posttoday

หวยออนไลน์ สุดท้ายก็แจ้งเกิด

13 มีนาคม 2555

ไม่น่าแปลกใจที่รัฐบาลนี้ จะรื้อโครงการหวยออนไลน์ขึ้นมาปัดฝุ่นใหม่ แล้ว ทนุศักดิ์ เล็กอุทัย รมช.คลังคนใหม่

โดย...กนกวรรณ บุญประเสริฐ

ชลลดา อิงศรีสว่าง

ไม่น่าแปลกใจที่รัฐบาลนี้ จะรื้อโครงการหวยออนไลน์ขึ้นมาปัดฝุ่นใหม่ แล้ว ทนุศักดิ์ เล็กอุทัย รมช.คลังคนใหม่ ผู้ได้รับการกำกับดูแลสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ออกมาประกาศจะเดินหน้า “หวยออนไลน์” แน่นอน

รมช.คลัง ยืนยันว่า จะไปดูข้อกฎหมาย ถ้าไม่ผิดสามารถปฏิบัติได้โดยชอบก็จะเดินหน้าทันที แต่ถ้ามีปัญหาก็ต้องทบทวน ยืนยันว่าไม่ช้า เพราะสภาพบ้านเมืองขณะนี้ไม่ควรช้า

สอดรับกับกรณี "ประสพ บุษราคัม"อดีต ส.ส.อุดรธานี พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการปรับปรุงและพัฒนากฎหมายเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ที่ได้ออกมาผลักดันแก้ไขกฎหมายเพื่อนำหวยใต้ดินขึ้นมาบนดิน โดยชี้ประเด็นว่าการนำหวยใต้ดินขึ้นมาบนดิน รัฐจะเก็บภาษีได้ถึงปีละ 1.5 หมื่นล้านบาท เงินจำนวนนี้รัฐบาลนำไปใช้ในกิจการกองทุนหมู่บ้านได้

เมื่อมีนโยบายเช่นนี้ ทางด้าน สมชาติ วงศ์วัฒนศานต์ ผู้อำนวยการสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ก็ขานรับทันควันเตรียมที่จะนำเสนอคณะกรรมการสำนักงานสลากฯ เพื่อเลือกรูปแบบการจัดจำหน่าย

“รัฐมนตรีได้ดูแล้วและสั่งให้สำนักงานฯนำเสนอบอร์ดเพื่อตัดสินใจเลือกรูปแบบการจัดจำหน่าย จากที่เสนอไว้ 3 รูปแบบมาเพียงรูปแบบเดียว” สมชาติ กล่าว

รูปแบบการจัดจำหน่ายหวยออนไลน์มี 3 รูปแบบ อาทิ 1.รูปแบบหวย 2 ตัว 3 ตัวแบบออนไลน์ 2.รูปแบบสลากกินแบ่งรัฐบาลแบบออนไลน์ และ 3.รูปแบบสลากการกุศลแบบออนไลน์ มีข้อดี ข้อเสียที่แตกต่างกันไป ซึ่งขึ้นอยู่กับการพิจารณาของบอร์ดว่าจะเลือกรูปแบบใด โดยจะมีการนำเสนอในการประชุมบอร์ดครั้งหน้า

หวยออนไลน์ สุดท้ายก็แจ้งเกิด

สำหรับรูปแบบ 2 ตัว 3 ตัว เป็นรูปแบบเดิมที่สำนักงานสลากฯได้ทำสัญญากับบริษัท ล็อกซเล่ย์จีเทค เทคโนโลยี ไว้ในการจัดจำหน่าย แต่หากต้องเปลี่ยนรูปแบบเป็นสลากกินแบ่งฯ หรือสลากการกุศล จับกระแสที่สอดรับกันนี้ เชื่อมโยงได้ว่ารัฐบาลกำลังทำทุกวิถีทาง เพื่อใช้หวยเป็นแหล่งเงินรองรับโครงการประชานิยมอีกทางหนึ่ง หลังจากที่เริ่มควักเงินจากงบประมาณแผ่นดินและธนาคารเฉพาะกิจไม่ไหวอีกแล้ว

