posttoday

"จ้างงาน" ลดแค่ชั่วคราวการฟื้นตัวมะกันยังแกร่ง

10 เมษายน 2555

เล่นเอานักวิเคราะห์และนักลงทุนทั่วโลกใจหายใจคว่ำไปตามๆ กันกับรายงานการจ้างงานของกระทรวงแรงงานสหรัฐ

โดย...นงลักษณ์ อัจนปัญญา

เล่นเอานักวิเคราะห์และนักลงทุนทั่วโลกใจหายใจคว่ำไปตามๆ กันกับรายงานการจ้างงานของกระทรวงแรงงานสหรัฐ เมื่อช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ที่น้อยกว่าเดือนก่อนหน้าเกือบครึ่ง

กลายเป็นสัญญาณร้ายเตือนล่วงหน้ายืนยันให้รู้ว่า เศรษฐกิจสหรัฐที่มีแววฟื้นตัวแข็งแกร่งจนมีแนวโน้มจะเป็นความหวังในปัจจุบัน ท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจซบเซาของยุโรป ที่ต้องเผชิญกับปัญหาหนี้สาธารณะและแผนรัดเข็มขัดซึ่งทำให้กระตุ้นเศรษฐกิจไม่ได้ กับจีนที่ต้องเริ่มชะลอความร้อนแรงเพื่อหลีกเลี่ยงภาวะเงินเฟ้อที่จะทำให้เศรษฐกิจของประเทศดิ่งลงอย่างรุนแรง (ฮาร์ดแลนดิง) ไม่ได้เป็นเหมือนอย่างที่คาดหวังกันไว้ก่อนหน้า

ทั้งนี้ ต้องไม่ลืมว่าเศรษฐกิจของสหรัฐตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันสามารถเติบโตอย่างแข็งแกร่งครองความเป็นประเทศมหาอำนาจอันดับ 1ของโลกมาได้โดยตลอดนั้น สืบเนื่องมาจากกำลังการบริโภคภายในประเทศที่มีสัดส่วนคิดเป็น 70% ของการเติบโตทางเศรษฐกิจ

ดังนั้น หากประชากรในประเทศยังคงตกงาน ไม่มีแหล่งรายได้ ก็ย่อมเลือกที่จะประหยัดอดออม ตัดทอนรายจ่ายอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้เช่นกัน

อย่างไรก็ตาม การที่จะเหมารวมเอาว่าเศรษฐกิจของสหรัฐไม่มีความคืบหน้า ยังคงเลวร้าย กำลังย่ำแย่ และไม่แตกต่างจากช่วงวิกฤตเศรษฐกิจเมื่อปี 2552 ก็เป็นความคิดที่ด่วนสรุปเกินไป

เนื่องจากเมื่อพิจารณาสถานการณ์และปัจจัยแวดล้อมรอบด้านในขณะนี้ เศรษฐกิจของสหรัฐยังอยู่ภายใต้เงื่อนไข หรือในแนวการฟื้นตัวแน่นอน

"จ้างงาน" ลดแค่ชั่วคราวการฟื้นตัวมะกันยังแกร่ง

 

ปัจจัยแรกสุด ที่สะท้อนให้เห็นว่าการฟื้นตัวของสหรัฐยังคงแข็งแกร่งอยู่ก็คือ อัตราค่าแรงของแต่ละบริษัท ซึ่งวัดจากบัญชีเงินเดือนมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นในระดับหนึ่ง

พูดให้เข้าใจง่ายก็คือว่า รายได้ของชาวมะกันเติบโตเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะช่วยรองรับการใช้จ่ายของบรรดาลูกจ้างในฐานะผู้บริโภค ซึ่งแน่นอนว่าจะช่วยให้บริษัททั้งหลายมียอดขายดีเติบโตต่อไปได้

บรูซ คาสแมน หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จาก เจ.พี. มอร์แกน ในนิวยอร์ก ระบุว่า มองในแง่ดี การที่บริษัททั้งหลายจะจ่ายเงินเดือนเพิ่มขึ้นได้ ย่อมหมายความว่า รายได้และผลประกอบการของบริษัทย่อมดีด้วยอย่างไม่ต้องสงสัย โดยที่การฟื้นตัวย่อมเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป ดังนั้นแนวโน้มการจ้างงานน่าจะกลับมาดี หรือดียิ่งกว่าในช่วงครึ่งปีหลัง

