posttoday

ทักษิณจะกลับบ้าน

17 มีนาคม 2555

ความพยายามของพรรคเพื่อไทยและคนเสื้อแดง

โดย...ทวี สุรฤทธิกุล

ความพยายามของพรรคเพื่อไทยและคนเสื้อแดง ที่จะนำคุณทักษิณกลับบ้านดูเหมือนจะเป็นเพียงแค่การโยนก้อนหินถามทาง พอโยนกันออกมามากๆ มันก็รกเกะกะ หลายก้อนโดนหัวผู้คนที่มีทั้งรักและเกลียด แต่ส่วนมากจะเป็นขยะกองพะเนิน เหมือนว่ายิ่งพยายามก็ยิ่งยุ่งยาก

ยากเหลือเกินที่คุณทักษิณจะได้กลับบ้าน!

ว่ากันว่าคนไทยเป็นคนขี้สงสาร จึงดูเหมือนว่าคนที่รักคุณทักษิณ (ทั้งที่รักจริงและไม่จริง) พยายามที่จะปั่นกระแสอารมณ์ของผู้คนในสังคมไปในทางแนวนั้น ทว่าคุณทักษิณกลับไม่สนองตอบต่ออารมณ์ดังกล่าว เพราะพี่แกกลับสร้าง “กระแสความหมั่นไส้” ด้วยการอวดร่ำ อวดรวย อวดสุข อวดสบาย และที่สำคัญ “อวดใหญ่ อวดโต” โต้กระแสสังคมอยู่ตลอดเวลา

อาจเป็นเพราะไม่สำนึก หรือไม่รู้จริงๆ?

ความขี้สงสารของคนไทยสามารถอธิบายได้ด้วยวรรณกรรมคลาสสิกและนิยายขายดีต่างๆ ที่มักจะวางโครงเรื่องให้มีจุดจบที่น่าสงสาร เช่น ลิลิตพระลอ(เรื่องของพระลอที่ตายพร้อมคู่รักสองพี่น้องพระเพื่อนพระแพง) ขุนช้างขุนแผน (ชีวิตคนคุกแบบขุนแผนที่แสนระหกระเหินนี่ช่างเหมือนชีวิตของใครบางคนเหลือเกิน) คู่กรรม (อังศุมาลินกับโกโบริในโศกนาฏกรรมระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2) และแผลเก่า (รักรันทดแห่งคลองแสนแสบของไอ้ขวัญอีเรียม) เป็นต้น

เรียกว่ายิ่งบีบน้ำตาก็ยิ่งมีราคา

ตอนเด็กๆ ผู้เขียนมักถูกบังคับให้ไปดูหนังกับแม่ สมัยนั้นโรงหนังดังๆ จะต้องมีชื่อขึ้นต้นด้วยคำว่า “เฉลิม” (สมัยก่อนคำคำนี้มีความหมายที่ดีและเป็นสิริมงคลมาก) เช่น เฉลิมกรุง เฉลิมเขตร์ หรืออย่างแถวห้วยขวางที่ผู้เขียนอาศัยอยู่ตอนเด็กๆ นั้นก็ชื่อ “เฉลิมขวัญ” จำได้ว่าราคาตั๋วราว 23 บาท (พ.ศ. 2505-2510 ก๋วยเตี๋ยวราคาชามธรรมดา 6 สลึง ชามพิเศษ 2 บาท) แต่ถ้าจะไปชมในโรงหนังเก๋ๆ สำหรับไฮโซยุคนั้น เช่น สยาม ลิโด หรือสกาล่า (ที่ตามข่าวเมื่อวันก่อนทราบว่ากำลังจะถูกทุบทิ้ง) ก็จะมีราคาระหว่าง 1020 บาท (ไม่แพ้ง...!)

หนังที่แม่ชอบดูมักจะเป็นหนังเศร้าๆ แม้แต่ชื่อเรื่องก็ต้องเป็นในทำนองนั้น เช่น ธรณีกรรแสง (หนังอินเดียเกี่ยวกับการต่อสู้กับความแห้งแล้งที่คนดูต้องร้องไห้ เพราะสงสารพระเอกรูปหล่อที่ต้องไปลากไถแทนวัว) และแม่น้ำวิปโยค (หนังจีนเกี่ยวกับแม่น้ำฮวงโหหรือแม่น้ำเหลืองที่ท่วมพัดครอบครัวให้พรากจากกันและมีคนตายเยอะมาก) ในขณะที่เด็กในวัยสร้างสรรค์อย่างผู้เขียนต้องการแรงบันดาลใจ จึงชอบดูทีวีจำพวกหนังญี่ปุ่น ที่ดังๆ ในยุคนั้น ก็เช่น หุ่นยักษ์ (ที่เป็นหุ่นใบ้ แต่คนพากย์ชอบให้เสียงประกอบว่า “เบอะๆ” จึงเรียกหนังเรื่องนี้อีกชื่อหนึ่งว่า “หุ่นเบอะ”) ยอดมนุษย์ (ที่มีชื่อฝรั่งว่า “อุลตราแมน”) หน้ากากเสือ (เรื่องของนักมวยปล้ำจอมอุดมการณ์เพลงเพราะมาก) และไอ้มดแดง (คาเมนไรเดอร์ที่สวยทั้งมอเตอร์ไซค์และคอสตูม) เป็นต้น

