posttoday

"ปู" เอาไม่อยู่ ซ้ำซาก อาฟเตอร์ช็อคถล่มรัฐบาล

13 เมษายน 2555

ความรุนแรงขนาด 8.6 ริกเตอร์ แม้จะไม่บานปลายขยายตัวกลายเป็น “สึนามิ”

โดย...ธนพล บางยี่ขัน

ความรุนแรงขนาด 8.6 ริกเตอร์ แม้จะไม่บานปลายขยายตัวกลายเป็น “สึนามิ” สร้างความเสียหายรุนแรงแก่ชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนในพื้นที่ 6 จังหวัดชายฝั่งอันดามัน เหมือนเมื่อครั้งปี 2547 ทว่า “อาฟเตอร์ช็อก” ที่ตามมา กำลังสั่นสะเทือน “ภาวะผู้นำ” ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เต็มแรง

5 ชั่วโมงระทึก!!! ตั้งแต่เกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวใต้ทะเล 33 กิโลเมตร นอกชายฝั่งทะเลเกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย เวลา 15.38 น. จนกระทั่ง น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รมว.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร(ไอซีที) ประกาศยกเลิกการเฝ้าระวังสึนามิ เวลา 20.45 น. ล้วนเป็นไปด้วยความปั่นป่วนวุ่นวายที่สำคัญเป็นการตอกย้ำความไร้ประสิทธิภาพในการบริหารจัดการรับมือภัยพิบัติของรัฐบาล

แรงสั่นสะเทือนที่แผ่กระจายรัศมีจนชาวบ้านในพื้นที่ภาคใต้เรื่อยมาจนถึงชาวกรุงที่อาศัยอยู่บนตึกสูงระฟ้ารับรู้ถึงความผิดปกติ ไม่น่าจะเป็นสาเหตุให้เกิดความโกลาหลขนาดนี้ เมื่อบทเรียนสำคัญจากสึนามิปี 2547 ได้สร้างความตื่นตัวและนำมาสู่การบูรณาการ “ยกเครื่อง” ศูนย์เตือนภัยทั้งระบบ พร้อมการซ้อมอพยพชาวบ้านในพื้นที่ให้พร้อมรับมือตลอดเวลา

ระยะเวลาไม่ถึงชั่วโมง หลังจากเกิดแผ่นดินไหวจนนำมาสู่การแจ้งเตือนของศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ให้อพยพประชาชนในพื้นที่ 6 จังหวัดอันดามัน ได้แก่ จ.ภูเก็ต กระบี่ พังงา ระนอง ตรัง สตูล ขึ้นพื้นที่สูง น่าจะเป็นไปตามมาตรฐานขั้นตอนการดำเนินการ

แต่สิ่งที่เป็นปัญหาคือ ช่องทางการสื่อสารเข้าถึงประชาชนทั้งในพื้นที่เสี่ยง พื้นที่ใกล้เคียง หรือประชาชนทั่วทั้งประเทศ ที่ควรจะได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องจากหน่วยงานที่เชื่อถือได้ จากผู้นำรัฐบาล รัฐมนตรี หรือเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีหน้าที่จะต้องชี้แจงทำความเข้าใจสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นระยะ รวมไปถึงการประเมินสถานการณ์ความเสี่ยงที่จะมีอะไรเกิดขึ้นต่อจากนี้ เพื่อหาทางป้องกันความสูญเสีย

แต่เมื่อข้อมูลข่าวสารอย่างเป็นทางการจากส่วนกลางไม่ได้ถูกส่งไปถึงประชาชนในพื้นที่ ช่องทางที่ทำได้คือการโทรศัพท์สอบถาม ปรึกษา ว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป ทำให้การใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่มีปริมาณการใช้มากเกินกว่าที่โครงข่ายจะรับได้ จนระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ล่มไม่สามารถใช้การได้ จึงยิ่งกลายเป็นปัจจัยซ้ำเติมให้ความปั่นป่วนเพิ่มมากขึ้น

