posttoday

พรก.ชี้อนาคตรัฐบาล

22 กุมภาพันธ์ 2555

การเมืองกำลังเข้าสู่ภาวะการก่อตัวของ “มรสุมความกดดันสูง” เข้าไปทุกขณะ

การเมืองกำลังเข้าสู่ภาวะการก่อตัวของ “มรสุมความกดดันสูง” เข้าไปทุกขณะ

โดย...ไพบูลย์ กระจ่างวุฒิชัย

การเมืองกำลังเข้าสู่ภาวะการก่อตัวของ “มรสุมความกดดันสูง” เข้าไปทุกขณะ เนื่องในโอกาสศาลรัฐธรรมนูญเตรียมพิจารณาว่าพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ให้อำนาจกระทรวงการ คลังกู้เงินเพื่อการวางระบบบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศ พ.ศ. 2555 และ พ.ร.ก.ปรับปรุงการบริหารหนี้เงินกู้ ที่กระทรวงการคลังกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน พ.ศ. 2555 ขัดกับรัฐธรรมนูญมาตรา 184

วรรค 1 และวรรค 2 หรือไม่

ในประเด็นนี้ได้เกิดกระแสทวงถามถึงความรับผิดชอบจากรัฐบาลเป็นระยะๆ ตั้งแต่ พ.ร.ก.ทั้งสองฉบับนี้เข้าสู่กระบวนการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ แต่ดูเหมือนว่ารัฐบาลจะเพิกเฉยกับกระแสดังกล่าวแบบไม่ให้ราคา โดยอ้างว่ากฎหมายไม่ได้บัญญัติเป็นลายลักษณ์อักษรให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ต้องรับผิดชอบ ในกรณีที่กฎหมายไม่ผ่านกระบวนการยุติธรรม หรือนิติบัญญัติ

ย้อนกลับไปก่อนหน้านี้ เมื่อปี 2549 รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ได้ตราพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) กำหนดอำนาจ สิทธิ และประโยชน์ของบริษัท กฟผ. พ.ศ. 2548 และ พ.ร.ฎ.กำหนดเงื่อนเวลายกเลิกกฎหมายว่าด้วยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2548

พรก.ชี้อนาคตรัฐบาล

แต่สุดท้ายต้องตกม้าตาย เมื่อศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งให้เพิกถอนกฎหมายดังกล่าว เพราะมีความเห็นว่า “มีการแต่งตั้งบุคคลที่มีคุณสมบัติต้องห้ามอันเป็นการขัดต่อความเป็นกลางและมีผลประโยชน์ขัดแย้งมาเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ในคณะกรรมการเตรียมการจัดตั้งบริษัท”

แน่นอนว่าเวลานั้นประจวบเหมาะกับการชุมนุมขับไล่ พ.ต.ท.ทักษิณ ได้เกิดกระแสให้ พ.ต.ท.ทักษิณ แสดงความรับผิดชอบ หนึ่งในผู้เรียกร้องถึง พ.ต.ท.ทักษิณ ในเวลานั้น คือ “เสนาะ เทียนทอง” ที่วันนี้มาอยู่กับพรรคเพื่อไทย

ทว่า พ.ต.ท.ทักษิณ เพิกเฉยกับกระแสทัดทานดังกล่าว พร้อมกับประกาศไม่ลาออกโดยอ้างว่า “มันเป็นการผิดพลาดทางเทคนิค” จนกระทั่งวิกฤตการเมืองในปี 2549 บานปลายมาถึงการขายหุ้นชินคอร์ปและนำมาสู่การรัฐประหาร 19 ก.ย.

