posttoday

ยุโรปจ่อยกเลิกคว่ำบาตร ส่งกลุ่มทุนลุยพม่าตัดหน้ามะกัน

02 เมษายน 2555

ปฏิเสธไม่ได้ว่า การเลือกตั้งซ่อมพม่าครั้งนี้ไม่ได้มีนัยสำคัญที่เรื่องการเมือง กับการกลับมาสู่สนามเลือกตั้งของ อองซานซูจี เพียงอย่างเดียว

โดย...นันทิยา วรเพชรายุทธ

ปฏิเสธไม่ได้ว่า การเลือกตั้งซ่อมพม่าครั้งนี้ไม่ได้มีนัยสำคัญที่เรื่องการเมือง กับการกลับมาสู่สนามเลือกตั้งของ อองซานซูจี เพียงอย่างเดียว

รัฐบาลพม่าคาดหวังไว้เช่นกันว่าจะได้เห็นนานาประเทศพึงพอใจกับการปรองดองทางการเมืองครั้งนี้ และตกรางวัลให้ด้วยการยกเลิกหรือผ่อนคลายมาตรการคว่ำบาตรที่มีมาอย่างยาวนาน เพื่อนำไปสู่การยกเครื่องเศรษฐกิจขนานใหญ่กันอย่างจริงจังเสียที หลังจากที่ได้ปูพื้นเตรียมลอยตัวค่าเงินจ๊าดในวันที่ 2 เม.ย. และยังเตรียมออกกฎหมายการลงทุนฉบับใหม่ออกมารับขวัญกลุ่มนักลงทุนหน้าใหม่ๆ ด้วย

ขณะเดียวกันก็ปฏิเสธไม่ได้เช่นกันด้วยว่า บรรดาชาติยักษ์ใหญ่อย่างสหรัฐ สหภาพยุโรป(อียู) ออสเตรเลีย และแคนาดา ต่างก็คาดหวังที่จะเห็นการเลือกตั้งซ่อมเป็นไปอย่างราบรื่น เพื่อเป็นเหตุผลไปสู่การยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรเช่นเดียวกัน

โดยเฉพาะอียูนั้น อาจเรียกได้ว่าอยู่ในขั้นที่ “มองข้ามช็อต” การยกเลิกคว่ำบาตรไปแล้ว

รอยเตอร์ส รายงานว่า กำลังมีกระแสกดดันขึ้นภายในอียูเอง ให้ยุโรปยกเลิกหรือผ่อนปรนการแซงก์ชันต่อพม่า เช่นเดียวกับที่บรรดาบรรษัทข้ามชาติสัญชาติยุโรปยักษ์ใหญ่ ก็กำลังวางแผนธุรกิจเตรียมไว้แล้วในกรณีที่อาจมีการตัดสินใจยกเลิกการคว่ำบาตรเร็วกว่าที่คิด หรือก่อนการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอียูที่กรุงบรัสเซลส์ ในวันที่ 23 เม.ย.นี้

เพราะเร็วกว่าก็ย่อมได้เปรียบกว่าในแง่การเฉือนตัดหน้าสหรัฐ ที่มีกลุ่มทุนยักษ์ใหญ่รอจ่อคิวให้เพียบ ขณะที่ญี่ปุ่นก็ได้เข้าไปปูพื้นเตรียมรอรับการลงทุนเรียบร้อยแล้ว และยังไม่นับการต้องไปแข่งขันกับผู้เล่นหน้าเดิมที่มีคอนเนกชันสายสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นกับรัฐบาลพม่าเป็นทุนเดิมอยู่แล้วอย่าง จีน อินเดีย เกาหลีใต้ และประเทศไทย

ยุโรปจ่อยกเลิกคว่ำบาตร ส่งกลุ่มทุนลุยพม่าตัดหน้ามะกัน

 

