posttoday

กรีซพ้นวิกฤตหนี้ แต่ไม่พ้นวิบากเศรษฐกิจ

20 กุมภาพันธ์ 2555

นับตั้งแต่ก้าวเริ่มปีใหม่เป็นต้นมา ชะตากรรมของกรีซยังคงมีทีท่าไม่หลุดจากวงจรวิบากกรรมของหนี้สาธารณะได้โดยง่ายสักเท่าไรนัก

นับตั้งแต่ก้าวเริ่มปีใหม่เป็นต้นมา ชะตากรรมของกรีซยังคงมีทีท่าไม่หลุดจากวงจรวิบากกรรมของหนี้สาธารณะได้โดยง่ายสักเท่าไรนัก

โดย...นงลักษณ์ อัจนปัญญา

นับตั้งแต่ก้าวเริ่มปีใหม่เป็นต้นมา ชะตากรรมของกรีซยังคงมีทีท่าไม่หลุดจากวงจรวิบากกรรมของหนี้สาธารณะได้โดยง่ายสักเท่าไรนัก แม้จะได้รับความช่วยเหลือจากสหภาพยุโรป (อียู) ไปแล้วรอบหนึ่งก็ตาม

ในสายตาของผู้เชี่ยวชาญ สาเหตุส่วนหนึ่งก็คือมาตรการรัดเข็มขัดที่ยังไม่เพียงพอ ขณะที่อีกส่วนหนึ่งมองว่าเป็นเพราะความไม่มีวินัยทางการคลังของรัฐบาลกรีซ และอีกบางส่วนที่มองว่าเป็นผลมาจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่เกิดขึ้นทั่วโลกในปัจจุบัน ที่ทำให้เศรษฐกิจของกรีซไม่เติบโตตามเป้าที่คาดหวังกันไว้

แต่ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม วิกฤตหนี้ของกรีซในขณะนี้เริ่มเข้าสู่เส้นตายระลอกใหม่ ด้วยวันครบกำหนดชำระหนี้มูลค่า 1.45 หมื่นล้านยูโร ในวันที่ 20 มี.ค.นี้ และกลายเป็นชนวนถกเถียงร้อนแรงดุเดือดทั้งเวทีภายในประเทศกรีซ และเวทีระดับภูมิภาคอย่างอียูอยู่ในขณะนี้

กรีซพ้นวิกฤตหนี้ แต่ไม่พ้นวิบากเศรษฐกิจ

 

เพราะสถานการณ์ของกรีซในตอนนี้เรียกให้เข้าใจง่ายก็คือ จนปัญญาที่จะมีเงินมาใช้หนี้ และมีทางเลือกอยู่ 2 ทาง คือ 1) ผิดนัดชำระหนี้เสีย หรือ 2) ขอความช่วยเหลือจากมิตรสหาย

แน่นอนว่าในแวดวงการค้าระดับประเทศ ความน่าเชื่อถือคือหัวใจที่สำคัญที่สุด การผิดนัดชำระหนี้ที่ทำให้ความน่าเชื่อถือสูญสิ้น จึงไม่ต่างอะไรกับการฆ่าตัวตาย และยังพลอยทำให้เจ้าหนี้รายใหญ่ซึ่งถือพันธบัตรของกรีซ เช่น รัฐบาลฝรั่งเศส หรือสถาบันการเงินในอิตาลีย่ำแย่ตามไปด้วย

การขอความช่วยเหลือจากมิตรสหายที่ลงเรือลำเดียวกันมานาน 10 ปีอย่างกลุ่มอียู จึงเป็นทางเลือกที่โสภาสถาพรสำหรับกรีซและบรรดาเจ้าหนี้

และเป็นที่มาของการขอเงินช่วยเหลือรอบที่ 2 จากอียู ที่มีกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) และธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) เข้ามาเกี่ยวข้องด้วยเงินจำนวนที่สูงถึง 1.3 แสนล้านยูโร พร้อมเงื่อนไขการให้ความช่วยเหลือที่เข้มข้นมากกว่าเดิม

เห็นได้จากการที่รัฐบาลกรีซภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี ลูคัส ปาปาเดมอส พร้อมรัฐมนตรีคลัง อีวานเจลอส เวนิเซลอส ต้องเดินหน้าเจรจาตัดลดหนี้กับตัวแทนเจ้าหนี้ภาคเอกชนลงถึง 50% เพื่อลดปริมาณหนี้สาธารณะของกรีซที่มีมูลค่าสูงถึง 160% ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ให้เหลือตามเป้าหมายที่ 120% ต่อจีดีพีภายในปี 2563

