posttoday

ยื้อเวลาเปิดพื้นที่รับน้ำปกปิดพื้นที่หวั่นเจอ"ม็อบ"

13 เมษายน 2555

ประกาศหนักแน่นว่าภายในปีนี้จะได้เห็นการอนุมัติสร้างเขื่อนใหญ่และอ่างเก็บน้ำในลุ่มน้ำที่ยังไม่มีเขื่อน

โดย...จตุพล สันตะกิจ

ประกาศหนักแน่นว่าภายในปีนี้จะได้เห็นการอนุมัติสร้างเขื่อนใหญ่และอ่างเก็บน้ำในลุ่มน้ำที่ยังไม่มีเขื่อน ความชัดเจนพื้นที่รับน้ำ (Flood Plain) และทางน้ำหลากหรือทางผันน้ำ ที่เรียกว่า Flood Way หรือ Flood Diversion อย่างแน่นอน

นั่นเป็นคำยืนยันของ ปลอดประสพ สุรัสวดี รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประธานคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) ที่ประกาศเมื่อปลายสัปดาห์ก่อน

“พื้นที่แก้มลิงรับน้ำจะพูดส่งเดชไม่ได้ เพราะถ้าประกาศไปแล้วราคาที่ดินเขาตก เขาก็เสียหาย ผมจึงสั่งไม่ให้ใครพูดอะไรจนกว่าจะกำหนดพื้นที่รับน้ำชัดเจน” ปลอดประสพ กล่าว

พร้อมระบุว่า พื้นที่รับน้ำคงไม่ต้องใช้มากถึง 3 ล้านไร่ก็ได้ อาจใช้พื้นที่เพียง 1.7 ล้านไร่ก็ได้ ขณะที่เป้าหมายของรัฐบาลคือการหาพื้นที่ที่จะรับปริมาณน้ำให้ได้ 5,000 ล้านลูกบาศก์เมตร

ความกังวลว่าราคาที่ดินของเจ้าของที่ดินจะมีราคาตก “ฮวบฮาบ” ทันทีที่พื้นที่นั้นๆ ถูกประกาศเป็นพื้นที่รับน้ำ เป็นเพียงเหตุผลหนึ่งที่ประธาน กบอ. อย่าง ปลอดประสพ ยกมากล่าวอ้างเท่านั้น

เหตุผลลึกๆ แล้ว ปลอดประสพ และคนในรัฐบาล ไม่ต้องการให้เกิดแรงกระเพื่อมจากฟากฝั่งของ “มวลชน” มากกว่า เพราะหากมีการประกาศพื้นที่รับน้ำเมื่อไหร่ “ม็อบ” มาแน่

ที่สำคัญกว่านั้นคือ หากประกาศพื้นที่รับน้ำเร็วเท่าไหร่ นั่นหมายถึงการทอดเวลาให้ผู้นำมวลชนมีเวลา “ตั้งตัว” เพื่อก่อหวอดปลุกม็อบ

เพราะผลจากการประกาศพื้นที่รับน้ำ แน่นอนว่าจะมีเจ้าของที่ดินนับแสนรายได้รับผลกระทบอย่างเลี่ยงไม่ได้

พวกเขาต้องสูญเสียทั้งในแง่วิถีชีวิตและมูลค่าที่ดินที่หายวับไปทันที

ขณะที่เงินชดเชยพื้นที่รับน้ำที่เตรียมไว้หมื่นล้านบาทต่อปี เงินกู้จาก พ.ร.ก.กู้เงินฯ 3.5 แสนล้านบาท ที่เตรียมวงเงินไว้ 6 หมื่นล้านบาท สำหรับลงทุนระบบชลประทานและระบบสูบน้ำออกจากพื้นที่รับน้ำ เพื่อให้ “น้ำมาเร็วไปเร็ว”

ยอดที่ตั้งไว้อาจ “เสียงดัง” ไม่พอที่จะกลบเสียงร้องโห่ของ “มวลชน” ได้

ยื้อเวลาเปิดพื้นที่รับน้ำปกปิดพื้นที่หวั่นเจอ"ม็อบ"

