posttoday

พม่าจัดเต็ม เปิดเสรีลงทุน-ลอยตัวจ๊าด-ปล่อยสื่อสาร

22 มีนาคม 2555

แม้จะมีเสียงตอบรับทางบวกมากมายจากโลกตะวันตก โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากมหาอำนาจอันดับหนึ่งของโลกอย่างสหรัฐ

โดย...นงลักษณ์ อัจนปัญญา

แม้จะมีเสียงตอบรับทางบวกมากมายจากโลกตะวันตก โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากมหาอำนาจอันดับหนึ่งของโลกอย่างสหรัฐ พร้อมด้วยพันธมิตรในยุโรปที่ส่งสัญญาณจะยกเลิกมาตรการคว่ำบาตร หลังจากที่พม่าเดินหน้าปฏิรูประบอบปกครองและเศรษฐกิจของประเทศชนิดก้าวกระโดด

กระนั้น บรรดานักลงทุนทั่วโลกก็ยังอดลังเลที่จะหอบเงินมาประกอบกิจการในประเทศที่อุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติอย่างป่าไม้ อัญมณี และก๊าซธรรมชาติในพม่าไม่ได้

เพราะติดขัดที่ความชัดเจนของตัวบทกฎหมายด้านการลงทุน และความเคลือบแคลงต่อระเบียบข้อบังคับของการดำเนินธุรกิจ ตลอดจนข้อบกพร่องที่สำคัญที่สุดอย่างระบบการเงิน ซึ่งครอบคลุมถึงอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราของประเทศ ที่ไม่เพียงแต่ทำให้ค่าเงินจ๊าดไม่มีเสถียรภาพเท่านั้น แต่ยังส่งผลให้เงินจ๊าดในตลาดมีมูลค่าไม่แตกต่างจากเงินกระดาษไปในทันที

กลายเป็นแรงกดดันมหาศาลสำหรับรัฐบาลพลเรือนพม่าภายใต้การนำของประธานาธิบดี เต็งเส่ง ที่ต้องการเงินลงทุนจากต่างชาติมาใช้พัฒนาประเทศ เพื่อตอบสนองความคาดหวังถึงชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของประชาชน และหวนกลับคืนสู่การเป็นหนึ่งในประเทศที่มั่งคั่งในภูมิภาคอีกครั้ง

โลกจึงได้เห็นการยกเครื่องเร่งปฏิรูประบบเศรษฐกิจของประเทศพม่าครั้งใหญ่ แถมเป็นการเปลี่ยนแปลงที่อดเรียกเสียงฮือฮาถึงความใจป้ำของรัฐบาลกรุงย่างกุ้งไม่ได้ และเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่เปรียบเสมือนของหวานรสเยี่ยมเชื้อเชิญนักลงทุนต่างชาติจนไม่อาจทำเมินพม่าอีกต่อไปได้

พม่าจัดเต็ม เปิดเสรีลงทุน-ลอยตัวจ๊าด-ปล่อยสื่อสาร

ของหวานชิ้นแรกของรัฐบาลพม่าก็คือ การประกาศเตรียมใช้กฎหมายฉบับใหม่ที่จะเปิดเสรีการค้าการลงทุนแก่ต่างชาติอย่างเต็มที่ โดยจะเป็นการเปิดทางให้นักลงทุนทั่วโลกสามารถเป็นเจ้าของกิจการในพม่าได้เต็มที่ 100% เต็ม โดยไม่ต้องร่วมหุ้นกับนักลงทุนท้องถิ่น เหมือนที่เคยเป็นมาในอดีต หรือหากจะคิดร่วมทุนร่วมหุ้นไม่ว่าจะกับบริษัทเอกชน หรือหน่วยงานรัฐบาลของพม่า นักลงทุนต่างชาติก็สามารถทำได้เต็มที่ โดยต้องมีทุนมาร่วมลงขันด้วยอย่างน้อย 35%

ของหวานชิ้นที่สอง คือ ภายใต้ร่างกฎหมายฉบับดังกล่าว พม่าจะเสนอสิทธิพิเศษด้วยการยกเว้นภาษีนาน 5 ปี สำหรับการเริ่มต้นดำเนินกิจการของชาวต่างชาติในพม่า พร้อมๆ กับการเปิดทางให้นักลงทุนต่างชาติเหล่านั้นสามารถเช่าที่ดินจากภาครัฐและเอกชนที่ได้รับอนุญาตแล้ว โดยขยายระยะเวลาเช่าให้ยาวนานสุดได้ถึง 30 ปี ก่อนที่จะต่อระยะเวลาการเช่าได้อีก 2 ครั้ง ครั้งละ 15 ปี

ของหวานชิ้นที่สามก็คือ การรับประกันจากรัฐบาลพม่าว่าจะไม่มีการควบรวมกิจการ หรือการแทรกแซงการทำงานของกิจการที่นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนจากรัฐบาลพม่าโดยเด็ดขาด

ของหวานชิ้นที่สี่ คือ การเดินหน้าปฏิรูประบบการเงินของประเทศตามที่สถาบันและหน่วยงานด้านการเงินระดับโลก เช่น กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ได้เคยแนะนำไว้เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา

ทั้งนี้ จากการเปิดเผยของเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางของประเทศ รัฐบาลพม่าเตรียมลอยตัวเงินจ๊าดในวันที่ 1 เม.ย.นี้ ซึ่งเป็นวันเริ่มต้นปีงบประมาณ 2555-2556 โดยจะส่งผลให้อัตราแลกเปลี่ยนเงินจ๊าดจากเดิมซึ่งอยู่ที่ 6 จ๊าดต่อ 1 เหรียญสหรัฐ เป็น 800 จ๊าดต่อ 1 เหรียญสหรัฐ ซึ่งขณะนี้รัฐบาลพม่ากำลังอยู่ในระหว่างการเจรจากับธนาคารเอกชนของประเทศ

นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่เห็นตรงกันว่า การลอยตัวค่าเงินนี้น่าจะส่งผลกระทบใหญ่หลวงต่อหน่วยงานรัฐและรัฐวิสาหกิจ ซึ่งอ้างอิงระบบอัตราแลกเปลี่ยนเดิมของทางการ แต่ไม่น่าจะส่งผลต่อตลาดส่วนใหญ่ของประเทศที่อิงกับอัตราแลกเปลี่ยนในตลาดมืดที่มีมูลค่าเกือบ 1,000 จ๊าดต่อ 1 เหรียญสหรัฐ

นอกจากนี้ การลอยตัวค่าเงินยังน่าจะให้ผลดีสำหรับรัฐบาลพม่าที่จะควบคุมปัญหาค่าเงินในระบบ และเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนต่างชาติที่จะเข้ามาดำเนินกิจการในประเทศ

ส่วนของหวานชิ้นสุดท้ายที่รัฐบาลพม่าเพิ่งจะปล่อยออกมาล่าสุดก็คือ การเปิดประตูเชิญให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาดำเนินกิจการด้านโทรคมนาคม ซึ่งหมายรวมถึงระบบโทรศัพท์ โทรศัพท์มือถือ และอินเทอร์เน็ตได้อย่างเต็มที่ โดยขณะนี้รัฐบาลพม่ากำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณาร่างกฎหมายฉบับดังกล่าว ซึ่งต้องรอให้สำนักงานอัยการตรวจทานทบทวนก่อนส่งให้รัฐสภาอนุมัติ

บรรดาผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุนต่างเห็นตรงกันว่า การเปิดเสรีให้ต่างชาติเข้าไปดำเนินกิจการด้านการสื่อสารโทรคมนาคม นับเป็นการเปิดโอกาสช่องทางการลงทุนใหม่ๆ ให้กับนักลงทุนต่างชาติ โดยตลาดดังกล่าวของพม่ายังสามารถเติบโตต่อไปได้อีกมาก เพราะมีชาวพม่าราว 2-3 ล้านคน จากจำนวนประชากร 60 ล้านคน ที่เข้าถึงและใช้บริการเครือข่ายโทรศัพท์ ขณะที่มีผู้เข้าถึงอินเทอร์เน็ตเพียงแค่ประมาณ 1.1 แสนคน

ขณะเดียวกันการเปิดเสรีเครือข่ายการสื่อสารที่แต่เดิมผูกขาดและอยู่ภายใต้การควบคุมอย่างเข้มงวดของรัฐบาลทหารพม่าก็เป็นการตอบสนองความต้องการของรัฐบาลพลเรือนที่จะเร่งปฏิรูปเครือข่ายของตัวเองให้ครอบคลุม 50% ของพื้นที่ประเทศภายในปี 2558

เรียกได้ว่า ของหวานแต่ละอย่างที่รัฐบาลพม่าปล่อยออกมาระลอกใหญ่คราวนี้ ย่อมทำให้นักลงทุนอดตาลุกวาวไม่ได้ และเป็นความพยายามครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์ของพม่า ที่ต้องตามลุ้นกันต่อไปว่าจะสำเร็จสมดังความคาดหมายของผู้นำพม่าหรือไม่

เพราะประเทศพม่าโดยรวมยังนับว่าล้าหลังอยู่มากในเรื่องของโครงสร้างสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน เช่น ถนนเชื่อมต่อภายในประเทศ ระบบไฟฟ้าที่ยังไม่เพียงพอสำหรับธุรกิจกิจการ ระดับความเป็นอยู่ของประชาชนส่วนใหญ่ที่ยังยากจนขาดกำลังซื้อ และความเอาแน่เอานอนไม่ได้ของผู้นำประเทศ

แต่เมื่อคำนึงถึงจุดแข็งที่มีความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ ความสดใหม่ของตลาดที่เพิ่งเปิดรับโลกภายนอกหลังจากที่ถูกโดดเดี่ยวมานานกว่า 50 ปี และชัยภูมิของประเทศที่เป็นประตูเชื่อมต่อสำคัญระหว่างอินเดียกับจีน พม่าย่อมมีศักยภาพทัดเทียมกับประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงอย่างไม่ต้องสงสัย

ขึ้นอยู่กับว่า นักลงทุนทั้งใกล้และไกลจะพลิกหาโอกาสจากพม่าในวันที่ประเทศกำลังหาหนทางหวนคืนสู่ความเรืองรองอีกครั้งได้หรือไม่