posttoday

หมัดแรก วรเจตน์ เค้าลางความรุนแรง

02 มีนาคม 2555

สัญญาณความรุนแรงส่อเค้าขึ้นอีกรอบ หลังเกิดเหตุการณ์ 2 คนร้ายเข้ารุมชก วรเจตน์ ภาคีรัตน์

โดย...ธนพล บางยี่ขัน

สัญญาณความรุนแรงส่อเค้าขึ้นอีกรอบ หลังเกิดเหตุการณ์ 2 คนร้ายเข้ารุมชก วรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จนได้รับบาดเจ็บกลางลานจอดรถหน้าคณะนิติศาสตร์ ก่อนขับรถจักรยานยนต์หลบหนีไป

ในฐานะแกนนำ “กลุ่มนิติราษฎร์” ที่ออกมาเคลื่อนไหวประเด็นล่อแหลมอย่างการเสนอจุดยืนแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่มีความเห็นขัดแย้งรุนแรงในสังคม ทำให้เจ้าตัวปักใจเชื่อว่าสาเหตุการทำร้ายร่างกายอย่างอุกอาจต่อหน้าอาจารย์และนักศึกษา ไม่น่าจะมาจากเหตุผลอื่น

หากเป็นไปตามที่พยานในที่เกิดเหตุระบุว่า 2 คนร้ายที่เข้ามาซุ่มรออาจารย์วรเจตน์ตั้งแต่ช่วงเช้า เป็นกลุ่มเดียวกับที่เคยมาเผาหุ่นอาจารย์วรเจตน์เมื่อเดือนก่อน ย่อมเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง

เพราะรูปแบบการแสดงออกคัดค้านการเคลื่อนไหวของกลุ่มนิติราษฎร์ที่เคยมีมาในรูปแบบจดหมายที่เขียนมาหาด่าทอ เริ่มขยับดีกรีความรุนแรงมาเป็นเผาหุ่น และเป็นการทำร้ายร่างกาย ที่สำคัญยังเป็นห่วงกันว่าดีกรีความรุนแรงอาจไม่หยุดแค่การชกต่อย

จากคำให้การของผู้ต้องหาฝาแฝด 2 คน ที่ตัดสินใจเข้ามอบตัวหลังก่อเหตุในวันรุ่งขึ้น ระบุเพียงแค่ว่ามาจากเรื่องความเห็นทางการเมืองที่ไม่ตรงกัน ต้องการต่อต้านกลุ่มนิติราษฎร์ที่เรียกร้องการแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 โดยยืนยันว่าไม่มีสี ไม่เคยร่วมชุมนุมกับกลุ่มใด

คดีนี้น่าสนใจตรงที่คนร้ายซึ่งยอมเข้ามอบตัว และเข้าสู่กระบวนการสอบสวนในข้อหาร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้อื่นเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่ร่างกายหรือจิตใจโดยไตร่ตรองไว้ก่อน มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 6,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

นั่นหมายถึงการพร้อมยอมรับผลที่ตัวเองเลือกใช้วิธีความรุนแรงแสดงออกในประเด็นความคิดเห็นที่ขัดแย้งกัน แทนที่จะใช้การพูดจากันอย่างมีเหตุมีผล

หมัดแรก วรเจตน์ เค้าลางความรุนแรง

 

ยิ่งในบรรยากาศแห่งความแตกแยกทางสังคมที่ทวีความรุนแรง และประเด็นชนวนความขัดแย้งกำลังคุกรุ่น ทั้งเรื่องประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เรื่องนิรโทษกรรม ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ฯลฯ ยิ่งทำให้สังคมกังวลว่าวังวนแห่งความรุนแรงจะหวนกลับมาอีกครั้ง

หลังการคุกคามครั้งนี้ อาจารย์วรเจตน์ยังยืนยันทำหน้าที่ของกลุ่มนิติราษฎร์ต่อไปเพื่อประโยชน์สาธารณชน ขณะที่กลุ่มต่างๆ พร้อมใจกันออกมาประณามการใช้ความรุนแรง ธีระ สุธีวรางกูร นักวิชาการกลุ่มนิติราษฎร์ โพสต์ข้อความระบุว่า “บอกได้เลยว่าพวกคุณคิดผิด หากคิดว่าเรากลัว” และ “ขอยืนยัน เราจะสู้ด้วยเหตุผลต่อไป แม้พวกคุณจะใช้กำลัง”