 

นี่ยังไม่นับรวมไปถึง “คนตัวเล็กเสียงดัง” บรรดาเจ้าของที่ดินรายใหญ่ระดับ “แลนด์ลอร์ด” และนายทุนอสังหาริมทรัพย์ในพื้นที่

แม้ว่าพื้นที่รับน้ำหรือแก้มลิงถูกยกบทบาทให้เป็น “พระเอก” ในการรับมือกับเหตุการณ์น้ำท่วมปีนี้และในอนาคต ตามทัศนะของ ชูเกียรติ ทรัพย์ไพศาล กรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.)

ที่ระบุก่อนหน้านี้ วันนี้เขื่อนหลักภาคเหนือตัดยอดน้ำได้ 290-300 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที แม้มีการสร้างเขื่อนและอ่างเก็บน้ำเพิ่มเติมที่ลุ่มแม่น้ำยม เหนือเขื่อนภูมิพลและเขื่อนป่าสักฯ แต่ตัดยอดน้ำเพิ่มเป็น 1,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาทีเท่านั้น

แต่พื้นที่แก้มลิง 2 ล้านไร่ สามารถ “ตัดยอดน้ำ” ทั้งลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนบนและลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ซึ่งจะเป็น “หัวใจ” ในการรักษาพื้นที่เศรษฐกิจ เช่น จ.นครสวรรค์ พระนครศรีอยุธยา กรุงเทพมหานคร (กทม.) และปริมณฑล ให้อยู่รอดปลอดภัยจากน้ำท่วม

เป็นคำยืนยันจากนักวิชาการด้านน้ำที่มีประสบการณ์กว่า 30 ปี และเป็นหนึ่งในทีมงานวิจัย “แนวการบริหารจัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา” ของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ (พ.ศ.2543)

นี่ยังไม่นับการลงทุนระบบป้องกันในพื้นที่ “ห้ามท่วม” และการลงทุนสร้างฟลัดเวย์รอบแนวปิดล้อม 1.2 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นหลักประกันความปลอดภัยของพื้นที่ห้ามท่วมในระดับเกือบ 100%

แน่นอนหน่วยปฏิบัติและหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องไม่นิ่งนอนใจในการจัดหาพื้นที่รับน้ำ

หากจำกันได้ ธีระ วงศ์สมุทร รมว.เกษตรและสหกรณ์ ลงนามคำสั่งที่ 54/2555 วันที่ 23 ม.ค. 2555 แต่งตั้งคณะทำงานจัดแผนงานกำหนดพื้นที่รับน้ำนองและมาตรการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากการใช้พื้นที่เพื่อรับน้ำ มี เจษฎา แก้วกัลยา ที่ปรึกษา รมว.เกษตรฯ เป็นประธาน

จากวันนั้นจวบจนวันนี้ ผ่านมาเกือบ 3 เดือนแล้ว พื้นที่รับน้ำยังไม่มีการ “เปิดเผย” ต่อสาธารณชน ท่ามกลางกระแสข่าวว่าจะมีการประกาศพื้นที่รับน้ำเป็นระยะๆ ว่าจะต้องใช้พื้นที่ 3 ล้านไร่ ขณะที่ชาวบ้านรอฟังด้วยใจจดจ่อ

เป็นปรากฏการณ์ที่ยืนยันได้ดีว่ารัฐบาลไม่ต้องการ “เปิดศึก” กับ “ม็อบมวลชน” ซึ่งยามนี้การจุดกระแสก่อม็อบเป็นสิ่งที่ “จุดติด” ได้ง่ายมากยามนี้ ทั้งจากกลุ่มเอ็นจีโอ กลุ่มผู้มีอิทธิพล และกลุ่มผลประโยชน์ในท้องที่

