posttoday

อยากทำก็ทำไป

02 มีนาคม 2555

ในสถานการณ์ปฏิวัติกระแสสูงที่ดำรงอยู่ในประเทศไทยในขณะนี้

โดย...จำลอง บุญสอง

ในสถานการณ์ปฏิวัติกระแสสูงที่ดำรงอยู่ในประเทศไทยในขณะนี้ การรัฐประหารเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา เพราะสถานการณ์บังคับ เพื่อนผมโทร.มาเช้าวานนี้ว่า เขาลงขันรัฐประหารกันแล้ว ผมก็บอกไปว่า ใครอยากรัฐประหารก็รัฐประหารไป ผมไม่สนใจ ผมเชียร์เรื่องปฏิวัติ (Revolution) ผมไม่ได้เชียร์เรื่องรัฐประหาร (Coup de Tart) เพียงแต่อยากจะบอกนักรัฐประหารว่า ถ้าคุณยังไม่สามารถ “โดดเดี่ยว” ฝ่ายตรงข้ามได้ ตราบนั้นการรัฐประหารก็ไม่ใช่เรื่องหมู แก้ปัญหาชาติกันไม่ได้ เพราะกาลเทศะของประเทศเป็นเรื่องของการปฏิวัติไม่ใช่เรื่องของการรัฐประหาร ทำ (รัฐประหาร) หรือไม่ทำ ชาติบ้านเมืองก็พัง มีแต่ทำปฏิวัติเท่านั้นที่ชาติบ้านเมืองเจริญขึ้นได้ และก็บอกได้เลยว่า เดือน พ.ย. ที่มีการตัดสินเรื่องปราสาทพระวิหาร ยังไงก็มีเรื่องแน่!

ผมอ่านบทความเรื่อง “เลือกตั้งนายกฯ” ถูกหลักวิชาหรือไม่ ของคุณวันชัย พรหมภา อดีตประธานสภากรรมกรแห่งชาติ แล้วเห็นว่าเรื่องหลักวิชาการเมืองหาอ่านกันได้ยาก จึงคัดลอกเอาบางส่วนมาบอกเล่าให้ท่านผู้อ่านได้รับทราบเอาไว้ เพื่อไม่ให้เกิดการกระทำอะไรกันอย่างผิดๆ เพราะการทำผิดจะส่งผลร้ายให้แก่ชาติและประชาชนอย่างร้ายแรง

การเลือกตั้งนายกรัฐมนตรี คุณปริญญา เทวานฤมิตรกุล และพี่ลมเปลี่ยนทิศของผม “สนับสนุน” ด้วย (เชื่อว่าในสถานการณ์ปฏิวัติกระแสสูง ยังมีอีกหลายคนที่ “คิดเอาเอง” เช่นเดียวกันกับคุณปริญญา)

คุณปริญญา กล่าวว่า “คนชอบพูดกันว่า ถ้าเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีโดยตรงจะเป็นระบอบประธานาธิบดี ซึ่งเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน ระบอบประธานาธิบดีที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน มีประธานาธิบดีเป็นประมุขของประเทศและเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหารด้วย เป็นระบบที่เกิดขึ้นในสหรัฐเป็นประเทศแรก แต่ของไทยเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข นายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหาร แต่ไม่ใช่ประมุข ดังนั้นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จึงสามารถเลือกนายกรัฐมนตรีโดยตรงได้ในทางวิชาการ แต่ยังไม่มีใครทำ แต่สามารถทำได้”

บทความของคุณวันชัยยังยกบทความของ “หลักไทย” ที่สัมภาษณ์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เมื่อปี 2530 มาลงคู่กันว่า

“การเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีผิดหลักวิชาทำไม่ได้ การเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีก็เหมือนกับการเลือกตั้งประธานาธิบดี เมืองไทยมีในหลวงประทับอยู่ หากไปบอกว่าดีแล้วท่านบอกจะลาออกขึ้นมาจะว่าอย่างไร ใครจะไปหยุดรถพระอาทิตย์”

คุณวันชัยชี้แจงในบทความของท่านว่า ตามหลักวิชารัฐศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นรัฐเดี่ยวหรือประเทศหลายรัฐ ไม่ว่าจะมีรูปการปกครองเป็นระบบรัฐสภาหรือระบอบประธานาธิบดีหรือระบอบกึ่งประธานาธิบดี ไม่ว่าจะมีสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นประมุขแห่งรัฐหรือสถาบันประธานาธิบดีเป็นประมุขแห่งรัฐ ไม่ว่าจะมีการถ่วงดุลกันในลักษณะรวมอำนาจหรือแยกอำนาจ และไม่ว่าจะมีหลักการปกครองแบบประชาธิปไตยแบบเผด็จการหรือแบบคอมมิวนิสต์ก็ตาม

