posttoday

ความตกต่ำของค่ายรถแดนปลาดิบ ห้วงวิกฤตที่รอการพิสูจน์

04 มีนาคม 2553

ช่วงขาลงของอุตสาหกรรมรถแดนปลาดิบยังไม่ถึงขั้นคอขาดบาดตาย จนถึงกับทำลายอนาคตจนไม่เหลือชิ้นดี

ช่วงขาลงของอุตสาหกรรมรถแดนปลาดิบยังไม่ถึงขั้นคอขาดบาดตาย จนถึงกับทำลายอนาคตจนไม่เหลือชิ้นดี

โดย...ทีมข่าวต่างประเทศ

ปีที่แล้วอุตสาหกรรมรถยนต์ของญี่ปุ่น ยอมรับว่าเป็นปีที่ย่ำแย่ที่สุดในรอบ 32 ปี เนื่องจากค่ายรถต่างๆ ต้องเผชิญกับยอดขายที่ทิ้งตัวลงอย่างรุนแรง จากภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก

ในปีนี้อุตสาหกรรมยนต์ของญี่ปุ่นหมายมั่นที่จะสลัดตัวเองจากสถานการณ์ที่ย่ำแย่ที่สุดในรอบ 3 ทศวรรษ ด้วยการเกาะกระแสฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ซึ่งในเดือนแรกค่ายรถต่างๆ พิสูจน์ให้เห็นด้วยยอดขายที่ถีบตัวขึ้นมา

อย่างไรก็ตาม ค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นไม่เพียงไม่อาจสลัดตัวจากปีที่เลวร้ายได้เท่านั้น แต่ยังถลำลึกลงสู่ฝันร้ายอย่างไม่คาดคิด

ความตกต่ำของค่ายรถแดนปลาดิบ ห้วงวิกฤตที่รอการพิสูจน์

กลับกลายเป็นว่าค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นสามารถก้าวขึ้นมาครองอันดับต้นๆ ของอุตสาหกรรมนี้ได้เพียงปีเดียว แต่อาจต้องเผชิญกับความเสี่ยงที่จะไถลลงมาจากอันดับต้นๆ อีกนานหลายปี เนื่องจากความเชื่อมั่นได้ถูกทำลายลงอย่างย่อยยับจากวิกฤตเรียกรถคืนตั้งแต่โตโยต้า ฮอนด้า ซูซูกิ จนถึงนิสสัน รายล่าสุดที่เรียกรถคืนเพื่อซ่อมเบรกถึง 5.4 แสนคัน

แม้จะเผชิญกับช่วงขาลงอย่างต่อเนื่อง แต่ค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นถึงจุดตกต่ำที่สุดจริงหรือ?

คำถามนี้มีเพียงค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นและผู้บริโภคเท่านั้นที่จะตอบได้ดีที่สุด

ในส่วนของผู้บริโภค ทัศนะต่อความยิ่งใหญ่และความตกต่ำของค่ายรถญี่ปุ่น ไม่ได้แสดงออกผ่านยอดขายเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังต้องพิจารณาที่มุมมองและความไว้ใจต่อรถยนต์จากค่ายรถประเทศต่างๆ ด้วย

เมื่อเทียบกับเดือน ม.ค. ปีที่แล้ว (ขณะที่เดือน ม.ค. ปีนี้ โตโยต้าประเดิมวิกฤตเรียกรถคืนเป็นค่ายแรก) จะพบว่าผู้บริโภคมีทัศนะด้านบวกต่อค่ายรถยนต์จากญี่ปุ่นถึง 4 ค่าย จากทั้งหมด 10 ค่าย ทั้งจากสหรัฐ เอเชีย และยุโรป โดยโตโยต้าและฮอนด้าครองอันดับ 1 และ 2 ด้วยคะแนน 193 และ 149 ตามลำดับ จากการสำรวจโดย Consumer Reports

เมื่อพิจารณาที่ความน่าเชื่อถือของแบรนด์รถยนต์ต่างๆ ปรากฏว่าแบรนด์รถยนต์ญี่ปุ่นกวาดเรียบถึง 8 แบรนด์ นำโดย ไซอัน เอคิวรา ฮอนด้า โตโยต้า เลกซัส อินฟินิตี้ ซูบารุ และมิตซูบิชิ เหลือไว้ให้ค่ายรถเกาหลีใต้เพียง 2 ที่ คือ ฮุนได และเกีย ส่วนสหรัฐและยุโรปไม่สามารถเบียดขึ้นมาได้แม้แต่รายเดียว

ในปีนี้โตโยต้ายังครองอันดับ 1 ของแบรนด์รถที่ผู้บริโภคมีทัศนะในด้านบวกมากที่สุด ด้วยคะแนน 196 แต่อันดับ 2 ตกเป็นของฟอร์ด ด้วยคะแนน 141 ส่วนฮอนด้าหล่นลงมาอยู่อันดับที่ 3 ที่คะแนน 135

ที่น่าสนใจก็คือ ฮัมเมอร์ ซึ่งเป็นแบรนด์ของ “อดีต” ค่ายรถอันดับ 1 ของโลกอย่างจีเอ็ม ได้รับการจัดอันดับให้เป็นแบรนด์ที่ผู้บริโภคมีทัศนะด้านบวกน้อยที่สุด ท่ามกลางกระแสข่าวว่า จีเอ็มกำลังพยายามสลัดฮัมเมอร์ด้วยการเจรจาขายกิจการให้กับ Tengzhong Heavy Industry Machinery