ทักษิณจะกลับบ้าน

 

ครั้นเข้าสู่ยุควัยรุ่นที่อยู่ในช่วงเหตุการณ์ 14 ต.ค. 2516 อันเต็มไปด้วยวรรณกรรมแนวสังคมนิยม หรือที่เรียกว่า “พวกซ้าย” ที่มักจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับความทุกข์ยากของคนชั้นล่างในสังคมผู้ถูกนายทุนหรือศักดินาเอารัดเอาเปรียบ หรือไม่ก็เป็นเรื่องราวอันสุดแสนรันทดของผู้คนเหล่านั้น ซึ่งคนที่อยากอวดก็จะถือหนังสือเหล่านี้โชว์ปกโชว์ชื่อเรื่องให้คนเห็นไปตามที่ต่างๆ เพื่อนผู้เขียนคนหนึ่งชอบถือเรื่อง “แม่” ของแมกซิม กอร์กี (มันว่าชื่อเรื่อง “โดนมั่กๆ” แต่อ่านไม่จบเพราะไม่สนุก) ส่วนผู้เขียนจะถือรวมเรื่องสั้นของศรีบูรพาหรือไม่ก็ “ข้างหลังภาพ” เพราะอยากเป็นนพพรที่ได้ใกล้ชิดสาวไฮโซอย่างคุณหญิงกีรติในเรื่องนั้น ซึ่งจบเรื่องอย่างหดหู่แต่กินใจ

ยุคนั้นอีกเช่นกันที่เพลงเพื่อชีวิตแนวซ้ายๆ กำลังฮิตเป็นอย่างยิ่ง ที่ผู้เขียนชื่นชอบก็มีหลายเพลง แต่มักจะเป็นแนวหวานๆ เช่น แสงดาวแห่งศรัทธา เสียงเพรียกแห่งมาตุภูมิ หรือดอกไม้จะบาน (ชื่อเพลงนี้จำไม่แม่นแต่มีเนื้อร้องตอนต้นว่า “ดอกไม้ ดอกไม้จะบาน บริสุทธิ์กล้าหาญ จะบานในใจ) ส่วนจำพวก “ซ้ายเร็กเก้” อย่างเปิบข้าว หรือคนกับควายก็ชอบเหมือนกัน แต่เป็นบางอารมณ์ที่อยากจะเฮ้วๆ ไปกับกลุ่มฝูงชน

กลับมาที่เรื่องของคุณทักษิณ ว่ากันว่าแกถูกแวดล้อมด้วย “คนเดือนตุลา” มาโดยตลอดและใช้คนเหล่านี้ให้ทำงานทั้งในเชิงนโยบายและยุทธศาสตร์ต่างๆ เสมอมา อาจจะเป็นเพราะคนเหล่านี้มีแนวความคิดที่ถูกใจคุณทักษิณ หรือเป็นคนทำงานที่ขยันขันแข็ง (บ้างก็ว่างค่าจ้างไม่แพงเพราะคนเหล่านี้ทำงานด้วยอุดมการณ์!) หรือคุณทักษิณอาจจะเบื่อพวกนักการเมืองพันธุ์แท้ที่ดีแต่พูดแต่ไม่ทำ (ถึงขนาดที่บางคนยอมรับว่าตัวเองนั้นเป็น NATO คือ No Action, Talk Only) จนหลายคนถึงกับเชื่อว่าคุณทักษิณนี้เป็นซ้ายไปด้วย อย่างกรณี “ปฏิญญาฟินแลนด์” นั้น

เรื่องปฏิญญาฟินด์แลนด์ (ที่บางท่านอาจจะไม่คุ้นเคย ผู้เขียนจึงขออนุญาตสรุปให้ฟังอย่างที่ได้ยินมาว่า เป็นแนวคิดที่จะเปลี่ยนแปลงประเทศไทยไปสู่ระบอบสาธารณรัฐ นัยว่าจะไม่มีกษัตริย์และจะให้คุณทักษิณเป็นประธานาธิบดี) นี่ก็เป็น “แผลใหญ่” ของคุณทักษิณที่พยายามแก้ตัวอย่างไรๆ ก็ไม่หลุดแถมยังพัวพันออกมาเป็นปฏิบัติการอื่นๆ อีกมากมาย เช่น การเคลื่อนไหวของกลุ่มอาจารย์นิติราษฎร์ ครก. 1125 และการแก้รัฐธรรมนูญ 2550 (ที่ดูเหมือนจะไม่สำเร็จ)