ตามมาด้วยการคุยกับพรรคร่วมรัฐบาลและพรรคฝ่ายค้านเพื่อให้ผ่านร่างนโยบายรัดเข็มขัดที่มีมูลค่าสูงถึง 3,200 ล้านยูโร เพื่อแลกกับเงินช่วยเหลือรอบใหม่ ซึ่งหมายรวมถึงเงินที่จะเข้าค้ำจุนสถาบันการเงินการธนาคารของกรีซด้วย

แม้จะได้รับเสียงคัดค้านและการประท้วงแบบหัวชนฝาของบรรดาประชาชนภายในประเทศที่ทำให้ขั้นตอนการเจรจาเพื่อไปให้ถึงเงินช่วยเหลือรอบ 2 ต้องล่าช้าออกไป แต่ในที่สุดรัฐบาลกรีซก็สามารถฟันฝ่าบรรลุข้อตกลงภายในกับทั้งเจ้าหนี้และพรรคร่วมรัฐบาลได้อย่างทุลักทุเล

เหลือแต่เพียงการพูดคุยตกลงขั้นสุดท้ายระหว่างกรีซ อียู ไอเอ็มเอฟ และอีซีบี รวมถึงคณะกรรมาธิการยุโรปที่จะมีขึ้นในวันที่ 20 ก.พ.นี้เท่านั้นที่จะทำให้โลกรู้ว่ากรีซจะรอดพ้นจากการผิดนัดชำระหนี้หรือไม่

แน่นอนว่าบรรดานักเศรษฐศาสตร์และนักวิเคราะห์ที่ติดตามสถานการณ์ในกรีซมานานต่างลงความเห็นตรงกันโดยไม่ได้นัดหมายว่า ความพยายามอย่างเอาเป็นเอาตายของกรีซในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมานี้ย่อมไม่สูญเปล่า

ยิ่งไปกว่านั้น หนทางของกรีซยังมีแนวโน้มสดใสไปเปลาะหนึ่ง เพราะกรีซน่าจะสามารถรักษาและฟื้นฟูระบบธนาคารและการคลังของประเทศได้

นอกจากนี้ สถานการณ์ดังกล่าวส่งผลให้ความตึงเครียดในภูมิภาคยุโรปค่อยๆ ลดลง และเริ่มมีสัญญาณทางบวกให้เห็นว่ายุโรปเริ่มฟื้นจากวิกฤตหนี้ได้

อย่างไรก็ตาม ยังเร็วเกินไปที่จะด่วนตัดสินว่ากรีซรอดพ้นจากวิกฤตหนี้สาธารณะทั้งมวลเพราะสถานการณ์ภาคเศรษฐกิจจริง ซึ่งรวมถึงภาคการผลิตและการจ้างงานของประเทศยังอยู่ในโซนอันตราย

มิแรนดา ซาฟา หัวหน้าที่ปรึกษาของบริษัทที่ปรึกษาทางธุรกิจอีเอฟ และอดีตตัวแทนคณะกรรมการของกรีซในไอเอ็มเอฟ กล่าวว่า แม้ข้อตกลงแผนร่างการฟื้นฟูวิกฤตของประเทศจะนำมาใช้ได้ทันเวลา แต่ก็เพียงแต่ทำให้กรีซรอดพ้นจากการล้มละลายเท่านั้น ไม่เพียงพอที่จะสกัดกั้นไม่ให้กรีซต้องเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้

พูดให้เข้าใจง่ายก็คือว่า ต่อให้มีเงินชำระหนี้ตามกำหนด ปริมาณหนี้ลดลงในระดับที่รัฐบาลควบคุม แต่เศรษฐกิจของกรีซก็ยังไม่สามารถเดินหน้าต่อไปได้

เพราะต้องไม่ลืมว่า เพื่อหลีกเลี่ยงการล้มละลาย รัฐบาลกรีซต้องแลกกับมาตรการรัดเข็มขัดสุดหิน ที่ตัดค่าใช้จ่าย ปลดคนงาน หักเงินบำนาญ และลดค่าจ้างขั้นต่ำ จนเศรษฐกิจโดยรวมแทบไปไม่ได้ เนื่องจากคนในประเทศซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการฟื้นฟูเศรษฐกิจประเทศในขั้นต้นไม่มีกำลังซื้อ

