแต่ยกย่องที่พม่าปล่อยอองซานซูจีให้เข้าร่วมในกระบวนการการเมืองบ้าง

ระเบิดศึก จีน-มะกันบนแผ่นดินพม่าผลประโยชน์ที่ใครก็ยอมไม่ได้

ดังนั้น จึงมองได้ว่าการเข้าไปมีส่วนร่วมในพม่าของโลกตะวันตกนั้นดำเนินไปภายใต้วัตถุประสงค์หลักเพียงอย่างเดียว ก็คือผลประโยชน์ด้านเศรษฐกิจและการลงทุน โดยการเมืองเป็นเพียงเรื่องรองเท่านั้น

และก็แน่นอนว่า การเปิดประเทศของพม่ากำลังสร้างความเสี่ยง และเป็นภัยคุกคามต่ออิทธิพลจีนไปโดยปริยายไม่ว่าจะเป็นทั้งในด้านอิทธิพลทางเศรษฐกิจ หรืออิทธิพลทางการเมือง ในฐานะที่จีนเป็นพี่ใหญ่ของพม่ามานานหลายปี

ในช่วงหลายสิบปีที่พม่าโดดเดี่ยวตัวเองและถูกคว่ำบาตรจากโลกตะวันตกมายาวนาน จีนคือหนึ่งในไม่กี่ประเทศนอกเหนือจากไทย ที่ยังมีปฏิสัมพันธ์กับพม่าทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจในระดับเต็มรูปแบบ จนทำให้จีนกลายเป็นมหามิตรที่พม่าไว้ใจและสนิทชิดเชื้อมากที่สุดในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

จีนแผ่สยายอิทธิพลในพม่าอย่างรวดเร็วและก้าวกระโดด ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนในโครงการด้านพลังงาน ท่อส่งก๊าซ และน้ำมัน ตลอดจนการลงทุนในทรัพยากรด้านอื่นๆ พม่าก็พึ่งบารมีจีนเพื่อเป็นเกราะคุ้มกันแรงกดดันจากโลกตะวันตกมานานหลาย

จีนถือเป็นผู้ลงทุนรายใหญ่ที่สุดในพม่า โดยช่วงระหว่างปี 2010/2011 จีนทุ่มเงินลงไปในแผ่นดินลุ่มน้ำอิระวดีแล้วมากกว่า 1.4 หมื่นล้านเหรียญทีเดียว ทำให้เงินลงทุนตรงในพม่าเพิ่มขึ้น มาอยู่ที่ 2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐจากปีก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ 300 ล้านเหรียญสหรัฐเท่านั้นเอง

ว่ากันว่า เงินทุนในการสร้างเมืองหลวงใหม่ของพม่า หรือ “เนย์ปิดอว์” นั้น พม่าเสกพื้นที่ป่าเขาให้กลายมาเป็นเมืองหลวงใหม่ได้ก็เพราะเงินกู้ส่วนหนึ่งจากจีน

ก่อนพม่าจะเปิดคูหาเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์ในเดือน พ.ย. ในปี 2010 พล.อ.อาวุโส ตานฉ่วย อดีตผู้นำสูงสุดของพม่าก็ถึงกับยกคณะทหารเดินทางเยือนกรุงปักกิ่งในเดือน ก.ย. ว่ากันว่า เป็นการรายงานและเข้าปรึกษาจีนต่อแผนการปฏิรูปการเมืองที่เกิดขึ้นมาจนถึง ณ วันนี้

เหตุการณ์เหล่านี้ เป็นเครื่องพิสูจน์ได้อย่างดีถึงอิทธิพลจีนต่อพม่าได้อย่างไม่น่าสงสัย และไม่ใช่เรื่องแปลกที่จีนจะเริ่มแสดงถึงความวิตกกังวลต่อการเข้ามามีอิทธิพลในพม่าของโลกตะวันตก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเข้ามาของสหรัฐอเมริกา

ในทางการเมือง ทฤษฎีที่ว่า สหรัฐกำลังหาทางปิดล้อมจีนนั้น ยังไม่เกินความจริงนัก

โดยเฉพาะต่อกรณีพม่านั้น ซึ่งถือเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญของจีนในนโยบายเร่งการพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่ตะวันตกและพื้นที่ตอนใต้ของประเทศ ที่จะใช้พม่าเป็นจุดระบายสินค้าออกสู่ทะเล

หนึ่งในเครือข่ายรถไฟความเร็วสูงที่จีนวาดฝันเอาไว้ที่จะเชื่อมจีนตอนใต้กับภูมิภาคเอเชียตะวันตกเฉียงใต้นั้น เส้นทางหนึ่งก็มุ่งตรงลงมายังพม่าและท่าเรือทวาย

ดังนั้น การเข้ามาของสหรัฐในพม่านั้น กำลังกลายเป็นการปิดกั้นจีนอย่างเบ็ดเสร็จอีกด้วย หลังจากที่สหรัฐมีฐานทัพตลอดแนวชายฝั่งด้านตะวันออกของจีน และทางด้านใต้ก็มีอินเดียไว้ถ่วงอำนาจจีนอยู่แล้ว

