posttoday

ธุรกิจ-อุตฯ-ประกันอาการหนักปางตาย

22 กุมภาพันธ์ 2555

ถึงตอนนี้การจัดตั้ง “กองทุนส่งเสริมการประกันภัยพิบัติ” ที่จะคุ้มครองน้ำท่วม แผ่นดินไหวและพายุ

ถึงตอนนี้การจัดตั้ง “กองทุนส่งเสริมการประกันภัยพิบัติ” ที่จะคุ้มครองน้ำท่วม แผ่นดินไหวและพายุ

โดย...วารุณี อินวันนา

ถึงตอนนี้การจัดตั้ง “กองทุนส่งเสริมการประกันภัยพิบัติ” ที่จะคุ้มครองน้ำท่วม แผ่นดินไหวและพายุ วงเงิน 5 หมื่นล้านบาทคุ้มครอง 1 ล้านล้านบาท กำลังฝุ่นตลบกับการกำหนดสารพัดเงื่อนไข

เดิมจะคุ้มครองน้ำท่วม 20% หรือสูงสุด 200 ล้านบาท ของวงเงินความคุ้มครองหลัก ก็กำลังขยายเพิ่มเป็น 30% หรือสูงสุดไม่เกิน 1,000 ล้านบาท อัตราเบี้ยประกันภัยคาดว่าจะอยู่ประมาณ 12% ของทุนประกันน้ำท่วม ซึ่งจะสรุปรายละเอียดอีกครั้งในวันที่ 27 ก.พ.นี้

ขณะที่แผนช่วยเหลือด้านการเงินของรัฐบาลที่จะให้ธนาคารออมสินปล่อยกู้ให้แก่นิคมอุตสาหกรรมที่ถูกน้ำท่วมในปีที่ผ่านมา 7 แห่งนำไปสร้างเขื่อนก็ทำไม่ได้ รวมถึงเงินให้เปล่าที่คาดว่าจะให้ประมาณ 4,000 ล้านบาท จากที่ประมาณว่าการสร้างเขื่อนป้องกันน้ำท่วม7 นิคมอุตสาหกรรมจะใช้เงิน 6,000 ล้านบาทก็ยังไม่มี

ธุรกิจ-อุตฯ-ประกันอาการหนักปางตาย

 

มาตรการป้องกันน้ำท่วม บริหารจัดการน้ำ ประกันน้ำท่วม ยังไม่มีอะไรออกมาเป็นรูปธรรม

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนี้คือ ประชาชน เจ้าของธุรกิจ ภาคอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ในประเทศก็ยังหาบริษัทประกันมารับความเสี่ยงจากน้ำท่วมไม่ได้

การขอเงินกู้จากสถาบันการเงินเพื่อนำไปฟื้นฟูกิจการก็ทำได้ยาก

เพราะสถาบันการเงินไม่กล้าปล่อยสินเชื่อเนื่องจากเกรงว่าถ้าเกิดน้ำท่วม ลูกค้าจะไม่สามารถชำระเงินกู้ได้ และมีการเรียกหลักทรัพย์ค้ำประกันเพิ่มเพื่อป้องกันหนี้เสีย

เจ้าของโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ ต้องใช้กำลังเท่าที่มีอยู่ทำการปรับโครงสร้างภายในโรงงานใหม่ เช่น การยกเครื่องจักรให้สูงจากพื้นจากระดับน้ำที่เคยท่วม แต่ก็ยังไม่สามารถที่จะเริ่มกระบวนการผลิตได้

หากรัฐบาลไม่สามารถเข็นมาตรการความช่วยเหลือออกมาให้เห็นเป็นรูปธรรม จะส่งผลกระทบเสียหายต่อธุรกิจโดยรวมของประเทศ เพราะประเทศผู้นำเข้าชิ้นส่วนจากไทยคงต้องตัดสินใจไปสั่งชิ้นส่วนจากประเทศอื่นทดแทน และอาจตัดสินใจย้ายฐานการผลิตชิ้นส่วนต่างๆ ออกจากประเทศไทย

ลำพังให้ภาคเอกชนดิ้นรนด้วยตัวเองให้รอดพ้นจากวิกฤตครั้งนี้ก็เป็นไปได้ยากมากในปีนี้ เพราะบริษัทประกันต่างประเทศมีการปรับเงื่อนไขการรับประกันน้ำท่วมในประเทศไทยใหม่ทั้งหมด

ที่หนักหนาสาหัสสำหรับผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรม ผู้ผลิตในขณะนี้คือ สัญญาประกันต่อ 1 เหตุการณ์ จากเดิมที่จำกัดไว้เหตุการณ์ละ 1,000 ล้านบาท หรือบางพื้นที่ไม่จำกัดวงเงิน กลับลดเหลือเหตุการณ์ละไม่เกิน 500 ล้านบาท และขยายจำนวนวันต่อ 1 เหตุการณ์ เป็น 720 ชั่วโมง หรือ 30 วัน เป็น 1 เหตุการณ์ จากเดิมที่กำหนดไว้ 7 วัน หากเสียหายเกิน 500 ล้านบาท บริษัทประกันภัยในประเทศไทยต้องจ่ายเงินให้กับลูกค้าเอง

ลูกค้าที่ถูกน้ำท่วม ทรัพย์สินเสียหาย ได้รับการชดใช้แน่นอน ไม่ว่าจะท่วม 5 วัน หรือ 7 วัน หรือมากกว่านั้น แต่ความเสี่ยงจะตกที่บริษัทประกันภัยในประเทศ เพราะจะต้องบริหารให้ดีภายใต้วงเงินที่ได้รับมาจากบริษัทประกันต่างประเทศ

เพราะถ้าไม่เข้าเงื่อนไข 30 วัน บริษัทประกันภัยในไทยจะต้องนำเงินในกระเป๋าออกมาจ่ายเอง ถ้าบริหารความเสี่ยงไม่ดีมีสิทธิล้มกันได้ง่ายๆ

สำหรับสัญญาการรับประกันภัยต่อแบบเฉพาะราย ที่มีการจำกัดวงเงินความคุ้มครองน้ำท่วมไว้ประมาณ 10-30% ของวงเงินความคุ้มครองประกันอัคคีภัย

เช่น วงเงินความคุ้มครองประกันอัคคีภัย 1 หมื่นล้านบาท จะจ่ายชดเชยน้ำท่วมเพียง 10% หรือ 1,000 ล้านบาทเท่านั้น และลูกค้าจะต้องร่วมรับความเสียหายส่วนแรก 5% หรือ 50 ล้านบาทแรกลูกค้าต้องจ่าย

เงื่อนไขที่ออกมาอย่างนี้ทำให้บริษัทประกันไทยต้องระมัดระวังในการรับลูกค้าอย่างมาก และในพื้นที่เสี่ยงที่เคยถูกน้ำท่วมหนัก ไม่กล้ารับประกัน เบี้ยประกันภัยน้ำท่วมทั่วประเทศถูกปรับขึ้นจาก 0.40.5% ขึ้นไป

เฉลี่ยแล้ววิ่งกันอยู่ประมาณ 10% ของวงเงินความคุ้มครอง

การปรับเงื่อนไขของบริษัทประกันต่างประเทศ เพราะปีที่ผ่านมาไทยสร้างความเสียหายครั้งใหญ่ที่สุดติดอันดับ 3 ของโลก และบริษัทประกันต่างประเทศส่วนใหญ่จะมาจากยุโรป เช่น จากตลาดลอยด์อังกฤษ สวิสรี มิวนิกรี และจากประเทศญี่ปุ่น จากตลาดประกันต่อสิงคโปร์ ซึ่งยุโรปกำลังเผชิญวิกฤตหนี้สาธารณะสูงกว่ารายได้ รัฐบาลถูกสถาบันจัดอันดับลดอันดับความน่าเชื่อถือ ทำให้บริษัทเอกชนต่างๆ รวมถึงบริษัทประกันถูกลดอันดับความน่าเชื่อถือ ทรัพย์สินลงทุนด้อยค่า จึงต้องระมัดระวังการรับประกันภัยในประเทศที่เสี่ยงสูง

รัฐบาลจะต้องเร่งกระบวนการจัดตั้งกองทุนส่งเสริมการประกันภัยให้สั้นลงและเกิดขึ้นโดยเร็วที่สุด รวมถึงเร่งมาตรการบริหารจัดการน้ำ สร้างเขื่อนป้องกันน้ำท่วมนิคมอุตสาหกรรมออกมาให้เป็นรูปธรรม เพื่ออย่างน้อยจะได้มีความคุ้มครองขั้นต่ำเข้ามาช่วยเหลือประชาชนผู้ประกอบการให้มีเครื่องมือป้องกันความเสี่ยง สถาบันการเงินกล้าปล่อยกู้และเพิ่มอำนาจต่อรองเจรจาความคุ้มครองกับบริษัทประกันต่างประเทศให้ได้มากที่สุด ลดความเสียหายของประเทศก่อนที่ฤดูฝนจะกระหน่ำลงมาก่อน