posttoday

ศึกนิวเคลียร์อิหร่านสะท้านโลกเมื่อตะวันตกตบมือข้างเดียว

17 กุมภาพันธ์ 2555

สถานการณ์ปัญหาวิกฤตนิวเคลียร์อิหร่านกับคู่กรณีอย่างสหรัฐ สหภาพยุโรป และอิสราเอล กำลังเข้มข้นในทุกขณะ

สถานการณ์ปัญหาวิกฤตนิวเคลียร์อิหร่านกับคู่กรณีอย่างสหรัฐ สหภาพยุโรป และอิสราเอล กำลังเข้มข้นในทุกขณะ

โดย...ธนพล ไชยภาษี

สถานการณ์ปัญหาวิกฤตนิวเคลียร์อิหร่านกับคู่กรณีอย่างสหรัฐ สหภาพยุโรป และอิสราเอล กำลังเข้มข้นในทุกขณะ โดยเฉพาะเมื่ออิหร่านงัดแท่งเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ที่ผลิตขึ้นเองใส่เข้าเครื่องปฏิกรณ์เรียบร้อย พร้อมกับเปิดตัวเครื่องเหวี่ยงที่ใช้สำหรับเสริมสมรรถภาพยูเรเนียมที่ผลิตขึ้นเองเช่นกัน ผ่านการถ่ายทอดสดไปทั่วประเทศ โดยมีประธานาธิบดี มาห์มูด อาห์มาดินจัด เป็นประธานในพิธี

เป็นทั้งการ “โชว์ของ” และการ “ข่มขู่”ไปในตัว

เท่านั้นยังไม่พอ เมื่อวานนี้ อิหร่านยังส่งจดหมายไปยังยุโรป ลั่นพร้อมเปิดการเจรจาในทันที

เรียกได้ว่าอิหร่านกำลังใช้วิธีย้อนเกล็ดยุทธศาสตร์การเจรจาทางการทูตที่บรรดาชาติตะวันตกนิยมใช้กัน อย่างการใช้ทั้ง “ไม้เรียวและไม้นวม” (Stick and Carrot) ด้วยการโชว์ให้ศัตรูเห็นว่าอิหร่านมีอะไรในมือ ขณะที่ปากบอกว่า “พร้อมเจรจา”

ราวกับถือระเบิดเข้าไปในห้องพร้อมนั่งคุยกันตรงๆ!

ที่ผ่านมาต้องยอมรับว่าอิหร่านไม่เคยได้รับการ “เชื่อใจ” ถึงความบริสุทธิ์ในโครงการนิวเคลียร์ของตัวเองจากประชาคมโลก

ศึกนิวเคลียร์อิหร่านสะท้านโลกเมื่อตะวันตกตบมือข้างเดียว

แม้ว่าอิหร่านจะประกาศจนคอโก่งมาตลอดว่า โครงการพลังงานนิวเคลียร์ที่พัฒนาอยู่นั้นมีขึ้นเพื่อสันติ และอิหร่านก็ลงนามในสนธิสัญญาไม่แพร่กระจายอาวุธนิวเคลียร์ (Nuclea NonProliferation Treaty NPT) อยู่แล้ว

แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้ตะวันตกเชื่อใจนัก โดยเฉพาะสหรัฐและอิสราเอลที่โวยวายมาตลอดว่าอิหร่านกำลังมุ่งหน้าสู่การพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์มากกว่าที่จะพัฒนาเพื่อเป็นพลังงานจริงๆ

จนครั้งหนึ่ง อดีตประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู. บุช แห่งสหรัฐ ถึงกับประกาศว่าอิหร่านคือหนึ่งในชาติที่ “ก้าวร้าว” หรือ “Roque State”

กระนั้นก็ตาม หากพิจารณาในมุมมองของอิหร่านแล้ว ก็อาจจะเห็นว่าการมีนิวเคลียร์ไว้ในครอบครองก็ถือเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับความมั่นคงของอิหร่านเช่นกัน

ประการแรก เพราะอิหร่านเป็นประเทศที่มีสำรองน้ำมันอันดับ 3 ของโลก และมีก๊าซธรรมชาติสำรองมากเป็นอันดับ 2 ของโลก ดังนั้นความจำเป็นที่อิหร่านจะต้องมีอาวุธที่มีศักยภาพสูงไว้ครอบครองเพื่อปกป้องทรัพยากรของตัวเอง ซึ่งถือเป็นสิ่งจำเป็นดังที่ชาติอื่นๆ ประพฤติปฏิบัติกัน