อย่างไรก็ตาม การสำรวจนี้มีขึ้นในช่วงต้นเดือน ม.ค. ก่อนที่อุตสาหกรรมรถยนต์ของญี่ปุ่นต้องเผชิญกับมรสุมครั้งรุนแรงยิ่งกว่าภาวะเศรษฐกิจถดถอย

เพราะล่าสุด เมื่อย่างเข้าเดือน มี.ค. บริษัท กัลลัพโพล เปิดเผยผลสำรวจความเห็นของผู้ใช้โตโยต้าในสหรัฐ พบว่ามีถึง 74% ที่สูญเสียความเชื่อมั่นต่อโตโยต้า

และท้ายที่สุดแล้ว ผลสะท้อนที่ชัดเจนที่สุดจากวิกฤตเรียกรถคืนของอุตสาหกรรมรถยนต์ญี่ปุ่น ก็ต้องมาวัดกันที่ยอดขาย

ผลปรากฏว่า ค่ายรถชั้นนำเกือบทุกค่ายยกเว้นโตโยต้า สามารถทำยอดขายได้เพิ่มขึ้นถึงตัวเลข 2 หลักในช่วงเดือน ก.พ. ขณะที่โตโยต้าติดลบเกือบ 2 หลักเช่นกันที่ 8.7%

อาจเรียกได้ว่า ความสูญเสียของโตโยต้า คือส้มหล่นสำหรับค่ายรถรายอื่น แม้กระทั่งค่ายรถจากประเทศญี่ปุ่นด้วยกันเอง

ที่น่าสนใจก็คือ ฟอร์ด มอเตอร์ ได้ก้าวขึ้นมาเป็นค่ายรถสหรัฐที่มียอดขายสูงสุดแทนที่จีเอ็ม ด้วยยอดขายที่พุ่งขึ้นมาถึง 43% ยังผลให้สัดส่วนตลาดของฟอร์ดขยับขึ้นมาอยู่ที่ 18.2% ความคึกคักของฟอร์ดอาจทำให้ค่ายรถญี่ปุ่นอดกังวลใจไม่ได้ว่า ธุรกิจที่กำลังไปได้สวยในตลาดสหรัฐ อาจถูกช่วงชิงคืนโดยค่ายรถบิ๊ก 3 อีกครั้ง

ที่น่ากังวลยิ่งกว่า ก็คือ หากมีการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของแบรนด์รถในสหรัฐอีกครั้ง มีแนวโน้มที่โตโยต้าอาจต้องเสียตำแหน่งสูงสุดให้กับฟอร์ด เหมือนกับที่ฮอนด้าเสียอันดับ 2 ให้ค่ายรถเมืองลุงแซมไปเรียบร้อยแล้ว

ในระยะกว่า 2 ปีที่ผ่านมา เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวงในอุตสาหกรรมรถยนต์โลก อีกทั้งความเปลี่ยนแปลงจากหน้ามือเป็นหลังมือยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในระยะ 2 เดือนที่ผ่านมา มีทั้งที่ค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นได้รับความไว้วางใจจากผู้บริโภคมากที่สุด หรือการที่ค่ายรถบิ๊ก 3 สามารถกลับมาทวงพื้นที่ในตลาดได้อีกครั้ง

แนวโน้มขาลงเช่นนี้ ถือเป็นแนวโน้มระยะยาวของค่ายรถญี่ปุ่นหรือไม่?

ผู้บริหารและกูรูค่ายรถแดนอาทิตย์อุทัยไม่คิดเช่นนั้น หากใช้โตโยต้าเป็นหมายหลักของวิกฤตการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นกับค่ายรถยนต์ญี่ปุ่น

บ๊อบ คาร์เตอร์ รองประธาน บริษัท ออโตดาตา ฝ่ายวิจัยธุรกิจโตโยต้า ชี้ว่า แม้ลูกค้าโตโยต้าจะลดน้อยลง แต่ไม่มีพบว่ามีลูกค้าเดิมของโตโยต้าที่หันไปซบค่ายรถอื่น

ขณะที่ อัล แคสติกเนตติ รองประธานฝ่ายขายของนิสสัน สาขาสหรัฐ ชี้ว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับโตโยต้าไม่เพียงกระทบเฉพาะค่ายรถบางค่าย แต่กระทั่งต่ออุตสาหกรรมรถยนต์ทั้งหมด แต่ในส่วนของลูกค้า กลับพบว่ามีลูกค้าโตโยต้าย้ายมาซบอกนิสสันเพียงหยิบมือเท่านั้น

แสดงให้เห็นว่า ช่วงขาลงของอุตสาหกรรมรถแดนปลาดิบยังไม่ถึงขั้นคอขาดบาดตาย จนถึงกับทำลายอนาคตจนไม่เหลือชิ้นดี

ข้อสนับสนุนที่รองรับทัศนะของกูรูเหล่านี้ คือ ราคาหุ้นของโตโยต้าที่บวกขึ้นมาถึง 3.2% ถือเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 2 ก.พ. เนื่องจากยอดขายรถที่ลดลงต่ำกว่าคาด

ที่สำคัญก็คือ แม้จากการสำรวจโดยกัลลัพโพล จะพบว่ามีถึง 74% ของลูกค้าที่สูญเสียความเชื่อมั่นใจตัวโตโยต้า แต่ขณะเดียวกันยังมีอีกถึง 82% ที่เชื่อว่ารถยนต์ของโตโยต้ามีความปลอดภัย

หากค่ายรถญี่ปุ่นอยู่บนเส้นทางของความตกต่ำจริง เส้นทางนี้ยังนับว่ายาวไกลกว่าจะถึงก้นเหวของความตกต่ำ