posttoday

ธีรยุทธวิเคราะห์ยุค 2 ก๊ก แดงขยาย-คนดีระส่ำ

19 มีนาคม 2555

เหตุผลที่เสื้อแดงชอบ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี มีด้วยกัน 4 ประเด็น คือ 1.นโยบาย 30 บาท

โดย...ทีมข่าวการเมือง

หมายเหตุ : ธีรยุทธ บุญมี ผู้อำนวยการสถาบันสัญญา ธรรมศักดิ์ เพื่อประชาธิปไตย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดบทวิเคราะห์การเมืองไทยแนวโน้มของวิกฤตปัจจุบัน โพสต์ทูเดย์ขอคัดบทสำคัญนำเสนอดังนี้

ทักษิณ–รากหญ้าประชานิยม

เหตุผลที่เสื้อแดงชอบ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี มีด้วยกัน 4 ประเด็น คือ 1.นโยบาย 30 บาท เป็นการช่วยกู้ศักดิ์ศรีในการไปโรงพยาบาลแล้วไม่ถูกดูถูกเหมือนสมัยก่อน 2.กองทุนหมู่บ้าน ที่ลดค่าใช้จ่ายของชาวบ้าน 3.เรื่องยาเสพติดที่กระทบคนชั้นล่าง และกลาง มาก เท่าที่ตรวจสอบเขาพอใจกับนโยบายการปราบปรามยาเสพติด เพราะเป็นปัญหาจริงๆ เนื่องจากกระทบถึงลูก หลาน และครอบครัว

การเมืองรากหญ้ามีความสำคัญต่อประชาธิปไตยหากมองสิทธิเสรีภาพของประชาชนมีการพัฒนา เสื้อเหลือง และเสื้อแดงเป็นการเมืองที่พัฒนามาจาก 14 ตุลาฯ เพราะสมัยนั้นเป็นคนชั้นกลาง กลุ่มธุรกิจทำให้เกิดพื้นที่ของชาวบ้าน ดังนั้น หากมองการปกครองก่อน 2475 ชาวบ้านไม่มีเสรีภาพ และศักดิ์ศรีความเป็นคน เมื่อหลัง 2475 ชาวบ้านมีเสรีภาพในการแสดงออก แต่คนชั้นสูง ข้าราชการมีฐานะในสังคม แต่การเมือง เมื่อหลัง 19 ก.ย. 2549 การเมืองรากหญ้าจึงเป็นดัชนีบ่งชี้การพัฒนาการด้านเสรีภาพในสังคมไทย แม้จะเป็นจุดเริ่มต้น อย่างไรก็ตาม ประชานิยมน่าจะเป็นปัญหาเศรษฐกิจที่ตามมาในอนาคต

นอกจากนี้ พลังรากหญ้า เสื้อแดงมีลักษณะเฉพาะ การลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง และการชุมนุมเป็นครั้งคราว ยังไม่เป็นขบวนการ ไม่มีเป้าหมายอุดมการณ์ที่ต้องการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการเมืองแต่อย่างใด

รากเหง้าของวิกฤต

ต้องมองให้ลึกกว่าปัญหา พ.ต.ท.ทักษิณ แกนนำเสื้อเหลืองเสื้อแดง และปัญหารากเหง้าจริงๆ คือ “การรวมศูนย์มากเกินไป ศูนย์กลางเอาไม่อยู่” การรวมศูนย์เบ็ดเสร็จทุกด้านในสมัย ร.5 โดยรัฐเป็นเจ้าของและผู้ใช้ทรัพยากรทุกอย่าง เชิดชูส่วนกลาง กดเหยียดของเดิม ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ ความน้อยเนื้อต่ำใจ ยังฝังลึกชนชั้นนำเข้ามามีอำนาจทางการเมืองหยิบฉวยประโยชน์จากรัฐ ส่วนชาวบ้านไม่เคยได้อะไรจากรัฐ

ดังนั้น ตำหนิไม่ได้เต็มปาก เวลาซื้อขายเสียง เพราะคล้ายว่าเราไม่เคยทำอะไร ส่วนกลางไม่ได้เหลียวแลจ่ายกลับคืนเท่าที่ควร เวลามีอำนาจต่อรอง ชาวบ้านก็ฉลาดพอที่จะต่อรอง คือ เป็นวัตถุ งบประมาณ โครงการเข้าหมู่บ้าน แต่ชาวบ้านตื้นตันในตัว พ.ต.ท.ทักษิณ ที่ใช้ประชานิยมผันเงินของรัฐไปช่วยชาวบ้าน แม้ตัวเองจะไม่ได้จ่ายก็ตาม ดังนั้น ผลการรวมศูนย์มากไป จึงต้องได้รับการแก้ไข การควบคุมทรัพยากรพื้นฐาน โครงสร้างพื้นฐาน สุขภาพอนามัย แต่ประเด็นสำคัญ คือ ปัญหาประวัติศาสตร์ สังคม

