posttoday

เวิลด์แบงก์ในวันลมเปลี่ยนทิศภารกิจไม่ง่ายรอรับผู้นำใหม่..."จิมยองคิม"

18 เมษายน 2555

โดย...นันทิยา วรเพชรายุทธ

โดย...นันทิยา วรเพชรายุทธ

แม้พลังเสียงของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาจะดังขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก ในยามที่ขั้วอำนาจเก่าเศรษฐกิจสหรัฐเพิ่งจะฟื้นตัว และเศรษฐกิจยุโรปยังคงลูกผีลูกคน ทว่าเสียงของประเทศกำลังพัฒนาและกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ ก็ยังไม่มีพลังมากพอที่จะเปลี่ยนแปลงธรรมเนียมประเพณีเดิมๆ ที่ถูกผูกขาดโดยขั้วอำนาจตะวันตก

“จิมยองคิม” ผู้แทนจากสหรัฐเชื้อสายเกาหลีใต้ ได้รับเลือกให้ขึ้นนั่งประธานธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) คนใหม่แทนที่ โรเบิร์ต โซลลิก ที่หมดวาระ และเป็นการตอกย้ำธรรมเนียมเดิมๆ อีกครั้งว่า สหรัฐได้คุมเวิลด์แบงก์ ส่วนยุโรปได้คุมกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ผ่านผู้แทนของตนที่ผูกขาดเก้าอี้ประธานมาทุกยุคทุกสมัย

แต่กระนั้นก็มีสิ่งที่กำลังเปลี่ยนไปในปีนี้ และ จิมยองคิม ก็อาจต้องทำหน้าที่อย่างยากลำบากยิ่งกว่าผู้แทนอเมริกันคนก่อนๆ

เพราะเวิลด์แบงก์ไม่ใช่องค์กรที่ “จำเป็น” ต่อกลุ่มประเทศกำลังพัฒนามากเหมือนเดิมอีกต่อไป

ตรงกันข้าม กลับเป็นเวิลด์แบงก์เองที่ต้องเป็นฝ่ายเข้าหาเพื่อให้ตนเองยังมีส่วนร่วมกับประเทศเหล่านี้ โดยเฉพาะกับตลาดเกิดใหม่อย่างจีน บราซิล และอีกหลายประเทศที่หันไปพึ่งเงินกู้ของสถาบันการเงินหรือนักลงทุนเอกชนโดยตรงแทน โดยจีนนั้นก็ยังถือเป็นแหล่งเงินกู้รายใหม่และรายใหญ่ของทวีปแอฟริกา ละตินอเมริกา และอีกหลายประเทศในยุคนี้

และเท่ากับว่ารายได้ของเวิลด์แบงก์ที่มาจากการปล่อยกู้ตลอดหลายปีที่ผ่านมากำลังลดลงตามไปด้วยเช่นกัน

ในการคัดสรรผู้ดำรงตำแหน่งประธานธนาคารโลกที่กรุงวอชิงตัน เมื่อวันที่ 16เม.ย. จิม ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุข โดยเฉพาะการต่อสู้กับโรคเอดส์ในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา สามารถเอาชนะคู่แข่งอย่างรัฐมนตรีคลังไนจีเรีย และอดีตรัฐมนตรีคลังของโคลัมเบียมาได้ โดยได้กล่าวถ้อยแถลงเอาไว้ว่า จะแสวงหาความเป็นหนึ่งเดียวใหม่สำหรับเวิลด์แบงก์ กรุ๊ป ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของโลกอย่างรวดเร็ว และจะบริหารองค์กรดังกล่าวที่เปรียบเสมือนเสียงของประเทศกำลังพัฒนาทั่วโลก

เวิลด์แบงก์ในวันลมเปลี่ยนทิศภารกิจไม่ง่ายรอรับผู้นำใหม่..."จิมยองคิม"

 