ปัจจัยต่อมา ที่ทำให้เงื่อนไขทางเศรษฐกิจของสหรัฐได้เปรียบกว่าเมื่อวิกฤตเศรษฐกิจเมื่อ 3 ปีที่แล้ว ก็คือความเชื่อมั่นของบรรดาผู้บริโภคในสหรัฐที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก – 34.7 มาอยู่ที่ –31.4 เมื่อวันที่ 1 เม.ย.ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ ความเห็นของบรรดานักวิเคราะห์สอดคล้องตรงกันว่า ที่ผู้บริโภคเชื่อมั่นไม่ได้เป็นผลมาจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่มีทั้งการพิมพ์ธนบัตรอัดเข้าระบบ (คิวอี) การออกพันธบัตรระยะสั้น เพื่อนำเงินไปซื้อคืนพันธบัตรระยะยาว (โอเปอเรชัน ทวิสต์) หรือการคงอัตราดอกเบี้ยให้อยู่ในระดับต่ำที่0-1% เท่านั้น

แต่เหตุผลหลักๆ เป็นผลสืบเนื่องมาจากรูปแบบการจ้างงานของบริษัทสัญชาติสหรัฐทั้งหลาย ที่เปลี่ยนมาเป็นการจ้างงานประจำมากขึ้น

เจเน็ตต์ มาร์กซ์ รองประธานอาวุโสของเมล วิลล์ ในนิวยอร์ก สาขาหนึ่งของอะดีโก เอสเอ ในสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ให้บริการงานชั่วคราวที่ใหญ่ที่สุดของโลก กล่าวว่า ขณะนี้จำนวนชาวสหรัฐที่เปลี่ยนสถานะจากการเป็นลูกจ้างชั่วคราวมาเป็นลูกจ้างประจำมีเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงครึ่งหลังของไตรมาสแรกที่การเปลี่ยนสถานะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งส่งผลให้อัตราการว่างงานในเดือน มี.ค. ลดลงมาอยู่ที่ 8.2% จากเดือน ก.พ. ซึ่งอยู่ที่ 8.3% และมีจำนวนคนหางานทำที่ลดลงจาก 63.9% ในเดือนก่อนหน้า มาอยู่ที่ 63.8% ในเดือนมี.ค.

ขณะที่ คาร์ล ริกคาดอนนา จากธนาคารดอยช์ แบงก์ กล่าวว่า ถ้าคำนวณจากการจ้างงานที่เพิ่มขึ้นในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา การจ้างงานของสหรัฐในช่วง 4 เดือนข้างหน้า มีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ย 1.09 ตำแหน่งเลยทีเดียว

สำหรับปัจจัยประการที่ 3 ที่ยังคงทำให้เศรษฐกิจของสหรัฐไม่ได้เลวร้ายอย่างที่นักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งตีความกัน ก็คือภูมิต้านทานของนักลงทุนและบรรดาผู้ประกอบการหรือเจ้าของกิจการ

ก่อนหน้าที่กระทรวงแรงงานจะรายงานตัวเลขการจ้างงาน เบน เบอร์แนนคี ประธานธนาคารกลางสหรัฐ ได้ออกมาส่งสัญญาณแล้วว่า เศรษฐกิจของสหรัฐยังคงมีความเปราะบางสูง ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการจับตามองอย่างใกล้ชิด

ความเห็นดังกล่าวของเบอร์แนนคีสอดคล้องกับนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ในตลาดที่ต่างเห็นตรงกันว่า ตัวเลขการจ้างงานของสหรัฐในช่วงนี้อาจอยู่ในสภาพที่เรียกว่า ผันผวนขึ้นๆ ลงๆ โดยเป็นผลมาจากปัจจัยภายนอก ทั้งจากยุโรปและเอเชีย ซึ่งเศรษฐกิจที่เริ่มจะยันตัวตั้งขึ้นมาได้ของสหรัฐอาจต้องใช้ระยะเวลาอีกสักพักใหญ่ๆ ในการปรับตัวให้แข็งแกร่งพอที่จะต้านกระแสเศรษฐกิจซบเซาถดถอยในสถานที่อื่นๆ ของโลกได้

เรียกได้ว่าตัวเลขการจ้างงานที่น่าผิดหวังไม่ใช่สิ่งที่อยู่นอกเหนือความคาดหมายของบรรดาผู้ประกอบการแต่อย่างใด โดยผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ยังคงให้ระดับการเติบโตทางเศรษฐกิจของสหรัฐในปีนี้อยู่ที่ 2.2% เพิ่มขึ้นจากการคาดการณ์ก่อนหน้าในปีที่แล้วที่ 1.7%