อีกหนึ่งหลักฐานที่ยืนยันได้ดีว่าเศรษฐกิจของกรีซกำลังเผชิญหน้ากับภาวะถดถอยอยู่ในขณะนี้ก็คือ ตัวเลขสถิติที่เพิ่งเปิดเผยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งระบุว่ากรีซกำลังเผชิญหน้ากับการหดตัวทางเศรษฐกิจในอัตราที่เร็วมากขึ้น

เฉพาะแค่เพียงไตรมาส 4 ของปี 2554 เศรษฐกิจกรีซหดตัวไปถึง 7% สวนทางกับการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ในประเทศก่อนหน้านี้ที่ระบุว่าเศรษฐกิจกรีซในปี 2554 จะหดตัวเพียง 5.5% ขณะที่การคาดการณ์ในปีนี้พุ่งแตะระดับ 45% เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ทั้งนี้ นักเศรษฐศาสตร์อย่าง ซาฟา มองว่า ทั้งหมดทั้งมวลเป็นผลพวงมาจากปัญหาการ “ขาดดุลแฝด” (Twin Deficit) หรือก็คือ การที่รัฐบาลมีรายจ่ายมากกว่ารายรับ ควบคู่ไปกับสภาวการณ์ที่มีสินค้านำเข้ามากกว่าการส่งออก

หนทางแก้ก็คือ การปรับลดการบริโภคของภาครัฐและเอกชน พร้อมๆ กับการเพิ่มผลผลิตให้มากขึ้น

เป็นทางออกที่แม้แต่คนธรรมดาสามัญก็เข้าใจได้โดยง่ายว่ากรีซยังไม่สามารถลงมือทำได้ทันที โดยยังไม่นับรวมข้อเท็จจริงที่ว่าสินค้าและบริการของกรีซนั้นยังไม่อาจตอบโจทย์ความต้องการของตลาดโลกได้

เรียกได้ว่าไม่มีใครอยากได้ แถมยังไม่สามารถแข่งขันด้านราคากับใครได้อีก

นอกจากนี้ ความเสี่ยงของกรีซอีกประการหนึ่งที่ไม่อาจมองข้ามไปได้ก็คือ ปัญหาของระบบบริหารการปกครองที่ลำเอียงเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของบรรดานักการเมือง เห็นได้จากรายละเอียดการตัดลดเงินบำนาญ ที่แม้จะตัดลดแล้วแต่เงินบำนาญของข้าราชการยังคงสูงกว่าที่ประชาชนต้องเสียสละ

ยิ่งไปกว่านั้น แอนเจลอส ทซาคานิคัสจากสถาบันเพื่อการวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์และอุตสาหกรรม (Institute for Economic and Industrial Research : IOVE) ยังมองว่า หากรัฐยังไม่ปรับปรุงระบบการทำงานให้รวดเร็วขึ้น เช่น การอนุมัติการลงทุน หรือเร่งรัดขั้นตอนศุลกากรให้ทัดเทียมเพื่อนบ้าน ต่อให้ปรับลดค่าจ้างขั้นต่ำอย่างไรก็ไม่อาจเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันได้เช่นกัน

ทั้งนี้ ในสายตาของนักวิเคราะห์ กรีซอาจมีเวลาหายใจได้เปลาะหนึ่งจากเงินช่วยเหลือรอบ 2 ที่ได้รับ แต่ก็ไม่ใช่เวลาที่จะสบายใจหรือเบาใจได้ต่อไป

เพราะนอกจากปัจจัยเสี่ยงภายในประเทศที่ยังต้องรอการสะสางแล้ว

ปัจจัยภายนอกทั้งเรื่องของความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่อภูมิภาคยุโรปก็ดี หรือปัญหาความขัดแย้งในอิหร่านจนกระเทือนการส่งน้ำมันเข้ายุโรปก็ดี ยังคงเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจของยุโรปเปราะบางและเข้าสู่ภาวะถดถอย

จนอาจพูดได้ว่า หนทางที่กรีซจะเงยคอมาเริงร่าได้นั้นยังคงอยู่อีกยาวไกล