posttoday

ขยะโผล่ใต้พรม ปมรุมเร้ากระทบเชื่อมั่น

21 กุมภาพันธ์ 2555

เปิดเกมรุกครั้งใหญ่... เริ่มต้นกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 เพื่อตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.)

เปิดเกมรุกครั้งใหญ่... เริ่มต้นกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 เพื่อตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.)

โดย...ธนพล บางยี่ขัน

เปิดเกมรุกครั้งใหญ่... เริ่มต้นกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 เพื่อตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ขึ้นมายกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ท่ามกลางความเคลือบแคลงที่จะเข้าไปยุ่มย่ามกับหมวดสถาบัน องค์กรอิสระ หรือเอื้อประโยชน์ให้ “ใคร” หรือ “กลุ่มใด”

ถ้อยแถลงจาก “เพื่อไทย” ยังวนเวียนอยู่แค่ที่มาที่ไปจาก “ปฏิวัติ” ส่งผลให้รัฐธรรมนูญ 2550 ไม่เป็นประชาธิปไตย โดยไม่แตะลงไปในรายละเอียดว่าจะแก้ไขในมาตราใดบ้าง พร้อมลอยตัวโยนให้เป็นหน้าที่ของ ส.ส.ร.

ความคลุมเครือซึ่งไม่มีหลักประกันใดๆ ว่า ส.ส.ร.จะเข้าไปรื้อรัฐธรรมนูญมากน้อยแค่ไหน อีกทั้งกระบวนการคัดเลือก ส.ส.ร. ยังมีข้อกังขาว่าจะเปิดช่องให้ฝ่ายการเมืองเข้าไปล้วงลูกส่งตัวแทนเข้าไปแก้รัฐธรรมนูญด้วยแล้ว ยิ่งล่อแหลมต่อความปั่นป่วนที่จะตามมา

จับอาการรวบรัดของ “รัฐบาล” รีบจับเรื่องร้อนอย่างการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ต้องการแรงส่ง แรงหนุนจากสังคมในการขับเคลื่อน ยิ่งสะท้อนถึงความ “เชื่อมั่น” ในการบริหารประเทศของนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่นานวันจะลดน้อยลงเรื่อยๆ ตลอด 7 เดือนกว่าที่ผ่านมา

ขยะโผล่ใต้พรม ปมรุมเร้ากระทบเชื่อมั่น

ตอกย้ำด้วยผลโพลหลายสำนักที่ยืนยันความไม่มั่นใจในรัฐบาล !!!

เริ่มตั้งแต่ “วิกฤตอุทกภัย” ซึ่งสาเหตุจากที่รัฐบาลเพลี่ยงพล้ำล้มเหลวในการบริหารจัดการ ทำให้ความเสียหายต่อทั้งชีวิตและทรัพย์สินบานปลายรุนแรงกว่าที่ควรจะเป็น

จุดอ่อนตรงนี้ทำให้รัฐบาลพยายามทำทุกวิถีทางเดินหน้าฟื้นความเชื่อมั่นให้กลับคืนมา ทั้งการสังคายนารื้อยุบรวม คณะกรรมการชุดต่างๆ ที่ตั้งขึ้นมาดูแลรับผิดชอบแก้ปัญหาเยียวยาฟื้นฟูน้ำท่วม ดึงบุคลากรระดับแนวหน้ามาร่วมเรียกความเชื่อมั่น

งบประมาณหลายแสนล้านบาทถูกถมเข้าไปในสารพัดโครงการ กับการวางแผนป้องกันน้ำท่วมระลอกใหม่ การกำหนดพื้นที่รับน้ำ 2 ล้านไร่ที่ยังไม่เห็นความชัดเจน ล้วนแต่ไม่อาจฉุดความเชื่อมั่นทั้งชาวบ้านในพื้นที่เสี่ยง รวมไปถึงผู้ประกอบการทั้งในและต่างประเทศ

ซ้ำเติมด้วย พ.ร.ก. 4 ฉบับ ที่หยิบยกสถานการณ์ “น้ำท่วม” ขึ้นเป็นเหตุผลสำคัญเพื่อเปิดช่องให้รัฐบาลสามารถกู้เงินโดยไม่ต้องผ่านการตรวจสอบตามระบบงบประมาณปกติ

แทนที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นตามวัตถุประสงค์ ตรงกันข้ามกลับยิ่งฉุดความเชื่อมั่นเมื่อ พ.ร.ก. 2 ฉบับ ทั้ง พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการวางระบบบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศ และ พ.ร.ก.ปรับปรุงการบริหารหนี้เงินกู้ ที่กระทรวงการคลังกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยว่าขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 184 หรือไม่ ในวันที่ 22 ก.พ.นี้

ทว่า ฟังจากการชี้แจงของคนในรัฐบาลแล้วหลายประเด็นไปตอกย้ำถึงความไม่จำเป็นเร่งด่วน ถึงขั้นที่จะต้องออกเป็น พ.ร.ก. ยิ่งทำให้สถานะของรัฐบาลสุ่มเสี่ยงมากขึ้นทุกขณะ

อีกประเด็นล่อแหลมที่ทุกรัฐบาลหนีไม่พ้นคือเรื่อง “ของแพง” ยิ่งพรรคเพื่อไทยชูประเด็นเรื่องลดค่าครองชีพ เพิ่มรายได้ เป็นธงนำตั้งแต่การหาเสียง แต่เมื่อสภาพปัจจุบันที่ข้าวของราคาถีบตัวสูงขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งซ้ำเติมรัฐบาล

