posttoday

โค้งสุดท้าย แก้ รธน. อึ้ง ทึ่ง เสียว

20 กุมภาพันธ์ 2555

อุณหภูมิการเมืองกำลังร้อนระอุขึ้นอีกรอบ เมื่อชนวนระเบิดลูกสำคัญอย่างการแก้ไขรัฐธรรมนูญใกล้จะถูกจุดชนวน

อุณหภูมิการเมืองกำลังร้อนระอุขึ้นอีกรอบ เมื่อชนวนระเบิดลูกสำคัญอย่างการแก้ไขรัฐธรรมนูญใกล้จะถูกจุดชนวน

โดย...ธนพล บางยี่ขัน

อุณหภูมิการเมืองกำลังร้อนระอุขึ้นอีกรอบ เมื่อชนวนระเบิดลูกสำคัญอย่างการแก้ไขรัฐธรรมนูญใกล้จะถูกจุดชนวน

เริ่มเข้าสู่การพิจารณาในวาระแรกของที่ประชุมร่วมรัฐสภาในวันที่ 23 ก.พ.นี้ ท่ามกลางกระแสวิตกกังวลถึงความขัดแย้งที่กำลังจะลุกลามบานปลาย

สัญญาณจาก “วิปรัฐบาล” ชัดเจนว่า ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่จะหยิบยกขึ้นมาพิจารณาพร้อมกันวันพฤหัสบดีที่จะถึงนี้ ประกอบไปด้วย 3 ฉบับ ร่างของรัฐบาล ร่างพรรคเพื่อไทย และร่างของพรรคชาติไทยพัฒนา

ขณะที่ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่จากภาคประชาชนและเสนอเข้ามาก่อนร่างอื่นๆ นั้นกลับตกขบวนไม่สามารถร่วมพิจารณาไปพร้อมกันในเที่ยวนี้ได้ ด้วยเหตุผลที่อยู่ระหว่างการตรวจสอบรายชื่อของประชาชนร่วมรายชื่อเสนอกฎหมายหลายหมื่นคน

โค้งสุดท้าย แก้ รธน. อึ้ง ทึ่ง เสียว

คาดว่าจำเป็นต้องใช้เวลานาน ทำให้อาจไม่ทันที่จะหยิบยกขึ้นมาพิจารณาในสมัยประชุมสภานี้ แต่ก็มีการปลอบใจประสานงานไปยังฝั่งแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ให้ร่วมเป็นกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาในชั้นที่กฎหมายผ่านรัฐสภาแล้ว

นำมาสู่การตั้งข้อสงสัยจาก “อภิสิทธิ์เวชชาชีวะ” ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรว่า เป็นการ “สวมสิทธิ” ใช้เหตุผลว่า เพื่อ “รักษาสิทธิ” เนื่องจากประชาชนเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทำให้รัฐบาลต้องเสนอด้วย แต่สุดท้ายกลับกลายเป็นว่าฉบับของประชาชนไม่ได้รับการพิจารณา

มองกันไปถึงขั้นว่าเข้าข่ายยืมมือภาคประชาชนเป็นใบเบิกทางหรือไม่!!!

จากที่เป็นห่วงกันว่าประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะยิ่งซ้ำเติมความขัดแย้งและจุดกระแสความรุนแรงระลอกใหม่ ทำให้หลายฝ่ายออกมาแสดงความเป็นห่วงต่อการเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญเที่ยวนี้ หวังใช้เสียงข้างมากในสภาฯ กว่า 300 เสียง รวมกับอีกแค่ไม่กี่เสียงจากฝั่งวุฒิสภา ก็สามารถผลักดันให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญขับเคลื่อนไปตามกลไกที่วางไว้

แม้ที่ผ่านมา “ประชาธิปัตย์” จะใช้ลูกเก๋าในเวทีสภาสร้างความปั่นป่วนให้พรรคเพื่อไทย จนถึงขั้นต้องปิดสภาหนีความวุ่นวายมาแล้วหลายรอบ

แต่การหวังเสียงค้านในสภาฯ เพื่อต้านทานความพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้จากรัฐบาลย่อมไม่อาจมีพลังเพียงพอ ทำให้ “ประชาธิปัตย์” ประกาศจุดยืนคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พร้อมเดินหน้ารณรงค์สร้างความเข้าใจไปยังทั่วทุกพื้นที่ทั่วประเทศคู่ขนานกับการทำหน้าที่ค้านในสภาฯ

ทั้งขึ้นป้ายคัดค้าน เดินสายสร้างกิจกรรมในพื้นที่ หยิบยกประเด็นล่อแหลมที่เป็นห่วงว่า การเข้าไปแก้ไขจะนำไปสู่ความ “วิกฤต”รอบใหม่ ทั้งเรื่องสถาบัน องค์กรอิสระ รวมทั้งการเอื้อประโยชน์ให้กับใครคนใดคนหนึ่ง พวกใดพวกหนึ่งหรือไม่

ท่าทีจาก “ภูมิใจไทย” ในฐานะพรรคร่วมฝ่ายค้านก็เริ่มส่งสัญญาณไม่เอาด้วย เพราะเห็นว่าไม่ใช่เรื่องเร่งด่วนที่จำเป็นจะต้องมาเร่งแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในเมื่อยังมีปัญหาปากท้อง สินค้าราแพง น้ำท่วม ที่รัฐบาลไปเร่งดำเนินการมากกว่า งานนี้จึงต้องรอดูท่าทีสุดท้ายจากการประชุมพรรควันที่ 21 ก.พ. ว่าจะแสดงออกในจุดยืนต่อเรื่องนี้อย่างไร