ในประวัติศาสตร์คนที่มีแผลเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์มักจะมีชะตากรรมเหมือนกันอยู่อย่างหนึ่งคือ “กลับมาตายบนแผ่นดินไทยไม่ได้” ลิ่วล้อที่หากินกับคุณทักษิณในเรื่องนี้บางคนจึงยอมรับสภาพดังกล่าวนี้แล้ว โดยเปรียบเทียบคุณทักษิณเข้ากับบุคคลดังกล่าว แต่คุณทักษิณคงจะไม่เก็ต (ด้วยความเขลาจริงๆ) หรือไม่ยอมรับสภาพดังกล่าว (เพราะยังมีตัณหาคั่งแค้น) จึงดูดิ้นรนขึงขังโดยพยายามแสดง “พลานุภาพ” อยู่เรื่อยๆ ให้เห็นว่าข้านี้ยัง “แน่” อยู่นะ ซึ่งพฤติการณ์เช่นนี้หลายคนเชื่อว่าคือการปิดประตูประเทศไทยใส่หน้าคุณทักษิณด้วยตัวคุณทักษิณเอง

คุณทักษิณอาจจะพิเคราะห์เห็นว่า การที่ผู้นำหลายท่านในอดีตไม่ได้กลับ ก็เพราะท่านเหล่านั้นไม่ต่อสู้ดิ้นรนหรือเรียกร้อง คุณทักษิณอาจจะเชื่อในสมองขนาดหนึ่งกิโลขีดของแกว่า ถ้าอยากจะกลับก็ต้องต่อสู้ดิ้นรน รวมทั้งเอ็ดตะโรโวยวายให้ถึงที่สุดอย่างที่ได้พยายามมา4-5 ปีนั้น มาถึงเวลานี้เมื่อดูกระแสว่าน่าจะไม่สำเร็จ ก็เลี่ยงออกไปว่ายังไม่อยากกลับ แต่ก็วนเวียนมายั่วยุอยู่แถวๆ ประเทศเพื่อนบ้านทั้งยังประกาศว่าสงกรานต์นี้จะมาไหว้พระธาตุหลวงที่เวียงจันทน์

ในขณะเดียวกันก็ให้ลิ่วล้อ “สับขาหลอก” และพยายามหาทางช่วยกันในหลายๆ วิธี บางครั้งก็ดูเหมือนต่างคนต่างทำ บ้างก็จะยัดไส้เข้าไปในรัฐธรรมนูญที่วาดฝันว่าจะเข็นไปได้ บ้างก็จะปลุกปั้นให้เป็น พ.ร.บ.ปรองดอง บ้างก็จะไปปลุกปั่นชาวบ้านให้เดินขบวนมาบีบสถาบันต่างๆ

คนที่กำลังใช้ความพยายามอยู่นี้จะรู้ใจคุณทักษิณบ้างไหมว่า สิ่งที่คุณทักษิณกลัวที่สุดนั้นคือ “ความตาย” ถึงแม้จะ “ไขประตูปูทาง” เชิญคุณทักษิณกลับมาได้ แต่คุณทักษิณแกจะกล้ากลับมาหรือ เพราะขนาดอยากจะช่วยน้องสาวบริหารประเทศไทยให้ใกล้ชิดโดยมาตั้งศูนย์บัญชาการอยู่ที่บ้านพักในฮ่องกง รัฐบาลจีน (ที่คุณทักษิณอ้างว่ารักคุณทักษิณมาก) ยังไม่กล้ารับรองความปลอดภัย (หรือว่ารักมากจริงๆ จึงต้องเตือนในฐานะเพื่อนแท้?)

ผู้เขียนจำได้คลับคล้ายคลับคลาแต่ไม่แน่ใจว่าจะเป็นหนังหรือหนังสือ (เพราะได้เคยเห็นผ่านมาหลายปี) มีชื่อเรื่องน่าสงสารมาก เห็นแล้วก็หดหู่สังเวชใจ ที่คุณทักษิณอาจจะสนใจนำไปใช้สำหรับอธิบายอารมณ์อยากกลับบ้านแต่กลับไม่ได้นี้ว่า

“แม่จ๋า พรุ่งนี้หนูจะกลับบ้าน”