posttoday

ลุ้นกรีซอีกรอบ

09 มีนาคม 2555

ใช่ว่าเมื่อสหภาพยุโรป และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ)

โดย...ธนพล ไชยภาษี

ใช่ว่าเมื่อสหภาพยุโรป และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ผ่านมติให้ความช่วยเหลือกรีซไปแล้วมูลค่า 1.3 แสนล้านยูโร เมื่อ 2 สัปดาห์ก่อน แล้วปัญหากรีซจะจบๆ ไปเสียที่ไหน

เพราะหนึ่งในเงื่อนไขสำคัญก็คือ บรรดาเจ้าหนี้ที่ถือพันธบัตรเจ้าปัญหากรีซนั้นจะต้องยอมลดหนี้ให้มากกว่าครึ่งหนึ่ง หรือประมาณ 53% ให้กับกรีซผ่านการขยายหนี้และลดดอกเบี้ย

กระบวนการดังกล่าวจะกระทำผ่านโครงการสวอปหนี้ โดยที่กรีซจะออกพันธบัตรฉบับใหม่ซึ่งจะมีอัตราดอกเบี้ยที่ 3.8% ต่ำกว่าพันธบัตรเดิมที่กรีซไม่มีปัญญาชำระคืน ซึ่งมีดอกเบี้ยอยู่ที่ 4.8% อีกทั้งพันธบัตรนี้จะมีกำหนดระยะครบอายุนานออกไป

โดยการสวอปพันธบัตรดังกล่าวจะช่วยลดภาระดอกเบี้ยให้กับกรีซได้มากโขครับ และกรีซยังขยายระยะเวลาการชำระคืนไปได้อีกหลายปี เหมือนกับบุคคลเข้าโครงการรีไฟแนนซ์นั่นแหละ แต่โครงการนี้ดีกว่า เพราะดอกเบี้ยต่ำกว่าเดิมด้วย

แต่กระนั้นก็ต้องดูด้วยว่าเจ้าหนี้จะมาเข้าโครงการมากน้อยแค่ไหน ซึ่งกรีซจำเป็นที่จะต้องมีเจ้าหนี้เข้าร่วมโครงการนี้อย่างน้อย 75% ของหนี้ทั้งหมด ถึงจะทำให้กรีซรอดจากการเป็นหนี้เสียได้ในวันที่ 20 มี.ค.นี้ โดยขณะที่ผมเขียนต้นฉบับอยู่นี้มีแล้ว 60% ที่เข้าร่วมโครงการ

โดยรัฐบาลกรุงเอเธนส์จะประกาศกันในวันนี้ครับ เวลาในบ้านเราก็ประมาณ 11 โมงเช้า ท่านผู้อ่านก็น่าจะทราบได้แล้วว่ากรีซจะรอดเป็นหนี้เสีย เจ้าหนี้ยอมร่วมโครงการลดหนี้ได้ตามเป้าหรือไม่

แต่กระนั้นก็ตาม ถึงกรีซจะรอดจากการเป็นหนี้เน่าในครั้งนี้ นักวิเคราะห์ก็บอกว่า ใช่ว่ากรีซจะมีปัญญาหาเงินใช้หนี้คืนในอนาคตในวันต่อๆ ไปอีกนั่นแหละ

เพราะผลจากการใช้มาตรการรัดเข็มขัดนั่นแหละครับ ที่จะทำให้เศรษฐกิจกรีซขยายตัวไม่ออก ให้ลองนึกภาพการทำธุรกิจ ยิ่งตัดลดรายจ่าย ยิ่งประหยัด ก็อาจจะเหลือกำไรได้บ้าง แต่การจะทำกำไรเพิ่มนั้นก็ยิ่งต้องการใช้เงินทุนเพิ่มเช่นกัน

เห็นได้ชัดกับภาคธุรกิจในสหรัฐ หลังวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2551 ภาคธุรกิจมะกันตัดลดค่าใช้จ่ายกันใหญ่โต ปลดคนงานกันว่าเล่น แม้จะทำให้เหลือเงินบ้าง แต่ก็ขยับขยายอะไรไม่ได้เลย และไม่สามารถเพิ่มผลกำไรได้ในระยะยาว และในที่สุดการจ้างงานของสหรัฐก็ไม่กระเตื้องขึ้นแต่อย่างใด เนื่องจากภาคธุรกิจไม่ยอมกลับมาจ้างงาน

นี่แหละครับ คือปัญหาใหญ่ของกรีซในอนาคต และจะว่าไปก็จะเป็นปัญหาสำคัญของกลุ่มยูโรโซนด้วย ที่หลายประเทศต้องใช้มาตรการรัดเข็มขัดอย่างหนักหน่วงเพื่อลดปัญหาระดับหนี้สาธารณะ ซึ่งอาจจะทำให้การเติบโตของเศรษฐกิจชะงักตัวลงได้

ในวันนี้ยุโรปจึงเริ่มหันมาคุยกันถึงการกระตุ้นเศรษฐกิจบ้างแล้ว เพราะมัวแต่เหนียวกันอย่างเดียว ท่าทางจะหนีไม่พ้นกอดคอกันจมน้ำครับ

ประหยัดนั้นดี แต่ก็ต้องกระตุ้นไปด้วยในอัตราที่พอเหมาะกันครับ