สำหรับขั้นตอนของศาลรัฐธรรมนูญในวันนี้ จะเริ่มต้นตั้งแต่เวลา 9 โมงเช้า “วสันต์ สร้อยพิสุทธิ์” ประธานศาลรัฐธรรมนูญ นัดองค์คณะตุลาการศาลรวม 9 คน ประชุมเพื่อแถลงคำวินิจฉัยส่วนตนและลงมติว่าจะให้ พ.ร.ก.ทั้งสองฉบับขัดกับรัฐธรรมนูญมาตรา 184 ทั้งสองวรรคหรือไม่ ก่อนดำเนินการจัดทำวินิจฉัยกลาง

ความน่าสนใจอยู่ตรงที่จำนวนเสียงของการลงมติชี้ชะตา เพราะในรัฐธรรมนูญมาตรา 185 วรรคสุดท้าย กำหนดให้การตัดสินว่า พ.ร.ก.จะขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ ด้วยเสียง 2 ใน 3 จากจำนวนตุลาการที่มีอยู่ หมายความว่า พ.ร.ก.ทั้งสองฉบับจะขัดกับรัฐธรรมนูญก็ต่อเมื่อมีตุลาการลงมติ 6 เสียงขึ้นไปจากจำนวนทั้งหมด 9 คน

ทั้งนี้ ประเด็นที่ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยมีด้วยกันเพียง 2 ประเด็น ดังนี้

1.พ.ร.ก.ทั้งสองฉบับ เป็นไปเพื่อความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศหรือไม่

2.การตรา พ.ร.ก.เป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วน อันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้หรือไม่

ประเด็นที่ 1 ตามบรรทัดฐานของการพิจารณา พ.ร.ก.เกี่ยวกับการเงินที่ผ่านมา ศาลรัฐธรรมนูญจะให้น้ำหนักว่า “ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ” มีนิยามอย่างไร โดยมีดัชนีชี้วัดอะไรบ้างที่บ่งบอกถึงสภาวะวิกฤตเศรษฐกิจของประเทศ ถึงขั้นที่ ครม.ต้องตรากฎหมายด้วยการใช้บริการทางด่วนขั้นพิเศษไม่ผ่านกระบวนการนิติบัญญัติ

ที่ผ่านมา “กิตติรัตน์” พยายามแสดงให้ศาลเห็นว่าเศรษฐกิจของประเทศอยู่ในภาวะซบเซาอย่างมากจากปัญหาอุทกภัย ประมาณการว่าจีดีพีลดลง 2.3% ในปี 2554 ขยายเพียง 1.5% จากเดิม 4% จึงต้องตรา พ.ร.ก.เพื่อให้มีเม็ดเงินมาฟื้นฟูโครงสร้างพื้นฐานและวางระบบบริหารจัดการน้ำและเพื่อสร้างความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ

ขณะที่คำชี้แจงเหล่านี้ พยายามถูกหักล้างจากผู้ถูกร้องมาตลอดว่ารัฐบาลได้จัดสรรงบ ประมาณฟื้นฟูน้ำท่วมเอาไว้แล้วผ่าน พ.ร.บ.งบ ประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2555 พร้อมกับภาวะเศรษฐกิจตอนนี้ยังมีความมั่นคงอยู่ โดยเฉพาะอัตราการว่างงานมีเพียง 1 แสนคน เทียบกับช่วงที่ไทยได้รับผลกระทบจากวิกฤตการเงินจากสหรัฐส่งผลให้เศรษฐกิจเติบโตติดลบ 7% และมีคนถูกออกจากงาน 8 แสนคน

เช่นเดียวกับ พ.ร.ก.โอนหนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ รัฐบาลชุดนี้แสดงให้เห็น แต่เป็นเพียงการบริหารจัดการหนี้อย่างเป็นระบบ โดยเมื่อธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) นำหนี้ส่วนนี้ไปบริหารจัดการผ่านการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจากธนาคารพาณิชย์ทั้งสิ้นในอัตรา 0.47% จะช่วยให้รัฐบาลไม่ต้องจัดสรรงบประมาณเพื่อชำระหนี้ให้กับกองทุนฟื้นฟูฯ และสามารถนำเงินที่จากเดิมต้องไปชำระหนี้ดังกล่าว ไปใช้ในส่วนของการกระตุ้นเศรษฐกิจแทน