ยิ่งสหรัฐกำลังเสียเปรียบจากความซับซ้อนและยุ่งยากทางกฎหมาย ที่ทำให้การยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรเป็นไปได้ช้ากว่า หรืออย่างเร็วที่สุดก็แค่ยกเลิกมาตรการห้ามการเดินทางนั้น ก็ยิ่งเพิ่มความเป็นไปได้ที่ยุโรปจะเร่งเดินเครื่องก่อนเพื่อชิงความได้เปรียบนี้

ในแง่ท่าทีอย่างเป็นทางการของยุโรปนั้นแคเธอรีน แอชตัน ผู้แทนฝ่ายนโยบายต่างประเทศของอียู ได้แถลงถึงแนวโน้มการตัดสินใจยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรเอาไว้ว่า ต้องขึ้นอยู่กับการเลือกตั้งซ่อมวันที่ 1 เม.ย. ว่าจะเป็นไปอย่างเสรี ยุติธรรม และโปร่งใสหรือไม่ ซึ่งแอชตันจะเดินทางไปประเมินสถานการณ์ในพม่าก่อนที่จะกลับไปประชุมที่กรุงบรัสเซลส์ต่อไป

ทว่า เจ้าหน้าที่การทูตระดับสูงรายหนึ่งของอียูที่เกี่ยวข้องในกระบวนการตัดสินใจดังกล่าวเช่นกัน ได้เปิดเผยว่า ขณะนี้กำลังมีแรงขับเคลื่อนภายในอย่างมาก เพื่อกดดันให้ยุโรปยกเลิกการคว่ำบาตรโดยเร็ว และอาจขอให้ยกเลิกก่อนจะถึงการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอียูในช่วงปลายเดือนนี้อีกด้วย

“เยอรมนีและอิตาลีเป็นหนึ่งในกลุ่มประเทศที่เร่งให้อียูยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรทั้งหมดในทันที ขณะที่ประเทศอื่นๆ อย่างเช่น อังกฤษ ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ เดนมาร์ก และสวีเดน ยังอยากให้เป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไปมากกว่า” เจ้าหน้าที่คนดังกล่าว เปิดเผยกับรอยเตอร์ส

การเป็นผู้เล่นที่มาทีหลังนั้น ทำให้ยุโรปถูกจับตาไม่น้อยว่าจะมีอะไรเสนอให้กับรัฐบาลพม่า และยุโรปจะแข่งขันกับหลายประเทศในเอเชียที่เป็นผู้เล่นหน้าเดิมอย่างไร

แม้พม่ายังมีความเสี่ยงและอุปสรรคในการเข้าไปลงทุนอยู่อีกมาก ไม่ว่าจะเป็นความพร้อมด้านสาธารณูปโภคพื้นฐาน ค่าเงิน กฎหมายการลงทุน ประชากรส่วนใหญ่ที่ยากจน ปัญหาชนกลุ่มน้อย และการต้องใช้เส้นสายคอนเนกชันในการติดต่อลงทุน แต่หากมีสายป่านที่ยาวพอและมองเห็นโอกาสที่ว่าพม่ามีประชากร 60 ล้านคน มีภูมิประเทศติดกับจีนและอินเดีย มีน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน แร่นิกเกิล อัญมณี ป่าไม้ และยังเหลือพื้นที่อีกมหาศาลให้เข้าไปพัฒนาด้านการก่อสร้าง การสื่อสารโทรคมนาคม สาธารณสุข พลังงาน โครงสร้างพื้นฐาน และอสังหาริมทรัพย์ ประเทศแห่งนี้ก็ไม่ต่างอะไรกับแหล่งขุดทองแห่งใหม่ในสายตาของนักลงทุนยุโรป

