posttoday

ภาษีหุ้นตระกูลชินหลอนคลังไม่เลิก

21 กุมภาพันธ์ 2555

แม้ว่าเวลาผ่านไปกว่า 5 ปีแล้ว แต่มหากาพย์ภาษีหุ้นตระกูลชินวัตร 1.2 หมื่นล้านบาท ยังไม่สามารถปิดฉากลงได้เสียที

แม้ว่าเวลาผ่านไปกว่า 5 ปีแล้ว แต่มหากาพย์ภาษีหุ้นตระกูลชินวัตร 1.2 หมื่นล้านบาท ยังไม่สามารถปิดฉากลงได้เสียที

โดย...เกียรติศักดิ์ ผิวเกลี้ยง

แม้ว่าเวลาผ่านไปกว่า 5 ปีแล้ว แต่มหากาพย์ภาษีหุ้นตระกูลชินวัตร 1.2 หมื่นล้านบาท ยังไม่สามารถปิดฉากลงได้เสียที

ล่าสุด กรมสรรพากรจะพยายามรูดม่านปิดกรณีเจ้าปัญหาดังกล่าว แต่การแก้ไขปัญหาดูเหมือนจะเป็นระเบิดเวลาลูกใหม่เท่านั้น

มรดกภาษีหุ้นเจ้าปัญหาเกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี 2549 เมื่อคนในตระกูลชินวัตรรวบรวมหุ้นบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำนวน 49% ขายให้กับกองทุนเทมาเซกในตลาดหลักทรัพย์ ราคาหุ้นละ 49.25 บาท เป็นมูลค่าซื้อขายสูงกว่า 7 หมื่นล้านบาท

การซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ของบุคคลธรรมดาได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้อยู่แล้ว ซึ่งดูแล้วก็ไม่น่ามีปัญหาอะไร แต่เจ้ากรรมอยู่ที่การยักย้ายถ่ายเทหุ้นชินคอร์ป 49% ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ก่อนที่จะขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีในปี 2544 มีหุ้นส่วนหนึ่งที่ขายไปให้กับบริษัท แอมเพิลริช 11%

ซึ่งก่อนหน้าเพียง 1 วัน ที่คนในตระกูลชินวัตรจะขายหุ้นให้กับกองทุนเทมาเซก บริษัท แอมเพิลริช ได้ขายหุ้นชินคอร์ป 11% ให้กับ พานทองแท้ และ พินทองทา ชินวัตร ลูกชายและลูกสาวของ พ.ต.ท.ทักษิณ นอกตลาดหลักทรัพย์ในราคาเพียงหุ้นละ 1 บาท ก่อนที่อีกวันหนึ่งทั้งสองคนจะขายหุ้นดังกล่าวให้กองทุนเทมาเซกในตลาดในราคาหุ้นละ 49.25 บาท

ภาษีหุ้นตระกูลชินหลอนคลังไม่เลิก

ปมดังกล่าวถูกมองว่า เป็นการได้ของถูกขายในราคาแพง ได้กำไรเป็นรายได้ต้องพึงประเมิน แต่กรมสรรพากรในเวลานั้นก็เอาหูไปนาเอาตาไปไร่ ยืนกระต่ายขาเดียวไม่เก็บภาษีหุ้นดังกล่าว

ถึงขนาดมีการตั้งโต๊ะแถลงวงใหญ่ในช่วงนั้น มีทั้ง ศุภรัตน์ ควัฒน์กุล ปลัดกระทรวงการคลัง ศิโรตม์ สวัสดิ์พาณิชย์ อธิบดีกรมสรรพากร กิตติรัตน์ ณ ระนอง กรรมการผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ และธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล เลขาธิการคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)

ทุกหน่วยงานประสานเป็นเสียงเดียวกัน การซื้อขายหุ้นไม่ผิดไม่มีด่างพร้อย คลังและกรมสรรพากรผนึกกำลังยืนยันนอนยันไม่ต้องเสียภาษี

ขณะที่ผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ บอกการซื้อขายปกติ และเลขาธิการ ก.ล.ต. ออกโรงยันการซื้อขายไม่มีอินไซเดอร์ไม่ต้องเสียค่าปรับเป็นหมื่นล้าน

อย่างไรก็ตาม ปลายปี 2549 มีการปฏิวัติยึดอำนาจ มีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) รื้อเรื่องการเสียภาษีหุ้นดังกล่าว และมีคำสั่งให้กรมสรรพากรดำเนินการเก็บให้ถูกต้อง

กรมสรรพากรกลับหลังหันเก็บภาษีหุ้นจากพานทองแท้และพินทองทาเป็นภาษีเงินเพิ่ม เบี้ยปรับรวมกันถึง 1.2 หมื่นล้านบาท ซึ่งกรมสรรพากรได้ยึดทรัพย์ของทั้งสองคนเป็นจำนวน 1,100 ล้านบาท เป็นประกันชำระภาษี

อย่างไรก็ตาม ทั้งสองปฏิเสธจ่ายภาษีที่กรมสรรพากรประเมิน ทำให้กรมสรรพากรฟ้องศาลภาษีกลางให้ทั้งสองคนจ่ายภาษีตามที่กรมสรรพากรประเมินในช่วงการพิจารณาของศาลภาษีกลาง

