posttoday

ประชาชนใช้แพง นายทุนร่ำรวย ถึงเวลารัฐ "ยึดคืน" บริษัทน้ำมัน

20 เมษายน 2555

โดย...นันทิยา วรเพชรายุทธ

โดย...นันทิยา วรเพชรายุทธ

[email protected]

นอกเหนือจากวิกฤตการณ์การเงิน และปัญหาหนี้ยุโรปที่บ่อนทำลายความมั่งคั่งของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วอย่างหนัก อีกหนึ่งปัญหาที่ชาติตะวันตกกำลังหวาดหวั่นเพราะเป็นสิ่งที่บ่อนทำลายฐานรากของโลกทุนนิยม และกำลังเริ่มคืบคลานเข้ามาก็คือ การยึดกิจการรัฐวิสาหกิจกลับมาเป็นของรัฐ (Nationalize)

คำประกาศของประธานาธิบดีอาร์เจนตินา คริสตินา เคิร์ชเนอร์ ว่าจะยึดกิจการของ YPF หรือบริษัทน้ำมันรายใหญ่ที่สุดอันดับ 1 ในอาร์เจนตินา กลับมาเป็นของรัฐนั้น ไม่เพียงแต่จะทำให้ สเปน ซึ่งเป็นเจ้าของ YPF ต้องหวาดหวั่น แต่ยังถือเป็นสัญญาณอันตรายของระบบทุนนิยมทั่วโลก ที่เข้าไปถือครองทรัพยากรธรรมชาติในแต่ละประเทศผ่านช่องทางการแปรรูปรัฐวิสาหกิจด้วย

โดยเฉพาะหากคนในประเทศนั้นๆ เห็นชอบกับการ “ฉีก” กฎหมายการลงทุนระหว่างประเทศ และพร้อมใจกันสนับสนุนให้มีการยึดสิ่งที่ไม่ใช่แค่ธุรกิจ หากแต่เป็น “ความมั่นคงของชาติ” กลับคืนมา

อาร์เจนตินากำลังจะเป็นประเทศล่าสุดตามรอยเวเนซุเอลา ที่ประกาศยึดกิจการน้ำมันที่เคยถูกแปรรูปออกไปในยุคไอเอ็มเอฟครองเมือง ให้กลับมาเป็นของรัฐ โดยประธานาธิบดีเคิร์ชเนอร์ ประกาศแผนที่จะบังคับซื้อคืนหุ้น 51% ใน YPF จากบริษัท เรปซอล ของสเปน โดยเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามสร้างรูปแบบการเติบโตทางเศรษฐกิจ บนแนวทางการคุ้มครองอุตสาหกรรมในประเทศ (Protectionism) และการใช้จ่ายของผู้บริโภคในประเทศ

ประชาชนใช้แพง นายทุนร่ำรวย ถึงเวลารัฐ "ยึดคืน" บริษัทน้ำมัน

 

“เหลืออาร์เจนตินาเพียงประเทศเดียวแล้วในละตินอเมริกา (ที่ยังให้ต่างชาติเป็นเจ้าของกิจการน้ำมันอยู่) และฉันขอพูดในทางปฏิบัติจริงไปยังทั่วทั้งโลกที่ไม่ได้บริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติอยู่ในบ้านของตัวเองว่า นี่ไม่ใช่รูปแบบของชาตินิยม แต่เป็นการฟื้นฟูอธิปไตยของประเทศ” เคิร์ชเนอร์ กล่าว

แน่นอนว่าท่าทีของรัฐบาลอาร์เจนตินาถูกตำหนิอย่างหนักจากทั้งสเปน สหรัฐ ยุโรป สื่อตะวันตก ไปจนถึงอดีตคนในรัฐบาลของตัวเอง โดยอ้างว่าท่าทีของรัฐบาลอาร์เจนตินาจะทำลายภาพลักษณ์ของประเทศ และส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์กับนักลงทุนต่างชาติอย่างหนัก

โดยเฉพาะสเปน ซึ่งเป็นนักลงทุนต่างชาติรายใหญ่ที่สุดอันดับ 1 ในอาร์เจนตินา และจะฉุดให้บรรยากาศการลงทุนในละตินอเมริกาโดยรวมเป็นไปในแง่ลบด้วย บริษัทแม่เรปซอลนั้นประกาศกร้าวว่าหากจะซื้อคืน ก็ต้องจ่ายไม่ต่ำกว่า 1.05 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 3.15 แสนล้านบาท) ในสัดส่วนหุ้น 57.4%

การยึดกิจการกลับครั้งนี้ ยังเป็นทิศทางการเมืองฝ่ายซ้ายที่เกิดขึ้นต่อเนื่องในละตินอเมริกา ตามหลังเวเนซุเอลา และโบลิเวีย ที่ตัดสินใจยึดกิจการต่างๆ ของต่างชาติกลับมาเป็นของรัฐ