ส่วนกลุ่มอื่นๆ นอกสภาฯ เวลานี้เริ่มออกมาฮึ่มฮั่ม รอดูท่าที กลุ่มสยามประชาภิวัฒน์ที่ประกาศต่อต้านทุนนิยมผูกขาดพรรคการเมือง กลุ่มกรีน ชมรม ส.ส.ร. ปี’50 ไปจนถึงกลุ่มดั้งเดิมอย่างพันธมิตรประชาชนที่เคยประกาศจุดยืนคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาโดยตลอด

มองข้ามช็อตกันต่อไปว่า หากกลุ่มเคลื่อนไหวต่างๆ นอกสภาฯ จุดกระแสติดมีกระแสคัดค้านมากมาย กดดันรัฐบาลแล้วสุดท้ายก็อาจจะนำพาสังคมกลับไปสู่รูปแบบเดิมๆ คือ การปลุก “ม็อบชนม็อบ” ที่จะยิ่งซ้ำเติมความขัดแย้งในสังคมไม่รู้จบ

ส่องดูประเด็นที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญเนื้อหาหลักที่จะแก้ไขคือ มาตรา 291 ซึ่งเปิดทางให้ตั้ง ส.ส.ร.ขึ้นมาทำหน้าที่แก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับต่อไป ดังนั้นสถานะของ ส.ส.ร.จึงเปรียบเสมือนหัวใจสำคัญที่จะมาเป็นผู้กำหนดทิศทางรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้

ยิ่งทำให้ต้องจับจ้องไปยังที่มาที่ไปของส.ส.ร.ว่า จะมีฝั่งการเมืองเข้าไปวางตัวเข้าไปครอบงำการแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างที่ถูกออกมาดักคอหรือไม่

ไล่ดูทีละร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญถึงที่มาที่ไปของ ส.ส.ร. เริ่มตั้งแต่ร่างของพรรคเพื่อไทย ร่างของรัฐบาล และชาติไทยพัฒนา จำนวน ส.ส.ร. 99 คน มีที่มาไม่ต่างกันคือ เลือกตั้งจังหวัดละ1 คน รวม 77 คน ผู้ทรงคุณวุฒิ 22 คนเป็นผู้เชี่ยวชาญสาขากฎหมายมหาชน 7 คนผู้เชี่ยวชาญสาขารัฐศาสตร์ หรือรัฐประศาสนศาสตร์ 7 คน ผู้มีประสบการณ์ด้านการเมือง การบริหารราชการแผ่นดิน หรือการร่างรัฐธรรมนูญ ตามหลักเกณฑ์ที่ประธานรัฐสภาประกาศกำหนด 8 คน

ส่วนประเด็นที่หลายคนเป็นห่วงคือ การระบุสมบัติและข้อห้ามของบุคคลที่จะมาเป็น ส.ส.ร. ซึ่งก็ระบุเพียงแต่สัญชาติไทย โดยการเกิดมีอายุไม่ต่ำกว่า 35 ปีบริบูรณ์ในวันเลือกตั้ง สำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าชั้นปริญญาตรีหรือเทียบเท่า มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในจังหวัดที่สมัครรับเลือกตั้งมาแล้วติดต่อกันไม่น้อยกว่า 5 ปี นับถึงวันสมัครรับเลือกตั้ง หรือเป็นบุคคลซึ่งเกิดในจังหวัดที่สมัครรับเลือกตั้ง หรือเคยศึกษาในสถานศึกษาที่ตั้งอยู่ในจังหวัดที่สมัครรับเลือกตั้งติดต่อกันไม่น้อยกว่า 5 ปีการศึกษา หรือเคยรับราชการ หรือเคยมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในจังหวัดที่สมัครรับเลือกตั้งติดต่อกันไม่น้อยกว่า 5 ปี

ขณะที่ต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามคือ ต้องไม่เป็นบุคคลซึ่งมีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น สส.ไม่เป็นข้าราชการ ซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำ ไม่เป็นข้าราชการการเมือง ไม่เป็น สส. สว. หรือรัฐมนตรี ซึ่งทั้งหมดไม่ได้หมายความว่าจะสามารถคัดกรองไม่ให้ฝ่ายการเมืองเข้ามาครอบงำได้?

โดยเฉพาะหลังจากที่คณะกรรมาธิการวิสามัญ ซึ่งตั้งขึ้นโดยประธานรัฐสภา ซึ่งมาจาก สส. 9 คน สว. 6 คนแล้ว เพื่อมาทำการตรวจสอบคุณสมบัติบุคคลที่จะมาทำหน้าที่ ส.ส.ร.ในส่วนของผู้ทรงคุณวุฒิแล้ว การตัดสินใจสุดท้ายยังอยู่กับการลงมติของที่ประชุมรัฐสภาชี้ขาด

จับอาการโค้งสุดท้ายก่อนแก้ไขรัฐธรรมนูญ ท่ามกลางบรรยากาศเคลือบแคลงของหลายฝ่ายเวลานี้ จึงยิ่งน่าเป็นห่วงกับระเบิดเวลาลูกนี้