posttoday

เปลี่ยนผ่านการเมืองเมียนมาร์...ต้องดูจังหวะการลงทุน

02 มีนาคม 2555

ฉบับที่แล้วผมนำเสนอเรื่องรัฐบาลเมียนมาร์หรือพม่าในอดีตที่ได้สร้างความประหลาดใจครั้งใหญ่ต่อชาวโลก

โดย...ปานปรีย์ พหิทธานุกร

ฉบับที่แล้วผมนำเสนอเรื่องรัฐบาลเมียนมาร์หรือพม่าในอดีตที่ได้สร้างความประหลาดใจครั้งใหญ่ต่อชาวโลกด้วยการเปิดประเทศและพร้อมจะปฏิรูปอย่างเป็นขั้นเป็นตอน เพื่อให้สอดคล้องกับความจำเป็นและสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงของโลก รวมทั้งเตรียมพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในอีก 3 ปีข้างหน้า

เพราะกว่า 50 ปีที่ผ่านมา เมียนมาร์ปกครองประเทศโดยทหาร ซึ่งถูกกล่าวหาอย่างรุนแรงว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชนมากที่สุดประเทศหนึ่งของโลก มีการคอร์รัปชัน ระบบสาธารณสุขการดูแลสุขภาพที่ไร้ประสิทธิภาพ จนเป็นประเทศด้อยพัฒนาที่มีคนยากจนติดอันดับของโลก

เปลี่ยนผ่านการเมืองเมียนมาร์...ต้องดูจังหวะการลงทุน

 

สัญญาณที่ถูกส่งออกจากเมียนมาร์ไปสู่ประชาคมโลกเป็นระยะๆ ได้รับการตอบรับที่ดีในระดับหนึ่ง โดยเฉพาะในด้านการค้า การลงทุน เพราะเมียนมาร์ก็มีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์มากแห่งหนึ่งของโลก ทั้งปิโตรเลียม ก๊าซธรรมชาติ ป่าไม้ อัญมณี แร่ธาตุต่างๆ ซึ่งก็เพียงพอที่จะทำให้นักลงทุนบางกลุ่มยอมรับความเสี่ยง รีบเร่งเข้าไปลงทุนในเมียนมาร์ก่อนที่จะเปิดประเทศเต็มที่

ดูจากตัวเลขการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ในปี 2554 รวมแล้วมากกว่า 4 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 1.2 ล้านล้านบาท โดยจีนมาเป็นอันดับ 1 ตามด้วยไทย ฮ่องกง และเกาหลีใต้

ผมได้เสนอให้นักลงทุนไทยทั้งรายใหญ่และรายเล็กควรเร่งหาข้อมูลที่ทันสมัย ทันต่อสถานการณ์ เพื่อให้การตัดสินใจเป็นไปอย่างถูกต้อง ที่สำคัญอย่าลืมว่าเมียนมาร์ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นเปิดประเทศเท่านั้น ดังนั้นประเด็นสำคัญที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดจึงมีหลายเรื่อง ได้แก่

1) กฎหมายคุ้มครองการลงทุนกับต่างประเทศว่ามีความคืบหน้าไปถึงไหน

2) สิทธิประโยชน์ทางด้านการลงทุนมีความชัดเจนครอบคลุมการลงทุนเรื่องใดบ้าง

3) อัตราการแลกเปลี่ยนที่มีความแตกต่างกันอยู่มากระหว่างตลาดบนดินและใต้ดิน โดยเฉพาะระหว่างเงินเหรียญสหรัฐกับเงินจ๊าด (Kyat) ของเมียนมาร์ ว่าจะมีการแก้ไขอย่างไร เท่าที่ผมทราบมาในอนาคตอันใกล้นี้มีแนวโน้มที่จะนำระบบ Managed Float มาใช้

4) การยกเลิกการคว่ำบาตรจากโลกตะวันตกจะเกิดขึ้นเมื่อใด รวมทั้งการติดตามดูสถานการณ์ทางการเมืองหลังการเลือกตั้งซ่อมในเมียนมาร์ที่จะมีขึ้นในวันที่ 1 เม.ย 2555 นี้ ว่าผลจะออกมาอย่างไร และรัฐบาลทหารของเมียนมาร์มีปฏิกิริยาอย่างไร ซึ่งจะเป็นสิ่งที่พิสูจน์ว่ารัฐบาลมีความจริงใจในการเข้าสู่กระบวนการประชาธิปไตยมากน้อยแค่ไหน

5) การพัฒนาระบบสาธารณูปโภคให้ทันสมัย สอดรับกับการเปิดประเทศให้มีการเข้ามาลงทุน ก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ต้องจับตามองว่า รัฐบาลเมียนมาร์จะทำได้รวดเร็วอย่างไร โดยเฉพาะการคมนาคมและการสื่อสาร ซึ่งต้องใช้เวลาพอสมควรในการพัฒนาโครงการทั้งหมดให้แล้วเสร็จ

ผมเห็นว่า วันนี้ถือเป็นโอกาสของนักลงทุนต่างประเทศที่จะเข้าไปทำธุรกิจในเมียนมาร์ แต่ในโอกาสนั้นก็ต้องมีปัจจัยที่นำไปสู่ความสำเร็จด้วย ซึ่งจะเกิดขึ้นได้หรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับรัฐบาลเมียนมาร์ ว่าจะทำจริงและมีความสามารถเพียงพอที่จะปฏิรูปประเทศ สร้างความเชื่อมั่นต่อชาวโลกได้อีกครั้ง

ตัวอย่างของการเปิดประเทศตามแผน Perestroika และ Glasnost ของสหภาพโซเวียตในช่วงประธานาธิบดีกอร์บาชอฟ หรือนโยบาย 4 ทันสมัยของประธานเหมาเจ๋อตง ก็ได้พิสูจน์ให้ชาวโลกได้เห็นแล้วว่า สหภาพโซเวียตและจีน ซึ่งเคยมีนโยบายที่อยู่ตรงกันข้ามกับฝ่ายโลกเสรีสามารถเปิดประเทศรับกระแสโลกาภิวัตน์ได้จริง

แต่ต้องไม่ลืมว่า ความสำเร็จที่เราเห็นในวันนี้ ไม่ใช่ชั่วเวลาเพียงข้ามคืน

ในกรณีของเมียนมาร์นี้ การปฏิรูปเศรษฐกิจของประเทศให้สำเร็จ คงต้องทำคู่ขนานไปกับการปฏิรูปการเมืองและการสร้างหลักนิติธรรมที่เป็นสากล จะขาดอันใดอันหนึ่งไม่ได้ ขณะที่การพิจารณาเข้าไปลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ของคนไทยในเมียนมาร์ ก็ต้องพิจารณาให้รอบด้านเสียก่อน เพราะหากผิดพลาดไป จะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย และต่อผู้เข้าร่วมโครงการที่เป็นคนไทยด้วย

อย่ามองข้ามข้อเสนอของ อองซานซูจี ที่แนะให้ใช้หลัก “Wait and see a little” ซึ่งเป็นเหตุผลหนึ่งที่น่ารับฟัง โดยเฉพาะการลงทุนในระยะเปลี่ยนผ่านทางการเมืองและเศรษฐกิจของเมียนมาร์ ที่ต้องดูจังหวะและสัญญาณจาก “คนใน”

เพราะเขาอาจช่วยลดความเสี่ยงไปได้มากครับ