posttoday

พรูเด็นเชียลปักธงเอเชีย อุตฯประกันตั้งการ์ดรับ

03 มีนาคม 2553

ปัจจัยเหล่านี้ ไม่ว่าจะมาจากการขายเอไอเอ หรือการระดมเปิด IPO จะก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวงต่อธุรกิจประกัน

ปัจจัยเหล่านี้ ไม่ว่าจะมาจากการขายเอไอเอ หรือการระดมเปิด IPO จะก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวงต่อธุรกิจประกัน

โดย...ทีมข่าวต่างประเทศ

การซื้อกิจการบริษัท อเมริกันอินเตอร์แนชชั่นแนลแอสชัวรันส์ (เอไอเอ) ซึ่งเป็นบริษัทลูกของบริษัท อเมริกันอินเตอร์แนชชั่นแนล กรุ๊ปอิงค์ (เอไอจี ) ถือเป็นการซื้อกิจการในอุตสาหกรรมประกันครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ ด้วยมูลค่าสูงถึง 3.5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ เป็นรองก็เพียงแต่การซื้อกิจการทุ่มงบประมาณอุ้มเอไอจีของรัฐบาลสหรัฐที่ใช้เงินสูงถึง 1.82 แสนล้านเหรียญสหรัฐ

อย่างไรก็ตาม การซื้อกิจการเอไอเอบริษัทประกันที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียโดยพรูเด็นเชียล หรือ “พรู” บริษัทประกันที่ใหญ่ที่สุดในอังกฤษ มีนัยสำคัญมากกว่าการมุ่งขยายกิจการประกันโดยบริษัทที่ได้ชื่อว่ามีผลประกอบการที่ยอดเยี่ยมที่สุดบริษัทหนึ่งของโลก

 

พรูเด็นเชียลปักธงเอเชีย อุตฯประกันตั้งการ์ดรับ

นัยแรก การซื้อเอไอเอเป็นการตอกย้ำถึงความสำคัญของตลาดธุรกิจประกันในภูมิภาคเอเชีย ที่นับวันจะยิ่งขยายตัวอย่างคึกคัก และแสดงให้เห็นว่าพรูปรารถนาส่วนแบ่งก้อนโตในตลาดเอเชียอย่างไม่เสียดายเงินที่ทุ่มซื้อเอไอเอ

นัยที่สอง การเสริมกำลังของพรูด้วยการใช้เอไอเอเป็นฐาน ไม่เพียงสร้างความหวาดหวั่นต่อธุรกิจประกันในภูมิภาค และธุรกิจประกันต่างแดนที่ปักธงในเอเชียเท่านั้น แต่ยังจะส่งผลสะเทือนต่อธุรกิจบริหารสินทรัพย์และกองทุนในภูมิภาคนี้อย่างรุนแรง

สำหรับนัยแรก เป็นสิ่งที่พรูมองเห็นโอกาสและพยายามแสวงหาช่องทางที่จะคว้าส่วนแบ่งตลาดก้อนที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียมาครองมานาน นับตั้งแต่เมื่อครั้งประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหาร (CEO) คนที่แล้ว คือ มาร์ก ทักเกอร์ ที่ย้ำกับนักลงทุนมาโดยตลอดว่า ตลาดเอเชียคือพื้นที่รุกคืบแห่งต่อไปของบริษัท

ส่วน CEO คนปัจจุบัน คือ ทีจาเน ไทแอม ไม่เพียงมีวิสัยทัศน์ตรงกันเท่านั้น แต่ยังสานต่อความหวังให้กลายเป็นจริงด้วยการคว้าเอไอเอมาครองในที่สุด ส่วนหนึ่งเป็นเพราะศักยภาพของไทแอม ที่นำพาพรูรอดพ้นจากวิกฤตการเงิน ทั้งยังทำกำไรเป็น 2 เท่าเมื่อปีที่แล้วถึง 3,400 ล้านปอนด์

รายได้ที่เป็นกอบเป็นกำนี่เองที่ทำให้พรูใจกล้าควักเงินก้อนโต 2.5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ และหุ้นอีก 1.05 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อชิงเอไอเอมาเป็นฐานใหญ่ในเอเชีย

เหตุผลของการกล้าได้กล้าเสียย่อมเป็นที่ชัดเจน มาจากปัจจัยภายในของเอเชียเอง

ขณะนี้ภาวะเศรษฐกิจของเอเชียอาจนับได้ว่ามีเสถียรภาพที่สุด ทั้งยังมีแนวโน้มการเติบโตที่คึกคัก มีประชากรวัยทำงานหลายร้อยล้านคน ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูงมาก ไม่เฉพาะกับธุรกิจประกันเท่านั้น

นอกจากนี้ อัตราการออกเงินของเกือบทุกประเทศในเอเชียยังอยู่ระดับสูงมากถึง 30% ของสัดส่วนผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ

ไม่เพียงเท่านั้น ธุรกิจประกันยังคาดว่าภายในปี 2561 สัดส่วนพรีเมียมประกันชีวิตจะเพิ่มขึ้นมาถึง 5% จาก 3% ในขณะนี้