“ร.6 เน้นแบบกษัตริย์นิยม ไม่มีประวัติศาสตร์สังคมโดยรวม คนอาชีพต่างๆ ไม่มีส่วนร่วมในการสร้างประเทศ ดังนั้น สังเกตตามที่ถนนมีชื่อซอยตามพระนามกษัตริย์ ไม่มีชื่อปราชญ์ นักการทูต สถาปนิก กวีศิลป์ ทำให้ไม่เกิดความภูมิใจในการร่วมสร้างประเทศ เพราะเอียง เนื่องจากรวมศูนย์ราชานิยม เป็นเรื่องของข้าราชการที่อยากเอาอกเอาใจเจ้านาย แต่เกิดผลในความรู้สึกรวมของสังคม ไม่เหมือนต่างประเทศ เช่น ราชสำนักอังกฤษ ให้อิสริยาภรณ์กับคนหลากหลายอาชีพ แต่บ้านเราได้เฉพาะคุณหญิง คุณนาย ทหาร และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ดังนั้น ควรมีการแก้ไข เพราะขนบธรรมเนียม วัฒนธรมได้ถูกทำลายลงไป”

ทั้งนี้ ชาวบ้านรู้สึกว่าไม่ได้รับความยุติธรรม ในด้านทรัพยากร ดูหมิ่น ศักดิ์ศรี เมื่อเกิดรัฐประหาร คนเมืองต่อต้าน พ.ต.ท.ทักษิณ ศูนย์กลางใช้สองมาตรฐานการไม่ยอมรับอำนาจจึงขยายตัว ความคิดพื้นฐานของคนชั้นนำกับรากหญ้า ทำให้เกิดความไม่เข้าใจ ชาวบ้านมีค่านิยมแบบนักเลง ชอบฮีโร่และวีรบุรุษที่ให้ความหวัง ชอบคนกร่างๆ แบบ จตุพร พรหมพันธุ์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ดูเรียบร้อย แต่พูดจาฉะฉาน

ธีรยุทธวิเคราะห์ยุค 2 ก๊ก แดงขยาย-คนดีระส่ำ

 

ความแตกต่างค่านิยมชนชั้นล่างและชนชั้นสูง/กลาง

ค่านิยมชีวิตทั่วไป ชนชั้นล่าง ชอบความง่าย สนุกสนาน รู้สึกชีวิตไม่เป็นธรรม ชอบวัตถุจับต้องได้ เน้นการพึ่งพาช่วยเหลือกัน ใจกว้างนักเลง ขณะที่ชนชั้นสูง ชอบระเบียบ กระบวนการ ความสงบเรียบร้อย มารยาท ช่องทางเปิดกว้าง นามธรรม คุณธรรม ความดี แต่ก็ชอบวัตถุ เน้นการพึ่งตนเอง ช่วยตนเอง

ค่านิยมทางการเมือง ชนชั้นล่าง ชอบผู้นำวีรบุรุษ นโยบายประชานิยม ประชาธิปไตยกินได้ สำหรับนักการเมืองชอบประชาธิปไตย “กู” ได้กิน ขณะที่ชนชั้นสูง ไม่ชอบ พ.ต.ท.ทักษิณ ที่ไม่เคารพกติกาไม่ชอบประชานิยม เพราะทำให้คนไม่รับผิดชอบตนเอง ชอบประชาธิปไตยคนดี หรือประชาธิปไตยดูได้

มุมมองใหม่ของปรากฏการณ์ การเมืองรากหญ้า ขบถ “คนเล็กคนน้อย” ชาวบ้านที่ลุกมาประท้วงความไม่เป็นธรรม ความเหลื่อมล้ำ อัยการ ตำรวจ ที่ด้อยกว่ากัน พ่อค้า แท็กซี่ มอเตอร์ไซค์รับจ้าง ถูกมองว่าเป็นอาชีพที่ด้อยกว่า หากมองว่าเดิมเป็นวงจรอุบาทว์ มีการซื้อเสียง ถอนทุน มีการรัฐประหาร แต่ในเชิงโครงสร้างจะพบวงจรเชิงเศรษฐกิจการเมืองทับซ้อนอยู่ ชนบท เป็นแหล่งที่มาทรัพยากร แรงงานที่จำเป็นต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ และเป็นแหล่งชอบธรรมให้กับประชาธิปไตย

