posttoday

สัญญาณร้ายเศรษฐกิจ 'เงินเฟ้อ'เอาไม่อยู่

09 เมษายน 2555

ทันทีที่กระทรวงพาณิชย์ประกาศเงินเฟ้อทั่วไปงวดเดือน มี.ค. อยู่ที่ 3.45% ตลาดเงิน นักเศรษฐศาสตร์ ต่างตกตะลึงกับดัชนีเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น

โดย...เบญจมาศ เลิศไพบูลย์

ทันทีที่กระทรวงพาณิชย์ประกาศเงินเฟ้อทั่วไปงวดเดือน มี.ค. อยู่ที่ 3.45% ตลาดเงิน นักเศรษฐศาสตร์ ต่างตกตะลึงกับดัชนีเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น

เนื่องเพราะตัวเลขเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นนับเป็นอัตราการเพิ่มมากที่สุดในรอบ 4 เดือน เทียบจากระดับ 3.35% ในเดือน ก.พ. ขณะที่เงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 2.77% เร่งตัวขึ้นจาก 2.72% ในเดือน ก.พ.

สาเหตุหลักที่ทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้นเป็นผลจากดัชนีหมวดอาหาร และเครื่องดื่มสูงขึ้น 7.07% สินค้าสำคัญราคาแพงขึ้น เช่น ผักสดและผลไม้ เพิ่ม 10.41% เครื่องประกอบอาหาร 9.38% อาหารบริโภคในบ้าน 11.59% อาหารบริโภคนอกบ้าน 6.54% เนื้อสัตว์ เป็ด ไก่ และสัตว์น้ำ 3.75% ส่วนดัชนีหมวดไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มสูงขึ้น 1.23% เป็นผลจากน้ำมันแพงขึ้น 2.63%

เมื่อแยกเป็นรายการสินค้า พบว่าสินค้าที่ราคาแพงขึ้นเทียบกับเดือน มี.ค.ปีก่อน ได้แก่ ข้าวสารหอมมะลิบรรจุถุง 5 กก. ราคาเพิ่มขึ้น 3.45%

อาหารสำเร็จรูป ราคาเพิ่มขึ้น 9.33% ได้แก่ ข้าวราดแกง ราคาจานละ 29.47 บาท เป็นจานละ 29.73 บาท

ข้าวผัดจานละ 31.14 บาท เป็นจานละ 31.44 บาท

ก๋วยเตี๋ยวชามละ 28.72 บาท เป็นชามละ 28.88 บาท

สัญญาณร้ายเศรษฐกิจ 'เงินเฟ้อ'เอาไม่อยู่

ข้าวมันไก่จานละ 30.10 บาท เป็นจานละ 30.48 บาท

กับข้าวปรุงสำเร็จถุงละ 26.42 บาท เป็นถุงละ 26.82 บาท กลุ่มสินค้าของใช้ส่วนบุคคลราคาเพิ่มขึ้น 1.55%

หากดูจากราคาสินค้าที่กระทรวงพาณิชย์สำรวจหมวดราคาอาหาร และราคาสินค้าในท้องตลาดจะพบว่าสวนทางจากความจริง เพราะกระทรวงพาณิชย์ใช้วิธีเก็บข้อมูลจากสินค้าและอาหารทั่วประเทศก่อนนำมาหาค่าเฉลี่ย ซึ่งราคาสินค้าและอาหารในต่างจังหวัดที่ไม่ใช่หัวเมืองใหญ่ก็ต้องถูกกว่าในกรุงเทพฯ และปริมณฑล

เพราะในปัจจุบันราคาข้าวราดแกงในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ราคาจานละ 30 บาท แทบจะต้องควานหาร้าน หรือถ้ามีก็ใช่ว่าจะอิ่ม

ขนาดราคาข้าวราดแกงตลาดหลังกระทรวงการคลังยังจานละ 35-45 บาท ข้าวราดแกงโรงอาหารในทำเนียบรัฐบาลจานละ 30-35 บาท