คาดว่าการพิจารณาของศาลในส่วนนี้ขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยว่าการลดหนี้ผ่าน พ.ร.ก.โอนหนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ เพื่อลดภาระทางงบประมาณของรัฐเพื่อนำเงินส่วนนี้ไปใช้ด้านอื่นแทนนั้น จะถือเป็นดำเนินการเพื่อสร้างความมั่นทางเศรษฐกิจหรือไม่

ในประเด็นที่ 2 ศาลจะตีความว่า “การตรา พ.ร.ก.ในช่วงเปิดสมัยประชุมนิติบัญญัติเป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้หรือไม่” กล่าวคือ ถ้ารัฐบาลตราเป็น พ.ร.บ.ซึ่งผ่านกระบวนการนิติบัญญัติแทน จะมีผลอย่างไรต่อการรักษาความมั่นคงทางเศรษฐกิจ

ปมนี้ถือว่าจุดสาหัสของรัฐบาล เพราะระหว่างการพิจารณาศาลรัฐธรรมนูญให้ความสำคัญกับประเด็นนี้มาก แต่รัฐบาลตอบยังไม่เคลียร์มากนัก

แสดงให้เห็นจากการไล่ซักถามของ “วสันต์” ประธานศาลรัฐธรรมนูญอย่างหนักว่า “ถ้าออก พ.ร.ก.ช่วงปิดสภาจะมีข้อแก้ตัวได้ แต่การที่มาออก พ.ร.ก.ทั้งๆ ที่สภาเปิดอยู่เหมือนไม่ให้ความเคารพฝ่ายนิติบัญญัติ” ถึงขั้นรองนายกฯ กิตติรัตน์ ต้องถอนหายใจกลางห้องพิจารณาของศาล และไม่ได้พิสูจน์ให้ศาลเห็นถึงความจำเป็นในการออก พ.ร.ก.ช่วงปิดสภา เพียงแต่อ้างว่า “ไม่ได้มีความเข้าใจหรือความชำนาญในเรื่องของการเสนอในช่วงสภาปิด หรือสภาเปิดแต่อย่างใด”

จากประเด็นเดียวกันเจาะจงไปในส่วนของ พ.ร.ก.โอนหนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ “กิตติรัตน์” ตอบไม่ชัดเช่นกัน ว่าหากตราเป็น พ.ร.บ.แทน พ.ร.ก.จะกระทบต่อการเรียกเก็บเงินค่าธรรมเนียม 0.47% งวดแรกในวันที่ 31 ก.ค. 2555 หรือไม่ โดยชี้แจงแค่ “ถ้าทำเป็น พ.ร.ก.จะช่วยให้รัฐบาลไม่ต้องตั้งงบประมาณชำระหนี้ของกองทุนฟื้นฟูฯ” เท่านั้น

ฉะนั้น การตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญครั้งนี้ จึงเสมือนเป็นการชี้อนาคตรัฐบาลยิ่งลักษณ์ เพราะถ้า พ.ร.ก.ไม่ผ่าน ไม่ว่าฉบับหนึ่งฉบับใด ก็จะมีเสียงเรียกร้องให้รัฐบาลต้องรับผิดชอบ

ที่แน่ๆ ฝ่ายค้านจองกฐินถอดถอนฐานใช้อำนาจหน้าที่ไม่ชอบ ที่สำคัญทำให้รัฐบาลสูญเสียเครดิตครั้งใหญ่ ซึ่งจะนำไปสู่ความไม่เชื่อมั่นในทุกกรณีต่อไป

เพราะฉะนั้น อย่าได้แปลกใจว่าทำไมวงในพรรคเพื่อไทยถึงได้หนักใจกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในเวลานี้ กระทั่งเตรียมหาแพะรับบาปแทน “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” นายกรัฐมนตรี

ทางกลับกันหาก พ.ร.ก.ผ่าน ก็จะทำให้ความเชื่อมั่นของรัฐบาลพุ่งสูงขึ้น และเดินหน้าในการบริหารประเทศได้สะดวกยิ่งขึ้น