ส่วนเมืองแหล่งผลิตในการใช้ทรัพยากร และเป็นผู้ใช้อำนาจประชาธิปไตย เพื่อให้วงจรดังกล่าวได้ครอบงำชาวบ้าน โดยวาทกรรมความสำคัญของศูนย์กลาง ของประชาธิปไตยคนดีและมาตรการสุดท้าย คือ รัฐประหาร แต่ที่น่าสนใจ การเมืองรากหญ้าเกิดวงจรย้อนกลับ คือ ชนบท พยายามดึงทรัพยากรความมั่งคั่ง ด้วยการต่อรองกับพรรคการเมือง อนาคตจะมีประชานิยมเกิดขึ้นมาก ด้านอำนาจนำการต่อสู้ด้วยวาทกรรมประชาธิปไตยกินได้ และการวิจารณ์สถาบันอำนาจอนุรักษนิยม มองอำนาจวงจรอุบาทว์ จะสามารถเกิดกระบวนการรากหญ้าหรือเสื้อแดงได้

2 ก๊ก “คนเลว” โจโฉ จะชนะก๊ก“คนดี” เล่าปี่-ขงเบ้ง

สองศูนย์น่าเป็นห่วง เพราะเป็นการแบ่งประเทศเป็น 2 ส่วน แต่ละฝ่ายมีความชอบธรรมและที่มั่น การควบคุมอนุรักษ์ ควบคุมด้านความมั่นคง ตุลาการ จิตวิญญาณ รากหญ้า คุมการออกนโยบายบริหารงบประมาณ ซึ่งรากหญ้ามีความได้เปรียบ ดังนั้น แนวโน้มเสื้อแดงมีโอกาสขยายตัวจากนโยบายประชานิยม เช่น โอท็อป ประกันพืชผล ขยายไปได้เรื่อยๆ รวมถึงประชานิยมด้านสังคม เช่น สตรี เด็ก แจกคอมพิวเตอร์แท็บเล็ต เขาเกิดความประทับใจทักษิณ เพราะได้ของใหม่

ขบถคนเล็กคนน้อย อัตลักษณ์วัฒนธรรม ดังนั้น เสื้อแดงได้เปรียบ ฝ่ายอนุรักษ์เสียเปรียบ เสื้อแดงเป็นฝ่ายรุกตลอด เพราะวิสัยทัศน์ของเสื้อเหลืองจำกัดและตีบตัน ส่วนแดงคิดต่อไปได้เรื่อยๆ เพราะมีงบและทรัพยากรรองรับ ดังนั้น ศูนย์กลางต้องเหลือเพียงศูนย์เดียว ส่วนจะเหลืออย่างไรไม่สามารถให้คำตอบได้ แต่เท่าที่ดู คือ ยุทธศาสตร์เพื่อไทย หรือทักษิณ มี 3 ขา คือ 1.ขยายฐานรากหญ้า 2.สลายอำนาจฝ่ายตรวจสอบ เช่น องค์การอิสระ ศาลรัฐธรรมนูญ และ 3.ดึงกำลังมั่นคง เช่น กองทัพ มาเป็นพวก

ส่วนฝ่ายอนุรักษ์ ไม่มีทางออก คือ ขยายรากหญ้า ไม่มีทางทำสำเร็จ เพราะไม่มีวาทกรรมใหม่ๆ นอกจากอดทน พอเพียง หรือเป็นคนดี เพราะหากคนไม่มีความหวังก็เหนื่อย เช่น คนจนมากๆ และเจอคนรวยบอกว่าอดทน เขาจะโกรธ เพราะเขาลำบาก นักคิดฝ่ายอนุรักษ์ เน้นนามธรรม อย่างน้อยพูดนามธรรม แต่ตัวเองอยู่สุขสบายกว่า ดังนั้น คนจนจะขมขื่นมากเมื่อเจอภาวะเช่นนี้ อย่างไรก็ดี ยังไม่เห็นทางที่ฝ่ายอนุรักษ์จะขยายตัว มีแต่หดตัว หากไม่มีการปรับแนวคิดใหม่