ขณะนี้ยังไม่มีใครคาดเดาได้ว่า จิมจะสามารถฝ่าฟันและพัฒนาองค์กรไปได้มากน้อยแค่ไหน เพราะเส้นทางชีวิตของจิมนั้นแตกต่างอย่างสิ้นเชิงจากประธานเวิลด์แบงก์คนก่อนๆ ไม่ใช่ทั้งนายแบงก์นักเศรษฐศาสตร์ หรือนักการเมือง แต่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขที่คลุกคลีกับการต่อสู้กับโรคเอดส์/เอชไอวี ทำให้คาดเดาได้ยากว่าหมอจะบริหารแบงก์อย่างไร

ทว่า สิ่งที่เห็นได้แน่ชัดแล้วในขณะนี้ก็คือ เส้นทางดังกล่าวจะไม่ง่ายเหมือนที่ผ่านๆ มาอีก กับภารกิจสุดท้าทาย 2 ประการหลักๆ ก็คือ ทำอย่างไรให้เวิลด์แบงก์ยังเป็นที่ปล่อยกู้หลักสำหรับประเทศทั่วโลก และทำอย่างไรให้เวิลด์แบงก์ยังเป็นองค์กรที่ทรงอิทธิพลต่อโลกอยู่

นอกจากค่าธรรมเนียมการเป็นสมาชิกจะเป็นรายได้ประจำปีของเวิลด์แบงก์แล้วอีกช่องทางรายได้หลักขององค์กรแห่งนี้ก็คือ ดอกเบี้ยจากการปล่อยเงินกู้ และการจำหน่ายพันธบัตรในตลาดการเงินทั่วโลก

ในปี 2554 ที่ผ่านมา เวิลด์แบงก์มีลูกค้าโดยปล่อยกู้ไปทั้งหมด 5.7 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 1.71 ล้านล้านบาท) ซึ่งถือเป็นสัดส่วนที่น้อยมากเมื่อเทียบกับทุนไหลเข้าสุทธิไปยังกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ซึ่งมีจำนวนถึง 9.1 แสนล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 27.3 ล้านล้านบาท) จากการเปิดเผยของสถาบันการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอฟเอฟ)

เอ็นโกซี โอคอนโจ ไอวีลา รัฐมนตรีคลังหญิงไนจีเรีย ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานเวิลด์แบงก์ครั้งนี้ด้วย เคยกล่าวไว้ว่า บรรดาลูกค้าต่างหายหน้าไปจากเวิลด์แบงก์ที่มีมาตรการต่างๆ มากมาย และยังเต็มไปด้วยวัฒนธรรมองค์กรที่ทำให้การทำงานล่าช้า เพราะอาจต้องรอนานระหว่าง 10 เดือน–1 ปี กว่าจะมีการอนุมัติเงินกู้ซึ่งทำให้ลูกค้าหมดความสนใจไป

ประเทศกานา คือกรณีตัวอย่างที่หันไปบรรลุข้อตกลงกู้เงินก้อนใหญ่สุดเป็นประวัติการณ์เท่าที่เคยทำมา 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 3 หมื่นล้านบาท) กับธนาคารเพื่อการพัฒนาของจีน

นอกจากภารกิจต้องเพิ่มการกู้ยืมเงินกับเวิลด์แบงก์มากขึ้นแล้ว ก็ยังต้องผูกสัมพันธ์กับกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาไปพร้อมกันด้วย เช่นที่ โรเบิร์ต โซลลิก ประธานคนปัจจุบันที่กำลังจะหมดวาระ บริหารด้วยการแต่งตั้งให้นักเศรษฐศาสตร์ชาวจีน จัสติน หลิน เป็นหัวหน้าคณะนักเศรษฐศาสตร์ของเวิลด์แบงก์ เพื่อเข้าไปร่วมวิจัยเศรษฐกิจของจีนได้ง่ายขึ้น

ทั้งหมดนี้คือภารกิจ “ไม่ง่าย” ที่ จิม จะต้องพิสูจน์ต่อไป โดยที่ความเป็นชาวอเมริกันสายเลือดเอเชียเกาหลีใต้ ก็อาจจะไม่สามารถกรุยทางช่วยอะไรได้มาก