ลำพังแค่การแก้ปัญหาด้วยการตั้งบูธธงฟ้าขายข้าวแกงราคาถูก กำหนดควบคุมราคาสินค้า ที่ไม่สามารถไปไล่กวดขันได้จริง ขณะที่นโยบายเพิ่มรายได้ทั้งค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาท เงินเดือนขั้นต่ำปริญญาตรี 1.5 หมื่นบาท ยังไม่สามารถทำได้จริง ยิ่งมีแต่จะทำให้รัฐบาลเสียคะแนนไปเรื่อยๆ

มาจนถึงราคาค่าน้ำมันที่ชาวบ้านได้ดีใจในช่วงฮันนีมูนไม่กี่เดือนของรัฐบาล สุดท้าย เบนซิน ดีเซล ก๊าซเอ็นจีวี แอลพีจี ต่างขยับขึ้นยกแผง ซึ่งนอกจากจะทำให้คนใช้รถต้องแบกรับภาระที่เพิ่มขึ้นแล้ว ยังส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ในรูปแบบต้นทุนสินค้าและบริการจะทำให้ของแพงเพิ่มขึ้น

ตามมาด้วยปมเรื่องภารกิจลับ “โฟร์ซีซั่นส์” ซึ่งบานปลาย ฉุดให้นายกรัฐมนตรีถูกตั้งข้อสังเกตในประเด็นเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนเรื่องการเข้าพบนักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เป็นการส่วนตัวในช่วงเวลาราชการ ทั้งที่ควรจะใช้เวลาไปกับการร่วมประชุมสภา

ปัญหาอยู่ตรงที่การไม่ออกมาชี้แจงของนายกฯ ทำให้การชี้แจงผ่านคนรอบตัวหรือคนที่เกี่ยวข้องออกไปคนละทิศละทาง สร้างความสับสน ชวนสงสัยไปถึงข้อเท็จจริงที่นายกฯ ไม่ออกมายืนยันชี้แจง

ถัดมาที่ปัญหาความมั่นคงล่าสุดเหตุการณ์ระเบิดที่ซอยสุขุมวิท 71 ตอกย้ำความไร้ประสิทธิภาพของรัฐบาล เพราะภายหลังสหรัฐออกมาแจ้งเตือนถึงการก่อการร้ายในประเทศไทย คนในรัฐบาลกลับออกมาปฏิเสธและยืนยันเสียงแข็งว่าสามารถควบคุมสถานการณ์ได้

แม้แต่หลังเกิดเหตุเสียงสะท้อนจากคนในรัฐบาลยังมองว่าเป็นเพียงแค่ “จิ๊กโก๋” ทั้งที่เหตุการณ์ครั้งนี้ถูกตั้งข้อสังเกตเชื่อมโยงว่ามีความคล้ายคลึงในรูปแบบการก่อเหตุที่เกิดขึ้นในบางประเทศ ความไม่เชื่อมั่นทำให้ 14 ประเทศประกาศเตือนให้ระวังการเดินทางเข้าประเทศไทย

ความเชื่อมั่นต่างประเทศยังต้องสะเทือนอีกรอบ เมื่อคณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อดำเนินมาตรการทางการเงินเกี่ยวกับการฟอกเงิน (FATF) ประกาศขึ้นบัญชีดำประเทศไทย และอีก 4 ประเทศไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานระหว่างประเทศว่าด้วยการสกัดการฟอกเงินและการให้ทุนสนับสนุนการก่อการร้าย

กระทบต่อความเชื่อมั่นต่างประเทศโดยตรง ส่งผลโยงไปถึงการค้าการลงทุนกับต่างประเทศ ที่สำคัญหากยิ่งปล่อยไว้โดยรัฐบาลไม่เร่งแก้ไข ชี้แจง ทำความเข้าใจฟื้นความเชื่อมั่นให้กลับคืนมาได้ ย่อมฉุดให้เศรษฐกิจประเทศดำดิ่งลงไปเรื่อยๆ

ถัดมาที่ประเด็นเรื่องภาษีหุ้นบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น ซึ่งล่าสุดคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีของกระทรวงการคลังเห็นชอบตามที่กรมสรรพากรดำเนินการไม่เก็บภาษีหุ้นจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จำนวน 1.2 หมื่นล้านบาท เนื่องจากศาลได้ตัดสินชัดเจนว่า พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นเจ้าของหุ้นบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น ที่แท้จริง ไม่ใช่ พานทองแท้ และพินทองทา ชินวัตร ที่เป็นผู้รับโอนหุ้นและขายหุ้นออกไปในราคาที่สูงกว่าที่ได้รับมา

หลังจากที่ก่อนหน้านี้อัยการสูงสุดไม่ยื่นฎีกาต่อศาลฎีกาให้พิจารณาคดีการเลี่ยงภาษีหุ้นบริษัท ชินวัตร คอมพิวเตอร์ แอนด์ คอมมิวนิเคชั่นส์ หลังศาลอุทธรณ์ยกฟ้องคุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชร และรอลงอาญา บรรณพจน์ ดามาพงศ์ ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรง

ปมปัญหาต่างๆ ที่รุมเร้าเวลานี้ย่อมไปกัดเซาะความเชื่อมั่นนายกฯ และรัฐบาลให้หมดลงไปทุกที