posttoday

แก้รธน.วาระ2ปชป.สกัดไม่อยู่ เน้นทุบให้ช้ำ

10 เมษายน 2555

เปิดฉากวาระ 2 แก้รัฐธรรมนูญ กับการเร่งรัดเดินหน้าประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญ

โดย...ธนพล บางยี่ขัน

เปิดฉากวาระ 2 แก้รัฐธรรมนูญ กับการเร่งรัดเดินหน้าประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งผ่านขั้นตอนการพิจารณาในชั้นกรรมาธิการเรียบร้อยแล้ว พร้อมกำหนดตารางเวลาไว้คร่าวๆ 10-11 เม.ย.นี้ และหากอภิปรายลากยาวก็สามารถขยายต่อถึงวันที่ 12เม.ย. ก่อนจะลงมติในวาระ 3 ช่วงสิ้นเดือน

แน่นอนว่าเสียงข้างมากในรัฐสภาที่สะท้อนผ่านการลงมติเห็นชอบวาระแรก 399 ต่อ 199 เสียง งดออกเสียง 14 เสียง ไปจนถึงเสียงส่วนใหญ่ที่ชั้นกรรมาธิการ ที่สามารถกำหนดทิศทางเนื้อหาการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้แบบเบ็ดเสร็จ ย่อมไม่อาจทำให้กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องสะดุดหรือออกนอกเส้นทางที่รัฐบาลต้องการ

ประชาธิปัตย์ ในฐานะเสียงข้างน้อยทั้งในชั้นการลงมติในรัฐสภา และในชั้นกรรมาธิการ ที่แม้จะผนึกกำลังกับ สว.บางส่วน ก็ยังไม่เพียงพอไป “ทัดทาน” เสียงข้างมากที่มุ่งมั่นเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญในมาตราหลัก 291 เพื่อเปิดช่องให้ตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) เพื่อเข้ามาแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ

คำนวณแล้วไม่ว่าจะงัดมาตรการ “วอล์กเอาต์” หรือ “งดลงมติ” ย่อมไม่เป็นผลดีในเชิงยุทธศาสตร์ เพราะกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็ยังสามารถเดินหน้าต่อไปได้แบบไม่มีปัญหา ทางเลือกที่เหลืออยู่เวลานี้จึงได้แต่ต้องอาศัยจุดแข็งของประชาธิปัตย์ในการใช้เวทีสภาอภิปรายชี้ช่องให้เห็นถึง “เงื่อนงำ” ความไม่ชอบมาพากลที่จะเกิดขึ้นจากรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติม

ยกแรกที่ผ่านมา ในการอภิปรายเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบหลักการวาระแรก ฝ่ายค้านเน้นพุ่งโจมตีภาพรวมทั้งกระบวนการแก้รัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะความเป็นห่วงใน 3 ประเด็นหลัก ทั้งเรื่องการก้าวล่วงไปแตะต้องหมวดสถาบัน องค์กรอิสระ ศาล และการเปิดทางไปสู่การนิรโทษกรรมเจาะจงผู้หนึ่งผู้ใด ซึ่งก็ทำได้แค่นั้นเมื่อเสียงข้างมากในรัฐสภายังเหนียวแน่นเดินหน้ากระบวนการแก้รัฐธรรมนูญ

กลยุทธ์ประชาธิปัตย์ในชั้นวาระ 2 เที่ยวนี้จึงตั้งเป้าเน้นหนักอภิปรายกันแบบปูพรมพร้อมลงลึกรายละเอียดทุกมาตรา

นอกจากจะเป็นการแก้เกมรัฐบาลด้วยเตะถ่วงยื้อเวลาให้รัฐบาลกระอักกระอ่วนกับความพยายามเร่งกระบวนการให้เสร็จชั้นวาระ 2 ก่อนเทศกาลสงกรานต์แล้ว อีกด้านหนึ่งยังเป็นโอกาสที่จะรุมถล่มรัฐบาลกลางสภาที่จะถ่ายทอดไปทั่วประเทศ

จากจำนวน สส. สว. ที่สงวนคำแปรญัตติ 172 คน ซึ่งเป็นไปได้ว่าทุกคนต้องการจะอภิปรายชี้แจงเหตุผลที่ไม่เห็นด้วยกับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญตามข้อสรุปในชั้นกรรมาธิการโดยเฉพาะกับประชาธิปัตย์ที่จำนวนคนสงวนคำแปรญัตตินับร้อยคน