คนไทยวันนี้ถึงขั้นกินข้าวราดแกงหนึ่งจานเฉียดครึ่งร้อยจนเดือดร้อนกันทุกหย่อมหญ้า

ลำพังราคามะนาวหนึ่งลูกยังเฉลี่ย 7-9 บาท ค่าจ้างที่ปรับเพิ่มเป็น 300 บาท เดินจ่ายตลาดวันนี้กลับออกมาแทบไม่ได้ของติดมือ

ปัญหาข้าวของแพง โดยเฉพาะราคาอาหาร น่าจะเป็นปัญหารุมเร้ารัฐบาลชุดนี้ได้มากที่สุดในช่วงที่เหลือของปีนี้ เพราะเกี่ยวพันกับปัญหาปากท้อง

ฝ่ายวิจัยธนาคารกรุงศรีอยุธยา ประเมินจากนี้เศรษฐกิจไทยยังต้องเผชิญปัจจัยเสี่ยงทางด้านต้นทุน ราคาน้ำมันยังเป็นตัวหลักที่มีแนวโน้มอยู่ในระดับสูง จากปัญหาความขัดแย้งระหว่างอิหร่านกับชาติตะวันตกที่ยังไม่ได้ข้อยุติ ถือเป็นปัจจัยภายนอกที่ส่งผลต่อไทย เพราะไทยนำเข้าน้ำมันในปริมาณสูง ขณะที่การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300 บาท เมื่อวันที่ 1 เม.ย. ทำให้ต้นทุนผู้ประกอบการเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้ราคาสินค้าทยอยปรับขึ้นตาม

ดังนั้น ในครึ่งปีหลังเศรษฐกิจไทยจึงน่าจะเผชิญแรงกดดันจากเงินเฟ้อที่จะเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องอย่างหลีกหนีไม่พ้น

ขนาดไทยพาณิชย์คาดการณ์เงินเฟ้อครึ่งปีแรกจะอยู่ที่ประมาณ 3.5% และขยับสูงขึ้นในครึ่งปีหลังสู่ระดับเฉลี่ย 4-4.5% แรงกดดันนี้อาจส่งผ่านไปถึงการใช้นโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฟากของดอกเบี้ยว่าอาจขยับขึ้นเร็วกว่าที่คาด

ทุกข์ที่เคยบุกครัวอยู่จึงขึ้นมาบุกอุตสาหกรรมและปากท้องชาวบ้านกันถ้วนทั่ว

ที่น่าตกใจมากขึ้นอีกคือ ฝ่ายวิจัยธนาคารกรุงศรีอยุธยา ระบุว่า การเพิ่มขึ้นของราคาอาหารสำเร็จรูป แม้ตอนนี้ราคาสินค้าเกษตรบางตัวจะปรับลดลงบ้าง แต่โดยทั่วไปมักไม่ค่อยเห็นการปรับลดลงของราคาอาหารสำเร็จรูปถ้าหากราคามีการขยับขึ้นไปแล้วในช่วงก่อนหน้า ซึ่งก็หมายความว่าราคาอาหารปรับขึ้นแล้วขึ้นเลยอย่าหวังราคาจะลด และไม่มีทีท่าราคาอาหารสำเร็จรูปจะหยุดในระดับนี้ เพราะยังมีแรงกดดันจากต้นทุนวัตถุดิบ ค่าจ้าง และราคาเชื้อเพลิงที่มีทิศทางสูงขึ้นอีก

จริงๆ แล้วหากมองย้อนในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา ราคาสินค้าได้ปรับขึ้นไปก่อนแล้ว ส่วนหนึ่งเพราะผู้ประกอบการเห็นความชัดเจนจากการปรับขึ้นค่าจ้างที่กำหนดให้เป็นวันที่ 1 เม.ย. จึงต้องผลักต้นทุนค่าจ้างแฝงไปในราคาสินค้า

ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุเงินเฟ้อในเดือน มี.ค. สูงกว่าที่คาดหมาย ระดับราคาสินค้าผู้บริโภคเดือน มี.ค. ที่เพิ่มขึ้นจากระดับในเดือนก่อนหน้า 0.59%