ประเด็นเหล่านี้ น่าจะเป็นการโยนหินถามทางกระแสสังคมมากกว่า เพราะปัจจุบันคณะกรรมการสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ที่มี“อารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม” ปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธาน กำลังสาละวนอยู่กับการสะสางปัญหาเรื่องโควตาที่ยังคาราคาซังอยู่

ซึ่งประธานบอร์ดสลากฯ ก็บอกแล้วว่า จะเร่งแก้ไขปัญหาเรื่องโควตาเป็นลำดับแรก ส่วนเรื่องอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการพิมพ์สลากเพิ่ม หรือหวยออนไลน์ จะยังไม่มีการพิจารณาในช่วงนี้

พร้อมยืนยันชัดเจนว่า จะหาทางคืนโควตาให้กับองค์การทหารผ่านศึกและมูลนิธิสงเคราะห์ทหารผ่านศึก ซึ่งมียอดรวมประมาณ 2.6 ล้านฉบับ แม้ว่าจะมีประเด็นว่าทำผิดสัญญา เพราะไม่ได้นำไปจำหน่ายเอง แต่นำโควตาไปให้ผู้อื่นรับช่วงไปขายต่อก็ตาม

ที่ผ่านมาจนเป็นเรื่องเป็นราว มีกระแสข่าวลือหนาหูว่าการล้มโควตาครั้งนี้ มีการจัดสรรโควตาให้กับกลุ่มทุนการเมืองอีกกลุ่มที่เป็นเจ้าของห้างที่คนเสื้อแดงชอบไปช็อปและใช้เป็นฐานรวมพล สร้างความไม่พอใจให้กับคนในพรรคนำไปสู่ชนวนการปลดคนสำคัญออกจากเก้าอี้ระดับรัฐมนตรีนำไปสู่การเปลี่ยนตัวประธานสลากฯ คนใหม่ โดยมอบหมายให้อารีพงศ์ ปลัดคลัง เข้าจัดการเรื่องโควตาสลากรอบนี้ใหม่ เพราะที่ผ่านมาทางองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึกก็มาโวยว่า ต้องการขอโควตาคืน ผลสรุปของการเกี้ยเซี้ยโควตาสลากในการประชุมบอร์ดวาระพิเศษในสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้ข้อสรุปว่า บอร์ดอนุมัติให้เพิ่มโควตาสลากจำนวน 2 หมื่นเล่ม หรือ 2 ล้านฉบับ คืนให้กับองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึกก่อน

ส่งผลให้ปริมาณสลากเพิ่มจากงวดละ 68 ล้านฉบับ กลายเป็น 70 ล้านฉบับในทันที แยกเป็นสลากกินแบ่งรัฐบาล 50 ล้านฉบับ และสลากการกุศลอีก 20 ล้านฉบับ

ทั้งนี้ หากพิจารณาการแก้ปัญหาของสำนักงานสลากฯ ครั้งนี้จะเห็นว่าน่าตอบคำถามสังคมได้ใน 2 เรื่อง คือ เรื่องแรก ถ้าดูเผินๆ จะเหมือนการอย่าศึกและคืนโควตาสลากให้องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก กับเรื่องที่ 2 คือ การเพิ่มปริมาณสลาก 2 ล้านฉบับ เพื่อแก้ปัญหาสลากแพง

แต่ที่ลึกกว่านั้น ต้องไปดูว่าโควตาสลากที่ว่านี้จะตกไปอยู่ในมือใคร เพราะที่ผ่านมาสำนักงานสลากฯ เลือกใช้วิธีการโยนโควตาสลากที่เป็นปัญหาผ่านเข้าทางมูลนิธิสำนักงานสลาก เพื่อส่งผ่านโควตาไปยังกลุ่มทุนทางการเมืองที่รอรับผลประโยชน์อยู่เนื่องๆ

ล่าสุด หากเปิดบัญชีจัดสรรสลากกินแบ่งรัฐบาล 50 ล้านฉบับจะพบว่ามีการจัดสรรโควตาให้ทั้งรายย่อยและองค์กรมูลนิธิรวมกว่า 3.07 หมื่นราย คิดเป็นจำนวน 5 แสนเล่ม รวมเป็นเงิน 2,000 ล้านบาทต่องวด แยกได้เป็น 4 กลุ่มคือ