แก้รธน.วาระ2ปชป.สกัดไม่อยู่ เน้นทุบให้ช้ำ

 

เริ่มตั้งแต่ มาตรา 1 รัฐธรรมนูญนี้เรียกว่า “รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่...) พ.ศ. ... ซึ่งอย่างน้อยสายฮาร์ดคอร์ประชาธิปัตย์เตรียมรุมถล่มแบบไม่ยั้ง ไล่มาตั้งแต่ เทพไท เสนพงศ์ สส.สายล่อฟ้า ที่สงวนคำแปรญัตติ ให้ใช้ชื่อ “ร่างรัฐธรรมนูญรวบรัดเพื่อทักษิณแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับแก้ไขเพิ่มเติม” แค่เริ่มต้นมาตราแรกก็สามารถประเมินทิศทางการอภิปรายได้ว่า บรรยากาศจะดุเดือดและลุกลามสู่ความปั่นป่วนมากน้อยแค่ไหน

เบื้องต้นในมาตรานี้ยังมี สาธิต ปิตุเตชะสส.ระยอง ที่แปรญัตติร่างรัฐธรรมนูญเพื่อ นปช.ครองเมือง และ วัชระ เพชรทอง สส.บัญชีรายชื่อ ที่ได้สงวนคำแปรญัตติ ในทำนองคล้ายกันนี้ ซึ่งเชื่อว่าแค่มาตรานี้มาตราเดียว รวมเวลาทั้งอภิปราย และเวลาประท้วง อาจจะปาไปเกินครึ่งวันแล้ว

ไล่มาจนถึงมาตรา 4 ซึ่งจะเป็นมาตราสำคัญที่จะไปแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 291 ในรัฐธรรมนูญ 2550 ซึ่งแยกออกเป็น 291/1291/17 ที่ถือเป็นหัวใจของการแก้ไขรัฐธรรมนูญรอบนี้ โดยเฉพาะกับมาตรา 291/1 ประเด็นที่มาของ ส.ส.ร. ที่ความเห็นของ สส. แม้แต่พรรครัฐบาลเองก็ยังแตกต่างกันมาก ไม่ว่าจะเป็น สัดส่วน จำนวน หรือที่มาของ ส.ส.ร. จนมีผู้เสนอคำแปรญัตติถึง 117 คน

ความสำคัญของมาตรานี้อยู่ที่การจะชี้ทิศทางว่าใครจะเข้ามาเป็นผู้ทำหน้าที่แก้ไขรัฐธรรมนูญได้อย่างอิสระ จนถูกโจมตีว่าเป็นการมอบ “เช็คเปล่า” ให้ ส.ส.ร.ไปแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วยตัวเอง ดังนั้น ทั้งจำนวน และที่มาของ ส.ส.ร. ย่อมส่งผลต่อทิศทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ

จับอาการได้จากความเพลี่ยงพล้ำในชั้นกรรมาธิการ ที่เสียงข้างมากอย่างเพื่อไทยถูกเสียงข้างน้อยอย่างประชาธิปัตย์พลิกเอาชนะโหวต 12 ต่อ 10 กำหนดสัดส่วน ส.ส.ร. ให้มาจากการเลือกตั้งโดยตรง จำนวน 200 คน ในรูปแบบของการเลือกตั้งวุฒิสภาปี 2543 ตามรัฐธรรมนูญ 2540 ซึ่งสุดท้ายกรรมาธิการเสียงข้างมากไม่อาจไว้วางใจได้จนต้องยอมหักหาวิธีมาโหวตแก้กันใหม่เพื่อให้เป็นสัดส่วน จากเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนจังหวัดละ 1 คน และการคัดเลือกของที่ประชุมของรัฐสภาจำนวน 22 คน เหมือนเดิม

แน่นอนว่าสารพัดสูตรจาก สส. สว. 117 คนที่แปรญัตติเข้ามา ย่อมต้องใช้เวลาอภิปรายกันยาวนาน ยังไม่รวมกับมาตรา 291/3 ประเด็นลักษณะต้องห้ามของ ส.ส.ร. ที่มีการแปรญัตติเข้ามาหลายประเด็น เช่น เรื่องการถูกจำคุกและยังไม่พ้นโทษมาเป็นเวลา 5 ปี ที่ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ แปรญัตติเข้ามา ซึ่งจะเป็นอีกประเด็นที่จะมีการถกเถียงกันอีกมาก