แต่ทว่า เนื่องจากอิหร่านถูกคว่ำบาตรจากสหรัฐและโลกตะวันตก ทำให้การซื้ออาวุธมาประจำการไม่สามารถกระทำได้อย่างบางประเทศ เช่น ซาอุดีอาระเบีย ที่เป็นลูกค้าอาวุธรายใหญ่ของสหรัฐ ดังนั้นอิหร่านจึงจำเป็นต้องพัฒนาขึ้นเอง และนั่นก็นำมาซึ่งความไม่ใว้ใจของโลกตะวันตก

ประการที่สอง การมีอาวุธที่มีศักยภาพรุนแรงไว้ในครอบครอง ถือเป็นสิ่งจำเป็นมากขึ้นสำหรับประเทศในตะวันออกกลาง เนื่องจากอิสราเอลซึ่งเป็นศัตรูเบอร์ 1 ของโลกอาหรับและของอิหร่านนั้น ก็มีอาวุธนิวเคลียร์ไว้ครอบครองด้วยซ้ำ

และหนำซ้ำ สถานะของอิสราเอลนั้นอาจจะเรียกได้ว่า “น่าสงสัยและน่ากลัว” กว่าอิหร่านเสียอีก เพราะอิสราเอลมีนิวเคลียร์ในครอบครองทั้งๆ ที่เป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศทั่วโลกที่ไม่ได้ลงนามในสนธิสัญญา NPT ด้วยซ้ำ

แต่อิสราเอลก็กลับได้รับการยอมรับจากชาติตะวันตกและสหรัฐ!

แม้กระทั่งกรณีของอินเดียเอง ในปี 2548 สหรัฐกลับมาผูกสัมพันธ์ทางการทูตกับอินเดียครั้งใหม่ พร้อมกับความร่วมมือด้านเทคโนโลยีนิวเคลียร์ ที่สหรัฐจะให้ข้อมูลการพัฒนาพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติให้กับอินเดีย ทั้งๆ ที่อินเดียก็เป็นอีกหนึ่งชาติที่ไม่ลงนามในสนธิสัญญา NPT เช่นกัน

ประการที่สาม สหรัฐเองก็มีนโยบายเป็นปฏิปักษ์อย่างชัดเจน และยังใช้นโยบายแบบสองมาตรฐานในโลกอาหรับอย่างไม่ต้องอายใคร โดยเฉพาะการเข้าข้างอิสราเอลอย่างออกหน้าออกตาในวิกฤตหลายๆ ครั้ง ไม่ว่าจะในปัญหาความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ อิสราเอลกับเลบานอน และอิสราเอลกับโลกอาหรับ

และด้วยเหตุผลเช่นนี้เองที่ทำให้ปัญหาในตะวันออกกลางไม่จบลงง่ายๆ และจะเป็นปัญหาที่ไม่มีวันสิ้นสุด

ดังนั้น จะเห็นได้ว่าท่าทีของมหาอำนาจอย่างสหรัฐที่มีส่วนสำคัญทำให้ปัญหาในตะวันออกกลางและปัญหาอิหร่านรุนแรงขึ้น กลายเป็นประเด็นร้อนขึ้นมาทุกขณะ และรังจะเป็นการสร้างความ “ชอบธรรม” ให้กับอิหร่านที่อ้างเหตุผลว่าต้องมีนิวเคลียร์ไว้ในครอบครองให้เร็วที่สุดอีกด้วย

โดยเฉพาะเมื่อปลายปีที่แล้วนี่เอง เมื่อสภาคองเกรสสหรัฐได้ผ่านกฎหมายคว่ำบาตรทางการเงินต่ออิหร่าน พร้อมกับชักชวนให้พันธมิตรอย่างยุโรปเดินตามอย่างคว่ำบาตรทางการเงินต่ออิหร่าน เป็นการกดดันที่จะตัดช่องทางหารายได้ของอิหร่านครั้งสำคัญ

สหรัฐได้ส่งรัฐมนตรีคลังอย่าง ทิโมธี ไกธ์เนอร์ เดินทางมายังจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา เพื่อล็อบบี้ให้ทั้งสามประเทศหันมาร่วมกันกดดันอิหร่านด้วยการประกาศคว่ำบาตรทางการเงินต่ออิหร่านด้วยกัน

อย่างไรก็ตาม ต้องไม่ลืมว่าอิหร่านมีความต่างจากอิรักอย่างชัดเจน เพราะหลายประเทศยังต้องการพึ่งพาน้ำมันจากดินแดนเปอร์เซียแห่งนี้

โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียนั้น ที่น้ำมันคือหนึ่งในปัจจัยหลักของแรงขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจที่ขาดเสียไม่ได้ การคว่ำบาตรอิหร่านและหยุดการพึ่งน้ำมันจากอิหร่านจึงไม่ใช่ทางเลือกที่ถูกต้องเหมาะสมนัก