แม้ว่าเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐอย่าง เดอเร็ค มิตเชล ทูตพิเศษสหรัฐประจำพม่า จะเคยกล่าวไว้ในระหว่างการเยือนปักกิ่งเมื่อเดือน ธ.ค.ปีที่แล้วว่า สหรัฐยังคงให้การเคารพผลประโยชน์ของจีนในพม่า แต่กระนั้นความเคลื่อนไหวในด้านบวกของสหรัฐต่อพม่าที่ถี่ขึ้นในช่วงนี้ ก็ไม่วายทำให้จีนเกิดการหวาด “ระแวง”

จนทางด้าน กุยเตียงไก๋ รัฐมนตรีช่วยต่างประเทศจีนถึงกับออกมาดักคอสหรัฐดังๆ เมื่อ 2 วันก่อนนี้เองว่า

“จีนหวังว่าการเข้ามาในพม่าของสหรัฐนั้น จะไม่ได้มีเป้าหมายที่ปักกิ่งแต่อย่างใด”

ในด้านเศรษฐกิจ อิทธิพลจากสหรัฐ ยุโรป ตลอดจนญี่ปุ่นกำลังกลายเป็นคู่แข่งกับจีนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เช่นกัน

รอยเตอร์สรายงานอ้างการสัมภาษณ์ เวิ่นจีเจี้ย บริษัทเหมืองรายใหญ่ในเมืองคุนหมิง มณฑลยูนนานทางตอนใต้ของจีน ยอมรับว่าในช่วงที่ผ่านมานั้น บริษัทต่างๆ ของจีนทำธุรกิจในพม่าโดยไม่ต้องวิตกกังวลอะไรนัก

“แต่ในขณะนี้ บริษัทของอเมริกาและอังกฤษกำลังวิ่งมาทั่ว และกำลังเข้ามายังหนักหน่วง จะสร้างความยากลำบากให้กับบริษัทจีนแน่นอน ดังนั้น บริษัทจีนควรจะเร่งหาทางได้เปรียบก่อนในฐานะที่เข้าไปก่อน”

อย่างไรก็ตาม เมื่อปลายปีที่แล้วได้เกิดเหตุไม่คาดคิดขึ้น เมื่อรัฐบาลพม่าได้สั่งระงับโครงการก่อสร้างเขื่อน “มยิตโสน” ทางตอนเหนือของประเทศ มูลค่า 3,600 ล้านเหรียญสหรัฐ ที่ดำเนินการโดยบริษัทจีนอย่างไม่คาดคิด หลังจากเกิดกระแสไม่พอใจต่อผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและประชาชนในพื้นที่

แต่ในขณะเดียวกัน พม่าก็ยังกลับปล่อยผ่านโครงการท่อส่งน้ำมันก๊าซธรรมชาติคู่พุ่งตรงไปยังจีนต่อไป ทั้งๆ ที่ถูกต่อต้านจากคนในพื้นที่เช่นกัน

นั่นอาจจะเป็นการย้ำเตือนว่า อิทธิพลของจีนต่ออุตสาหกรรมพลังงานในพม่านั้นยังคงไว้ใจได้อยู่ โดยที่บริษัท ซีเอ็นพีซี ของจีน ซึ่งเป็นเจ้าของโครงการท่อส่งน้ำมันก๊าซ และอีก 2 บริษัทน้ำมันรายใหญ่สุดของจีน ได้แก่ ซิโนเปก และซีเอ็นโอโอซี ก็ล้วนแต่ดำเนินการอยู่ในพม่าเช่นกัน

กระนั้นก็ตาม ใช่ว่าจีนจะไม่กังวลกับปรากฏการณ์ใหม่ที่กำลังเกิดขึ้นในพม่านัก โดยรอยเตอร์สรายงานอ้างข้อความในนิตยสาร “เอนเนอร์จี” ซึ่งบริหารโดยรัฐบาลจีนได้รายงานทางเว็บไซต์ว่า กระบวนการปฏิรูปสู่ประชาธิปไตยกำลังกลายเป็นปัญหาท้าทายครั้งใหญ่ให้กับบริษัทพลังงานของจีน และอีกทั้งสื่อกระบอกเสียงของจีนถึงกับบอกด้วยว่า “พม่ากำลังตีจากจีนไป”

“ในสายตาของผู้นำระดับสูงบางคนของพม่านั้น เห็นว่าพม่ากำลังพึ่งพาจีนมากเกินไป จากข้าวของเครื่องใช้ประจำวัน ไปถึงทรัพยากรธรรมชาติที่เป็นยุทธศาสตร์เศรษฐกิจสำคัญของประเทศ ซึ่งนั่นถือเป็นภาพลักษณ์ที่ย่ำแย่ของพม่า และเป็นสิ่งที่ไม่ดีนักต่อความมั่นคงทั้งทางเศรษฐกิจและการเมืองของพม่าเอง” เอนเนอร์จี ระบุ

สุดท้ายแล้ว การจัดการที่เหมาะสมที่สุดนั้น พม่าอาจจะต้องเลือกที่จะเว้นระยะห่างจากจีนเอาไว้บ้าง และหันไปใกล้ชิดกับมหาอำนาจอื่นๆ มากขึ้น แม้ว่าจะเป็นสหรัฐ

เพราะพม่าในวันนี้กำลังกลายเป็นสมรภูมิสงครามเย็นทางเศรษฐกิจระหว่างจีนและสหรัฐไปโดยปริยาย โดยที่พม่าเองก็มีทางเลือกไม่มากนักเช่นกัน

นอกเหนือจากจะต้องถ่วงดุลสองมหาอำนาจยักษ์ใหญ่อย่างระมัดระวังที่สุด ...เท่านั้น !