ประจวบเหมาะกับที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้มีคำพิพากษาสั่งคดียึดทรัพย์ พ.ต.ท.ทักษิณ เนื่องจากร่ำรวยผิดปกติ ซึ่งศาลตัดสินยึดทรัพย์บางส่วน เพราะเห็นว่า พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นเจ้าของหุ้นที่แท้จริงในบริษัท ชินคอร์ป

พานทองแท้และพินทองทายกประเด็นดังกล่าวต่อสู้ในศาลว่า ศาลฎีกาตัดสินว่าเจ้าของหุ้นตัวจริงเป็นพ่อ ดังนั้นกรมสรรพากรจะมาเก็บภาษีหุ้นอีกไม่ได้

กรมสรรพากรไม่ได้พยายามหักล้างประเด็นดังกล่าวในชั้นศาล ทั้งที่ตามประมาลกฎหมายรัษฎากรระบุไว้ชัดว่า การเก็บภาษีเก็บตามนิติกรรมรายได้ที่เกิดขึ้นจริง ไม่สนใครเป็นตัวจริงตัวปลอมหรือเป็นตัวแทน หากหลักฐานระบุว่าเป็นผู้มีรายได้บุคคลคนนั้นต้องเสียภาษี

การต่อสู้ของกรมสรรพากรแบบไม่เต็มตัวเกิดข้อกังขา นำมาซึ่งคำตัดสินของศาลภาษีกลางยกฟ้องกรมสรรพากร ที่จะเรียกเก็บภาษีจากพานทองแท้และพินทองทา

ที่ร้ายไปกว่านั้น คือ กรมสรรพากรไม่ยอมยื่นเรื่องอุทธรณ์ภาษี โดยอ้างเหตุผลว่าสู้ไปก็แพ้ และการยื่นอุทธรณ์ต้องใช้เงินวางศาลหลายสิบล้านบาท

ข้ออ้างของกรมสรรพากร ถือว่าค้านแนวทางการปฏิบัติของทางราชการอย่างมาก เพราะการต่อสู้ชั้นศาลของทางราชการจะสู้ถึงที่สุด

แต่การที่กรมสรรพากรไม่อุทธรณ์ ท่ามกลางประเด็นที่ยังคาใจ ทำให้กรมสรรพากรถูกมองว่า เป็นการเตะอ้อยเข้าปากช้าง

ยิ่งประเด็นที่อ้างว่า ต้องใช้เงินวางศาลหลายสิบล้านบาท เป็นเหตุผลที่คนจำนวนมากรับไม่ได้ เพราะการเดิมพันคดีนี้คือเงินภาษี 1.2 หมื่นล้านบาท เหตุผลอะไรที่จะไม่คุ้มกับเงินหลักล้านที่ต้องวางศาลต่อสู้คดี

หลังจากไม่อุทธรณ์ กรมสรรพากรยังคืนเงิน 1,200 ล้านบาท ให้พานทองแท้และพินทองทา เป็นการปิดฉากภาษีโอ๊คเอม ที่กำกับการแสดงโดยกรมสรรพากร

แต่เรื่องยังจบไม่ลง เพราะเมื่อกรมสรรพากรประเมินแล้วว่ามีรายได้จากการซื้อขายหุ้น เมื่อเก็บจากลูกเจ้าของตามนิติกรรมไม่ได้ ก็ต้องไปเก็บจากพ่อเจ้าของตัวจริง

แต่การเก็บภาษีหุ้น พ.ต.ท.ทักษิณ ของกรมสรรพากร ก็ต้องถือพิสดารล้ำลึก

เมื่อกรมสรรพากรตีความเองเสร็จสรรพว่า จากคำตัดสินของทั้งสองศาล ทำให้นิติกรรมการซื้อขายหุ้นชินคอร์ปที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ยักย้ายถ่ายเทไปให้กับพี่น้องและกองทุนมาเซกก่อนเป็นนายกรัฐมนตรี เป็นโมฆะทั้งหมด

คงเหลือแต่ตอนต้นที่ พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นเจ้าของหุ้น 49% และสุดท้ายไปขายให้กองทุนเทมาเซกในตลาดหลักทรัพย์ ไม่ได้รับการยกเว้นภาษีแม้แต่บาทเดียว

ค่ายกลของกรมสรรพากรต้องบอกว่า คิดเองทำเองกับมือ ไม่สนเสียงคัดค้าน หรือสายตาใครจะมองว่า จะเป็นการรวบตัดตอนเกินเลยไปหรือไม่

เพราะก่อนหน้านี้กรมสรรพากรได้ยื่นเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยภาษีของกระทรวงการคลัง มีมติรับรองเรื่องดังกล่าว แต่คณะกรรมการวินิจฉัยภาษีไม่เล่นด้วย เพราะเห็นไม่ใช่เรื่องที่จะไปตีตรารับรอบว่าธุรกรรมพานทองแท้และพินทองทาเป็นโมฆะ และ พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่ต้องเสียภาษีในตลาดหลักทรัพย์