1.รายย่อยส่วนกลาง จำนวน 1.06 หมื่นราย คิดเป็นจำนวน 1.46 แสนเล่ม (เล่มละ 4,000 บาท) รวมเป็นเงินกว่า 586 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 29.30% ทั้งนี้แยกเป็นบุคคลทั่วไป 9,594 ราย จำนวน 1.31 แสนเล่ม เป็นเงินกว่า 527ล้านบาท คิดเป็น 26.37% และบุคคลพิการ 1,036 ราย จำนวน 1.46 หมื่นเล่ม เป็นเงินกว่า 58.6 ล้านบาท คิดเป็น 2.93%

2.รายย่อยส่วนภูมิภาค จำนวน 1.99 หมื่นราย คิดเป็นจำนวน 1.9 แสนเล่ม รวมเป็นเงินกว่า 763.8 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 38.19% ทั้งนี้แยกเป็นสลากที่จัดสรรผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 75 จังหวัด ซึ่งได้นำโควตาแบ่งให้กับบุคคลทั่วไป 1.65 หมื่นราย จำนวน 1.47 แสนเล่ม เป็นเงินกว่า 588 ล้านบาท คิดเป็น 29.44% และจัดสรรให้บุคคลพิการ 1,132 ราย จำนวน 1.37 หมื่นเล่ม เป็นเงินกว่า 55.1 ล้านบาท คิดเป็น 2.76% ส่วนที่เหลือจัดสรรผ่านสำนักงานคลังจังหวัด 75 คลัง คิดเป็น 2,284 ราย จำนวน 3 หมื่นเล่ม เป็นเงิน 120 ล้านบาท คิดเป็น 6%

3.นิติบุคคล 63 ราย จำนวน 1.72 หมื่นเล่ม เป็นเงินกว่า 68.8 ล้านบาท คิดเป็น 3.44% แยกเป็น นิติบุคคลส่วนกลาง 35 ราย จำนวน 9,960 เล่ม เป็นเงิน 39.8 ล้านบาท คิดเป็น 1.99% และนิติบุคคลส่วนภูมิภาค 28 ราย จำนวน 7,250 เล่ม เป็นเงิน 29 ล้านบาท คิดเป็น 1.45%

4.องค์กร มูลนิธิ และสมาคม 95 องค์กร จำนวน 1.45 แสนเล่ม เป็นเงินกว่า 581 ล้านบาท คิดเป็น 29.06% แบ่งเป็นส่วนกลาง 37 องค์กร จำนวน 1.13 แสนเล่ม เป็นเงินกว่า 455 ล้านบาท คิดเป็น 22.7% และส่วนภูมิภาค 58 องค์กร จำนวน 3.13 หมื่นเล่ม เป็นเงินกว่า 125 ล้านบาท คิดเป็น 6.27% แม้ภาพรวมโควตาดูเหมือนจะมีการจัดสรรให้รายย่อยส่วนกลางและรายย่อยส่วนภูมิภาคมากกว่า 67% แต่ในความเป็นจริงพบว่ารายย่อยส่วนใหญ่ไม่ได้ขายสลากเอง แต่กลับนำโควตาสลากที่ได้ไปขายส่งต่อให้พ่อค้าสลากคนกลาง ที่เรียกว่ายี่ปั๊ว ซาปั๊ว พวกกลุ่ม 5 เสือ ซึ่งปัจจุบันไม่ได้มีเฉพาะแค่ 5 เสือแล้วที่มีอำนาจในตลาดสลาก เพราะเริ่มมีเจ้าพ่อ เจ้าแม่หน้าใหม่ที่มีฐานการเมืองหนุนหลังเข้ามาในวงการนี้เยอะ