แน่นอนว่าอาร์เจนตินาต้องเสียเครดิตการลงทุนระหว่างประเทศ

แต่กลุ่มโลกตะวันตกกลับเป็นฝ่ายที่สูญเสียมากกว่าในแง่ของผลประโยชน์ระยะยาว ในขณะที่กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาทั่วโลกกำลังตระหนักถึงความสำคัญของ “ทรัพยากรธรรมชาติ” มากขึ้นว่าไม่ได้เป็นเพียงแค่ธุรกิจ ที่จะสามารถปล่อยให้เป็นไปอย่างเสรีตามกลไกตลาดได้ แต่สิ่งเหล่านี้ถือเป็นความมั่นคงของชาติที่จำเป็นอย่างยิ่งต่อการใช้ชีวิตและดำรงอยู่ของคนในชาติ โดยเฉพาะอนาคตในวันข้างหน้าของประเทศ

จากรายงานของบริษัทที่ปรึกษาความมั่นคงทางพลังงาน พีเอฟซี เอ็นเนอจี พบว่า ในบรรดาประเทศที่มีน้ำมันและก๊าซธรรมชาติทั่วโลกนั้น มีเพียง 7% เท่านั้นที่ยอมปล่อยให้บริษัทต่างชาติเข้ามาลงทุนได้อย่างเสรี ขณะที่กิจการน้ำมันทั่วโลกถึง 65% ล้วนอยู่ในรูปแบบบริษัทหรือกิจการของรัฐทั้งสิ้น เช่น บริษัทอารัมโก ของซาอุดีอาระเบีย โดยแทบจะไม่มีการปล่อยให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนในทรัพยากรธรรมชาติพลังงาน และยังมีแนวโน้มที่อีกหลายประเทศ อาทิ เม็กซิโก อิหร่าน อิรัก คูเวต และรัสเซีย จะเดินหน้าจำกัดการลงทุนของต่างชาติในทรัพยากรเหล่านี้ด้วย

ทิศทางดังกล่าวยังนับเป็นผลเสียอย่างยิ่งต่อบรรดาบริษัทพลังงานยักษ์ใหญ่ในสหรัฐและยุโรป ที่เข้าไปลงทุนด้านพลังงานในต่างประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะในปัจจุบันที่ภาวะเศรษฐกิจของซีกโลกตะวันตกยังคงย่ำแย่อย่างหนัก จากปัญหาในตลาดการเงิน และปัญหาหนี้สาธารณะ ซึ่งทำให้การค้าขายโดยรวมซบเซาลง

แต่แม้จะถูกค้านอย่างหนัก ไม่เว้นแม้แต่เพื่อนบ้านบางประเทศในละตินอเมริกาซึ่งมีหุ้นอยู่ใน YPF ด้วย รัฐบาลอาร์เจนตินาก็ยังคงยืนยันความชอบธรรม โดยให้เห็นผลว่ากระบวนการผลิตน้ำมันของ YPF มีปริมาณลดลง จนทำให้รัฐบาลต้องนำเข้าน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในปี 2011 เพิ่มขึ้นถึงเท่าตัวเมื่อเทียบกับในปี 2010 เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการในประเทศ และยังคาดว่าการนำเข้าจะเพิ่มขึ้นเป็น 3 เท่าตัวภายในปลายปีนี้ด้วย

ทั้งที่อาร์เจนตินาเป็นผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ที่สุดอันดับที่ 27 ของโลก !

นอกจากจะอ้างว่า บริษัท เรปซอล ไม่ได้ลงทุนใน YPF อย่างเหมาะสมเพียงพอ จนทำให้รัฐบาลต้องนำเข้าพลังงานมาทดแทนจำนวนมากแล้ว การต้องนำเข้าพลังงานจากภายนอกยังเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ตัวเลขการค้าของอาร์เจนตินา เกินดุลลดลงถึง 11% เมื่อปีที่แล้วด้วย โดยทรัพยากรธรรมชาติอย่างน้ำมันและก๊าซธรรมชาตินั้น ถือเป็นสินค้าที่สร้างรายได้หลักเพียงหนึ่งเดียวของประเทศ นับตั้งแต่ที่อาร์เจนตินาตกอยู่ในสภาวะล้มละลายจากการผิดนัดชำระหนี้ เมื่อปี 2001

ปัญหาดังกล่าวจึงสะท้อนออกมาด้วยการตอบรับด้วยดีภายในอาร์เจนตินา บรรดา สส. และ สว. กำลังเตรียมลงมติเพื่อซื้อคืนกิจการ YPF กลับมาเป็นของรัฐ ซึ่งคาดว่าจะผ่านทั้งสภาสูงและสภาล่างได้อย่างฉลุย หลังจากที่เคิร์ชเนอร์ ชนะกลับมาเป็นประธานาธิบดีสมัยที่ 2 เมื่อปีที่แล้ว ด้วยเสียงสนับสนุนจากประชาชนถึง 54.1% โดยเฉพาะประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศที่อยู่ในฐานะยากจน

เพราะถึงอย่างไร ความสำคัญของประเทศและความเป็นอยู่ของคนในชาติ ก็ย่อมต้องมาก่อนสิ่งอื่นใด

ยิ่งราคาน้ำมันในตลาดโลกมีแต่จะปรับตัวสูงขึ้น ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังเอาแน่เอานอนไม่ได้

“การยึดกลับ” หรือจำกัดบทบาทของต่างชาติในกิจการพลังงานภายในประเทศ จึงอาจเป็นหนทางรอดของอีกหลายชาติ ที่ไม่ได้จำกัดแค่ในละตินอเมริกา ก็เป็นได้