จะเห็นได้ว่าจีนคือประเทศแรกที่ส่ายหน้าใส่สหรัฐ พร้อมกับโยนปัญหานี้ให้เป็นเรื่องของสำนักงานพลังงานปรมาณูสากล (ไอเออีเอ) ไป ซึ่งในปัจจุบันจีนพึ่งพาน้ำมันจากอิหร่านคิดเป็นราว 10% ของการนำเข้าน้ำมันทั้งหมดของจีน หรือคิดเป็น 5.5 แสนบาร์เรลต่อวัน

ส่วนเกาหลีใต้เอง ในปี 2554 เกาหลีใต้นำเข้าน้ำมันจากอิหร่านคิดเป็น 2.5 แสนบาร์เรลต่อวัน หรือคิดเป็น 10% ของน้ำมันที่เกาหลีใต้นำเข้าทั้งหมดเช่นเดียวกัน และกระทรวงต่างประเทศเกาหลีใต้ก็ยืนยันชัดเจนว่า “ยังไม่มีการตัดสินใจใดๆ” ตามคำเรียกร้องของสหรัฐที่ขอความร่วมมือคว่ำบาตรอิหร่าน

ส่วนญี่ปุ่น ในปี 2554 ญี่ปุ่นนำเข้าน้ำมันจากอิหร่านถึง 3.4 แสนบาร์เรลต่อวัน คิดเป็น 10% ของน้ำมันที่นำเข้าทั้งหมด

แม้ว่าในช่วงแรกญี่ปุ่นจะยอมเออออห่อหมกกับสหรัฐไปด้วย แต่ต้องไม่ลืมว่าญี่ปุ่นกำลังเผชิญหน้ากับวิกฤตพลังงานในประเทศอย่างรุนแรงนับตั้งแต่เกิดกระแสการต่อต้านนิวเคลียร์หลังจากเกิดการรั่วไหลของโรงปฏิกรณ์นิวเคลียร์ที่ฟูกุชิมา เมื่อต้นปี 2554 ซึ่งทำให้ญี่ปุ่นจำเป็นต้องพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันเพื่อทดแทนการผลิตพลังงานจากนิวเคลียร์ที่หายไปส่วนหนึ่ง

ถึงขนาดที่ล่าสุดนั้น เจ้าหน้าที่ญี่ปุ่นถึงกับขอไปยังสหรัฐให้ยกเว้นญี่ปุ่นไม่อยู่ในข่ายที่จะโดนแบนจากการทำธุรกรรมการเงินในสหรัฐ ถ้าหากว่าญี่ปุ่นจำเป็นต้องนำเข้าน้ำมันจากอิหร่านต่อไป

นั่นหมายความว่า ญี่ปุ่นไม่มีทางเลือก และต้องพึ่งพาน้ำมันยี่ห้อเตหะรานต่อไป

เมื่อรวมญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย และจีนเข้าด้วยกันแล้ว จะเห็นว่าทั้งสี่ชาตินี้อุดหนุนน้ำมันจากอิหร่านคิดเป็นถึง 60% จากน้ำมันทั้งหมดที่อิหร่านส่งออกในปี 2554 ทีเดียว

ดังนั้น จึงอาจกล่าวได้ว่าอิหร่านกำลังอยู่ในสถานะ “ถือไพ่เหนือกว่า” อย่างชัดเจน ในเมื่อมาตรการคว่ำบาตรทางการเงินต่ออิหร่านในครั้งนี้ของโลกตะวันตกนั้น กำลังกลายเป็นการตบมือข้างเดียว ที่ไม่น่าจะได้รับการตอบสนองจากชาติอื่นๆ ในโลก เพราะหลายชาติยังต้องง้อน้ำมันจากอิหร่านอยู่

อีกทั้งที่ผ่านมาต้องยอมรับว่าคณะผู้ปกครองของอิหร่านยังอยู่ในสภาพแข็งแกร่งที่จัดการสถานการณ์ลุกฮือในประเทศได้อย่างเฉียบขาด โดยที่การปลุกระดมให้เกิดกระแสลุกฮือของประชาชนในภูมิภาคอาหรับ หรือที่เรียกกันว่า “อาหรับ สปริง” ในช่วงปลายปี 2553 ต่อเนื่องมายังปี 2554 ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในหลายประเทศ ทั้งอียิปต์ ลิเบีย และตูนิเซียนั้น ถือเป็นวิธีที่ใช้ไม่ได้กับอิหร่านแม้แต่น้อย ทั้งๆ ที่อิหร่านเกิดการลุกฮือขึ้นมาซ้ำถึง2 ครั้งทีเดียว

เป็นการตอกย้ำว่าคณะผู้ปกครองของอิหร่านยังคงมีความแข็งแกร่งกับการต้านทานแรงกดดันทั้งจากภายในและภายนอกประเทศ

ไม่เช่นนั้นอิหร่านคงไม่กล้าจะถือระเบิดเดินตรงเข้าไปชวนคุยกับโลกแบบในวันนี้!