เช่นก่อนหน้านี้สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน รณรงค์ต่อต้านการสร้างเขื่อนกั้นนิคมอุตสาหกรรมเพื่อป้องกันน้ำท่วม เพราะเขื่อนดังกล่าวสร้างผลกระทบต่อชุมชนในพื้นที่รอบนิคมฯ โดยที่รัฐบาลไม่มีมาตรการรองรับ ไม่มีการรับฟังความเห็นชาวบ้านและชุมชน เพราะเป็นการสั่งการแบบ “TopDown”

กระทั่งสมาคมฯ ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองในวันที่ 6 มี.ค. 2555 เพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งระงับการก่อสร้างเขื่อนหรือพนังกั้นน้ำรอบนิคมอุตสาหกรรม 11 แห่ง

แม้ว่าศาลปกครองไม่มีคำสั่งให้ระงับการสร้างเขื่อนนิคมฯ และสมาคมฯ ถูก “สวดยับ” จากหลายฝ่าย

แต่ถือว่าได้รับกระแสเสียง “ตอบรับ” จากชาวบ้านพอสมควร เพราะมีประเด็นที่น่าฉุกคิด คือ หากมีเขื่อนนิคมฯ แล้ว และน้ำมาจริง ชาวบ้านรอบนอกนิคมฯ จะอยู่กันอย่างไร

ล่าสุด สมาคมฯ ออกแถลงการณ์คัดค้านการสร้างเขื่อนแม่วงก์ จ.นครสวรรค์ วงเงิน 1.3 หมื่นล้านบาท โดยระบุว่าทำให้สูญเสียพื้นที่ป่า 1.3 หมื่นไร่

เหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่า มี “เอ็นจีโอ” ที่พร้อมจุดกระแสปลุกม็อบทันที หากมีการประกาศพื้นที่รับน้ำอย่างชัดเจน นี่ยังไม่นับกลุ่มมวลชนที่ได้รับผลกระทบจริงๆ

แม้มีการกล่าวอ้างจากรัฐบาลว่า เหตุที่ยังไม่ประกาศพื้นที่รับน้ำอย่างชัดเจน เพราะจังหวัดอยู่ระหว่างเจรจากับชาวบ้าน โดยใช้กลไกของกำนันและผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่

เสมือนหนึ่งเป็นการ “สร้างภาพ” ว่าคนในพื้นที่มีส่วนร่วมในการตัดสินใจในฐานะ “ผู้เสียสละ” และ “ยอมตัว” ให้ใช้พื้นที่ดินทำมาหากินเป็นพื้นที่รับน้ำ

แต่ความเป็นจริงในพื้นที่กลับไม่มีกระบวนการอย่างที่ว่า ไม่มีการลงไปพูดคุยกับชาวบ้าน ในขณะที่พื้นที่รับน้ำถูก “ขีดเส้น” จากคณะทำงานและฝ่ายนโยบายเรียบร้อยแล้ว รอเพียงจังหวะที่เหมาะสมแล้วจึงประกาศออกมาเท่านั้น เพราะมีข้อมูลจากดาวเทียมและข้อมูลสถิติ ชี้ชัดกันอยู่แล้วว่าพื้นที่ไหนเป็นพื้นที่ต่ำ เป็นพื้นที่น้ำท่วมขัง เหมาะเป็นแก้มลิง

ดังนั้น มีความเป็นไปได้สูงยิ่งว่า การประกาศพื้นที่รับน้ำจะประวิงเวลาหรือลากยาวไปจนกระทั่งเข้าสู่หน้าฝนในเดือน พ.ค.ปีนี้กันเลยทีเดียว

เพราะเมื่อถึงยามนั้น หากน้ำมาจริง คนที่อยู่ในพื้นที่ก็จะอยู่ในภาวะ “น้ำท่วมปาก” ไม่มีสิทธิพูด ต้องก้มหน้าก้มตารับสภาพน้ำท่วมในฐานะแก้มลิงรับน้ำโดยพลัน

ทางเลือกที่เหลืออยู่คือ การจำยอมรับเงินชดเชยตามระเบียบฯ จะเป็น 600 บาทต่อไร่ หรือ 4,000-5,000 บาทต่อไร่ ก็แล้วแต่สภาพพื้นที่ ทั้งๆ ที่อาจไม่คุ้มกับรายได้ที่หายไปนัก