แน่นอนว่าการใช้กำลังนอกจากจะไม่ทำให้ฝ่ายที่ถูกกระทำยอมแพ้หรือเลิกรา ตรงกันข้ามกลับมีแต่จะฉุดให้เกิดการใช้กำลังตอบโต้ เข้าสู่รูปแบบ “ตาต่อตา ฟันต่อฟัน” ที่นับวันมีแต่จะดุเดือดขึ้นเรื่อยๆ

ไล่ดูประเด็นความขัดแย้งเวลานี้ แค่เรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญประเด็นเดียวก็มีกลุ่มค้านอยู่จำนวนไม่น้อย ทั้งกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ซึ่งนัดรวมพลังทั่วประเทศในวันที่ 10 มี.ค. กลุ่มสยามประชาภิวัฒน์ กลุ่มกรีน กลุ่มเสื้อหลากสี เครือข่ายพลเมืองอาสาปกป้องแผ่นดิน ฯลฯ

ยังไม่รวมกับเรื่องนิรโทษกรรม และมาตรา 112 ที่ล้วนแต่เป็นประเด็นที่มีความขัดแย้งรุนแรงในสังคม ซึ่งมีมวลชนทั้งฝ่ายต้าน ฝ่ายหนุนออกมาเคลื่อนไหวชัดเจน จนถึงขั้นวิตกว่าอาจนำไปสู่การปะทะของมวลชนที่ไม่รู้ว่าจะลุกลามบานปลายไปมากน้อยแค่ไหน

โดยเฉพาะกับบรรยากาศที่ล่อแหลมสุ่มเสี่ยงต่อความรุนแรงที่เกิดขึ้นในสังคม ชนวนความรุนแรงที่เริ่มต้นจากการชกต่อยในประเด็นที่ไม่สามารถหาทางแก้ไข ป้องกันไม่ให้นำไปสู่การเลียนแบบ หรือพัฒนาไปสู่ความรุนแรงที่มากกว่านี้ ย่อมกลายเป็น “น้ำผึ้งหยดเดียว” ที่จะปลุกเชื้อความรุนแรงให้ปะทุขึ้นในสังคม

สอดรับกับมุมมองของ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้าน ที่ระบุว่า มีบางฝ่ายต้องการให้เกิดความขัดแย้ง ประเด็นใดซึ่งมันเป็นประเด็นที่มีความเห็นแตกต่าง แต่ว่าเป็นประเด็นที่มีความละเอียดอ่อนทางด้านความรู้สึก ก็ควรจะมาว่ากันด้วยเหตุด้วยผล คุยกันให้ดี

ที่น่าเป็นห่วงคือ กลุ่มต่างๆ ที่วอร์มรออยู่ข้างสนามเวลานี้ หากมีการฉกฉวยสร้างโอกาส ก่อความรุนแรงให้เกิดขึ้นกับแกนนำหรือสมาชิกของแต่ละกลุ่ม ย่อมนำไปสู่การปะทะระลอกใหม่

ที่สำคัญ หากความรุนแรงที่เกิดขึ้นไม่ได้จำกัดอยู่แค่การ “ชกต่อย” แต่ยกระดับความรุนแรงขึ้นเป็นกระสุน ระเบิด ฯลฯ หรืออะไรที่แรงกว่านี้ ย่อมมีแต่ทำให้สถานการณ์บานปลาย

ประวัติศาสตร์ความขัดแย้งที่ผ่านมายังคงเป็นบทเรียนที่จะสะท้อนให้เห็นถึงความรุนแรงที่บานปลายไม่จบสิ้น โดยเฉพาะหากไม่สามารถจำกัดวงตีกรอบความรุนแรงไม่ให้บานปลายจากที่เป็นอยู่ให้ได้