ปัจจัยเหล่านี้จะช่วยขยายกิจการของพรูอย่างไม่ต้องสงสัย หากพรูสามารถชิงคู่แข่งสำคัญในเอเชียให้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจ และเมื่อพรูกับเอไอเอกลายเป็นผู้ปักธงเหนือยอดสูงสุดแห่งธุรกิจประกันเอเชีย คู่แข่งอื่นๆ ในตลาดเอเชียจะแทบไม่อยู่ในสายตาของพรูอีกต่อไป

หมายความว่า ธุรกิจประกันในเอเชียซึ่งกำลังคึกคัก อาจต้องเผชิญกับความท้าท้ายที่ยิ่งใหญ่อย่างไม่ทันตั้งตัว ไม่เฉพาะแต่ธุรกิจประกันในแต่ละประเทศเท่านั้น แต่ยังรวมถึงยักษ์ใหญ่ในวงการอย่าง แมนูไลฟ์ แอกซ์ซ่า ไอเอ็นจี เอชเอสบีซี และอาวีวา

สำหรับยักษ์ใหญ่ในธุรกิจประกันอาจรับทราบถึงความเป็นไปได้ที่พรูอาจคว้าเอไอเอมาระยะหนึ่งแล้ว การวางยุทธศาสตร์การลงทุนเพื่อรับมือจึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ที่น่ากังวลก็คือ บริษัทประกันรายย่อยในเอเชียพร้อมรับกับความท้าทายนี้หรือไม่?

อย่างไรก็ตาม แม้แต่พรูและเอไอเอเองก็ใช่ว่าจะไม่ต้องเผชิญกับความท้าทายใดๆ

ปัญหาประการแรก ก็คือ แนวโน้มที่ของการปลดพนักงานครั้งมโหฬาร เนื่องจากหน่วยปฏิบัติงานทับซ้อนกันเอง ซึ่งขณะนี้เอไอเอมีพนักงานประจำอยู่ถึง 2 หมื่นคน ส่วนเอเยนต์มีกว่า 2.5 แสนคนทั่วภูมิภาค

ไม่เพียงเท่านั้น ทั้งพรูและเอไอเอต่างร่วมทุนกับบริษัทในเอเชียต่างๆ กันออกไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในจีนและอินเดีย ตัวอย่างเช่น พรูร่วมทุนกับ ไอซีไอซีไอ แบงก์ ในอินเดีย และซิติก กรุ๊ป ในจีน ส่วนเอไอเอร่วมทุนกับ ทาทา กรุ๊ป ในอินเดีย ส่วนในจีนดำเนินธุรกิจด้วยตัวเอง

นี่คือความซับซ้อนในเชิงโครงสร้างที่อาจกลายเป็นความเสี่ยงต่อธุรกิจประกันในเอเชียโดยรวม

นอกเหนือจากปัญหาที่จะตามมาจากการซื้อขายกิจการของพรูและเอไอเอแล้ว ยังมีความเคลื่อนไหวที่น่าจับตาอย่างหนึ่งเกิดขึ้นในเอเชีย นั่นคือ การที่บริษัทประกันในเอเชียเริ่มเปิดขายหุ้นครั้งแรก (IPO) มากขึ้น และอาจกลายเป็นกระแสที่ยิ่งคึกคักในปีนี้ โดยเฉพาะอย่างธุรกิจประกันในเกาหลีใต้

ไม่ว่าจะเป็น โคเรีย ไลฟ์ อินชัวรันส์ บริษัทประกันภัยอันดับ 2 ของประเทศ ที่คาดว่าจะเปิด IPO มูลค่าราว 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่บริษัทประกันอันดับ 1 ของเกาหลีใต้ ซัมซุง ไลฟ์ อินชัวรันส์ อยู่ระหว่างเตรียมเปิดขายหุ้นเช่นกัน

ที่น่าสนใจก็คือ แม้แต่เอไอจีก็เตรียมเปิด IPO ของเอไอเอ ในกรณีที่ขายกิจการไม่สำเร็จ ซึ่งคาดว่าหาก IPO ที่กลายเป็นหมันไปเรียบร้อยแล้ว สามารถเดินหน้าไปต่อไป จะมีมูลค่าถึง 1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ และเงินจำนวนดังกล่าวจะนำไปชำระหนี้ที่เอไอจีหยิบยืมมาจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)

ปัจจัยเหล่านี้ ไม่ว่าจะมาจากการขายเอไอเอ หรือการระดมเปิด IPO จะก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวงต่อธุรกิจประกันในเอเชียอนาคต

ภาพของของความเปลี่ยนแปลงจะชัดเจนยิ่งขึ้น หลังจากที่การซื้อขายธุรกิจประกันครั้งประวัติศาสตร์ ได้รับการยืนยันอย่างเป็นทางการ และหลังจากที่ตลาดทราบว่าแผนการปรับโครงสร้าง หรือยุทธศาสตร์ทางธุรกิจของทั้งสองบริษัทภายใต้ร่มธงเดียวกันจะออกมาในรูปใด