ไปจนถึงอีกประเด็นที่สำคัญที่ อภิสิทธิ์สงวนคำแปรญัตติ คือ ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าไม่มีปัญหาในการไม่แตะต้องสถาบันพระมหากษัตริย์ ไม่กระทบต่อความเป็นอิสระขององค์กรอิสระ หรือลบล้างอำนาจศาลในอดีต รวมทั้งต้องให้รัฐสภาให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญก่อนทำประชามติในมาตรา 291/13 เพื่อดึงอำนาจกลั่นกรองขั้นสุดท้ายมาอยู่ที่รัฐสภา แทนที่จะให้ทุกอย่างไปจบลงที่ขั้นตอนของ ส.ส.ร. โดยรัฐสภามิอาจแก้ไขอะไรได้

ถัดมาที่ประเด็นการวินิจฉัยชี้ขาดเกี่ยวกับการคัดค้านตัดสิทธิการเลือกตั้ง การเพิกถอนผลการเลือกตั้ง ทั้งก่อนและหลังการประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง ส.ส.ร. ให้เป็นอำนาจหน้าที่ของศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาให้เสร็จภายใน 30 วัน และให้สภาร่างรัฐธรรมนูญจัดทำร่างรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จภายใน 240 วัน จากเดิมที่กำหนดไว้ 180 วัน ล้วนแต่เป็นประเด็นที่ยังมีความเห็นหลากหลาย

เหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงความเห็นที่ยังขัดแย้งหลากหลายจนยากจะนำมาหาข้อสรุปตกผลึกร่วมกันได้ ที่สำคัญจะยิ่งทำให้การเดินหน้าขับเคลื่อนการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นไปอย่างเรียบร้อยได้

แม้แต่ข้อเสนอของคณะกรรมการที่ปรึกษาเรื่องแก้รัฐธรรมนูญของผู้ตรวจการแผ่นดิน ที่จะส่งไปยังรัฐสภาก่อนการประชุมนั้น ยังมองว่าการทำงานเป็นไปแบบรีบๆ ลวกๆ ลกๆ รีบๆ และไม่รอบคอบ รวมทั้งยังเชื่อว่าจะทำให้การยกร่างรัฐธรรมนูญของ ส.ส.ร.ในอนาคตมีปัญหาทั้งในเรื่องของถ้อยคำที่กำกวม บทบัญญัติและหลักการ หรือการชอบด้วยหลักนิติธรรมหรือไม่

ทว่าสุดท้ายรัฐบาลผ่านเสียงข้างมากก็น่าจะทำให้การพิจารณาในวาระ 2 หรือแม้แต่การลงมติในวาระ 3 ของการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญไปสู่ฝั่งฝันได้ในที่สุด

ในขณะที่ฝ่ายค้านอย่างประชาธิปัตย์ ซึ่งกำลังถูกโดดเดี่ยวจากพรรคภูมิใจไทย การจะไปคะคานกับเสียงข้างมากคงยากเต็มที

การอภิปรายรุมถล่มรัฐบาลในเวทีสภานี้ จึงย่อมหวังให้เกิดการสะท้อนปัญหาแสดงให้เห็นถึงความผิดปกติของการรีบเร่งเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญแบบมีวาระพิเศษแอบแฝงว่าทำเพื่อใครคนใดเป็นพิเศษ โดยไม่สนใจปัญหาปากท้อง ข้าวของราคาแพง พืชผลการเกษตรตกต่ำ

อีกด้านหนึ่งยังจะกลายเป็น “หัวเชื้อ” ที่จะถูกนำไปต่อยอดขยายผลในเวทีนอกสภาร่วมกับเครือข่ายภาคประชาชนที่คัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

บรรยากาศการอภิปรายรอบนี้จึงน่าจะเป็นไปอย่างดุ เด็ด เผ็ด มัน แม้จะรู้ว่าสุดท้ายก็ไม่สามารถทัดทานพลังเสียงข้างมากได้อยู่ดี ทว่าการไล่นวดให้รัฐบาล “บอบช้ำ” ก่อนจะถูกขยายแผลต่อไปในเวทีนอกสภา อาจจะเป็นทางออกเดียวที่ประชาธิปัตย์จะทำได้มากที่สุดในเวลานี้