จากมุมมองของยุโรป โอกาสที่ใหญ่ที่สุดและเห็นได้ชัดเจนที่สุดในขณะนี้ คือ การลงทุนในน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ โดยมียักษ์ใหญ่อย่าง เชลล์ บีพี โททาล เอนิ และสเตทออยล์ ที่กำลังฟาดฟันกันอยู่เพื่อให้เข้าไปในพม่าทันทีที่ยุโรปไฟเขียว ขณะที่บริษัทในสายอุตสาหกรรม ก่อสร้าง และโทรคมนาคมอย่าง ซีเมนส์ และบัวกูส์ ก็กำลังเร่งสำรวจโอกาสในพม่าเช่นกัน

สมาคมธุรกิจยุโรป ซึ่งเป็นกลุ่มล็อบบี้ยิสต์รายใหญ่ โดยเป็นตัวแทนของ 20 ล้านบริษัทสัญชาติยุโรปใน 35 ประเทศ ได้หารือกับทางเจ้าหน้าที่ยุโรปไปเมื่อวันที่ 28 ก.พ.ที่ผ่านมา เพื่อเร่งผลักดันให้ทางการยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรโดยเร็ว ท่ามกลางความกังวล 2 ประการหลักว่า ญี่ปุ่นและอินเดียจะเข้าไปปูพื้นฐานในพม่าเตรียมรองรับการลงทุนกันไว้แล้ว และกังวลว่าสหรัฐอาจตัดสินใจเข้าไปยังพม่าเร็วขึ้นหากอียูไม่ชิงยกเลิกการคว่ำบาตรก่อน

ทั้งนี้ หากพิจารณาเงื่อนไขด้านสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจของยุโรปในปัจจุบัน ก็จะยิ่งเห็นภาพได้ง่ายขึ้นว่า เหตุใดประเด็นทางเศรษฐกิจจึงมีน้ำหนักมากขึ้นเมื่อเทียบกับประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนเหมือนที่ผ่านๆ มา

วิกฤตการณ์หนี้สาธารณะที่เรื้อรังมากว่า 2 ปี “และยังไม่จบสิ้น” ท่ามกลางสภาพเศรษฐกิจสหรัฐที่ฟื้นตัวได้อย่างช้าๆ คือปัจจัยสำคัญที่ผลักดันให้ยุโรปต้องแสวงหาโอกาสในการเติบโตทางเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ฝั่งเอเชีย ที่มีอัตราจีดีพีโตเฉลี่ยถึง 7% ต่อปี ให้มากขึ้น และตลอดช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ยุโรปก็พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าสามารถช่วงชิงโอกาสได้เร็วกว่าสหรัฐและคู่แข่งหลายครั้ง อาทิ ข้อตกลงเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ยุโรป-เกาหลีใต้ ที่มีการลงนามเมื่อปีที่แล้ว ทั้งที่สหรัฐและจีนเริ่มคุยกับเกาหลีใต้ก่อนหน้ายุโรป และอียูก็กำลังเดินหน้าเอฟทีเอกับมาเลเซียและอินเดียด้วย

อย่างไรก็ตาม ด้วยลักษณะของยุโรปที่ยังคงยึดหลักสิทธิมนุษยชนไปด้วยอย่างเคร่งครัด ประกอบกับพม่ายังไม่สามารถแก้ปัญหาสิทธิมนุษยชน การควบคุมตัวนักโทษการเมือง และปัญหาชนกลุ่มน้อยได้รวดเร็วและมากพอ ก็อาจเป็นปัจจัยนอกเหนือจากการเลือกตั้งซ่อมที่ยุโรปหรือประเทศอื่นๆ ใช้พิจารณาให้ถี่ถ้วนมากขึ้น เพราะเมื่อยกเลิกการคว่ำบาตรไปแล้ว ก็คงไม่ใช่เรื่องดีนักหากจะมากลับมาลงโทษใหม่หลังพบว่าทั้งหมดเป็นแค่ผักชีโรยหน้า

แต่หากได้ตัดสินใจให้ไฟเขียวแล้ว ถึงเวลานั้นสมรภูมิการลงทุนก็จะเริ่มขึ้นอย่างไม่ปรานีเพื่อนบ้าน-มิตรสหายเดิมอีกต่อไป