แม้มีการยืนยันจากรัฐบาลว่า พื้นที่รับน้ำจะเป็นพื้นที่เกษตรกรรมเท่านั้น ไม่กระทบต่อที่อยู่อาศัย แต่ด้วยสภาพพื้นที่จริง เป็นไปไม่ได้เลยที่จะแยกพื้นที่อยู่อาศัยออกจากพื้นที่เกษตรกรรมได้ สภาพน้ำท่วมล้อมรอบที่อยู่อาศัยเป็นสิ่งที่จะได้เห็นอย่างแน่นอน

การขายฝันเรื่องการให้เงินสนับสนุนเพื่อปรับปรุงที่อยู่อาศัย เช่น การยกระดับบ้านเรือน การสร้างคันกั้นน้ำรอบชุมชน ยังเป็นโฆษณาชวนเชื่อที่ต้องติดตามกันต่อไป

เพราะรู้กันอยู่ว่าเงินที่เตรียมไว้ 6 หมื่นล้านบาท สำหรับปรับปรุงพื้นที่รับน้ำนั้น เมื่อเอาเข้าจริงแล้ว จะเหลือเงินลงทุนส่วนนี้เท่าไหร่ เพราะมีสารพัดโครงการสอดแทรกเข้ามาและ “เบียดบัง” นำเงินส่วนนี้ไปใช้ในกิจกรรมหรือโครงการที่ “ฝ่ายการเมือง” ต้องการได้ไม่ยากเย็นนัก

นั่นเพราะในเร็วๆ นี้ กระบวนการอนุมัติเงินกู้เพื่อลงทุนระบบน้ำกำลังจะอยู่ในกำมือ “ปลอดประสพ” แบบเบ็ดเสร็จ เนื่องจากทันทีที่ “กติกา” การลงทุนโครงการระบบน้ำผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ (กนอช.) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อไหร่ อำนาจการกลั่นกรองอนุมัติโครงการลงทุนน้ำจะอยู่ที่ กบอ. โดย กบอ.สามารถอนุมัติโครงการตาม “กติกา” ที่กำหนดไว้ และเสนอโครงการ “ตรง” ไปให้ ครม.อนุมัติทันที

ไม่ต้องมีกรรมการบางคนใน กนอช. และ กยน.อย่าง “กิจจา ผลภาษี” “คุณชายดิศ” ม.ร.ว.ดิศนัดดา ดิศกุล หรือแม้แต่ “ปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา” คอยท่าคัดค้านบางโครงการที่ทำให้ ปลอดประสพ ต้อง “เสียหน้า”

แม้แต่การประชุม กบอ.ล่าสุด ไม่ปรากฏว่า กิจจา ปีติพงศ์ และ “วีระ วงศ์แสงนาค” กรรมการ กบอ.เข้าร่วมประชุม มีเพียงคีย์แมน 3 คนเท่านั้นที่ “พูดเสียงดัง” ในท่ามกลางข้าราชการประจำเกือบ 50 คน ที่ต่างนั่ง “นิ่งเงียบ”

ไม่มีสิทธิรู้ ไม่มีสิทธิมีปากเสียง นี่หรือเป็นสิ่งที่ “พลเมือง” สมควรได้รับ

ดังนั้น รัฐบาลต้องประกาศให้ชาวบ้านรับรู้ทั่วกันว่าพื้นที่ใดบ้างเป็นพื้นที่รับน้ำ เพื่อให้มีเวลาเตรียมรับมือ ขณะที่หน่วยงานเองจะได้กำหนดแผนการช่วยเหลือเยียวยาให้ชัดเจนและทันท่วงที

ไม่ใช่ปกปิดพื้นที่รับน้ำไว้ เพียงเพราะรัฐบาลกลัว “ม็อบ”

เป็นม็อบชาวบ้านที่พร้อมลุกขึ้นมารักษาสิทธิในที่ดินทำกินและบ้านเรือนที่พวกเขาดำรงชีพมาอย่างยาวนาน