ทางออกที่พอจะทำได้คือ การติดตามสถานการณ์ผ่านช่องทางเท่าที่จะทำได้ ไม่ว่าจะเป็นเว็บไซต์หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สื่อมวลชน ทั้งในและต่างประเทศ ไปจนถึงโซเชียลมีเดีย ที่มีการตื่นตัวอยู่พอสมควร ซึ่งช่วยให้คนส่วนหนึ่งพอจะรับรู้รับทราบสถานการณ์ที่เกิดขึ้น แต่บางส่วนซึ่งไม่มีโอกาสเข้าถึงช่องทางการสื่อสารก็ต้องตกค้างแบบไม่มีทางเลือก

น่าตกใจตรงที่หลังเกิดเหตุการณ์ ทั้ง สส.สว. ซึ่งอยู่ระหว่างการประชุมรัฐสภาพิจารณาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ วาระ 2 ก็ยังไม่ทราบข้อมูลข้อเท็จจริง จน สส.ประชาธิปัตย์ในพื้นที่ 6 จังหวัด ได้หยิบยกประเด็นนี้ขึ้นมาสอบถามในที่ประชุม หลังจากได้รับโทรศัพท์สอบถามสถานการณ์จากในพื้นที่ ก็ไม่สามารถมีใครให้คำตอบได้ โดยนพ.สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ รมช.สาธารณสุข ชี้แจงเพียงแต่ว่าประสานไปยังนายปลอดประสพ สุรัสวดี รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

\"ปู\" เอาไม่อยู่ ซ้ำซาก อาฟเตอร์ช็อคถล่มรัฐบาล

 

ไล่ดูเวลา 16.40 น. ศูนย์เตือนภัยสึนามิแปซิฟิกในฮาวายประกาศเฝ้าระวังสึนามิในไทย 17.00 น. ผู้นำอินโดนีเซียสั่งเฝ้าระวังสถานการณ์ในระดับสูงสุด 17.05 น. การท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย ประกาศปิดสนามบินนานาชาติภูเก็ต 17.40 น. เกิดอาฟเตอร์ช็อก8.8 ริกเตอร์ ตอนเหนือเกาะสุมาตรา หาดป่าตองน้ำเริ่มลดระดับ จนเกือบ 18.00 น. เกิดสึนามิระดับ 1030 เซนติเมตร ที่เกาะเมียง จ.พังงา แต่กลับยังไม่มีข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องเชื่อถือได้จากหน่วยงานรัฐเพื่อบรรเทาความโกลาหล

การหยิบยกเหตุผลเรื่องการถ่ายทอดพระราชพิธี ซึ่งเป็นหมายกำหนดการล่วงหน้าคงไม่มีน้ำหนักเพียงพอจะแก้ตัวถึงการไม่มีช่องทางการสื่อสารแจ้งเตือนไปถึงประชาชน เพราะทางออกอย่างการขึ้นตัววิ่งรายงานสถานการณ์แจ้งเตือนเป็นระยะ หรือจะเปิดให้บางสถานีหันมารายงานเกาะติดสถานการณ์ นอกจากสถานีไทยพีบีเอส ก็สามารถอยู่ในวิสัยที่ทำได้ หากรัฐบาลจะคิดทำ

คำชี้แจงของ น.อ.อนุดิษฐ์ ต่อเสียงวิพากษ์โจมตีความล่าช้าในการประกาศเตือนภัยว่า “ช้าตรงไหน เพราะการประกาศแจ้งเตือนภัยของไทยถือว่าเป็นอันดับต้นๆ ของภูมิภาค ไม่ว่าจะเป็นหอกระจายข่าวหรือหอเตือนภัยได้ทำหน้าที่ทั้งหมด อีกทั้งยังมีการส่งข้อมูลไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างรวดเร็ว” ดูจะยังสวนทางกับความคิดของสังคม