ทั้งนี้ เหตุผลหนึ่งที่นักลงทุนให้น้ำหนักกับเศรษฐกิจของสหรัฐเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะสถานการณ์หนี้สาธารณะของยุโรปที่เริ่มคลี่คลาย และอีกส่วนหนึ่งคือเศรษฐกิจของเอเชียที่เริ่มมีการฟื้นตัวจากปัญหาเศรษฐกิจและปัญหาภัยพิบัติจากธรรมชาติ

ท่าทีดังกล่าวของนักลงทุนในตลาดจึงเป็นสัญญาณบ่งชี้ได้เป็นอย่างดีว่า เศรษฐกิจของสหรัฐยังคงดีอยู่ ในแบบที่ต้องมองกันนานๆ ดูกันยาวๆ และพิจารณาปัจจัยอื่นๆ ประกอบกันเข้าไป ซึ่งเท่ากับว่า เฟดยังไม่จำเป็นต้องพูดถึง หรือทบทวนแผนกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ ที่รวมถึงการพิมพ์ธนบัตรให้มีเงินล้นระบบเสริมสภาพคล่อง (คิวอี) ในช่วงอนาคตอันใกล้นี้ หรืออย่างน้อยก็ก่อนเดือน มิ.ย.

แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า โลกหมดโอกาสที่จะได้เผชิญหน้ากับคิวอีรอบที่ 3 แน่แล้ว เนื่องจากเงื่อนไขทางเศรษฐกิจของสหรัฐยังคงมีเหตุให้สะเทือน หรือสั่นคลอนอยู่

ไล่เรียงตั้งแต่ปัญหาที่ภาครัฐต้องตัดลดค่าใช้จ่ายเพื่อควบคุมการขาดดุลงบประมาณ การยกเลิกมาตรการยกเว้นภาษีของบริษัทที่ดำเนินการมาตั้งแต่สมัยประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู. บุช ซึ่งไม่ว่าทางใดก็ย่อมทำให้การจ้างงานลดลงจนกระเทือนการใช้จ่าย ราคาน้ำมันในตลาดที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น และปัญหาหนี้สาธารณะของยุโรปที่ส่อเค้าจะเกิดวิกฤตอีกรอบอยู่รอมร่อที่สเปน

นักวิเคราะห์และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์มองว่า ตราบใดที่เศรษฐกิจของสหรัฐยังโตได้ช้าอยู่ เฟดก็อาจจะต้องทบทวนการใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างคิวอีอีกระลอก

ต้องไม่ลืมว่า คิวอี 2 ครั้งที่ผ่านมา ที่เฟดเร่งปั๊มธนบัตรออกมาเต็มที่ ทำให้เงินล้นระบบจนเงินเหรียญสหรัฐอ่อนปวกเปียกนี้ ส่งผลให้มีเงินไหลออกจากสหรัฐมาเก็งกำไรในภูมิภาคอื่นๆ ของโลก โดยเฉพาะตลาดเกิดใหม่ในเอเชีย จนทำให้ค่าเงินในเอเชีย ตั้งแต่หยวน เยน รูปี เปโซ หรือแม้กระทั่งบาทไทยแข็งค่าไปตามๆ กัน

และค่าเงินที่แข็งค่าขึ้น ทำให้ภาคการส่งออกซึ่งเป็นหัวใจหลักทางเศรษฐกิจของประเทศส่วนใหญ่ในเอเชียแทบล้มทั้งยืน เพราะสินค้าส่งออกมีราคาแพงกว่าคู่แข่ง ขณะเดียวกันของที่ขายในตลาดก็แพงเอาเรื่อง จนผู้บริโภคในเอเชียโอดครวญไปตามๆ กัน และหนักสุดถึงขั้นลุกฮือขึ้นประท้วงก่อการจลาจลกันในบางประเทศ

ดังนั้น แม้สัญญาณหลายตัวหรือกระทั่งเฟดเองจะออกมาย้ำหนักแน่นว่าไม่คิดใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจใดๆ ในระยะนี้ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องเสียหายที่ประเทศต่างๆ ซึ่งรู้ฤทธิ์มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐเป็นอย่างดี จะหามาตรการเตรียมตัวรับมือ

อย่างน้อยก็ช่วยผ่อนหนักให้เป็นเบา และไม่ต้องลิ้มรสฤทธิ์ของคิวอีอีกรอบ