นับเป็นอัตราการปรับตัวขึ้นของราคาสินค้ารายเดือนมากที่สุดในรอบ 11 เดือนที่ผ่านมา

การไล่ระดับขึ้นของราคาสินค้าอุปโภคและบริโภคหลายประเภทเกิดขึ้นพร้อมๆ กับราคาขายปลีกพลังงานที่สูงขึ้นต่อเนื่อง ท่ามกลางบรรยากาศการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจหลังน้ำลด โดยสินค้าในหมวดอาหารสด อาหารสำเร็จรูป และค่าบริการสาธารณะ ขนส่ง และสื่อสาร มีราคาที่เพิ่มสูงขึ้นค่อนข้างมาก

การส่งผ่านทางด้านราคาจะยิ่งเห็นชัดในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ หากไล่ถึงไตรมาส 3 เงินเฟ้อทั่วไปมีโอกาสขยับสูงกว่า 4% ขณะที่เงินเฟ้อพื้นฐานอาจเร่งตัวขึ้นเข้าใกล้ 3% ซึ่งเป็นกรอบบนของเป้าหมายเงินเฟ้อ 0.5-3% ของ ธปท. แน่นอนว่าจะต้องส่งผลต่อนโยบายการเงินในช่วงครึ่งปีหลัง

สำหรับเงินเฟ้อทั่วไปปีนี้ยังคงยืนตัวเลขประมาณการไว้ที่ 3.9% จากกรอบคาดการณ์ 3.5-4.5% โดยมองว่าทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยจากภาวะอุทกภัยรอบก่อนน่าจะมีผลในการเพิ่มแรงผลักดันด้านอุปสงค์ต่อทิศทางเงินเฟ้อ พร้อมๆ กับแรงผลักดัน

ด้านอุปทานที่นำโดย 2 ตัวแปรสำคัญ ได้แก่ การปรับสูงขึ้นของค่าจ้างแรงงาน และราคาพลังงาน ซึ่งจะทยอยส่งผ่านมาที่ราคาสินค้าผู้บริโภคในช่วงที่เหลือของปีนี้

อย่างไรก็ดี ตัวเลขประมาณการเงินเฟ้อทั่วไป 3.9% ได้ประเมินผลของการปรับขึ้นค่าจ้างที่มีต่อเงินเฟ้อไว้ที่ประมาณ 0.6-0.7% ภายใต้สมมติฐานราคาเฉลี่ยน้ำมันดิบดูไบที่ระดับ 118 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล

หากสถานการณ์ตลาดน้ำมันโลกอยู่ในภาวะตึงตัวต่อเนื่องเป็นเวลานาน จนมีผลทำให้ค่าเฉลี่ยน้ำมันดิบดูไบขยับสูงเกินกว่า 130 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ก็อาจทำให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้นอีกกว่า 0.6% จากกรณีพื้นฐาน

หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอาจมีค่าเฉลี่ยสูงกว่า 4.5% และ 3.6% ซึ่งเป็นกรอบบนของประมาณการเงินเฟ้อ

ถ้าเป็นแบบนี้หมายถึงว่าเงินในมือประชาชนจะลดน้อยถอยลงจากที่ควรจะเป็น

เงินสด 100 บาท อาจด้อยค่าลงมาเหลือ 95.5 บาทเท่านั้น

ก่อนหน้านี้มีธนาคารบางแห่งคาดการณ์ด้วยว่า หากราคาน้ำมันโลกขึ้นไปอยู่ที่ 140 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ก็มีโอกาสที่เงินเฟ้อทั่วไปจะเกิน 4% และเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 3% จากปัจจุบันอยู่ที่ 2.7%

แน่นอนว่า หากราคาน้ำมันและราคาอาหารขึ้นพร้อมกัน จะกระทบเงินเฟ้อทั่วไปแน่นอน

นี่จึงเป็นเรื่องท้าทายการตั้งเป้าหมายกรอบเงินเฟ้อของ ธปท. เพื่อสกัดความเดือดร้อนในปากท้องของชาวบ้าน

จากนี้ไปจึงได้แต่ภาวนาไม่ให้ราคาน้ำมันในตลาดโลกดีดตัวขึ้นมากกว่านี้

ไม่เช่นนั้นช่วงที่เหลือของปีค่าจ้างที่รัฐบาลจัดให้ 300 บาท เงินเดือนที่รัฐบาลจัดให้ 1.5 หมื่นบาท ก็เอาไม่อยู่