ยิ่งในประเด็น นายกฯ ยิ่งลักษณ์ เลือกใช้วิธีการบันทึกเทปโทรทัศน์ เพื่อเผยแพร่ในรายการโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย เพื่อชี้แจงสถานการณ์ ซึ่งยิ่งล่าช้ากว่าที่ควรจะเป็น เพราะการออกอากาศในช่วง 20.15 น. นั้น เป็นช่วงเวลาที่สถานการณ์เริ่มคลี่คลาย แม้แต่ศูนย์เตือนภัยสึนามิแปซิฟิกในฮาวาย ยังยกเลิกการเฝ้าระวังไปก่อนหน้านั้นแล้ว

ส่วนสาเหตุใดที่ทำให้รัฐบาลตั้งท่าจะแถลงผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจ จนถึงขั้นขึ้นจอเตรียมพร้อมรอแถลง แต่สุดท้ายกลับเลื่อนออกไปนั้น ยิ่งทำให้สังคมขาดความเชื่อมั่นกับรัฐบาล

ไม่หมดแค่นั้น กับท่าทีของนักวิชาการที่เสนอให้เฝ้าระวังต่ออีก 1-2 วัน พร้อมทั้งทำความเข้าใจกับพี่น้องประชาชนในพื้นที่ แต่ก็ยังไม่เห็นท่าทีรัฐบาลจะเอาจริงเอาจังกับเรื่องนี้แต่อย่างไร

ความล้มเหลวในการบริหารจัดการภัยพิบัติธรรมชาติรอบนี้ จึงถือเป็นความผิดซ้ำสอง ซึ่งรัฐบาลไม่สามารถออกตัวเรียกคะแนนเห็นใจเหมือนเมื่อครั้งน้ำท่วม หรือโยนให้เป็นความผิดของฝนฟ้าที่มามากกว่าปกติ และขอให้เห็นใจนายกฯ มือใหม่ที่เพิ่งเข้ามารับตำแหน่งได้ไม่กี่เดือนอย่างที่เคยทำเมื่อครั้งน้ำท่วมที่ผ่านมา

ปัญหาเดิมๆ ทั้งเรื่องข้อมูลและข้อเท็จจริงจากภาครัฐ เพื่อชี้แจงทำความเข้าใจกับสังคม ต่อสถานการณ์ ยังเป็นจุดอ่อนของรัฐบาล ซึ่งยังมีให้เห็นต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงน้ำท่วมมาจนถึงการเยียวยาและมาตรการป้องกัน ต่อเนื่องจนถึงแผ่นดินไหวครั้งนี้ ล้วนแต่ตอกย้ำความล้มเหลวในการบริหารจัดการที่มีปัญหา

ที่สำคัญ การรับมือต่อปัญหาภัยพิบัติที่ต้องอาศัยความรวดเร็วถูกต้องแม่นยำเข้าไปจัดการแก้ไขสถานการณ์ ยังเป็นสิ่งที่ นายกฯ ยิ่งลักษณ์ ไม่อาจแสดงฝีไม้ลายมือให้เป็นที่ยอมรับได้

โชคดีที่แผ่นดินไหวครั้งนี้ไม่ได้นำไปสู่ความเสียหายรุนแรงจนมีผู้บาดเจ็บล้มตาย หรือลุกลามบานปลายไปถึงผลกระทบด้านเศรษฐกิจการท่องเที่ยว ไม่เช่นนั้น นายกฯ ยิ่งลักษณ์ อาจจะต้องเผชิญกับแรงเสียดทานที่โหมกระหน่ำซัดเสถียรภาพรัฐบาลมากกว่านี้หลายเท่า

ยังไม่รวมกับภัยพิบัติรอบหน้า ที่ไม่รู้ว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นอีกหรือไม่ หาก นายกฯ ยิ่งลักษณ์ยังเอาไม่อยู่อย่างนี้เรื่อยไป ความเสียหายที่จะเกิดขึ้นย่อมรุนแรงมากกว่านี้อีกหลายเท่าตัว