posttoday

กำปั้น'ทักษิณ'ทุบศาลล้มกระดานปรองดอง

17 เมษายน 2555

ความเคลื่อนไหวของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมาจากการโคจรรอบประเทศไทย

โดย...ไพบูลย์ กระจ่างวุฒิชัย

ความเคลื่อนไหวของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมาจากการโคจรรอบประเทศไทย ทั้งลาวและกัมพูชา ยิ่งตอกย้ำว่าถนนแห่งการปรองดองมีความเป็นไปได้น้อยลงเข้าไปทุกที แม้ว่าพรรคเพื่อไทยพยายามแสดงท่าทีประนีประนอมออกมา

ตั้งแต่การออกโรงปกป้อง พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ว่าไม่ใช่คู่ขัดแย้งทางการเมือง ไปจนถึงการอวยพรให้มีสุขภาพแข็งแรง

ทั้งที่ ก่อนหน้านี้ พ.ต.ท.ทักษิณ เคยประกาศว่า พล.อ.เปรม เป็นปฏิปักษ์ เป็นผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญ คอยทำลายความน่าเชื่อถือ ขณะที่กลุ่มคนเสื้อแดงก็ออกมาขับไล่บุกบ้าน ด่าทอ โจมตี เรียกร้องให้ พล.อ.เปรม ลาออกจากประธานองคมนตรี

แต่ทุกอย่างกำลังกลายเป็นปราสาททราย จากคำพูดของ พ.ต.ท.ทักษิณ ที่กลับมาเล่นเกมปรองดอง ซูเอี๋ยเพื่อหวังผลให้เกิดการนิรโทษกรรม

ล่าสุด พ.ต.ท.ทักษิณ ออกมาระบุว่า มีความหวังจะได้กลับประเทศไทยในปีนี้โดยอ้างถึงปีมหามงคล

“เราถือว่าเป็นปีมหามงคล ที่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เจริญพระชนมพรรษาครบ 60 พรรษา ซึ่งถือว่าเป็นรอบที่สำคัญ และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เจริญพระชนมพรรษาครบ 80 พรรษา จึงรู้สึกว่าเป็นปีที่ดี ก็น่าจะมีสิ่งดีๆ เกิดขึ้น ไม่ได้มีความหมายเชื่อมโยง เราเป็นคนพุทธก็พยายามคิดในสิ่งที่เป็นมงคล”

กำปั้น'ทักษิณ'ทุบศาลล้มกระดานปรองดอง

ท่าทีครั้งนี้ อาจจุดกระแสความขัดแย้งอีกครั้งว่าการกระทำของ พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นการมิบังควรหรือไม่ หรือแม้แต่การพาดพิงถึงสถาบันตุลาการและกระบวนการยุติธรรม

“ผมไม่ได้ทำอะไรผิดนะ ถ้ามีกระบวนการยุติธรรมที่ถูกต้องตามกฎหมาย และก็มีกระบวนการที่เป็นสากล ยุติธรรม ใครก็รับได้ และก็ไม่กลัวอยู่แล้ว ถ้าไม่ได้ทำผิดนี่บังเอิญว่าเราเป็นภาคียูเอ็น (สหประชาชาติ) ที่ว่าไม่รับศาลเดียว แต่เราก็ตั้งศาลเดียวซึ่งเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมายระหว่างประเทศอยู่แล้ว”

แน่นอนว่าการแสดงทัศนะถึงสถาบันตุลาการลักษณะนี้ ต้องการพุ่งเป้าไปยังศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองโดยตรง เนื่องจากเป็นศาลที่พิพากษาตัดสิน พ.ต.ท.ทักษิณ ใน 2 คดีสำคัญ ได้แก่ 1.คดีทุจริตจัดซื้อที่ดินรัชดา มีผลให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ต้องโทษจำคุก 2 ปี 2.คดีร่ำรวยผิดปกติ ซึ่งศาลสั่งยึดทรัพย์ พ.ต.ท.ทักษิณ 4.6 หมื่นล้านบาท

ทั้งสองคดีกระทบต่อ พ.ต.ท.ทักษิณเต็มแรง ถึงขั้นต้องระหกระเหินออกนอกประเทศไทย เพราะมีหมายจับให้มาจำคุกตามคำพิพากษาในคดีที่ดินรัชดา

นอกจาก 2 คดีซึ่งถือเป็นที่สุดแล้ว พ.ต.ท.ทักษิณ ยังมีคดีค้างในสารบบของศาลสูงอีกมากอย่างน้อย 4 คดี เพื่อรอให้มาขึ้นศาลสู้คดี ประกอบด้วย

1.คดีปล่อยเงินกู้ของธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (เอ็กซิมแบงก์) 4,000 ล้านบาท ให้กับรัฐบาลพม่าที่เอื้อประโยชน์ให้กับบริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น

2.คดีแปลงสัญญาสัมปทานธุรกิจโทรคมนาคม

3.คดีทุจริตการออกหวยบนดิน 2 ตัวและ 3 ตัว แม้ศาลฎีกาจะยกฟ้องจำเลยไปบางส่วนแล้ว แต่ระหว่างการพิจารณาคดี พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่ได้อยู่ในประเทศไทย ทำให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ต้องต่อสู้คดีนี้อยู่

4.คดีปกปิดบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน ซึ่งเป็นคดีที่ขยายผลมาจากคำพิพากษายึดทรัพย์