หลักความสัมพันธ์ระหว่างประมุขของประเทศกับประมุขของการปกครองหรืออีกนัยหนึ่ง “ประมุขของประเทศ” กับ “นายกรัฐมนตรี” ล้วนเป็นอย่างเดียวกันทั้งสิ้น คือ ประมุขของการปกครองหรือนายกรัฐมนตรี ขึ้นต่อ “ประมุขของประเทศ” หรือ “พระมหากษัตริย์” อย่างไม่มีเงื่อนไข

นายกรัฐมนตรีเป็นประมุขของการปกครอง รับอำนาจการปกครองหรืออำนาจบริหาร (Administrative Power) มาจากประมุขของประเทศ (Head of State) ผู้ถืออำนาจอธิปไตย (Sovereign Power) นายกรัฐมนตรีจึงเป็น “ผู้แทน” (Agent) ของประมุขของประเทศในการใช้อำนาจบริหารหรืออำนาจการปกครอง ด้วยเหตุนี้นายกรัฐมนตรีจึงเป็นตำแหน่งทางการ “แต่งตั้ง” ไม่ใช่ตำแหน่งทางการ “เลือกตั้ง”...ถ้ามีนายกรัฐมนตรีต้องได้รับการแต่งตั้งจากประมุขของประเทศทั้งสิ้นจะมาจากการเลือกตั้งไม่ได้ หลักความสัมพันธ์เป็นไปตาม “หลักวิชา” หลักวิชากำหนดมาจาก “กฎของความจริงแท้” เป็นสัจธรรม (Truth) จึงถูกต้องตลอดไป

...ถ้าเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีโดยตรง นอกจากจะทำให้นายกรัฐมนตรีมีอำนาจอธิปไตยเช่นเดียวกับประธานาธิบดีแล้ว ยังไปทำให้นายกรัฐมนตรีเป็นตัวแทนของประชาชน ไม่ใช่ตัวแทนของประมุขของประเทศ เพราะใครตั้งก็เป็นตัวแทนของคนนั้น ถ้าประมุขตั้งก็เป็นตัวแทนของประมุข ถ้าประชาชนตั้งก็เป็นตัวแทนของประชาชน ประมุขก็หมดอำนาจไปทันที ...และที่สำคัญ ยังจะนำไปสู่ความขัดแย้งของบรรดา “นักเลือกตั้ง” ชนิดที่ไม่มีใครยอมใครและก็จะบานปลายไปสู่ “สงครามประชาชน” อย่างไม่ต้องสงสัย นอกจากผิดหลักการ “ถือดุล” ของระบบรัฐสภาแล้ว ยังผิดหลักการปกครองแบบประชาธิปไตย โดยเอาหลัก Elected Government ซึ่งเป็นหลักสุดท้ายมาอยู่เหนือหลัก Sovereignty of The People อีกด้วย

คุณวันชัยยังกล่าวไปถึง “คณะนิติราษฎร์” ที่ให้พระมหากษัตริย์ต้องสาบานและปฏิญาณตนต่อรัฐสภาก่อนขึ้นครองราชย์ว่า อำนาจอธิปไตยของประธานาธิบดีสหรัฐกับอำนาจอธิปไตยของพระมหากษัตริย์ไทยนั้นไม่เหมือนกัน คือ ประธานาธิบดีสหรัฐแม้จะมีอำนาจอธิปไตยด้วยการเลือกตั้งมาจากประชาชนก็ตาม แต่ก็มีสิทธินำอำนาจนี้ไปใช้ได้เพียงทางเดียวก็คือ อำนาจบริหาร (Administrative Power) แต่พระมหากษัตริย์ไทยใช้อำนาจได้ทั้งสามทาง คือ นิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ โดยประมุขทั้งสามอำนาจนั้นมาจากการแต่งตั้งของพระมหากษัตริย์ ทั้งสามอำนาจจึงต้องสาบานตนต่อพระมหากษัตริย์ ไม่ใช่ให้พระมหากษัตริย์ไปสาบานตนต่อรัฐสภา

สถานการณ์ปฏิวัติกระแสสูงที่ถูกซ้อนด้วยสถานการณ์การรัฐประหารกระแสสูงด้วย เอาเบาแค่นี้ก่อนดีไหมครับ!