เหตุผลที่คณะกรรมการวินิจฉัยภาษีไม่เล่นด้วย เพราะเห็นว่ากรมสรรพากรเล่นกับไฟ รวบรัดข้อเท็จจริง ยกหลักการเสียภาษีเข้าข้างผู้เสียภาษี ภัยจะย้อนมาถึงตัวในภายหลัง จึงชิ่งหนีกันหมด

แต่กรมสรรพากรเหมือนหมูไม่กลัวน้ำร้อน แม้ว่าคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีจะไม่ตีตราประทับรับคำร้องให้ กรมสรรพากรก็ออกมายืนยันชัดเจนว่า ปัญหาการเก็บภาษีหุ้นตระกูลชินวัตรเรียบร้อยทุกกรณีไม่มีอะไรติดข้างที่กรมสรรพากรอีกแล้ว หวังปิดฉากมหากาพย์ละครโรงใหญ่ฉากสุดท้าย

แต่ดูเหมือนคนดูไม่เป็นใจ เมื่อ กรณ์ จาติกวณิช สส.ประชาธิปัตย์ อดีต รมว.คลัง ออกโรงเตรียมยื่นคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุกจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สอบเอาผิดผู้บริหารกระทรวงการคลังและกรมสรรพากรละเว้นปฏิบัติหน้าที่ไม่เก็บภาษีหุ้น พ.ต.ท.ทักษิณ จนหมดอายุความ ทำให้รัฐเสียหาย งานจึงเข้าที่กระทรวงการคลังและกรมสรรพากรเต็มเปา

กรณ์ตั้งประเด็นถามกรมสรรพากร ตีความว่าธุรกรรมเป็นโมฆะได้อย่างไร ศาลไม่เคยบอกว่าธุรกรรมเป็นโมฆะ หากธุรกรรมเป็นโมฆะ ทำไมธุรกรรมขายหุ้นชินคอร์ปให้กองทุนเทมาเซกไม่เป็นโมฆะไปด้วย แค่นี้กรมสรรพากรก็หนาวๆ ร้อนๆ

เหตุใดกรมสรรพากรไม่ประเมินว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ได้หุ้นชินคอร์ปราคาถูกจากบริษัท แอมเพิลริช และประเมินภาษี 1.2 หมื่นล้านบาท เหมือนกับพานทองแท้และพินทองทา

ทำไมกรมสรรพากรต้องตัดธุรกรรมระหว่างทางทิ้งจนหมด เหลือแต่หัวกับห่างใส่พานผู้เสียภาษีมากมายขนาดนั้น

ว่าไปแล้ว การรวบรัดตัดตอนไม่เก็บภาษีหุ้นของ พ.ต.ท.ทักษิณ ยังมีจุดอ่อนจุดตายอีกมาก

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการประเมินรายได้จากการขายหุ้นของ พ.ต.ท.ทักษิณ กรมสรรพากรทำได้จริงตามที่อ้างหรือไม่ เพราะไม่มีหลักฐานอะไรเลยที่บอกว่าอดีตนายกฯ มีรายได้จากการขายหุ้น และกรมสรรพากรจะไปประเมินรายได้จากตรงไหน

การที่กรมสรรพากรออกมาตีขลุมว่า ประเมินภาษีหุ้น พ.ต.ท.ทักษิณ เรียบร้อยแล้วไม่ต้องเสียภาษี เป็นการกล่าวอ้างที่เลื่อนลอยหรือไม่

นอกจากนี้ การไปตีความว่าธุรกรรมของพานทองแท้และพินทองทา กับบริษัท แอมเพิลริช เป็นโมฆะ ยังไปแย้งกับข้อมูลของ ก.ล.ต.ที่เคยปรับเงินจากพานทองแท้ที่รายงานการถือครองหุ้นไม่ถูกต้อง

และถึงวันนี้ ก.ล.ต.ก็ยังไม่ได้คืนเงินดังกล่าวให้พานทองแท้ เท่ากับเป็นการยืนยันว่า ธุรกรรมการซื้อขายหุ้นมีจริง ยังไม่เป็นโมฆะ แล้วกรมสรรพากรจะว่าอย่างไร

เงื่อนปมต่างๆ ล้วนเป็นระเบิดเวลาที่วางอยู่รอบตัวกรมสรรพากรทั้งสิ้น เพราะความพยายามที่บิดเบี้ยวไม่อยู่บนความถูกต้อง ที่จะไม่เก็บภาษีหุ้นตระกูลชินวัตร 1.2 หมื่นล้านบาท เท่าไรก็เปรียบเสมือนกดปุ่มระเบิดเวลาที่วางรอบตัว ทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องบาดเจ็บล้มตายนั่นเอง

เมื่อออกในรูปนี้ ฟันธงได้ว่า จากนี้ไปชีวิตของข้าราชการกระทรวงการคลังและกรมสรรพากรไม่มีวันสงบได้ เพราะภาษี 1.2 หมื่นล้านบาท นี้จะตามหลอนตลอดไป เพราะการเมืองเป็นเรื่องของทีใครทีมัน