ทุกคดีที่ผ่านมา พ.ต.ท.ทักษิณ ก็ได้ใช้สิทธิต่อสู้ตามกระบวนการยุติธรรมอย่างเต็มที่ตั้งแต่ชั้นการพิจารณาของคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ที่ พ.ต.ท.ทักษิณ อ้างภายหลังว่า คตส.มาโดยไม่ชอบจากการปฏิวัติ จนมาถึงศาลฎีกาฯ ถึงขั้นที่ พ.ต.ท.ทักษิณ เดินทางกลับมาไทยด้วยตัวเองในสมัยรัฐบาลพรรคพลังประชาชน และส่งทนายความหลายชุดแก้ต่างในทุกประเด็น กระทั่งยังเกิดพฤติกรรมไม่เหมาะสมกรณี “ถุงขนม 2 ล้าน” จน พิชิต ชื่นบาน ทนายความส่วนตัวของ พ.ต.ท.ทักษิณ ถูกศาลฎีกาฯ สั่งจำคุก 6 เดือน โดยไม่รอลงอาญา ในคดีในความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล

ทว่า เมื่อศาลฎีกาได้พิพากษาคดีต่างๆ ออกมา ซึ่งล้วนไม่เป็นคุณกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ท่าทีของอดีตนายกฯ ผู้นี้ จึงเป็นอย่างที่เห็น ไม่พอใจในกระบวนการยุติธรรมไทย อ้างว่าไม่เป็นมาตรฐานสากล ถูกกลั่นแกล้ง และไม่ได้รับเป็นธรรม

ประการสำคัญใช่ว่าที่ผ่านมา พ.ต.ท.ทักษิณ และคณะจะแพ้คดีตลอด แต่ก็เคยเป็นฝ่ายชนะคดีหลายครั้ง

ไม่ว่าจะเป็นกรณีศาลอุทธรณ์ยกฟ้องคุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชร ในคดีการเลี่ยงภาษีการซื้อขายหุ้นบริษัท ชินวัตร คอมพิวเตอร์ แอนด์ คอมมิวนิเคชั่นส์ หลังจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้จำคุก ก่อนที่ในเวลาต่อมาอัยการสูงสุดในยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ปัจจุบันจะมีคำสั่งไม่ยื่นศาลฎีกาเป็นอันปิดฉากคดีนี้โดยสมบูรณ์

มาจนถึงคำพิพากษาศาลอาญาให้ “สนธิ ลิ้มทองกุล” และ “สโรชา พรอุดมศักดิ์” มีความผิดฐานหมิ่นประมาท พ.ต.ท.ทักษิณ

ขณะเดียวกัน ย้อนกลับไปสมัยรัฐบาลไทยรักไทย ยังเป็นที่ทราบกันดีว่า พ.ต.ท.ทักษิณ สามารถเข้าสู่อำนาจรัฐและรักษาอำนาจเอาไว้ถึง 2 ครั้ง จากคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญให้พ้นผิดในคดีซุกหุ้นภาค 1 และภาค 2

ถ้า พ.ต.ท.ทักษิณ แพ้คดีซุกหุ้นตั้งแต่วันนั้น คงไม่มี พ.ต.ท.ทักษิณ นั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรี เป็นผู้ทรงอิทธิพลหลังฉากในวันนี้

ดังนั้น การพูดพาดพิงถึงกระบวนการยุติธรรมของอดีตนายกฯ ลักษณะนี้ ย่อมหนีไม่พ้นคำครหาได้ว่า เอาความยุติธรรมของตนเองเป็นที่ตั้ง เพราะคดีใดที่ตัดสินแล้ว พ.ต.ท.ทักษิณ แพ้ ก็จะไม่พอใจและโจมตีว่าศาลไม่ยุติธรรม แต่คดีใดที่ชนะก็บอกว่ามีความยุติธรรมเกิดขึ้น

เป้าหมายของ พ.ต.ท.ทักษิณ ผ่านพรรคเพื่อไทยในวันนี้ คือ การล้มคดีความของตัวเอง และเพิกถอนคดีของ คตส. ทั้งหมด ผ่านกระบวนการใช้เสียงข้างมากในรูปแบบต่างๆ

แต่ยิ่งกระทบกระเทียบศาลมากเท่าไร การเดินหน้าเพื่อสร้างความปรองดองยิ่งลำบากและปะทะกับกระแสต่อต้านมากขึ้น ซึ่งสถาบันพระปกเกล้าได้แสดงความเป็นห่วงเอาไว้ในรายงานวิจัยเรื่องการสร้างความปรองดองว่า หากใช้ความยุติธรรมของผู้ชนะก็จะ “นำไปสู่ความสับสนของประชาชน และสงครามความปรองดอง”

เมื่อความปรองดองในมิติของพรรคเพื่อไทย ภายใต้การควบคุมของ พ.ต.ท.ทักษิณมีเป้าหมาย คือ การเป็นผู้ชนะในกระบวนการยุติธรรม ย่อมหนีไม่พ้นการผลักให้สังคมเข้าสู่ภาวะเผชิญหน้าอีกครั้ง

เท่ากับว่าความปรองดองตามที่รัฐบาลโปรยยาหอมเอาไว้นั้น ไม่ได้ตอบสนองประโยชน์สาธารณะแต่เป็นเพียงการทำเพื่อคนคนเดียว

จึงเป็นเรื่องที่รัฐบาอาจต้องชั่งใจให้หนักว่าจะให้ พ.ต.ท.ทักษิณ กลับบ้านแบบเท่ๆ อย่างพระเอก ท่ามกลางความกังขาในเวลานี้หรือไม่

เว้นเสียแต่ว่า รัฐบาลจะใจถึงด้วยการตรา พ.ร.บ.นิรโทษกรรม หรือเสนอ พ.ร.ฎ.ขอพระราชทานอภัยโทษ ตรงนั้นก็ถือเป็นความสามารถพิเศษเฉพาะตัวของรัฐบาลชุดนี้ แต่สังคมอาจต้องลุกเป็นไฟ เกิดการเผชิญหน้า ส่อเกิดความรุนแรงขึ้น