posttoday

เศรษฐกิจสตาร์ตติดเว้นการพ่นพิษใส่

04 เมษายน 2555

ถ้าพิจารณาจากข้อมูลภาวะเศรษฐกิจของเดือน ม.ค.และ ก.พ.ปีนี้

โดย...พรสวรรค์ นันทะ

ถ้าพิจารณาจากข้อมูลภาวะเศรษฐกิจของเดือน ม.ค.และ ก.พ.ปีนี้ ที่เปิดเผยออกมาแล้วของหน่วยงานเศรษฐกิจสำคัญทั้งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กระทรวงการคลัง พอจะสะท้อนได้ว่าทิศทางเศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้เริ่มผงกหัวโผล่พ้นน้ำออกมายิ้มได้แล้ว

แถมมีสัญญาณการฟื้นตัวได้ดีอย่างต่อเนื่อง จากไตรมาส 4 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจจมน้ำส่งผลให้อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ติดลบถึง 9% และทำให้ทั้งปี 2554 ที่ผ่านมาจีดีพีโตได้แค่ 0.1%

สภาพการณ์เหล่านี้ทำให้ผู้ประกอบการธุรกิจนักลงทุนเริ่มยิ้มได้

ข้อมูลของ ธปท. ระบุว่า ภาวะเศรษฐกิจในเดือน ก.พ.ปีนี้ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง สะท้อนจากการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนกลับมาสูงกว่าระดับก่อนเกิดอุทกภัย

การบริโภคเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อนขยายตัว 6.6% จาก 1.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน

แถมเป็นการเพิ่มขึ้นทั้งการใช้จ่ายในกลุ่มสินค้าคงทนและไม่คงทน

ขณะที่การลงทุนขยายตัว 8.8% จาก 0.6% ซึ่งช่วยทำให้ปริมาณการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคและสินค้าทุน โดยเฉพาะการนำเข้าเครื่องจักรใหม่มาทดแทนเครื่องจักรเก่าที่เสียหายจากน้ำท่วมเร่งตัวขึ้นด้วย

นอกจากนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจยังปรับดีขึ้น อยู่ที่ระดับ 52.7 จุด สูงขึ้นจาก 50.8 จุด ในเดือนก่อนหน้า ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจใน 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 56.5 จุด เท่ากับการสำรวจครั้งก่อน สอดคล้องกับดัชนีการผลิตขยายตัวที่ดีขึ้น จากเดือน ม.ค.ที่เคยติดลบ 15% เหลือติดลบเพียง 3.4%

ขณะที่การใช้กำลังการผลิตก็เพิ่มขึ้นจาก 58.5% เพิ่มเป็น 62.3%

เศรษฐกิจสตาร์ตติดเว้นการพ่นพิษใส่

 

สิ่งเหล่านี้ถือเป็นสัญญาณที่ดีว่าในระยะต่อไปภาคเอกชนน่าจะเพิ่มการลงทุน เพิ่มกำลังการผลิต เพราะมั่นใจว่าสินค้าที่ผลิตออกมาจะขายได้

แนวโน้มเช่นนี้ น่าจะช่วยให้เกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้น สนับสนุนการจับจ่ายใช้สอยหรือการอุปโภคบริโภคในประเทศให้เพิ่มขึ้น

ข้อมูลของ ธปท.ข้างต้น สอดคล้องไปในทางเดียวกันกับข้อมูลของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ที่ระบุว่า การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนที่สามารถกลับมาขยายตัวได้อีกครั้ง สะท้อนจากยอดการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มที่ขยายตัวสูงถึง 19.3% ต่อเนื่องจากเดือน ม.ค.ที่ขยายตัว 13.2%

ขณะที่ปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่งที่เคยหดตัวก็ปรับตัวดีขึ้น จากเดือน ม.ค.ที่ติดลบถึง 9.8% ก็เหลือติดลบเพียง 4%

ดัชนีชี้วัดเหล่านี้ ทำให้ สศค.มั่นในว่าจีดีพีไตรมาสแรกปีนี้จะกลับมาขยายตัวเป็นบวกได้แน่นอน

ข้อมูลที่สอดคล้องต้องกันของหน่วยงานภาครัฐและเอกชนเหล่านี้แล้ว น่าจะพอมั่นใจได้พอสมควรว่าจะมีแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจปีนี้ให้เกิดการจ้างงาน สร้างกำลังซื้อในประเทศ ส่งเสริมให้เกิดการลงทุนทั้งของภาครัฐและเอกชน นำพาเศรษฐกิจไทยให้โผล่พ้นน้ำได้ แนวโน้มเศรษฐกิจเช่นนี้ จะทำให้จีดีพีโตได้ในระดับ 5% ตามที่รัฐบาลของนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ตั้งเป้าเอาไว้ไม่ยากเย็นนัก

อย่างไรก็ตาม ถึงแนวโน้มเศรษฐกิจจะเติบโตไปได้ด้วยดีด้วยตัวของมันเอง แต่สถานการณ์ทางการเมืองที่รัฐบาลกำลังจะเร่งผลักดันแก้ไขรัฐธรรมนูญ การผลักดันแนวทางเพื่อการปรองดอง ซึ่งไม่ชัดเจนว่าสังคมโดยรวมจะได้ประโยชน์หรือไม่ แต่เอื้อให้ใครไม่กี่คนได้ประโยชน์เต็มๆ ในขณะนี้กลับกลายเป็นการจุดคบไฟที่ดูเหมือนจะลุกลามกลับมาเผาผลาญเศรษฐกิจแทน

เพราะสถานการณ์การเมืองที่อึมครึมเหล่านี้กลายมาเป็นปัจจัยที่มาบั่นทอนความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจให้ชะลอการตัดสินใจในการลงทุนเสียเอง

หากการเมืองลากถูต่อไป ไม่แน่ว่าไฟทางการเมืองทั้งเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญ แนวทางการปรองดองจะลากผู้คนที่ขาดสติ เชื่อในสิ่งที่ถูกวาดให้เชื่อจะออกมาเข่นฆ่ากันกลางถนนได้อย่างไม่ยากเย็น

เพราะในสถานการณ์ปัจจุบันนั้นเชื้อไฟที่นักการเมืองเติมลงไปในชนบท ในหัวใจของคนระดับล่างนั้น พร้อมจะลุกลามขยายวงออกไปได้ไม่ยาก

ความกังวลของปัญหาการเมืองที่อาจจะลุกลามมาเผาเศรษฐกิจ พอจะจับสัญญาณความกังวลได้จากการสะท้อนมุมมองของบิ๊กเนมในสังคมที่เริ่มห่วงใยต่อสถานการณ์การเมืองที่รัฐบาลพยายามจะแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อใคร อาจจะกลายเป็นความขัดแย้งของประเทศอีกครั้งจนสร้างผลกระทบภาวะเศรษฐกิจได้

นายบัณฑูร ล่ำซำ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ขณะนี้รู้สึกห่วงว่าคนในประเทศจะตีกัน เป็นห่วงสถานการณ์ในประเทศมากที่สุด เพราะถ้าคนในประเทศตีกัน รัฐบาลก็บริหารงานไม่ได้

ข้อพิเคราะห์เหล่านี้ เป็นเรื่องที่ต้องเหลียวหน้ามอง เพราะในปัจจุบันนี้มีความเสี่ยงทางการเมืองบวกเข้าไปด้วย กลับกลายเป็นว่าสถานการณ์ทางการเมืองกลายเป็นปัจจัยสำคัญหรือจุดอ่อนสำหรับเศรษฐกิจไทยที่กำลังจะโผล่พ้นน้ำเสียเอง