สรุปภาพรวมของกระบวนการค้าสลากจะเริ่มจากการกว้านซื้อโควตาสลากจากรายย่อย ที่รับซื้อสลากจากต้นทางในราคาเล่มละ 8,000 บาท โดยจะซื้อได้ในราคาส่วนลดประมาณ 8-9% เหลือราคาประมาณเล่มละ 7,300 บาท หลังจากนั้นรายย่อยจะนำสลากไปขายต่อให้พ่อค้าคนกลางในราคาเล่มละ 8,200-8,500 บาท

พ่อค้าคนกลางเมื่อได้สลากแล้ว ก็นำมารวมเล่มขายกันเกินราคาบ้าง หรือนำสลากไปขายต่อให้ผู้ค้าสลากรายย่อยที่ไม่มีโควตาและพวกที่เดินเร่ขายสลากกันในราคาเล่มละ 9,200-9,700 บาท หรือบางงวดอาจปรับราคากันสูงปรี๊ดถึงเล่มละ 1 หมื่นบาท

ขณะที่โควตาสลากการกุศลอีก 20 ล้านฉบับนั้น ส่วนใหญ่ถูกจัดสรรให้กับนิติบุคคลวนเวียนไม่กี่บริษัท แทบจะเรียกได้ว่าสลากกว่า 90% ตกอยู่มือพ่อค้าคนกลาง ทำให้ภาพรวมธุรกิจสลากถูกผูกขาดและกำหนดราคากันเองแบบเสรีโดยพ่อค้าคนกลาง ทั้งๆ ที่สลากเป็นสินค้าที่ออกโดยรัฐบาล แต่รัฐบาลกลับไม่สามารถควบคุมราคาได้

หากคิดที่ราคาต้นทุนสลากที่ฉบับละ 40 บาท หรือคู่ละ 80 บาท เมื่อมีการขายเกินราคาที่ฉบับละ 50-55 บาท หรือคู่ละ 100-110 บาท พบว่าธุรกิจนี้จะมีเงินหมุนเวียนตั้งแต่ 2,800-3,850 ล้านบาท และมีค่าต๋ง หรือเงินที่พวกพ่อค้าคนกลางทำตัวเป็นเสือนอนกินกำไรส่วนต่างจากการขายสลากเกินราคาอีกไม่น้อยกว่างวดละ 700-1,050 ล้านบาท หรือคิดเป็นกำไรมหาศาลที่ดึงดูดนายทุนนักการเมืองให้เข้ามาเปิดศึกแย่งชิงโควตาสลากในแต่ละปีเป็นเงินมากถึง 1.68-2.52 หมื่นล้านบาททีเดียว

ผลประโยชน์มหาศาลกว่า 2.5 หมื่นล้านบาทต่อปีที่ว่านี้ จึงเป็นเรื่องที่น่าสังเกตว่า ภาครัฐโดยกระทรวงการคลังและสำนักงานสลากฯ ไร้น้ำยาในการจัดการเรื่องโควตาสลากและการแก้ไขปัญหาสลากจริงหรือ และทำไมถึงไม่สามารถจัดการกับสินค้าที่รัฐเป็นผู้ผูกขาดเพียงรายเดียวได้

หรือเป็นเพราะทุกคนที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นนักการเมือง คนกระทรวงการคลัง และคนของสำนักงานสลากฯ ต่างก็รับการจัดสรรผลประโยชน์จากการขายสลากแพงๆ ใช่หรือไม่

ตอนนี้ทุกฝ่ายต่างเฮโลกันออกมาบอกว่าการแก้ไขปัญหาสลากแพงต้องทำหวยออนไลน์

หวยออนไลน์เป็นทางการในเรื่องนี้จริงหรือไม่ แต่ที่แน่ๆ ทำหวยออนไลน์จะแก้ไขปัญหาชีวิตของกระทรวงการคลัง ที่ต้องจ่ายเงินค่าเสียหายให้กับจีเทค หากยกเลิกสัญญาไม่ให้ออกหวยออนไลน์

มองตามเกมแล้ว สุดท้ายประเทศไทยจะมีหวยออนไลน์คู่ไปกับสลากกินแบ่งรัฐบาล และหวยใต้ดินที่น่าจะยังคงมีต่อไปเพราะซื้อบาทสองบาทก็ซื้อได้